• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชมนาด ไม้ดอกที่ให้กลิ่นหอมของข้าวใหม่

ชมนาด :ไม้ดอกที่ให้กลิ่นหอมของข้าวใหม่


ปีนี้เคยถูกคาดหมายว่าจะเป็นปีที่แห้งแล้งมากปีหนึ่ง และทำท่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะตั้งแต่ปีใหม่ (สากล) เดือนมกราคมจนถึงปีใหม่ (ไทย) หรือสงกรานต์กลางเดือนเมษายน ยังไม่มีฝนตกลงมาอย่างจริงจังเหมือนปีที่ผ่านๆมาเลย แต่พอถึงปลายเดือนเมษายนที่ถูกทำนายว่าจะเป็นช่วงอากาศร้อนที่สุดของปี ฝนก็ตกลงมาอย่างหนักทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้ความร้อนและแห้งแล้งลดลงไปมากมาย และขณะที่เขียนบทความตอนนี้อยู่ เป็นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ฝนก็ตกทั่วทุกภาคอีกครั้งหนึ่ง ทำให้สบายใจได้มากขึ้นว่า คนไทยคงผ่านพ้นปีนี้ไปได้โดยไม่ต้องต่อสู้กับความร้อน และความแห้งแล้ง อย่างที่คาดเอาไว้ตอนต้นปี

คืนหนึ่งช่วงกลางเดือนเมษายนอันร้อนแล้ง บ้านไทยของมูลนิธิข้าวขวัญมีแขกกลุ่มหนึ่งมาเยี่ยมเยือน และพักค้างคืนด้วย แม้อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว แต่พอถึงช่วงค่ำอากาศก็เย็นลง เพราะไม้ยืนต้นนานา ชนิดที่ขึ้นอยู่รอบบ้านไทย รวมถึงสระน้ำด้านตะวันออก และลมทุ่ง ที่พัดผ่านมาเป็นครั้งคราว จนแขกที่ เพิ่งมาจากกรุงเทพฯ ออกปากว่าอากาศที่นี่ต่างจากอากาศกรุงเทพฯ มากยิ่งเมื่อถึงตอนดึกยามเข้านอน อากาศก็ยิ่งเย็นลงจนแขกต้องห่มผ้ากันทุกคน ช่วงก่อนแยกย้ายกันไปนอนมีกลิ่นหอมชนิดหนึ่งลอยมาตามลม จากทางทิศตะวันออกที่มีสระน้ำแลtไม้ดอกหลายชนิด เป็นกลิ่นหอมแรงและค่อนข้างแปลก
จนแขกต้องเอ่ยปากถามว่าเป็นกลิ่นของดอกอะไร คำถามครั้งนี้ตอบได้ค่อนข้างง่าย เพราะกลิ่นหอมดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะตัว และทิศตะวันออกเฉียงใต้มีไม้ดอกหอมอยู่ไม่กี่ชนิด บางชนิดก็ไม่มีดอกในฤดูนี้ คงมีอยู่เพียงชนิดเดียวที่ออกดอกช่วงนี้ หอมเวลานี้ และกลิ่นอย่างนี้นั่นคือ ชมนาด
 

ชมนาด : ไม้เถาจากเพื่อนบ้าน

ชมนาด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vallaris glabra Kuntze.อยู่ในวงศ์ Apocynaceae
เป็นไม้เถายืนต้น เนื้อแข็ง แข็งแรง เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถาอาจยาวได้มากกว่า 8 เมตร มีใบอยู่เป็นคู่ตรงข้ามกันตามข้อต้น
ใบสีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมัน รูปร่างค่อนข้างมน ปลายใบเป็นติ่งแหลมขนาดกว้างราว 10 เซนติเมตร ยาวราว 15 เซนติเมตร
ดอกออกเป็นพวงตามปลายยอดหรือง่ามใบช่อละ 10-30 ดอก แต่ละดอกประกอบด้วย กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นทรงถ้วย แต่ละกลีบมีปลายแหลม กลีบดอกสีครีมอมเขียว มีเกสรอยู่กลางดอกรูป 5 แฉกเช่นเดียวกัน
ขนาดของแต่ละดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 เซนติเมตร

ปกติชมนาดออกดอกปีละครั้ง ช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) มีกลิ่นหอมแรง และนานทนอยู่หลายวัน กลิ่นหอมแรงเป็นพิเศษช่วงหัวค่ำ กลิ่นหอมของชมนาดคล้ายกับ กลิ่นใบข้าวอ่อน หรือข้าวหอมหุงใหม่ๆ บางคนว่าเหมือนกลิ่นมะพร้าว น้ำหอม หรือน้ำต้มใบเตยหอม เป็นต้น และมีส่วนคล้ายกลิ่นดอกขจร (สลิด) รวมทั้งดอกข้าวสารด้วย

ชมนาดเป็นต้นไม้ที่มาจากต่าง ประเทศ คงเข้ามาในประเทศไทยช่วงหลังปี พ.ศ.2416 เพราะไม่พบในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 และวรรณคดีไทย ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือก่อนหน้านั้น
ตำราหลายฉบับกล่าวว่า ชมนาดมีกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย บางฉบับว่าพบในอินเดียและพม่าด้วย

ชื่อเรียกชมนาดมีต่างๆ กันคือ ชำมะนาด ชำมะนาดฝรั่ง ชำมะนาด กลาง ชมนาดใหญ่ ดอกข้าวใหม่
 (กรุงเทพฯ ภาคกลาง) อ้มส้าย (ภาคเหนือ)

ยังมีชมนาดอีกชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายคลึงกับชมนาดที่กล่าว มาแล้ว แต่มีขนาดเล็กกว่า
เรียกว่า ชมนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vallaris heynii Spreng อยู่ในวงศ์ Apocynaceae
เช่นเดียวกัน แต่มีผู้นิยมปลูกน้อยกว่าชมนาดใหญ่

 

ประโยชน์ของชมนาด

ในทางสมุนไพร ชมนาดมีน้ำยางสีขาวค่อนข้างข้นเหนียว สามารถนำไปใช้เป็นยาได้ โดยนำไปรักษาบาดแผลภายนอก ทำยาถ่ายอย่างแรง ทำให้อาเจียนเพื่อถ่ายน้ำเหลือง ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อลาย เพิ่มความดันเลือด กระตุ้นมดลูก เป็นต้น

ประโยชน์ของชมนาดที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็คือในฐานะไม้ดอกไม้ประดับ เพราะให้เถาที่ร่มรื่น ใช้ปลูกคลุมทำซุ้มที่นั่งให้ร่มเงาและความสวยงามจากใบสีเขียวขนาดใหญ่ และเถาที่แข็งแรงยืนต้นอยู่ได้หลายปี และเมื่อออกดอกก็ให้ช่อดอกดกขนาดใหญ่บานทนอยู่ได้เป็นสัปดาห์ และให้กลิ่นหอมแรง ชมนาดจึงเป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง

การปลูกชมนาดก็ง่าย เพราะแข็งแรงทนทาน ชอบแดดจัด ทนสภาพแห้งแล้งได้ดี ปลูกในดินได้แทบ ทุกชนิด (หากไม่มีน้ำท่วมขัง) อายุยืน นานนับสิบๆ ปี ตัดแต่งได้ง่าย กลิ่นหอมคล้ายข้าวหอม หรือเตยหอมของชมนาดที่มีกลิ่นแรง น่าจะนำไปกลั่นเป็นน้ำหอม แล้วใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งอุตสาหกรรม เครื่องสำอางและอาหาร ตัวอย่างเช่น ทำให้ข้าวสุกที่ไม่มีกลิ่นหอมกลายเป็นข้าวหอม เป็นต้น
 

ข้อมูลสื่อ

302-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 302
ตุลาคม 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร