• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้หญิงพิทักษ์โลก

ผู้หญิงพิทักษ์โลก

ในประเทศอินเดีย สตรีพื้นเมืองได้รวมตัวกันเป็นขบวนการที่เรียกกันว่า “ซิปโก้” ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านการทำลายป่าบริเวณเทือกเขาหิมาลัย สตรีพื้นเมืองเหล่านี้เป็นกระดูกสันหลังของชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่แถบนั้น เพราะผู้ชายส่วนใหญ่มักจะลงไปหางานทำที่พื้นราบ ในขณะที่ผู้หญิงจะอยู่ในหมู่บ้าน การจัดการเองในบ้านจึงเป็นภาระของผู้หญิง ในปี 2517 สตรีพื้นเมืองเหล่านี้ได้รวมตัวกันคัดค้านการให้สัมปทานตัดโค่นไม้ทั้งหมดในรัฐอุตรการประเทศ และคัดค้านการตัดโค่นไม้ในรัศมี 1,200 กิโลเมตร รอบบริเวณอาลักนันทะ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ กลุ่มสตรีในหมู่บ้านได้พากันทำด้ายสายสิญจน์ไปผูกรอบต้นไม้ที่ทางฝ่ายประมูลทำเครื่องหมายไว้สำหรับจะตัดโค่น สตรีเหล่านี้ได้ประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่าจะพิทักษ์ต้นไม้ด้วยชีวิตของตน แม้เจ้าหน้าที่ทางการจะพยายามเข้ามาเกลี้ยกล่อมให้เลิกล้มความตั้งใจแต่ไม่สำเร็จ

สตรีจาก 15 หมู่บ้านได้พากันมาล้อมป่าไว้ โดยพากันโอบต้นไม้ไว้ต้นละ 3 คน แล้วประกาศว่าขอให้ตัดชีวิตของตนพร้อมกับชีวิตของต้นไม้ เพราะต้นไม้คือชีวิตของพวกตน การต่อต้านด้วยพลังสันติวิธีทำให้ตำรวจต้องล่าถอย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ พวกเขาได้กลับมาอีก แต่กระแสการต่อต้านรุนแรงมากขึ้น ผู้นำนักบวชและหญิงชายนับหมื่นคนจากหมู่บ้านละแวกใกล้ไกล พากันมาร่วมอดอาหารและโอบกอดต้นไม้ในป่าแห่งนั้นเป็นเวลาเกือบครึ่งเดือน

ในที่สุดรัฐบาลอินทิรา คานธีต้องยอมประกาศห้ามอนุญาตประมูลตัดไม้ทั้งหมดในเทือกเขาหิมาลัยของรัฐอุตรการประเทศเพื่อพาณิชยกรรมเป็นเวลา 15 ปี

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่าพลังและศักยภาพของผู้หญิงมิใช่มีแต่เฉพาะการทำงานบ้านงานเรือนอยู่ในครัวเช่นดังแต่ก่อน แต่มีพลังที่จะร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างผาสุกในโลกมนุษย์ของเราด้วย
 

ผู้หญิง : ผู้พิทักษ์โลก

ขณะนี้อาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนประชากรเกือบครึ่งโลกเป็นผู้หญิง และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนประชากรของประเทศไทยในขณะนี้ซึ่งมีประมาณ 54 ล้านกว่าคน ประชากรชาย 27 ล้านกว่าคน ในขณะที่มีประชากรหญิงประมาณ 27.5 ล้านคน ถ้าจำนวนผู้หญิงที่มีอยู่ในขณะนี้รวมตัวกัน จะทำให้เกิดพลังและศักยภาพอย่างมหาศาลที่จะทำประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะอำนาจการตัดสินใจของผู้หญิงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

เราลองนึกวาดภาพดูหากผู้หญิงเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการในการบริโภคมากที่สุดในแต่ละครัวเรือน มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลเพียงใด เช่น หากผู้หญิงทุกคนหรือส่วนใหญ่ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ลองคิดคำนวณกันดูสิว่าจะสามารถลดการใช้พลาสติกได้มากขนาดไหน เราเองคงเคยได้ยินตำนานหลายเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมดแดงที่ล้มช้าง หรือบทกลอนที่ว่าด้วยหยดน้ำนับร้อยหยดที่รวมกันกลายเป็นมหาสมุทร เป็นต้น ฉันใดก็ฉันนั้น

ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรภายในครอบครัวและเป็นผู้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ในการบริหารจัดการทรัพยากรในระดับชาติและระดับโลกคือผู้ที่น่าจะเป็นกุญแจคลี่คลายปัญหาวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นคงต้องเกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบาย และระดับปัจเจกบุคคลที่เป็นพฤติกรรมการบริโภค ข้อมูลที่จะเสนอต่อไปนี้ เป็นข้อมูลที่จะให้ชาวหมอชาวบ้านช่วยกันพิจารณาว่า เราในฐานะปัจเจกบุคคลจะช่วยกันได้อย่างไรบ้างในการร่วมกันพิทักษ์โลก พิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต...กำลังจะเหือดแห้ง

น้ำที่เราใช้กันอยู่ตามบ้านนั้นได้จากแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ถ้าใช้น้ำเปลืองมากก็เป็นไปได้ว่าจะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่โดยใช้พื้นที่หุบเขาอันงดงามเป็นที่กักเก็บน้ำ หรือไม่แม่น้ำบางสายก็อาจจะเสื่อมโทรมลงไป ทำให้สัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำพลอยลำบากไปด้วย ส่วนเรื่องของน้ำเสียนั้น ยิ่งมีการทิ้งไปตามท่อระบายน้ำมากเท่าใดก็อาจทำให้เกิดมลภาวะต่อน้ำและดินได้

คงบอกยากว่าในแต่ละวันแต่ละบ้านใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน แต่ก็พอจะมีเกณฑ์คำนวณคร่าวๆได้ ดังนี้

- ชักโครกครั้งหนึ่ง 10 ลิตร

- อาบน้ำในอ่างครั้งละ 80 ลิตร

- อาบน้ำฝักบัวครั้งละ 30 ลิตร

- ใช้เครื่องซักผ้าครั้งละ 100 ลิตร

- ใช้เครื่องล้างจานครั้งละ 50 ลิตร

จะเห็นได้ว่าเราใช้น้ำจำนวนไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว
 

มลภาวะรุกรานแม่น้ำ

เราคงทราบกันแล้วว่าการเกษตรแบบพึ่งสารเคมีมีส่วนสร้างมลภาวะแก่แม่น้ำลำธารอย่างไรบ้าง โรงงานอุตสาหกรรมก็ก่อปัญหานี้ได้เช่นกันถ้าไม่เข้มงวดเรื่องการกำจัดของเสียจากโรงงาน อย่างไรก็ตาม ที่อยู่อาศัยทั่วไปก็ไม่ได้น้อยหน้าเลย น้ำยาซักล้างและทำความสะอาดต่างๆ ที่ใช้ในบ้านเป็นอันตรายต่อน้ำ แม้แต่ผงซักฟอกก็มีฟอสเฟต ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเราทำลายทิ้งตามท่อน้ำไปสู่แม่น้ำลำคลอง ฟอสเฟตก็จะทำให้วัชพืชในน้ำแพร่ขยายอย่างรวดเร็วและดูดเอาออกซิเจนในน้ำไปใช้จนหมด แต่ทุกวันนี้ก็มีผงซักฟอกบางยี่ห้อที่ไม่ใช้ฟอสเฟตเป็นส่วนผสมแล้ว
 

มลภาวะคุกคามทะเล

แม่น้ำทุกสายย่อมไหลลงสู่ทะเลพร้อมกับนำน้ำเสียที่เกิดจากการเกษตรจากโรงงาน และจากบ้านเรือนในเมืองที่มันไหลผ่านไปทิ้งในทะเลอีกต่อหนึ่งด้วย ตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นแล้วก็เช่นในอิตาลีเมื่อฤดูร้อนปี 2532 น้ำเสียจากแม่น้ำหลายสายทำให้บริเวณชายฝั่งทะเลเอเดรียติกซึ่งอยู่ระหว่างอิตาลีกับยูโกสลาเวียเต็มไปด้วยสาหร่ายสีเขียวเหนียวหนืดที่จับตัวกองเป็นภูเขาเลากาอยู่ตามชายหาด ดูคล้ายๆ สัตว์ประหลาดในนิยายวิทยาศาสตร์ไม่มีผิด เป็นที่น่าตกตะลึงยิ่งนักสำหรับผู้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ท้องทะเลไม่ได้ถูกคุกคามในลักษณะนี้เท่านั้น ของเสียที่ถูกทิ้งลงทะเลยังประกอบด้วยสารเคมีฤทธิ์ร้ายจำนวนมหาศาล ของเสียที่มนุษย์ขับถ่ายออกมาจากร่างกาย กากนิวเคลียร์ รวมทั้งน้ำมันปริมาณมากที่เกิดอุบัติเหตุรั่วไหลลงสู่ทะเล เมื่อปี 2532 เรือบรรทุกน้ำมันชื่อเอ็กซอน วัลเดช แล่นเกยตื้นที่อ่าวปรินซ์วิลเลียม อันงดงามในรัฐอลาสก้าของสหรัฐฯ ทำให้น้ำมันรั่วทะลักออกมาหลายล้านลิตร และเนื่องจากลมแรง คราบน้ำมันจึงขยายตัวออกไปครอบคลุมผิวน้ำเป็นระยะทางไกลถึง 2,400 กิโลเมตร จากที่เกิดเหตุ เป็นผลให้สัตว์ต่างๆในบริเวณนั้น ได้แก่ ปลาวาฬ แมวน้ำ นาก หมีขั้วโลก กวางแคริบู และพวกนกทะเล ต้องบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย รวมทั้งปลาในน่านน้ำดังกล่าวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของบรรดาอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ กว่าจะจัดการขจัดคราบโสโครกนี้ให้หมดสิ้นไปได้ต้องใช้เวลานานปีและสิ้นค่าใช้จ่ายมหาศาล เท่าที่ผ่านมามีอุบัติเหตุน้ำมันรั่วแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว และคงจะยังมีอีกต่อไป

เมื่อปี 2531 แมวน้ำหลายพันตัวในทะเลเหนือล้มตายไปเฉยๆ ผลการวิจัยปรากฏว่า มลภาวะในทะเลทำลายภูมิต้านทานโรคของพวกมัน เป็นที่น่าสงสัยต่อไปว่าปลาที่จับได้จากน่านน้ำแถบนั้นก็น่าจะได้รับมลภาวะเช่นเดียวกัน และพิษนั่นก็อาจตกมาถึงผู้ที่บริโภคปลาเข้าไปในที่สุด

เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรมีมากเหลือจะกล่าว เท่าที่ผ่านมาปริมาณมลภาวะที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจึงยังไม่ปรากฏว่าเป็นอันตรายมากมายนัก แต่ทุกวันนี้มนุษย์เราระดมทิ้งของเสียลงน้ำกันอย่างหนักจนทะเลหลายแห่ง เช่น ทะเลบอลติก ทะเลเหนือ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเริ่มไม่อาจรองรับสภาพเช่นนี้ต่อไปไหว น้ำทะเลไม่สามารถเจือจางน้ำเสียให้กลับดีได้ในเวลาสั้นๆ อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว
 

เชื่อหรือไม่

- ในอีก 10 ปีข้างหน้า มลพิษในแม่น้ำสายสำคัญๆ อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง ลำคลองที่เชื่อมแม่น้ำ 27 สาย จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขนาดว่าไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อีก

- เปิดก๊อกรดน้ำในสวนทิ้งไว้ชั่วโมงหนึ่งจะเสียน้ำไปเปล่าๆ ถึง 910 ลิตร
 

สิ่งที่คุณช่วยได้

วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ประหยัดน้ำ แทนที่จะอาบน้ำในอ่างให้อาบด้วยฝักบัวหรือตักราด เวลาแปรงฟันหรือล้างมืออย่าเปิดน้ำให้ไหลทิ้ง และปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้ง
 

ภูเขาขยะ

วันนี้คุณทิ้งขยะไปกี่ชิ้นแล้ว กล่องใส่ยาสีฟันหลอดใหม่ กล่องนม ถุงนม ตั๋วรถเมล์ กระป๋องน้ำอัดลม แล้วอะไรอีก... ลองลงมือจดรายการข้าวของที่ทิ้งในวันหนึ่งๆ แล้วคุณจะประหลาดใจที่รายการที่จดนั้นยาวเป็นหางว่าว

ในประเทศอังกฤษได้มีการศึกษา พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีครอบครัวชาวอังกฤษทั่วไปทิ้งขยะดังรายการต่อไปนี้

- เศษกระดาษเท่ากับจำนวนที่ผลิตจากต้นไม้ 6 ต้น

- กระป๋องประมาณกว่า 500 ใบ ซึ่งราว 300 ใบในจำนวนนี้เป็นกระป๋องบรรจุอาหารคนบ้าง อาหารสัตว์เลี้ยงบ้าง

- พลาสติก 47 กิโลกรัม

- โลหะ 32 กิโลกรัม

- แก้ว 74 กิโลกรัม

- เศษอาหาร 45 กิโลกรัม

ซึ่งหมายความว่า ปีหนึ่งๆ คนเราทิ้งขยะเป็นน้ำหนักของตัวเองถึง 10 เท่า
 

มันมากับหีบห่อ

หากดูกันให้ละเอียดแล้วจะพบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของขยะที่เราทิ้งนั้นเป็นหีบห่อที่ทำจากวัสดุต่างๆ กัน มีทั้งกระดาษ แก้ว พลาสติก และโลหะ หีบห่อเป็นของจำเป็นเพราะช่วยถนอมสภาพสินค้าและช่วยรักษาสินค้าให้สะอาด แต่ก็มีหีบห่อจำนวนไม่น้อยที่ใช้เพียงเพื่อหวังให้สะดุดตาลูกค้า จูงใจลูกค้าให้เลือกซื้อสินค้าของตน ลองนึกให้ดีว่าของชิ้นที่เราซื้อมานั้นมีส่วนที่ใช้ได้จริงๆแค่ไหน และส่วนที่ต้องทิ้งเป็นขยะไปแค่ไหน

วิธีการหนึ่งที่จะลดปริมาณขยะลงได้ก็คือนำวัสดุกลับไปผลิตซ้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ได้แก่ การรวบรวมขวดแก้วไปขาย หรือขายหนังสือพิมพ์เก่าและเศษกระดาษที่ไม่ใช้ให้แหล่งที่รับซื้ออีกวิธี ได้แก่ การใช้ซ้ำ เช่น คืนขวดนม (ที่ทำด้วยแก้ว) ให้บริษัทใช้บรรจุใหม่หรือว่าคืนขวดน้ำอัดลมให้ร้านค้า

  • แก้ว

ส่วนมากแล้วแก้วทำจากทรายซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องทดแทนไม่ได้ แต่ว่าการนำทรายมาผลิตเป็นแก้วก็ต้องขุดตักทำให้เสียทัศนียภาพในบริเวณนั้นๆ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือกระบวนการผลิตแก้วสิ้นเปลืองพลังงานมหาศาล ถ้าเรานำแก้วเก่าไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตซ้ำก็จะช่วยให้ใช้ทรายน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง แก้วเก่าใช้หลอมเป็นภาชนะขึ้นใหม่ได้ และเศษแก้วเก่า 1 ตันจะสามารถประหยัดน้ำมันที่ใช้ในการผลิตแก้วได้ถึง 135 ลิตร การส่งแก้วขายให้ร้านรับซื้อเศษวัสดุจึงเท่ากับช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

  • กระดาษ

แต่ละปีอังกฤษใช้ต้นไม้กว่า 130 ล้านต้นผลิตกระดาษหลากชนิดเพื่อนำมาทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิวโฆษณาสินค้า กระดาษชำระ และกล่องเล็กกล่องน้อยต่างๆ ระยะเวลาที่คนเราใช้ของเหล่านี้แล้วโยนทิ้งเป็นขยะนั้นเทียบไม่ได้เลยกับเวลาอันยาวนานในการปลูกต้นไม้จำนวน 130 ล้านต้นทดแทน ต่อให้เลือกปลูกไม้โตเร็วอย่างสนก็ตาม และในความเป็นจริงอังกฤษดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทนจำนวนที่ใช้ไปเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น

กระบวนการผลิตกระดาษทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากทีเดียว และยังก่อให้เกิดของเสียซึ่งอาจกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้หากปล่อยให้ไหลลงสู่แม่น้ำหรือทะเล นอกจากนี้เมื่อปลูกสวนป่าเพื่อใช้ผลิตกระดาษก็ต้องถากถางที่ดิน ซึ่งนับเป็นการทำลายแหล่งพักพิงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ

  • โลหะ

ปัจจุบันกระป๋องดีบุกจำนวนมาก ใช้ดีบุกเป็นส่วนผสมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยใช้โลหะอื่นผสมแทน โลหะที่ใช้กันมาก ได้แก่ อะลูมิเนียม การทำเหมืองแร่โลหะต่างๆ ซึ่งต้องขุดลึกลงไปใต้ดินนั้นทำลายทัศนียภาพเดิมอย่างยิ่ง ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมามีการแก้ปัญหาโดยผลิตให้เนื้อกระป๋องบางลง ใช้โลหะน้อยลง ซึ่งก็พอช่วยได้บ้าง แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้นก็ควรนำโลหะใช้แล้วกลับมาผลิตซ้ำ

อะลูมิเนียมผลิตจากแร่บ็อกไซด์ แร่ชนิดนี้จำนวน 4 ตันผลิตเป็นอะลูมิเนียมได้ 1 ตัน อะลูมิเนียมใช้ทำกระป๋องเครื่องดื่ม ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง แผ่นฟอยล์ที่ใช้ห่ออาหารสำหรับอบหรือเผา ฯลฯ

อะลูมิเนียมที่ใช้แล้วสามารถนำไปหลอมเป็นวัตถุดิบผลิตซ้ำได้เรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งประหยัดการใช้แร่บ็อกไซด์ด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรใช้อะลูมิเนียมมากเกินไป แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็ควรช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการส่งคืนไปให้โรงงานผลิตซ้ำ แถมยังมีรายได้พิเศษจากการขายเศษอะลูมิเนียมด้วยอีกต่างหาก

  • พลาสติก

หีบห่อต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่กว่า 1 ใน 3 ทำจากพลาสติกซึ่งมีมากกว่า 50 ชนิด พลาสติกผลิตจากวัตถุดิบซึ่งทดแทนไม่ได้ ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ในอังกฤษยังมีการนำพลาสติกเก่ามาผลิตซ้ำน้อยมาก ขยะพลาสติกมักถูกทิ้งเป็นขยะและส่งไปทำลายหรือฝังตามโรงขยะต่อไปนอกนั้นก็ทิ้งเกลื่อนตามถนนหนทาง แม้กระทั่งแถบมหาสมุทรแอนตาร์กติกและเทือกเขาเอเวอเรสต์ก็ยังพบว่ามีถุงและขวดพลาสติกเกลื่อนกลาด

ปัญหาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพลาสติกก็คือเป็นวัสดุที่สลายตัวตามธรรมชาติได้ยาก แปลว่ามันจะไม่ย่อยสลายผุพังไปทั้งหมด ไม่น่าเชื่อเลยว่าอาหารต่างๆที่เรากินหมดเกลี้ยงในเวลาแค่ไม่กี่นาที กลับบรรจุมาในวัสดุที่จะคงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานหลายร้อยปี

ปัจจุบันมีถุงพลาสติกประเภทที่สามารถสลายตัวตามธรรมชาติได้ช้าๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจกำจัดได้สิ้นซากอยู่ดี
 

เชื่อหรือไม่

- ในอังกฤษมีคลังขวดอยู่ในอัตรา 1 แห่งต่อประชากร 17,000 คนส่วนในเนเธอร์แลนด์อัตรานี้เท่ากับ 1 ต่อ 2,000 คนเท่านั้น

- แต่ละปีจะมีกระป๋องเครื่องดื่มถูกทิ้งเป็นขยะกว่า 7,000 ล้านใบ ถ้านำกระป๋องจำนวนนี้มาเรียงซ้อนต่อๆ กัน ก็จะเป็นระยะทางไกลกว่าจากโลกไปถึงดวงจันทร์เสียอีก และเกือบครึ่งของกระป๋องเหล่านี้ทำจากอะลูมิเนียมซึ่งนำไปผลิตซ้ำได้ แต่ในปัจจุบันกระป๋อง 100 ใบถูกนำไปผลิตซ้ำแค่ 3-4 ใบเท่านั้น

- หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์จำหน่ายในอังกฤษนำมากองซ้อนกันจะสูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์

- ขณะที่ทิ้งในอังกฤษแต่ละวันถ้านำมากองรวมกันกลางจัตุรัสทราฟัลการ์จะสูงท่วมอนุสาวรีย์ลอร์ดเนลสัน
 

สิ่งที่คุณช่วยได้

พึงระวังหีบห่อที่มากมายหรือซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น ถุงพลาสติกใช้แล้วใช้ได้อีก หรือจะให้ดีกว่านั้นก็ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าจ่ายตลาด ส่งวัสดุต่างๆ กลับไปให้โรงงานผลิตซ้ำโดยรวบรวมขวดแก้ว เศษกระดาษ และกระป๋องอะลูมิเนียมไว้ขายให้ร้านที่รับซื้อ หรือรถถีบสามล้อ (ซาเล้ง)
 

กิจกรรมในห้องน้ำ

คงไม่ต้องสาธยายว่าเราทำอะไรบ้างในห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำ สระผม แปรงฟัน... อ่านมาถึงตรงนี้คุณคงซาบซึ้งดีแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นสัมพันธ์ต่อกิจกรรมต่างๆในชีวิตเราไปหมด

อยากให้ลองสำรวจดูบรรดาขวดและกระปุกต่างๆ ที่วางเรียงรายบนชั้นวางของในห้องน้ำดูจะพบว่า มีทั้งสบู่เหลว แป้งฝุ่น ครีมล้างผิว ครีมบำรุงผิว ยาสระผม ฯลฯ หากพิจารณาดูทีละชิ้นแล้วก็ดูจะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมนัก แต่ด้วยความที่เรามักเลือกสรรซื้อกันเหลือเกิน หีบห่อที่ใช้หุ้มผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจึงฟูฟายไปด้วยกระดาษ พลาสติก แก้ว และโลหะที่บรรจงออกแบบให้ต้องใจผู้ซื้อ คุณคิดว่าถ้าตัดทอนรายการของเหล่านี้ไปบ้าง คนในบ้านเขาจะถึงกับเดือดร้อนไหม หรือไม่ก็ลองเสนอให้สมาชิกในบ้านเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใช้วัสดุหุ้มห่อมากเกินเหตุ

  • ยาระงับกลิ่นตัว สเปรย์ฉีดผม โฟมโกนหนวด

ขณะนี้มีสเปรย์บางยี่ห้อที่ “ไม่ทำลายโอโซน” แต่ถึงสเปรย์ยี่ห้อนั้นๆ จะไม่เป็นอันตรายต่อชั้นโอโซน ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพราะหากพิจารณากันให้ละเอียดจะพบว่ากระป๋องสเปรย์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่นับว่าสิ้นเปลืองอย่างยิ่ง เนื่องจากมันสามารถใช้บรรจุของเหลวที่ต้องการใช้เพียง 2 ใน 3 ของขนาดกระป๋องเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องใช้บรรจุสารขับพ่นซึ่งเป็นตัวช่วยให้ของเหลวนั้นพ่นออกมาเป็นละอองทางหัวฉีดได้ ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ กระป๋องสเปรย์ไม่เหมือนกระป๋องอื่นๆ ที่รวบรวมไปใช้ผลิตซ้ำได้โดยสะดวก ทางออกอย่างหนึ่งที่เลือกได้ คือ ถ้าต้องใช้ยาระงับกลิ่นตัวก็ให้ซื้อชนิดลูกกลิ้ง (แบบที่เติมได้) หรือไม่ก็ใช้ชนิดหัวปั๊ม

  • โถส้วม

น้ำที่ใช้ตามครัวเรือนในแต่ละวันนั้น 1 ใน 3 หมดเปลืองไปกับการชักโครก จากข้อมูลข้างต้นทำให้เรารู้ว่าเวลากดชักโครกแต่ละครั้งต้องใช้น้ำมากแค่ไหน แล้วน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำนั้นก็มีส่วนทำให้น้ำเสียได้ ลองพิจารณาดูยี่ห้อที่ใช้ว่ามีข้อความกำกับไว้ที่ขวดหรือเปล่าว่าไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีข้อความแบบนี้ ก็หมายความว่า ยี่ห้อนั้นไม่ใช้สารฟอกขาวหรือสารเคมีฤทธิ์แรงอื่นๆ เป็นส่วนผสม น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมเช่นนั้นมีผลทำให้น้ำเสียเมื่อใช้ล้างโถส้วมหรือขัดห้องน้ำ ปัจจุบันน้ำยาทำความสะอาดที่ “ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม” มีขายตามร้านค้าทั่วไปแล้ว

บางคนชอบใส่ก้อนทำความสะอาดโถส้วมโดยเฉพาะเอาไว้ในถังพักน้ำ เพื่อให้น้ำนั้นฆ่าเชื้อทุกครั้งที่กดชักโครก และทำให้น้ำมีสีสันแปลกตา แต่ดูๆไปแล้วมันก็ไม่จำเป็นอะไรเลย มิหนำซ้ำยังทำให้น้ำเสียในท่อระบายน้ำเพิ่มปริมาณขึ้นด้วย ลองเสนอให้คนในบ้านงดซื้อมาใช้ในฐานะสิ่งของไม่จำเป็นต้องใช้ก็น่าจะดี

  • กระดาษชำระ

โดยเฉลี่ยในแต่ละปีบ้านแต่ละหลังใช้กระดาษชำระในห้องน้ำยาวหลายไมล์ทีเดียว ลองคำนวณก็ได้ว่าที่บ้านแต่ละคนทิ้งกระดาษชำระลงไปในโถส้วมซึ่งเท่ากับส่งต่อไปยังท่อระบายน้ำมากน้อยแค่ไหน โดยคูณความยาวของกระดาษแต่ละม้วน (มักมีบอกไว้ตามถุงบรรจุ) ด้วยจำนวนม้วนกระดาษที่ใช้ในสัปดาห์หนึ่ง แล้วคูณด้วย 52 อีกครั้ง ก็จะทราบความยาวทั้งสิ้นของกระดาษชำระที่ใช้กันตลอดปี แล้วคุณอาจจะตะลึงว่าทำไมมันถึงมากมายขนาดนี้

เรารู้กันอยู่แล้วว่าการใช้กระดาษสิ้นเปลืองนั้นไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และควรพยายามใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่างน้อยถ้าหากเราใช้วิธีนำกระดาษเก่าไปผลิตซ้ำก็พอจะช่วยได้ ทุกวันนี้ร้านค้าหลายแห่งเริ่มวางขายกระดาษชำระเนื้อนุ่มชนิดที่ได้จากการผลิตซ้ำแล้ว ลองดูที่ถุงบรรจุกระดาษก็ได้ว่ายี่ห้อที่บ้านคุณใช้เป็นชนิดนั้นหรือเปล่า และถ้ามีข้อความแจ้งว่าเป็นกระดาษที่ “ผลิตซ้ำ 100%” ก็ยิ่งวิเศษ

บางครั้งคุณอาจพบข้อความระบุไว้ที่ถุงบรรจุกระดาษก็ได้ว่า “ไม่ใช้คลอรีนฟอกขาว” เนื่องจากตามธรรมดาทางโรงงานจะฟอกกระดาษชำระให้ดูขาวสะอาดน่าใช้ แม้จะเป็นอย่างสีก็ยังต้องฟอกเสียก่อนจึงจะย้อมสี แต่การฟอกดังกล่าวก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่า ไดออกซิน ซึ่งในกรณีที่ทางโรงงานระบายของเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองก็จะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ กระดาษที่ “ไม่ใช้คลอรีนฟอกขาว” จะไม่ทำให้เกิดปัญหานี้ กระดาษบางยี่ห้อไม่ฟอกเลยด้วยซ้ำ สีมันจะออกขาวตุ่นๆอย่างที่หลายคนเห็นว่าดูมอมแมมไม่น่าใช้ แต่ถ้าหากมันช่วยให้บรรดาสัตว์น้ำปลอดภัยก็น่าจะคุ้ม

  • ยาสระผมและครีมนวดผม

โดยทั่วไปของประเภทนี้ไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย แต่ใช้ประหยัดหน่อยก็ดี เลือกซื้อที่ไม่บรรจุหีบห่อซ้ำซ้อน และเจาะจงยี่ห้อที่ไม่ทารุณสัตว์

  • การโกนหนวด

คุณอาจจะไม่ใช่คนที่ต้องโกนหนวด แต่สำหรับสมาชิกคนอื่นๆในบ้านที่ต้องทำกิจกรรมนี้ มีคำแนะนำต่อเรื่องนี้ ดังนี้

- ที่โกนหนวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งนับว่าสิ้นเปลืองวัสดุที่ใช้มาก (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหีบห่อหรือตัวที่โกนหนวดเอง) เมื่อเทียบกับที่โกนหนวดแบบที่ใช้ได้นานๆ

- โฟมโกนหนวดแบบบรรจุหลอดช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าแบบกระป๋องสเปรย์

- ที่จริงแล้วเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าประหยัดพลังงานได้มากกว่าที่โกนหนวดธรรมดา ถึงแม้ที่โกนหนวดธรรมดาจะไม่กินไฟก็ตาม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นน่ะหรือ ก็เพราะว่ากระบวนการผลิตโฟมโกนหนวดกระป๋องสเปรย์ ตลอดจนที่โกนหนวดซึ่งใช้แล้วทิ้งหรือใช้ได้ไม่นานนัก เมื่อเทียบกับพลังงานที่ใช้ผลิตและใช้สอยเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าในระยะยาวแล้วนับว่าสิ้นเปลืองกว่าแน่นอน

- ถ้าใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าให้เสียบปลั๊กไฟจะดีกว่าใช้ถ่านไฟฉาย

- ไม่ควรใช้แปรงโกนหนวดที่ทำด้วยขนสัตว์

  • สบู่

น้ำมันที่สกัดจากพืชและไขมันที่ได้จากสัตว์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสบู่ทั่วไปนั้นไม่มีผลทำให้น้ำเน่าเสียเท่าไหร่ แต่สีที่ใช้ย้อมและน้ำหอมที่ใช้ผสมลงไปอาจกินเวลานานกว่าจะสลายตัวตามธรรมชาติให้หมด ถ้าจะให้ดีจึงควรเลือกใช้สบู่ที่ไม่ย้อมสีและไม่มีกลิ่นหอม ถ้าต้องการซื้อสบู่เป็นของขวัญวันเกิดหรือของขวัญปีใหม่ให้ใครอย่าลืมเลือกยี่ห้อที่ไม่ทารุณสัตว์

  • ยาสีฟัน

คุณรู้หรือไม่ว่าเขาใช้สารไททาเนียมไดออกไซด์ผสมเพื่อให้ยาสีฟันมีสีขาว สารที่กล่าวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคุณก็จริง แต่มันเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการใช้สารนี้ก่อให้เกิดของเสียที่เหลือจากการผลิต
 

ในครัวและที่โต๊ะอาหาร

  • ถุงก็เป็นขยะ

ตู้เก็บของที่บ้านของคุณมีถุงพลาสติกสุมจนล้นหรือเปล่า ถ้าหากว่าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่า คนในบ้านติดนิสัยใช้ถุงใหม่ของร้านค้าเสมอเมื่อซื้อของเข้าบ้าน ดังนั้นคราวหน้าอย่าลืมหยิบถุงเก่าที่บ้านติดไปด้วย ขยะพลาสติกซึ่งไม่ผุพังตามธรรมชาติจะได้ลดปริมาณลงไปบ้าง หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นให้ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าจ่ายตลาดซึ่งคงทนหลายปีแทน หรือถ้าถุงพลาสติกเก่ามากนักก็ใช้เป็นถุงใส่ขยะบ้างก็ได้

  • น้ำดื่มบรรจุขวด

ทุกวันนี้ปริมาณการซื้อขายน้ำดื่มบรรจุขวดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เวลามีโอกาสแวะเข้าไปซื้อของตามร้านต่างๆ ลองนับดูซิว่าเขามีขายกันกี่ยี่ห้อแล้ว อาจเป็นเพราะว่าคนทั่วไปติรสชาติน้ำประปาหรือกลัวว่าน้ำประปาอาจจะไม่สะอาดพอ แต่ตามธรรมดาแล้วน้ำประปาใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัยทีเดียว ซ้ำยังไม่ต้องนั่งบรรจุขวดแก้วขวดพลาสติกให้ลำบาก หลายคนคงคาดไม่ถึงใช่ไหมว่าเมื่อเทียบราคากันแล้วน้ำดื่มชนิดบรรจุขวดแพงกว่าน้ำประปาถึงประมาณ 600 เท่า

หลายคนเห็นว่าการใช้เครื่องกรองน้ำช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จริงอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรรณรงค์ให้น้ำประปาที่ผลิตขึ้นสะอาดปลอดภัย ในกรณีที่บ้านมีเครื่องกรองน้ำก็อย่าลืมทำตามคำแนะนำวิธีการใช้ที่กำกับมากับเครื่องให้ครบถ้วน

  • อาหารจานด่วนและอาหารซื้อกลับบ้าน

หลายคนชอบกินพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ หรือบางคนก็ชอบซื้ออาหารสำเร็จรูปกลับไปกินที่บ้าน แต่คราวหน้าถ้าแวะไปร้านอาหารประเภทจานด่วนพวกนี้ก็เหลือบดูกล่องโฟมที่เตรียมไว้บรรจุอาหารให้ลูกค้าเสียก่อน ถ้าใช้ใส่อาหารกลับไปกินที่บ้านมันก็จะช่วยให้อาหารอุ่นชวนกิน แต่ถ้าพอจะเป็นไปได้ก็น่าจะกินเสียที่ร้านเลยดีกว่า แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องซื้อกลับบ้านจริงๆ ก็มีร้านอาหารหลายแห่งที่ยังใช้กระดาษห่อแทนใส่กล่องโฟม

คิดกันให้ละเอียดแล้วไม่ใช่แค่กล่องโฟมเท่านั้นที่จะกลายเป็นขยะในไม่ช้า แต่ยังมีอะไรอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ อีกหลายอย่าง เช่น กระดาษเช็ดปาก ถ้วยและหลอดกาแฟ และยังพวกซองที่แยกใส่ซอสมะเขือเทศ เกลือ พริกไทย ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ฉีกใช้เลยอีกต่างหาก

อาหารในร้านอาหารจานด่วนมักมีข้อเสียเรื่องการใช้หีบห่อสิ้นเปลืองเนื่องจากทางร้านย่อมเน้นความสะดวกรวดเร็วเป็นประการสำคัญ ยิ่งเราใจร้อนอยากให้เขาบริการอาหารเร็วทันใจเท่าไหร่ ขยะที่ไม่จำเป็นก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

คนที่เอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อมเคยวิตกกันมากว่าในระยะยาวกล่องใส่แฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งทำด้วยโฟมอันมีสารซีเอฟซีเป็นส่วนผสมนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็นับว่าน่าพอใจอยู่บ้างที่ร้านใหญ่ๆ ซึ่งเปิดขายเป็นเครือข่ายหลายร้านเลิกใช้กล่องโฟมแล้ว หรือเลือกใช้โฟมที่ไม่ผสมซีเอฟซี

  • ผงซักฟอก

อ่านดูข้างกล่องผงซักฟอกสักนิดว่ามีข้อความบอกไว้หรือไม่ว่ายี่ห้อนี้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น อาจเขียนไว้ว่า “ปลอดภัยสำหรับสิ่งแวดล้อม” หรือ “ไม่ผสมฟอสเฟต” สิ่งที่สาธารณชนวิตกกันก็คือ เมื่อผงซักฟอกที่ใช้ซักผ้าถูกระบายทิ้งลงไปสู่แม่น้ำลำคลองอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียขึ้นได้ ทางโรงงานที่ผลิตจึงพยายามปรับปรุงส่วนผสมเสียใหม่โดยเลิกใช้สารฟอสเฟตเป็นส่วนผสม แต่ไม่ว่าที่บ้านคุณใช้ผงซักฟอกยี่ห้อไหนก็ควรใช้อย่างประหยัดที่สุด เพราะผงซักฟอกเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรง ผงซักฟอกทั่วไปประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิวซึ่งเป็นตัวสำคัญที่สุดในการทำความสะอาด สารฟอกขาวซึ่งเป็นตัวขจัดคราบเปื้อนและช่วยรักษาผ้าสีขาวไม่ให้เหลือง สารถนอมเนื้อผ้าซึ่งช่วยให้ผ้าที่ซักแลดูไม่เก่าซีด และสารกันบูดซึ่งช่วยให้ผงซักฟอกไม่จับตัวเป็นก้อน สำหรับสารลดแรงตึงผิวนั้นมีข้อน่าเป็นห่วง เนื่องจากผลิตจากปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทดแทนไม่ได้ นอกจากนี้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมยังอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเช่นกรณีเรือบรรทุกน้ำมันรั่ว

การระบุว่า ผงซักฟอกนั้นๆ “รักษาสิ่งแวดล้อม” อาจมีสาระแตกต่างกันออกไป บางยี่ห้ออาจหมายถึง การเลิกใช้ฟอสเฟตเป็นส่วนผสม บางยี่ห้อก็เปลี่ยนส่วนผสมใหม่เกือบทั้งหมด คงบอกได้ยากว่ายี่ห้อที่ “รักษาสิ่งแวดล้อม” ช่วยลดปริมาณมลพิษลงได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับผงซักฟอกทั่วไป แต่การเลือกซื้อมาใช้ก็คุ้มค่า เพราะอย่างน้อยก็เท่ากับช่วยกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตต่างๆ พยายามค้นคว้าปรับปรุงให้สินค้าของตนเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

  • น้ำยาทำความสะอาด

คือ สารเคมีฤทธิ์แรงที่ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในอ่างล้างหน้า โถส้วม และท่อระบายน้ำ พยายามใช้น้ำยาประเภทนี้อย่างออมมือเพื่อช่วยลดมลพิษที่จะเกิดกับน้ำ ทุกวันนี้มีน้ำยาทำความสะอาดที่ “รักษาสิ่งแวดล้อม” ขายแล้วด้วย ควรเลือกซื้อไปใช้ที่บ้านก็น่าจะดี

ถ้าบ้านคุณอยู่ในชนบทและส้วมที่บ้านยังใช้ระบบถังเกรอะแทนที่จะเป็นระบบท่อน้ำเสียรวมก็ไม่ควรใช้น้ำยาพวกนี้ทำความสะอาดเลย เพราะมันจะทำลายจุลินทรีย์บางชนิดซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายของเสีย

  • น้ำยาซักผ้า

ตามธรรมดาน้ำยาซักผ้าก็ไม่ได้ผสมฟอสเฟตอยู่แล้ว แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อเขียนไว้ที่ขวดว่า “ไม่ผสมฟอสเฟต” เพื่อชวนให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าสินค้าของตนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่ายี่ห้ออื่น ถึงกระนั้นน้ำยาซักผ้าก็ผสมน้ำหอมและใส่สี และสารเคมีซึ่งใช้เป็นส่วนผสมสำหรับช่วยขจัดคราบไขมันก็ทำจากปิโตรเลียม

  • น้ำยาล้างจาน

น้ำยาประเภทนี้ผสมฟอสเฟตน้อยมาก แต่ปัจจุบันก็มีบางยี่ห้อที่ไม่ใช้ฟอสเฟตเป็นส่วนผสมแล้ว และในทำนองเดียวกับผงซักฟอกที่ “รักษาสิ่งแวดล้อม” ก็ควรเลือกใช้สารลดแรงตึงผิวที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราเชื่อเหลือเกินว่า พลังอันบริสุทธิ์จากสัญชาตญาณแห่งการปกป้องคุ้มครองอันมีอยู่ในหัวใจของคุณผู้หญิงทุกคน จะมีอำนาจหยุดยั้งการทารุณกรรมต่อโลกใบนี้ลงได้ ขอเพียงแต่ให้คุณหาญกล้าพอที่จะเริ่มลงมือก่อนเท่านั้น...

ขอขอบคุณผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล

คุณนุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี
 

ข้อมูลสื่อ

158-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 158
มิถุนายน 2535
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ