• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัด โรคที่ไม่ต้องกินยาก็หายได้

ไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยมากๆ ใครๆ ก็เคยเป็นไข้หวัดกันทั้งนั้น บางคนเป็นปีละหลายๆ ครั้ง หากว่าจะมีคนลองมาสำรวจดู ผมคิดว่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคไข้หวัดนั้นมหาศาล ทั้งเรื่องค่ายา ค่ารักษา และการเสียโอกาสในการทำงาน

ในความเป็นจริงแล้ว โรคไข้หวัด ก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ และการดูแลรักษาก็ไม่ยากเลยครับ หากเรามาทำความเข้าใจข้อเท็จจริงสักเล็กน้อย

ไข้หวัดเกิดจากอะไร
ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสที่ทำให้เกิดหรือมีอาการมีหลายตัวแต่อาการก็คล้ายๆ กันหมดครับ

ติดต่อกันได้อย่างไร
โรคหวัดเป็นโรคติดต่อ และเป็นโรคติดต่อได้ง่ายมาก สังเกตว่าเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆจะเป็นอยู่เรื่อยๆ เพราะติดกันไปติดกันมา แถมนำมาติดคนที่บ้านอีก
 
วิธีการติดต่อก็โดยการ ไอจามใส่กัน และที่สำคัญคือ ติดต่อทางมือครับ เมื่อมือไปแตะโดนเชื้อไวรัสจากคนอื่นเข้า แล้วมาขยี้จมูก ขยี้ตา (ตามีท่อต่อกับโพรงจมูกได้) ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อหวัดได้ ส่วนมากเราไม่ค่อยรู้ตัวหรอกครับว่าติดเมื่อใด ติดจากใคร กว่าจะรู้สึกตัวคือเป็นไข้หวัดแล้ว

อาการของไข้หวัดเป็นอย่างไร
ไม่ต้องบอกก็คงจะทราบกันดีทุกคนนะครับ คงไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นโรคไข้หวัด อาการสำคัญคือ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เป็นไข้ เจ็บคอ แต่บางท่านอาจจะมีอาการไม่ครบตามที่ว่ามาก็ได้ และอาการมากน้อยต่างกัน ขึ้นกับเชื้อโรคและตัวของผู้ติดเชื้อหวัดเองครับ อาการส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่ 2 ถึง 7 วัน มีบางรายที่นานกว่านั้น

รักษาโรคหวัดอย่างไรดี
โรคหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะหายเองครับ ไม่ต้องรักษาเลยก็หายเหมือนกัน เพียงแต่พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าหากอาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาแต่อย่างใด ถ้ามีอาการมากก็ใช้ยารักษาตามอาการเช่น ใช้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ และยาบรรเทาอาการไอ ยาเหล่านี้หาซื้อได้ ตามร้านขายยาทั่วไปครับ สรรพคุณแต่ละยี่ห้อก็พอๆกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ไม่ได้ทำให้หวัดหายเร็วขึ้นหรอกครับ เพียงแต่บรรเทาอาการเท่านั้นเอง สรุปคือ กินยาหรือไม่กินยาก็หายเร็วพอกัน

ควรกินยาปฏิชีวนะไหม
โรคหวัดโดยทั่วไปอย่างที่บอกไว้เบื้องต้นแล้วว่าเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือที่บางคนเรียกยาแก้อักเสบ นอกจากไม่เกิดผลดีแล้วยังทำให้เกิดผลเสียคือทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยานั้นๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนยานั้นใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ผลอีกต่อไป ทำให้เราสูญเสียยาดีๆ ราคาถูกไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อไหร่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ
เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียครับ โดยการสังเกตน้ำมูกและเสมหะ หากพบว่ามีสีเหลืองหรือสีเขียวก็ควรกิน ยาปฏิชีวนะสัก 5 ถึง 7 วัน อาจจะเริ่มด้วยยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin) หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) ก็ได้ครับ อีกกรณีหนึ่งก็คือมีภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดเกิดขึ้น ดังจะกล่าวถึงต่อไปครับ
ควรฉีดยาดีไหม
ที่พบบ่อยคือมีผู้ป่วยเป็นหวัดแล้วมาขอฉีดยาจำนวนมาก โดยมีความเข้าใจว่าฉีดยาแล้วไข้หวัดจะหายเร็ว หรือเคยไปรักษาที่คลินิกบางแห่งได้รับการฉีดยา เลยเข้าใจว่าไข้หวัดควรต้องฉีดยา ขอชี้แจงตรงนี้เลยว่าอันนี้ไม่จริงครับ ไม่ควรฉีดยาใดๆ ทั้งนั้น ถ้าหากมีใครจะฉีดยาให้ก็ปฏิเสธไปตรงๆเลยครับโดยเฉพาะเห็นเด็กๆ ถูกฉีดยา ร้องไห้ กระจองอแง น่าสงสารครับ แถมกลายเป็นโรคกลัวหมออีกด้วย แค่พอเห็นหมอก็ร้องไห้ซะแล้ว

เมื่อไหร่ควรไปพบหมอ
ถ้าอ่านมาตั้งแต่ต้น จะพบว่าโรคไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องพบหมอเลย ทุกๆท่านสามารถดูแล ตัวเองได้เป็นอย่างดี พอๆกับการรักษากับหมอ แต่มีบางครั้งที่จำเป็นต้องพบหมอ เพราะโรคไข้หวัดมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

โรคไข้หวัดที่มีลักษณะต่อไปนี้ควรพบหมอ
1. เมื่อน้ำมูกและเสมหะสีเขียว เหลือง และได้ลองกินยาปฏิชีวนะแล้ว 2 ถึง 3 วัน อาการยังไม่ทุเลา แสดงว่าเชื้อแบคทีเรียอาจจะดื้อยาที่กินอยู่
2. มีอาการปวดหู และหูอื้อไม่ค่อยได้ยิน อาจจะหูอักเสบ
3. ปวดโพรงจมูกอย่างมากอาจจะมีโรคไซนัสอักเสบ
4. มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว เสมหะมาก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาการของการติดเชื้อทาง เดินหายใจส่วนล่าง
5. มีไข้ ตัวร้อน นานกว่า 1 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นที่ทราบว่าโรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ไข้จะ หายภายใน 1 สัปดาห์ จึงต้องให้หมอหาสาเหตุอย่างอื่น
6. มีอาการเจ็บคอมากเกิน 3 วัน เนื่องจากบางคนอาจมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบร่วมด้วย ซึ่งไข้หวัดทั่วไปการเจ็บคอจะเป็นมากๆ วันแรกๆ แล้วค่อยทุเลาลง ส่วนต่อมทอนซิลอักเสบจะเจ็บคอมากขึ้นเรื่อยๆ

เราป้องกันหวัดอย่างไร

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่ป้องกันได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงจากคนที่เป็นไข้หวัด ซึ่งดูง่ายแต่ทำยากมาก เนื่องจากคนเป็นโรคนี้กันมาก โดยระวังการไอหรือจามรดหน้ากัน และล้างมือทุกครั้งก่อนจับจมูกหรือขยี้ตา เพราะเป็นช่องทางที่ติดเชื้อหวัด นอกจากนี้ คือการรักษาความแข็งแรงของร่างกาย เช่น ออกกำลังกายพอประมาณ นอนพักผ่อนเพียงพอ เป็นต้น

ไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งต่างจากที่ทำให้เกิดไข้หวัดทั่วไป อาการคล้ายกัน แต่มีไข้สูงกว่า ปวดเมื่อยตัวมากกว่า อ่อนเพลียมากกว่า หายช้ากว่า การดูแลรักษาและการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ก็ใช้แนวทางเดียวกันกับการรักษาไข้หวัดโดยทั่วๆไป

ในกรณีที่มีไข้สูงมากบางครั้งกินยาลดไข้แล้วไข้ก็ยังสูงอยู่ วิธีการแก้ไขคือการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวครับใช้น้ำก๊อกธรรมดาก็ได้ ชุบผ้าหมาดๆ เช็ดตัวไปเรื่อยๆ จนกว่าไข้จะลง เช็ดตามซอกคอ ซอกแขน ซอกขา หน้าผาก จำง่ายๆ คือ ที่ตรงไหนร้อนมาก ก็เช็ดตรงนั้น หากผ้าเริ่มร้อนต้องชุบน้ำใหม่ครับ เมื่อตัวเย็นก็เลิก ไข้สูงก็เริ่มเช็ดใหม่

โรคไข้หวัดเป็นง่าย หายง่ายและติดซ้ำใหม่ได้เรื่อยๆ การดูแลรักษาในกรณีที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนนั้นไม่ยาก เพราะเป็นโรคที่หายเองอยู่แล้ว การระวังป้องกันถ้าทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ

ข้อมูลสื่อ

268-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 268
สิงหาคม 2544
โรคน่ารู้
นพ.สมชาญ เจียรนัยศิลป์