• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กรรณิการ์ คุณค่าที่คู่ควรจมูก ตา (และหู)

ค่ำคืนหนึ่งของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนยืนอยู่บนชานบ้านทรงไทยของมูลนิธิฯ ซึ่งล้อมรอบด้วยต้นไม้นานาชนิด ขณะกำลังเพลินฟังเสียงจักจั่น และมองหาว่าดังมาจากต้นไม้ต้นไหนอยู่นั้น ลมอ่อนๆ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวก็พากลิ่นหอมสดชื่นมาให้ชื่นชมอยู่ชั่วครู่ แล้วค่อยจางหาย ตามทิศทางลมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาที่น่ารักข้อใหม่ขึ้นอีกว่า กลิ่นหอมนั้นมาจากต้นไม้ชนิดใด

ซึ่งปัญหาข้อนี้ตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะบ้านทรงไทยหลังนี้มีต้นไม้ ดอกหอมปลูกอยู่โดยรอบหลายสิบชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็เติบโตจนออก ดอกส่งกลิ่นหอมแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งมีฝนมาเร็วและไม่ทิ้งช่วง ทำให้ไม้ดอกส่วนใหญ่ออกดอก และส่งกลิ่นหอมกันก่อนฤดูกาลปกติ เช่น กรรณิการ์ที่เคยเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปถึงพฤศจิกายน ก็เริ่มออกดอกแล้ว ตั้งแต่ปลายเดือน พฤษภาคมเป็นต้น กลิ่นหอมที่ลอยมากับลมนั้นน่าจะเป็นกลิ่นกรรณิการ์ ซึ่งขึ้นอยู่ในทิศทางลม และมีกลิ่นแรง ช่วงค่ำคืน

เมื่อผู้เขียนเดินลงจากบ้านไปที่พุ่มกรรณิการ์ ก็พบว่าเป็นอย่างที่คิดเอาไว้จริงๆ ดอกกรรณิการ์กำลังบานเต็มต้น ส่งกลิ่นหอมหวานไปรอบพุ่ม ผู้เขียนเก็บดอกบานติดมือกลับมา 4 ถึง 5 ดอก เพื่อใช้บูชาพระและวางไว้ข้างหมอน ซึ่งทำให้ได้กลิ่นหอมไปทั้งคืน
 
ภารกิจแรกยามเช้าวันต่อมาที่ผู้เขียนไม่ลืมก็คือ ออกไปยืนที่ชานบ้านในตำแหน่งเดิมที่ได้สัมผัสกลิ่นหอม มองไปที่พุ่มกรรณิการ์ ซึ่งยืนต้นอยู่บนลานหญ้าสั้นๆ สีเขียว ภาพที่เห็นนั้นงดงามสมที่คาดหวังไว้ นั่นคือภาพดอกกรรณิการ์สีขาว-แสด เรียงรายเป็นวงกลมอยู่บนพื้นหญ้าสีเขียวใต้ต้นกรรณิการ์ ดอกกรรณิการ์ ทุกดอกที่บานส่งกลิ่นหอมให้จมูกได้ชื่นชมอยู่เมื่อคืน ครั้นถึงตอนเช้าก็ปลิดตัวลงมาโรยอยู่กับพื้นให้ความงดงามอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น ดอกที่ร่วงหล่นยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่างทั้งยังสดหรือจะตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้เช่นเดียวกัน
 

                                           

กรรณิการ์ : ชื่อที่มาจากหู

กรรณิการ์ เป็นชื่อเรียกต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nyctanthes arbortristis Linn. อยู่ในวงศ์ Verbenaceae เช่นเดียวกับนางแย้มและผกากรอง จึงมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น เป็นไม้พุ่ม มีขนตามลำต้นและใบ เป็นต้น

กรรณิการ์เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 2 ถึง 4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม มีขนสาก ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามตามข้อเป็นคู่ๆ รูปไข่ปลายแหลม ขอบใบเป็นจักเล็กน้อยพื้นผิวใบมีขนสากระคายมือ

ดอกกรรณิการ์ออกเป็นช่อ เล็กๆ ที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ถึง 7 ดอก ลักษณะดอกคล้ายดอกมะลิ คือ ส่วนล่างเป็นหลอด ส่วนบนเป็นกลีบๆ บานออกเป็นทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร

กลีบดอกกรรณิการ์มีสีขาว ดอกละ 5 ถึง 7 กลีบ ขนาดกลีบแคบกว่าดอกมะลิ ปลายกลีบมี 2 แฉก โคนดอกเป็นหลอดกลมสีส้มแดง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
 
ปกติกรรณิการ์จะออกดอกช่วง เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน แต่สามารถออกดอกได้เกือบตลอดปีหากมีฝน หรือได้รับการตัดแต่งและให้น้ำเหมาะสม
 
ดอกกรรณิการ์บานตอนพลบค่ำ ส่งกลิ่นหอมแรง และร่วงหล่นจนหมดในตอนเช้า
กรรณิการ์มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในตอนกลางของประเทศอินเดีย คงเข้ามาในประเทศไทยช่วงปลายสมัย กรุงศรีอยุธยา หรือตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพบชื่อปรากฏในวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น มีชื่อเรียกว่า กณิการ์ กรณิการ์ กรรณิกา และ กรรณิการ์ (ภาคกลาง) สะบันงา (น่าน) ภาษาอังกฤษ เรียก Night-Blooming Jasmine

สันนิษฐานว่าชื่อกรรณิการ์ที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้มาจากคำว่ากรรณิกา ซึ่งหมายถึง ช่อฟ้า กลีบบัว ดอกไม้ ตุ้มหู และเครื่องประดับหู อันมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตนั่นเอง ซึ่งหากสังเกตรูปทรงของดอกกรรณิการ์แล้ว ก็จะเห็นว่าเหมาะจะใช้เป็นเครื่องประดับหูได้ดี เพราะมีหลอดที่ใช้สอดในรูที่เจาะใส่ตุ้มหูได้ และกลีบเล็กๆ ที่มีปลายแฉกก็เหมาะสำหรับประดับใบหูได้อย่างงดงาม

ประโยชน์ของกรรณิการ์
กรรณิการ์เป็นสมุนไพรตามวิธีการของแพทย์แผนไทยได้ดี เพราะมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น
ใบ-บำรุง น้ำดี ขับน้ำดี แก้ปวดตามข้อ เป็นยาระบาย เป็นยาขมเจริญอาหาร ในอินเดียเป็นยาขับประจำเดือน
ดอก-แก้ไข้ ลมวิงเวียน แก้พิษทั้งปวง แก้ไข้ผอมเหลือง
ราก-แก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ป้องกันผมหงอก แก้ลม บำรุงผิวให้สดชื่น เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อ่อนเพลีย
เปลือกต้น-ต้มดื่มแก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ไอ

หลอดดอกกรรณิการ์มีสีแสดแดง ใช้ผสมอาหารให้มีสีสวยงาม และใช้ย้อมผ้าไหมได้ด้วย
ในอินเดียนับถือต้นกรรณิการ์เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง จึงอาจถือได้ว่าเป็นไม้มงคล

ข้อมูลสื่อ

268-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 268
สิงหาคม 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร