• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

error หนึ่งสมองมีสองซีก

หนึ่งสมองมีสองซีก


คุณเคยเป็นเช่นนี้หรือไม่
คิดงานจนหัวแทบระเบิด แต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก
แต่หลังจากที่คุณหยุดคิด และนั่งเพลินๆ โดยอาจจะมองออกไปนอกหน้าต่างอย่างไม่สังเกตอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือมองไปยังภาพวาดที่ผนังห้อง
คุณกลับรู้สึกว่าสมองของคุณได้พักผ่อน และกลับมาคิดงานที่ยุ่งเหยิงได้อย่างสบายใจ
คุณคงเคยเข้าร่วมการประชุมที่มีความขัดแย้ง ถกเถียงกัน และต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่ไม่สามารถมาหักล้างกันได้ แต่เมื่อได้เวลาพักเพื่อดื่มน้ำ กินของว่าง เดินชมวิวสักพัก พอกลับมาประชุมต่อ สถานการณ์ตึงเครียดที่เคยมีอยู่ก็ได้หายไป
คุณเคยขับรถไปเรื่อยๆ ในขณะที่สมองของคุณกลับฝันไปถึงเรื่องการไปเที่ยว การพักผ่อนที่สนุกสนานจนลืมไปว่ากำลังขับรถอยู่ และในทันใดนั้น รถคันข้างหน้าคุณเกิดเหยียบเบรกกะทันหัน สมองคุณเหมือนถูกฉุดกระชากให้กลับมาอยู่ที่รถอีกครั้ง สมองจึงสั่งการให้เหยียบเบรกเต็มที่
คุณอาจจะเคยเดินเข้าไปในวัดหรือโบสถ์ ครั้นเมื่อได้มองดูโครงสร้างของวัดหรือมองภาพปั้นในโบสถ์แล้วรู้สึกว่าสมองหรือความคิดของคุณเบาสบายขึ้น
ทุกคนรู้ดีว่าตนเองมีไต 2 ข้าง มีปอด 2 ข้าง ต่อมหมวกไต 2 ต่อม แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าสมองของเราก็มีลักษณะเป็นคู่เหมือนกัน
จากตัวอย่างที่ยกขึ้นมากล่าวถึงข้างต้นนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสับเปลี่ยนหน้าที่ในการใช้สมองระหว่างสมองซีกซ้ายกับสมองซีกขวา
กลไกการทำงานของสมอง
สมองของคนเรานั้นมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีเทาและขาว รูปร่างคล้ายเห็ด หนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ภายในมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก ในสมองประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neuron) จำนวนมหาศาล ประมาณ 3o,ooo ล้านตัว และมีเซลล์ประกอบ (glial cell) อีกประมาณ 1.5-3.o แสนล้านตัวทีเดียว
ถ้าคุณเคยแซะผิวสนามหญ้ามาดูสักชิ้นหนึ่ง จะพบว่าในชิ้นหญ้าที่ติดกับดินที่แซะมานั้น จะมีหญ้าเกี่ยวพันกันอย่างพัลวันเต็มไปหมด สมองของเราก็มีลักษณะคล้ายอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ซับซ้อนกว่านั้นอีกหลายร้านเท่าด้วยเซลล์ประสาทกว่า 3o,ooo ล้านตัวนั้น แต่ละตัวจะต่อกับตัวอื่นๆเป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจมากถึง 6o,ooo ตัวทีเดียว
เซลล์ประสาทนั้นมีลักษณะคล้ายกับตัวแมงมุมที่เกาะอยู่กับสายใยอันหนึ่ง ในที่นี้ตัวแมงมุมเทียบได้กับตัวเซลล์ (cell body) สายใยเทียบได้กับใยส่งกระแสประสาท (axon) ส่วนขาแมงมุมนั้นเทียบได้กับใยรับกระแสประสาท (dendrite) พวกใยรับกระแสประสาทของเซลล์ประสาทตัวหนึ่งจะรับสัญญาณจากเซลล์ประสาทตัวอื่นๆ และส่งสัญญาณนี้เข้าสู่เซลล์ประสาท ต่อจากนั้นสัญญาณก็จะวิ่งไปตามสายใยส่งกระแสประสาทอีกทอดหนึ่ง ด้วยความเร็วที่อาจสูงถึง 22o ไมล์/ชั่วโมง หลังจากที่สัญญาณได้วิ่งผ่านไปแล้ว สภาพทางเคมีภายในใยส่งกระแสประสาทก็จะคืนตัวสู่สภาพเดิมภายในเวลาประมาณ 1/2,ooo วินาที ความจริงแล้วเซลล์ประสาททุกตัวหาได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดแตะต้องถึงกันเลย สัญญาณที่วิ่งผ่านไปมาระหว่างเซลล์ประสาท 2 ตัว จะเป็นแบบเดียวกับที่ไฟฟ้าวิ่งผ่านช่องสปาร์กในหัวเทียนของของเครื่องยนต์นั่นเอง ในขณะที่มีการจุดหัวเทียนนั้น เซลล์ประสาท 2 เซลล์จะต่อถึงกันโดยกรรมวิธีทางเคมี
เซลล์สมองที่ตายไม่อาจทดแทนได้
แม้ว่าสมองจะมีความสามารถอันพิเศษสุดเหนือคอมพิวเตอร์ชิ้นใดในโลกก็ตาม แต่ข้อด้อยของสมองก็คือถ้าเกิดเซลล์สมองถูกทำลายไปแม้เพียงเซลล์เดียว เซลล์ที่หายไปนั้นก็เป็นอันว่าต้องถูกแทงบัญชีสูญตลอดกาล ซึ่งจะต่างจากอวัยวะส่วนอื่น เช่น เซลล์ผิวหนัง เนื้อเยื่อตับ และเซลล์เม็ดเลือดที่จะมีเซลล์ใหม่มาแทนที่ได้เมื่อเวลาที่เซลล์เก่าเสื่อมสลายไป
กรณีหนึ่งที่อาจจะทำให้เซลล์สมองตายได้ก็เนื่องจากความชราภาพเช่นในผู้สูงอายุ เซลล์ประสาทในสมองจะตายลงไปเป็นจำนวนมาก ที่อาจสังเกตตัวเองได้ก็คือ ความสามารถในการดมกลิ่นจะถดถอยลงไป รสชาติที่เคยอร่อยลิ้นอาจจะจืดจาง และหูก็อาจจะพาลตึงๆไปด้วย นอกจากนี้ความจำก็ยังเลอะเลือน ความสนใจในบางอย่างหดสั้นลง เช่น อาจจะจำชื่อคน วันนัดแนะ หรือเบอร์โทรศัพท์ไม่ค่อยได้
สมองชีวิต
หากจะกล่าวโดยรวม สมองไม่เพียงแต่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่หมายถึงบุคลิกทั้งตัวของคนๆนั้นเลยทีเดียว รวมถึงสมองจะทำหน้าที่ในการกำหนดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก ความสามารถทางความคิด อารมณ์ และกำหนดความรู้สึกทางเพศ และอื่นๆด้วย
สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์ด้วยนั้น เมื่อแรกเกิดจะอยู่ในสภาพที่มีพัฒนาการน้อยมาก แต่จะพัฒนาอย่างมากทั้งขนาดรูปร่างและหน้าที่ในช่วงระยะที่เป็นทารกและเป็นเด็ก ซึ่งนอกจากจะเติบโตขึ้นทางรูปร่างและหน้าที่อย่างมากมายแล้ว ทางด้านเซลล์สมองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายด้วย คือ มีการเพิ่มเส้นใยประสานกันระหว่างเซลล์ประสาทมากมายในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีอยู่ตลอดชีวิตของแต่ละคน
สมองมีสองซีก
ประมาณหลายพันปีมาแล้วที่นักปราชญ์ชาวกรีกพบว่า มนุษย์เรามีสมองสองซีก และเมื่อ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับสมองก็ทำให้เรารู้ว่าสมองซีกซ้ายคือผู้กำกับพฤติกรรมต่างๆของคนเรา แพทย์ทางประสาทวิทยาชาวอังกฤษ พบว่า ผู้ป่วยที่มีสมองซีกซ้ายทำงานอยู่ด้านเดียวจะมีพฤติกรรมเป็นปกติมากกว่าคนที่มีสมองซีกขวาทำงานอยู่ด้านเดียว
ในคนส่วนใหญ่ สมองซีกซ้ายจะทำงานเกี่ยวข้องกับตรรกะ ภาษา ความเป็นเหตุผล ตัวเลข การวัด และการวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งเรียกว่า “กิจกรรมทางวิชาการ” ส่วนสมองซีกขวาจะทำงานเกี่ยวข้องกับจังหวะ ดนตรี ภาพ และจินตนาการ สี กระบวนการเปรียบเทียบ การฝันกลางวัน การจดจำหน้าคนและการจดจำแผนผังหรือแผนที่
ในช่วง 1o กว่าปีที่ผ่านมานี้ การค้นคว้าเกี่ยวกับโครงสร้างของสมองได้ก้าวหน้าไปมาก ได้มีการทำวิจัยและพบว่าส่วนของสมองซ้ายและขวามีการทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ตาม ในครั้งแรกประวัติศาสตร์ดูเหมือนจะปฏิเสธผลการค้นคว้านี้ เพราะเชื่อว่ามหาบุรุษหรือบุคคลสำคัญส่วนใหญ่มักจะเอียงไปข้างใดเพียงข้างหนึ่ง เช่น ไอน์สไตน์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ดูเหมือนว่าจะมีสมองซีกซ้ายโดดเด่นกว่า ขณะที่ปิกาสโซ่ เซซาน และศิลปินหรือนักดนตรีคนอื่นๆจะเด่นทางด้านสมองซีกขวา
แต่จากการค้นคว้าอื่นๆก็ทำให้เราค้นพบความจริงที่น่าประหลาดใจ นั่นคือ ไอน์สไตน์ เมื่อตอนอยู่ที่โรงเรียนตกวิชาคณิตศาสตร์ แต่ได้คะแนนสูงในวิชาอื่นๆ เช่น การเล่นไวโอลิน วิชาศิลปะ การแล่นเรือ และเกมที่ต้องใช้จินตนาการ
และด้วยเกมจินตนาการของเขาทำให้ไอน์สไตน์ได้แสดงความสามารถที่สำคัญยิ่งในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแอบแฝงอยู่ภายในตัวเขาออกมา วันหนึ่งในฤดูร้อน ขณะที่เขากำลังฝันกลางวันอยู่บนเนินเขาแห่งหนึ่ง เขาก็ได้จินตนาการว่า เขากำลังขี่แสงอาทิตย์ไปไกลสุด และเมื่อพบว่าตนเองกลับมาอยู่ที่พื้นผิวของดวงอาทิตย์ อย่างไม่น่าสมเหตุผล เขาก็ตระหนักรู้ว่าความจริงแล้วจักรวาลจะต้องโค้งและรู้ว่าการฝึกฝนความรู้ในเชิงเหตุผลของเขายังไม่สมบูรณ์ ตัวเลขสูตรสมการ และตัวแปรต่างๆที่เขาสร้างขึ้นในจินตนาการใหม่ของเขาได้ทำให้เกิดทฤษฎีสัมพันธภาพขึ้น และนี่เป็นการสังเคราะห์ขึ้นระหว่างสมองซีกซ้ายและซีกขวา และยังพบว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่หลายต่อหลายคนก็ได้รับการพัฒนาสมองทั้งสองข้างเช่นเดียวกัน
นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองซีกซ้ายในคนที่เรามักคิดว่าพัฒนาแต่สมองซีกขวา
หน้าที่ของสมองทั้งสองซีก
สมองซีกซ้ายช่วยทำหน้าที่ทางคำพูด ภาษา รวมทั้งการอ่านและเขียนหนังสือ แต่สมองซีกขวาจะทำหน้าที่ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำพูด ภาษา จะทำหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งที่มองเห็นอันเป็นรูปร่างหรือมิติ
สมองซีกซ้ายใช้ความคิดอันเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับตามเวลาและจำนวน แต่สมองซีกขวาจะใช้ความคิดร่วมกันไปในเวลาเดียวกัน ไม่เป็นขั้นตอน คิดเป็นภาพมิติ และคิดเป็นมโนภาพที่เปรียบเทียบ
สมองซีกซ้ายใช้ความคิดอันเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (logical) และใช้การวิเคราะห์ (analitical) แต่สมองซีกขวาใช้ความคิดแบบรวบยอด และใช้ความคิดแบบสังเคราะห์ (synthetic)
สมองซีกซ้ายใช้ความคิดโดยหาเหตุผล แต่สมองซีกขวาจะใช้ความคิดโดยความหยั่งรู้
และมีผู้เปรียบเทียบว่าสมองซีกซ้ายเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบคิดคำนวณตัวเลข ส่วนสมองซีกขวาเปรียบให้ข้อมูลเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบให้ข้อมูลเป็นรูปร่างโครงสร้าง
ได้มีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงแบ่งลักษณะความคิดของคนเราเป็นสองภาคเช่นนั้น มันมีคุณลักษณะแตกต่างกันไปจริงๆเช่นนั้นหรือ หรือเพียงแต่เราให้คำอธิบายพฤติกรรมต่างๆให้มองเห็นมุมตรงข้ามกันอย่างชัดเจน
พูดให้ชัดก็คือว่า ลักษณะของความคิดเหล่านี้มันแตกต่างกันไปแท้ๆ หรือว่ามันยังมีที่เป็นลักษณะกลางๆระหว่างทั้งสองมุม
ฝ่ายหนึ่งซึ่งเชื่อว่ามันแตกต่างกันแท้ๆ เพราะมันเป็นความจริงทางสรีรภาพของระบบประสาท คือมีสมองซีกขวาและซีกซ้ายที่สามารถปฏิบัติงานด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ
ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการแบ่งภาพลักษณะความคิดเป็นสองภาคตรงข้ามกันนั้น เป็นเพียงวิธีที่สะดวกในการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆที่ซับซ้อน ด้วยความเชื่อที่ว่าความรู้หรือความคิดที่แตกต่างกันนี้เนื่องจากความแตกต่างกันในหน้าที่ของสมองทั้งสองซีก
ใครใช้สมองซีกใดมากกว่า
มีผู้กล่าวว่า มนุษย์แต่ละคนมีแนวโน้มที่จะเคยชินกับการใช้สมองข้างหนึ่งข้างใดมากกว่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและการงานของเขา เช่น คนที่ถนัดในการใช้คำพูดหรือการวิเคราะห์แก้ปัญหา แสดงว่าเป็นคนถนัดในการใช้สมองซีกซ้าย
มีผู้ให้ความเห็นว่าการคิดโดยสมองซีกซ้ายนั้นเป็นการคิดแบบชาวตะวันตก แต่การคิดโดยสมองซีกขวานั้นเป็นการคิดแบบชาวตะวันออก ฟังดูก็เหมือนว่า ชาวตะวันตกนั้นเอาเหตุเอาผลเป็นใหญ่ แต่ชาวตะวันออกนั้นใช้ความหยั่งรู้ ความคิดคำนึง ความจรรโลงใจมากกว่า
นักจิตวิทยาชื่อ โรเบิร์ต ออร์นสไตน์ ได้พูดว่า ชาวตะวันตกนั้นใช้สมองของเขาเพียงครึ่งเดียว ดังนั้นจึงใช้สมรรถภาพทางปัญญาของตนเพียงครึ่งเดียวด้วย เขาชี้ว่าการเน้นหนักที่ภาษากับการใช้ความคิดแบบตรรกะในสังคมตะวันตกนั้น ทำให้สมองซีกซ้ายได้ฝึกฝนและใช้งานอย่างเต็มที่ ดังนั้น หน้าที่ของสมองซีกขวาที่ถูกทอดทิ้งไปในสังคมตะวันตก คือส่วนที่เป็นความสามารถของมนุษย์ในทางภูมิปัญญาที่จะพัฒนาไปในทางวัฒนธรรม ศาสนศาสตร์ และความรู้ทางญาณที่ลึกลับแบบชาวตะวันออก
นักเขียนท่านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุใดสมองซีกขวาจึงถูกทอดทิ้งไป เขาเห็นว่า “เพราะเรามีวิถีชีวิตอยู่ในโลกที่ดูเหมือนจัดเป็นสัดเป็นส่วน เป็นขั้นเป็นตอน และความคิดแบบตรรกะของสมองซีกซ้ายได้รับการยกย่องอย่างยิ่งในวัฒนธรรมของเรา เราจึงค่อยๆละทิ้ง ไม่เห็นคุณค่า และไม่นำพาต่อข้อมูลต่างๆที่ได้จากสมองซีกขวา ไม่ใช่เราหยุดใช้มันเลย แต่มันจะมีมาให้เราน้อยลงๆ เพราะวิถีชีวิตที่เป็นอยู่เช่นนี้”
ความคิดที่ว่าสมองทั้งสองซีกนั้นมีวิธีการใช้ความคิดแตกต่างกันไปโดยเฉพาะ ทำให้เกิดแนวความคิดในเรื่องความถนัดของการใช้ซีกสมอง คือความคิดที่ว่าแต่ละบุคคลจะใช้วิธีคิดหรือใช้สมองข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง
การใช้สมองแตกต่างกันเช่นนี้พูดได้ว่าเป็นวิธีการใช้ความคิดของแต่ละบุคคล หรือวิธีแก้ไขปัญหาตามความถนัดของแต่ละบุคคล คนที่ถนัดในการใช้คำพูดหรือการวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา แสดงว่าเป็นคนถนัดในการใช้สมองซีกซ้าย และคนที่ถนัดในการใช้ความคิดโดยการมองภาพรวมและมองเป็นมิติ แสดงว่าเป็นคนที่ถนัดในการใช้สมองซีกขวา
งานของคุณใช้สมองซีกใด
ได้มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับศิลปินว่าใช้สมองซีกขวามากกว่านักกฎหมายหรือไม่ โรเบิร์ต ออร์นสไตน์ และเดวิด กาลิน ใช้วิธีบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองเปรียบเทียบซีกซ้ายกับซีกขวาในกลุ่มคนที่เป็นนักกฎหมาย และนักปั้นเครื่องเซรามิก ขณะที่ปฏิบัติงานทดสอบหลายๆอย่างพบว่าคนที่เป็นนักกฎหมายนั้นมีการทำงานของสมองซีกซ้ายมากกว่ากลุ่มนักปั้นเครื่องเซรามิก อย่างไรก็ตาม การวัดระดับการทำงานของซีกสมองด้วยคลื่นสมองนั้นแปลผลได้ยาก
จากการศึกษาโดยพอล บาคาน โดยวิธีตรวจการเหลือบสายตาในนักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มที่เรียนวิชาวรรณคดีและมานุษยวิทยา เปรียบเทียบกับกลุ่มที่เรียนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ปรากฏว่านักศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมส่วนใหญ่ถนัดเหลือบตาขวา หรือถนัดสมองซีกซ้าย และนักศึกษาวรรณคดีและมานุษยวิทยาถนัดสมองซีกขวามากกว่า ผลของการทดลองนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในความถนัดของการใช้ซีกสมองในกลุ่มที่มีวิชาชีพแตกต่างกัน
ได้มีการศึกษาเรื่องปริมาณของเลือดที่ไปเลี้ยงซีกสมอง เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้ความถนัดของซีกสมอง เจมส์ แดบบส์ได้ใช้เทคนิคในการวัดอุณหภูมิซึ่งแตกต่างกันน้อยมากระหว่างซีกสมองทั้งสองข้าง เขารายงานว่าปริมาณของเลือดที่ไหลไปสู่ซีกสมองนั้นแตกต่างกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษและวิชาเอกสถาปัตยกรรม ระดับปริมาณของเลือดไปสู่สมองซ้ายสูงกว่าในกลุ่มนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษและปริมาณเลือดไปสู่สมองซีกขวาสูงกว่าในกลุ่มนักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม
การศึกษานี้ให้ข้อสรุปว่า ซีกสมองข้างใดพักจากการปฏิบัติงานมากกว่ากัน ความสำคัญของเรื่องนี้คงต้องมีการศึกษาให้กว้างขวางต่อไปอีก และใช้วิธีวัดปริมาณของเลือดไปสู่เนื้อที่ของสมองที่ดีกว่านี้
ส่วนเรื่องสมองซีกซ้ายซีกขวาในการแยกหน้าที่การคิดนั้น ยังคงจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกมาก ก่อนที่จะตัดสินใจได้ในเรื่องความถนัดของสมองกับวิชาชีพของบุคคล
ใช้สมองทั้งสองข้างอย่างสมดุล
มนุษย์นั้นมีเซลล์สมองจำนวนมากมายมหาศาลดังที่กล่าวมาแล้ว แต่มีผู้วิจัยพบว่า มีเซลล์สมองร้อยละ 5 เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้
การที่เราเปิดให้สมองซีกซ้ายและขวาใช้งานมากขึ้นจึงเท่ากับเป็นการใช้เซลล์สมองส่วนที่ไม่ได้ถูกใช้ให้ได้ใช้งานมากขึ้น
กล่าวกันว่า โดยปกติมนุษย์มักจะเคยชินกับการใช้สมองข้างเดียวมากกว่า จนกลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวไปแล้ว เช่นในสังคมของเราทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมของคนสมองซีกซ้าย ประชากรร้อยละ 85 จึงเป็นคนถนัดขวา และพบว่าคนเหล่านี้จึงมักมองแต่สิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า ส่วนคนที่ใช้สมองทั้งสองข้างอย่างสมดุล ก็มักจะมีทรรศนะในการมองรอบตัว
เบ็ตตี้ เอ็ดเวิร์ดส์ ครูสอนศิลปะในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ตั้งสมมติฐานว่าโดยปกตินั้น สมองซีกขวามีความสามารถในการวาดภาพ ถ้าปล่อยสมองซีกขวาให้เป็นอิสระ สมองซีกขวาจะสามารถสร้างสรรค์ภาพที่สวยงามได้แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนเลย ด้วยเหตุที่เรามักใช้แต่สมองซีกซ้ายกัน จึงพบว่าสมองซีกขวาของเราจึงไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเลย เพราะสมองซีกซ้ายซึ่งทำหน้าที่ในด้านการพูด ฟัง วิเคราะห์ จะคอยเกี่ยวข้องขัดขวางไปเสียหมด ความโน้มเอียงอันเป็นธรรมชาติของเราจะคอยบอก อธิบาย และวิเคราะห์ภาพหรือวิวที่เห็นเสียก่อนลงมือวาด เธอกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้คือการไปขัดขวางการทำงานของสมองซีกขวานั่นเอง
วิธีสอนของเธอก็คือ ให้สมองซีกซ้ายมาเกี่ยวกับการวาดภาพน้อยที่สุด
แบบฝึกหัดแรกของเธอคือ ให้นักเรียนลอกแบบภาพคน แต่ให้ภาพคนนั้นกลับหัว เหตุผลง่ายๆคือเมื่อภาพหัวกลับเสียแล้ว นักเรียนจะจำภาพนั้นได้ยาก และเป็นการยากที่จะนึกออกว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพ
เธอพบว่าผู้ใหญ่แทบทุกคนเมื่อวาดภาพเสร็จแล้วกลับหัวขึ้นมาดูปรากฏว่าได้ภาพดีอย่างน่าประหลาดใจ
งานทดลองของเธอนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ...
พวกเราหลายๆคนคงอยากวาดภาพให้เป็นหรือวาดได้ดี ลองคิดดูสิว่า เรามักจะเคยชินกับการใช้วิธีคิดแบบวิเคราะห์หรือคำนวณว่าควรลากเส้นยาวเท่าไร ลักษณะใด โค้งเท่าไร ความสูงเท่าไร ความห่างเท่าไร ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้สมองซีกซ้ายในการคำนวณโดยที่ยังไม่ได้เปิดสมองซีกขวาให้ทำงานก่อนเลย
แต่การวาดภาพนั้น ต้องการใช้จินตนาการ ซึ่งใช้สมองซีกขวา คือต้องมองภาพรวมๆ เป็นมิติก่อน จึงจะช่วยทำให้ภาพวาดนั้นออกมาดี
ปัจจุบันจะเห็นว่า มีการส่งเสริมให้เด็กเล่นดนตรีและวาดภาพกันมาก สิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจก็คือ เราควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กเกิดความสนใจตามธรรมชาติเพื่อเปิดให้สมองซีกขวาทำงาน ไม่ใช่บีบบังคับให้สมองซีกขวาต้องทำงานโดยการไปกดการทำงานของสมองซีกซ้าย หากเป็นเช่นนั้นก็นับว่าเป็นการผิดวิธี เพราะถึงแม้ต้องใช้สมองซีกขวาในการจินตนาการ แต่ก็ต้องอาศัยสมองซีกซ้ายในการคำนวณซึ่งจะสัมพันธ์กันในเวลาต่อมา
มีคนกล่าวว่าเรื่องการแบ่งหน้าที่ของสมองซีกซ้ายและขวานั้น ยังไม่สามารถชี้ข้อสรุปที่ชัดเจนได้ แต่คิดว่าก็คงไม่เป็นการ เสียหาย หากจะนำเทคนิคการสับเปลี่ยนมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะจะช่วยทำให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้น สามารถนำมาพัฒนาจิตใจให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีชีวิตที่เป็นสุข
ผลดีของการสับเปลี่ยนความคิด
ขอยกตัวอย่างถึงผลดีบางประการในการที่เราสามารถสับเปลี่ยนความคิดในการใช้สมองทั้งสองซีกอย่างสมดุลว่ามีอย่างไรบ้าง
- ทำให้เราใช้พลังสมองได้เต็มที่ยิ่งขึ้น ด้วยการใช้สมองตามลักษณะหน้าที่ของแต่ละข้างอย่างเหมาะสม
- ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่น หรือปรับตัวไปตามคนอื่นได้
- ช่วยให้เกิดแนวความคิดใหม่ ในอันที่จะเสนอวิธีการต่างๆในการเปลี่ยน หรือปรับตัวเข้าหางานของเรา ทำให้งานนั้นๆได้ผลสูงขึ้น และประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนตัว
- เสริมสร้างพลังในการทำงานและได้ปลดปล่อยความสามารถในทางสร้างสรรค์
ใช้สมองทั้งสองข้างสร้างสรรค์ชีวิต
อย่างที่บางท่านได้เคยพูดว่าความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้นในที่ทำงานและอื่นๆ บางครั้งดูเหมือนหาข้อยุติไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล หากเรียนรู้ถึงการคิดในการใช้สมองซีกซ้ายและขวา จะเห็นว่าเราใช้สมองซีกซ้ายมากในการใช้เหตุผล แต่ใช้สมองซีกขวามาปรับสมดุลน้อยมาก
ถ้าเรามองความขัดแย้งในครอบครัวจะพบว่าสามีภรรยา หรือสมาชิกในครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่บางครั้งมีความขัดแย้งกัน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล และก็หาข้อยุติด้วยเหตุผลไม่ได้ แต่ที่ยังอยู่ร่วมกันได้ก็เพราะความรักและความเมตตา และสมองส่วนขวานี้ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับความสุนทรีอันนี้ เราจะเห็นว่า การนำความคิดจากสมองซีกขวามามองปัญหา อาจทำให้เราเข้าใจในการปรับความคิดเพื่อให้หลายๆอย่างดีขึ้นได้
ในกรณีที่มีปัญหาความขัดแย้งที่เรื้อรังมานาน เราอาจนำความคิดแบบกลับหัวกลับหางไปลองปรับใช้ในชีวิตประจำวันดูบ้างก็ได้
การคิดกลับหัวกลับหาง
คือการเปิดมุมมองในสมองซีกขวา โดยเฉพาะกับเรื่องที่คิดไม่ออกบอกไม่ถูก เช่น ความขัดแย้งทั้งหลายที่เรื้อรังมานาน หรือเรื่องราวที่บั่นทอนจิตใจจนเกือบจะถึงขีดสุดอยู่แล้ว
การคิดกลับหัวกลับหางจึงออกจะเป็นวิธีคิดสำหรับปัญหาที่เป็นนามธรรม ซึ่งจะอยู่ตรงข้ามกับบรรทัดฐานทางสังคม และไม่อาจกำหนดโครงร่างหรือขอบเขตออกมาให้เห็นกันจะแจ้งได้
วิธีการนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแก้ปัญหา การคิดค้นสิ่งแปลกใหม่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์อันตึงเครียดได้ หรือปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากกระแสวังวนอันซ้ำซากจำเจได้
แต่ขั้นแรกของวิธีการนี้ยังต้องพึ่งพาสมองซีกซ้ายให้ช่วยกำหนดขอบเขตของเรื่องหรือปัญหาว่าอะไรคือตัวปัญหา มีอะไรที่จำเป็นต้องทำหรือจะทำรายได้เพิ่มจากทางใด ซึ่งจะขอยกตัวอย่างวิธีการนี้ดังนี้
- สมมติเอาว่าข้อมูลที่เราได้รับมานั้นผิดพลาด ไม่ว่าอะไรก็ตาม อาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเห็น ความจริงเป็นสิ่งเหลือเชื่อ และสิ่งที่เหลือเชื่อก็อาจเป็นเรื่องจริง
เช่น มีเพื่อนมาบอกคุณว่าเห็นสามีคุณพาสาวไปกินข้าวในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ท่าทางสนิทสนมกันมาก เพื่อนยังคาดคะเนต่ออีกว่า สงสัยสามีคุณอาจจะนอกใจคุณก็ได้
ถ้าคุณคิดตามข้อมูลที่ได้ฟังมาจากเพื่อน แน่นอนว่าย่อมนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกัน คุณอาจจะมีวิธีคิดใหม่ว่า เขาสองคนคงจะเป็นเพื่อนกัน แต่เป็นเพื่อนคนที่สนิทกันมากก็ได้ ถ้าคุณคิดได้เช่นนี้ ความบาดหมางใจในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น
- แหวกความจำเจ
เช่นเมื่อชีวิตการทำงานคุณเริ่มน่าเบื่อหน่ายเนื่องจากทำมาหลายปี คุณน่าจะหาวิธีการเปลี่ยนไปลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำในสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคุณ เพราะความแปลกใหม่ทำให้คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มเติม และอาจช่วยเปิดแนวทางใหม่ๆให้กับงาน ที่เคยน่าเบื่อซ้ำซากนั่นก็ได้ เป็นต้นว่า คุณอาจจะเดินออกกำลังหรือลองขี่จักรยานไปทำงาน ลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางใหม่ แล้วคุณจะพบว่ามีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นในชีวิตมากมาย
- ยกตนข่มความด้อย
เช่น เราอาจจะค้นพบพรสวรรค์ หรือความใฝ่ฝันอันซ่อนเร้นอยู่ในใจมานาน แต่ถูกกดทับเพราะความถ่อมตน หรือคิดว่าตนเองด้อยในเรื่องนั้นๆ
ลองคิดเล่นๆว่า ถ้าเราจะเป็นนักร้องชื่อดังก้องโลกอย่างเอลวิส เพรสลีย์ ก็ย่อมได้ จะทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมและอยากจะฝึกร้องเพลงขึ้นมาจริงๆสักที ไม่ใช่แค่เก็บไว้ฝันเล่นๆคนเดียว
ในปัจจุบันมนุษย์เราจะใช้สมองซีกซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สมองซีกขวาเริ่มฝ่อลง เกิดความเครียดมากขึ้น เพราะการทำงานวิเคราะห์ต่างๆต้องใช้สมองซีกซ้ายทั้งสิ้น ถ้าเราใช้ความคิดคิดต่อกันนานๆ มีข้อมูลต่างๆเข้ามามากมายจะทำให้เกิดความเครียด ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
แต่ถ้าสมองเราสงบ ตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่น ในตอนเช้า สมองยังไม่ได้รับอะไรเข้ามา จะรู้สึกสดชื่น วันเสาร์-อาทิตย์ก็สบาย เพราะข้อมูลต่างๆไม่ได้เข้ามา แต่วันจันทร์ถึงศุกร์ข้อมูลข่าวสารเข้ามามาก สมองหนัก ดังนั้นเวลากลับบ้าน หน้าตาจะบูดบึ้ง พูดไม่เพราะกับสามีภรรยา หรือดุลูกเพราะความเครียด
ดังนั้น เราคงต้องบอกกับตัวเอง หรือสร้างสภาพแวดล้อมให้ตัวเอง ที่จะทำให้เราได้มีโอกาสใช้สมองทั้งสองข้างกันบ้างเถิดนะ

เอกสารอ้างอิง
Lambert D, Swan R, Bosanko S., Cohen R, Seed KM. The brain : a user’s manual London : British Library Cataloguing in Publication Data, 1982.
Hutchison M. Megabrain : new tools and techniques for brain growth and mind expansion. New York : Ballantine Books, 1990.
Wonder J, Donovan P. เก่ง (Whole brain thinking). พินทุสร ติวุตานนท์, แปล. กรุงเทพฯ : เดอะบอสส์.
โทนี่ บูซาน. ฉลาดคิดด้วยสมองทั้งสองข้าง. นุชจรี ชลคุป แปล. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2534

ข้อมูลสื่อ

160-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 160
สิงหาคม 2535
บทความพิเศษ