• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์


ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปมาก เช่น ทางด้านการสื่อสาร แต่ก่อนนี้คงไม่เชื่อว่าจะสามารถมีโทรศัพท์พกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวกเช่นทุกวันนี้ แม้ขณะที่ชุมนุมประท้วงอยู่กลางถนนก็ยังสามารถพูดคุยกับคนที่บ้านได้ ทางด้านการแพทย์ก็เช่นกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนมีใครมาบอกว่า แพทย์สามารถจะมองเห็นหรือส่งคลื่นเข้าไปตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้ คนคงหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว และนอกจากแพทย์จะสามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ถ่ายดูอวัยวะภายในร่างกายอย่างธรรมดา ยังได้ประยุกต์เอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาต่อกับเครื่องเอกซเรย์เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจให้มากยิ่งขึ้น เรียกว่า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าเครื่องนี้กัน โดยผู้ที่จะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้คือ แพทย์หญิงจามรี เชื้อเพชระโสภณ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร

ความจริงเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็คือ เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา เพียงแต่ว่าแทนที่แสงเอกซเรย์จะไปลงที่แผ่นฟิล์มโดยตรง ก็กลับไปลงที่ตัวรับสัญญาณหรือคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็จะไปแปลงเป็นภาพอีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยเอามาถ่ายบนฟิล์มเครื่องนี้ใช้รังสีเอกซ์เหมือนเอกซเรย์ธรรมดา แต่เพราะมีคอมพิวเตอร์มาช่วยทำให้สามารถแปลสัญญาณได้ละเอียดกว่า เช่น ถ้าเราถ่ายศีรษะ เอกซเรย์ธรรมดาจะถ่ายไม่เห็นสมอง เพราะว่ามีกะโหลกศีรษะบังอยู่ ในฟิล์มเราจะเห็นแต่กระดูกที่เป็นกระดูกศีรษะ แต่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะสามารถถ่ายให้เห็นสมองข้างในได้

จะใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เมื่อใด

ปกติแล้วเรามักจะใช้เครื่องเอกซเรย์แบบธรรมดาก่อน เพราะการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากและมีอัตราเสี่ยงในการถูกรังสีอันอาจมีผลเสียต่อร่างกายมากกว่าเมื่อเทียบกับแบบธรรมดา เช่น เอกซเรย์ปอดธรรมดา รวมค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 100-200 บาท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน ขณะนี้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เฉพาะปอดอย่างเดียวราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท นอกจากนี้อัตราเสี่ยงในการถูกรังสีก็ยังมีมากกว่าแบบธรรมดาด้วย เช่น สมมติว่าถ้าจะเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดา ก็ฉายรังสีลงไปหนึ่งครั้งแค่นั้นแสงก็ผ่านร่างกายส่วนปอดไปลงแผ่นฟิล์ม แต่ในขณะที่ถ้าใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะต้องทำเป็นส่วน แต่ละส่วนมีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งเปรียบเหมือนกับการหั่นแตงกวาเป็นแว่นๆ ภาพที่ได้ก็จะเป็นแว่น ๆ เหมือนอย่างนั้น แต่ละแว่นก็คือการฉายรังสีครั้งหนึ่ง ถ้ายิ่งต้องการตรวจในบริเวณกว้างมากๆ ผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะได้รับรังสีมากขึ้น ดังนั้น จึงควรจะใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ไม่ใช่คิดอยากจะใช้ก็ใช้ เพราะจะเป็นการเปลืองเงินและเสี่ยงต่ออันตรายโดยไม่จำเป็น จริงๆแล้วร้อยละ 80-90 ของประชาชนที่มาใช้บริการที่แผนกรังสี เพียงแค่ถ่ายภาพรังสีแบบธรรมดาก็บอกโรคบอกปัญหาได้แล้ว

ประโยชน์ของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ความจริงเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีประโยชน์ค่อนข้างมาก สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่สมองไปจนถึงส่วนเท้าเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น แพทย์เกิดข้อสงสัยว่าจะมีความผิดปกติในเนื้อสมอง ซึ่งอาจจะเป็นการอักเสบ การติดเชื้อ หรือเนื้องอกในสมอง ก็ใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจ เพราะเครื่องเอกซเรย์แบบธรรมดาเข้าไปไม่ถึง แม้แต่เครื่องมือการตรวจอื่นๆที่ปราศจากรังสี เช่น คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ก็เข้าไปไม่ถึง เพราะผ่านกระดูกเข้าไปไม่ได้ ผู้ป่วยที่เอกซเรย์ปอดแล้วเห็นลักษณะผิดปกติเป็นก้อน แล้วอยากรู้ว่าก้อนเนื้อนี้เป็นก้อนเนื้อชนิดไม่ร้ายแรงหรืออาจเป็นมะเร็ง หรือว่าเกี่ยวข้องไปติดอยู่กับอวัยวะส่วนอื่นในทรวงอกหรือเปล่า จะผ่าตัดได้หรือไม่ ข้อสงสัยเหล่านี้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามารถบอกได้ หรือถ้าเป็นในช่องท้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็สามารถบอกได้ว่ามีก้อนในตับหรือเปล่า ม้ามเป็นอย่างไร คือเห็นทุกส่วนที่อยู่ภายในช่องท้อง

แต่ทั้งนี้การจะใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ต้องดูด้วยว่ามีทางเลือกอื่นที่ให้ผลใกล้เคียง ค่าใช้จ่ายถูกกว่า และปลอดภัยจากรังสีมากกว่าหรือไม่ เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ซึ่งไม่มีรังสีเลย และเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 500-700 บาท ขณะที่ไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาท และอาจจะได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกันมาก ก็ควรเลือกใช้อัลตราซาวนด์ดีกว่า สำหรับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นจะใช้งานได้ไม่ดีนักสำหรับโรคเกี่ยวกับทางลำไส้ กระเพาะอาหาร นอกจากจะนำมาประกอบการตัดสินใจ เช่น ถ่ายแบบธรรมดาแล้วสงสัยว่ามีเนื้องอกของลำไส้ แพทย์วินิจฉัยว่าควรเข้ารับการผ่าตัด แต่ต้องการทราบว่าหากผ่าตัดอวัยวะข้างเคียงจะเป็นอย่างไร จะมีปัญหาหรือไม่ จะพบต่อมน้ำเหลืองผิดปกติหรือเปล่า เพราะว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดาเราไม่สามารถมองเห็นต่อมน้ำเหลือง ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะเป็นตัวที่ชี้ว่าโรคนั้นอยู่ในระยะใดแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเพียงปวดท้องแน่นท้องธรรมดาโดยที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคกระเพาะ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ควรใช้แบบธรรมดาดีกว่า ซึ่งเรียกกันทั่วๆไปว่า กลืนแป้งตรวจกระเพาะ เสียค่าใช้จ่ายน้อยและให้ภาพที่ชัดกว่าด้วย

อันตรายจากรังสี

ปัจจุบันรังสีที่เราใช้ในเครื่องเอกซเรย์เป็นรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ซึ่งมิใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากว่ามีความสามารถทะลุทะลวงเหมือนกับรังสีตามธรรมชาติบางชนิด เช่น รังสีแกมม่า ซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ รังสีนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบางชนิดได้ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่กำลังเจริญเติบโตหรือเนื้อเยื่อที่ไวต่อแสง เช่น รังไข่ของผู้หญิง เด็กที่อยู่ในท้องแม่ ซึ่งกำลังมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ๆ ขึ้นมา เนื้อเยื่อพวกนี้จะไวต่อรังสี อาจทำให้ส่วนนั้นๆ ผิดปกติไปได้

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตัวเองจะตั้งครรภ์และจะต้องถ่ายเอกซเรย์ ควรบอกแพทย์เพื่อหาทางป้องกันอันตรายจากรังสี หากจำเป็นจะต้องถ่ายเอกซเรย์จริงๆก็อาจจะใช้ตะกั่วมาบังบริเวณส่วนท้องเพื่อกันไม่ให้รังสีเข้าไปถึง หากจะถามว่า ควรใช้ขนาดไหนจึงจะไม่เป็นอันตราย ความจริงแล้วเป็นอัตราเสี่ยงที่น้อย เช่น กรณีผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องถ่ายเอกซเรย์ พบว่าในล้านคนอาจจะมีผิดปกติหนึ่งคน เหมือนกับคนเราเดินข้ามถนนมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกรถชนทุกคน แต่ถ้าไม่เดินก็ไม่ได้ จำเป็นต้องเดิน การถ่ายเอกซเรย์ก็เช่นกัน ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ก็ต้องใช้ เพียงแต่อย่าใช้พร่ำเพรื่อเท่านั้นเอง

ในแง่ของอัตราเสี่ยงแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างรังสีที่ใช้ในการถ่ายเอกซเรย์กับรังสีที่นำมาใช้ในการรักษาโรค เช่น ฉายแสงรักษามะเร็ง อย่างหลังจะมีกำลังสูงกว่ามาก ถ้ามองดูพื้นฐานก็อาจจะคล้ายๆ กัน แต่กำลังที่นำมาใช้นั้นแตกต่างกันมากเป็นร้อยๆ เท่าทีเดียว พวกนี้จึงมีอันตรายกว่า


เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ต้องทำอะไรบ้าง

1. ส่วนใหญ่จะให้งดอาหารก่อน เพราะว่าถ้าจำเป็นจะต้องฉีดสารทึบแสง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ฉีดสี” บางคนอาจมีอาการแพ้ได้ จึงมักจะให้งดอาหารก่อนประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะอาหารว่าง เผื่อผู้ป่วยคลื่นไส้จากผลข้างเคียงของสารทึบแสงเกิดอาเจียนออกมาจะได้ไม่สำลักอาหาร ถ้าสำลักเข้าไปในหลอดลมและปอดก็มีอันตรายได้

2. นอนบนเตียง แล้วเคลื่อนผ่านเข้าเครื่อง ถ่ายส่วนที่ต้องการภาพก็จะขึ้นปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ เมื่อตรวจดูได้ภาพที่ต้องการครบแล้วก็ลงจากเตียง ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด เพียงแต่ขึ้นไปนอนเฉยๆแล้วคอยฟังเสียงเครื่องเท่านั้นเอง


ปัญหาของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

1. ประชาชนทั่วไปมักคิดว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บอกโรคได้ทั้งหมด หรือรู้ไปหมดทุกอย่าง และแยกแยะไม่ออกว่าแบบไหนมีประโยชน์สำหรับอะไร เช่น แพทย์ส่งตรวจอัลตราซาวนด์ก็ท้วงว่าทำไมไม่ส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั้งที่บางอย่างการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมองเห็นชัดกว่า

2. มีราคาแพง เสียค่าตรวจครั้งละประมาณ 3,000-4,000 บาท

3. บางครั้งต้องใช้สารฉีดเข้าไปในเส้นเลือด ผู้ป่วยบางคนอาจแพ้ได้เหมือนคนแพ้อาหารทะเลแล้วเป็นผื่นทั่วตัว แต่บางครั้งก็ไม่ต้องฉีด เช่น เกิดอุบัติเหตุมาจะเอกซเรย์สมองดูว่ามีเลือดออกหรือไม่ อาจจะไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะถ้ามีเลือดก็เห็นเลือด แต่โรคบางโรค เช่น สงสัยว่ามีเนื้องอกในสมอง หรือมีเส้นเลือดในสมองผิดปกติ จำเป็นต้องฉีด ถ้าผู้ป่วยเกิดแพ้ฉีดไม่ได้ โอกาสที่จะให้การวินิจฉัยครบเต็มที่ก็น้อยลงไป
 

ความแม่นยำของเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

โดยตัวเครื่องเองแล้วมีความแม่นยำมาก แต่ต้องทำให้ถูกเทคนิค และทราบข้อมูลที่ชัดเจน เหมือนกับการหั่นแตงกวา ถ้าเกิดมีจุดเน่าเล็กๆอยู่ในเนื้อแตงกวา การหั่นแตงกวาครึ่งลูกก็อาจจะมองไม่เห็นว่ามันเน่า แต่ถ้าหั่นให้บางลงๆ อาจจะไปเจอจุดเน่าเล็กๆข้างในได้ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีต่อมหมวกไตเวลามีเนื้องอกหรือความผิดปกติ บางทีอาจจะเล็กนิดเดียวขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร หรือ 1 เซนติเมตรเป็นอย่างมาก ถ้าแพทย์ที่ส่งตรวจไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องการดูต่อมหมวกไตว่ามีเนื้องอกหรือเปล่า เวลาตรวจอาจจะใช้ 1 ภาพ หนา 1 เซนติเมตร ถ้ามีเนื้องอก 0.5 เซนติเมตรก็จะไม่เห็นจุดผิดปกตินั้น

ดังนั้น การที่จะใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ถูกต้องแม่นยำที่สุด ก็ต้องอาศัยการตรวจของแพทย์และการให้ข้อมูลของรังสีแพทย์ ตลอดจนความร่วมมือ การสื่อสาร บอกอาการที่ชัดเจนของผู้ป่วยด้วย การที่เราได้ศึกษารับรู้ข้อมูลของเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้เราไม่ตกเป็นเครื่องมือทางธุรกิจการค้า จึงขอฝากไว้ก่อนจบว่า “จงใช้เทคโนโลยี แต่อย่าให้เทคโนโลยีใช้เรา”

ข้อมูลสื่อ

161-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
เรื่องน่ารู้
สุชัย เจริญมุขยนันท