• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อบสมุนไพรประยุกต์

อบสมุนไพรประยุกต์


เวลาผมไปจัดการอบรมการนวดไทยตามจังหวัดต่างๆมักพบอยู่เสมอว่ามีคนตื่นตัวสนใจการรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้านอยู่ไม่น้อย ส่วนใหญ่ต้องการรับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ผมมักแนะนำไปว่า หากเราสามารถทำได้ด้วยตนเองก็จะเป็นการดีที่สุด เพราะบางครั้งการที่เราไปหาคนไม่รู้จัก อาจถูกเขาเอาเปรียบเอาได้ หากเคราะห์หามยามร้ายอาจเกิดโรคหมอทำโรคยาทำซ้ำเอาอีก ในบางพื้นที่ที่เขามีชมรม กลุ่มผู้สนใจสมุนไพรกันก็พยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านหันมาใช้วิธีรักษาแบบพื้นบ้าน เช่น ใช้ยาไทย ใช้การนวดไทย ประคบ อบสมุนไพร เวลามีงานก็จัดสาธิตให้ชมกัน ผมไปร่วมจัดและสังเกตการณ์อยู่หลายครั้ง ชาวบ้านชาวเมืองบางคนบอกว่ายุ่งยากเสียเวลา ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำอย่างที่สาธิต ส่วนหนึ่งก็จริงอย่างที่เขาว่า เพราะชาวบ้านเราเดี๋ยวนี้ใช้เวลาไปกับสิ่งล่อตาล่อใจจากภายนอกมากขึ้น ที่เคยทำกันเองได้ก็เลยมองข้ามไป ยิ่งพวกชาวเมืองด้วยแล้วยิ่งอาการหนัก แค่เรื่องการจราจรจลาจลเรื่องเดียวก็ไม่พักต้องมีเวลาพูดถึงเรื่องอื่นเลย

แต่พวกที่มีหน้าที่รณรงค์อย่างผม ก็ต้องคิดหาทางที่จะทำให้คนช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างการอบสมุนไพรที่ใครๆ มักคิดว่าต้องมีหม้อต้มขนาดใหญ่ มีห้องอบเฉพาะ ผมก็ลองหาวิธีที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เรียกได้ว่าเป็นการอบสมุนไพรประยุกต์

การอบสมุนไพรประยุกต์ที่เสนอนี้ เอาไว้ใช้ในกรณีที่ท่านรู้สึกเมื่อยล้าไม่กระปรี้กระเปร่า ครั่นเนื้อครั่นตัว เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เหงื่อออกมากขึ้น ช่วยให้เสมหะขับออกได้สะดวก จมูกโล่ง แต่ถ้าเป็นโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ลมบ้าหมู โรคไตหรือท้องเสียมาก ก็ไม่ควรจะอบครับผม

วิธีทำให้ทำอย่างนี้ครับ

1. หาตัวยาสมุนไพรที่นิยมใช้ ได้แก่ ไพล ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด หัวหอม ใบมะขาม ผักบุ้ง รากหญ้าคา (ถ้าหาตัวยาได้ไม่ครบก็ใช้เท่าที่หามาได้ ทางที่ดีควรจะปลูกเอาไว้รอบๆ บ้าน เพราะสมุนไพรพวกนี้มีประโยชน์หลายอย่าง) ล้างน้ำให้สะอาดแล้วเอามาหั่นให้มีขนาดเล็กลง

2. นำสมุนไพรที่เตรียมไว้ใส่ในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ใส่น้ำพอท่วมตัวยา เติมการบูรและเกลือเล็กน้อย (การบูรหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนโบราณ) เสียบปลั๊กไฟเพื่อต้มน้ำให้เดือด

3. ทำกระโจมโดยใช้ร่ม (ที่ใช้กันแดดกันฝนนั่นแหละ) ผูกเชือกที่ส่วนปลายสุดของร่ม แล้วแขวนไว้กับเพดานบ้าน ให้ร่มสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร เอาผ้าปูที่นอนผืนใหญ่ล้อมตัวร่มไว้ ใช้ที่หนีบผ้าจับชายผ้ากับชายร่มไว้ด้วยกัน ให้ชายผ้าปูที่นอนอีกข้างคลุมพื้นอย่าให้มีช่อง

4. พอสมุนไพรที่ต้มในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเดือดดีแล้ว ก็ให้ยกเข้าไปในกระโจมโดยไม่ต้องถอดปลั๊กไฟ ผู้ที่จะเข้ากระโจมควรนุ่งห่มผ้าให้น้อยชิ้น เอาม้านั่งตัวเล็กไปนั่งด้วยจะได้ไม่เมื่อย ค่อยๆ แง้มฝาหม้อหุงข้าวให้ไอค่อยๆ ออกมา อย่าเปิดฝาทิ้งไว้เพราะจะมีไอออกมาน้อย ระวังอย่าให้ไอน้ำร้อนปะทะกับหน้าหรือร่างกายในระยะใกล้ๆเพราะอาจถูกไอน้ำร้อนลวกได้ ถ้ารู้สึกอึดอัด ก็เปิดกระโจมให้อากาศระบายถ่ายเทบ้าง และอย่าอบนานเกินไป เพราะจะเสียเหงื่อและเกลือแร่มากเกินไป

5. หลังจากเลิกอบสมุนไพรแล้วอย่าตากลม ต้องเช็ดตัวให้แห้ง พักสักครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำส้มหรือน้ำมะนาวคั้นที่ไม่เย็นจัด แล้วจึงค่อยไปอาบน้ำ จะช่วยให้สดชื่นแจ่มใสขึ้น

แนะนำวิธีอบสมุนไพรประยุกต์ไปแล้ว จะไม่ลองกันบ้างหรือครับ

ข้อมูลสื่อ

161-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
นวดไทย