• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณรู้เรื่องยาดีแค่ไหน

คุณรู้เรื่องยาดีแค่ไหน


ทุกคนคงเคยใช้ยา ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่งในชีวิต อาจอยู่ในรูปของยาเม็ด ยาฉีด ยาดม หรือแม้แต่กระทั่งยาเหน็บ แต่ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใด สิ่งสำคัญคือความเข้าใจของคนไข้ต่อยาที่ตัวเองใช้ว่า ยานั้นเข้าไปช่วยทำอะไรและจะก่อผลร้ายให้กับตัวคนไข้หรือไม่ หลายคนรู้สึกว่ายาที่ตัวเองได้รับนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาเท่าที่ควร ซึ่งบ่อยครั้งเกิดจากการใช้ยาของคนไข้ที่มักจะไม่ค่อยถูกวิธีนัก อย่างเช่น ยาก่อนอาหารแต่ไปกินหลังอาหารอย่างนี้ เป็นต้น

จุดประสงค์ในการที่หมอสั่งจ่ายยาแก่คนไข้ ก็เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่ยังมียาบางชนิดถูกใช้ด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เพื่อซ่อมแซมร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ เพื่อเสริมสุขภาพ หรือเพื่อช่วยป้องกันการอักเสบ ฯลฯ เช่น กินยาเพื่อลดความดันเลือด ฉีดฮอร์โมนอินซูลินลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือดเพื่อรักษาโรคเบาหวาน หรือฉีดวัคซีนเพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคจากภายนอกได้กินยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อโรค หรือกินแอสไพรินเพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวด ในแต่ละวันหมอได้เขียนใบสั่งยาให้แก่คนไข้รวมแล้วนับเป็นแสนเป็นล้านใบ ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าใจว่าในบรรดายาที่หมอสั่งให้นั้น ผู้รับหรือคนไข้มักมีโอกาสรับรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับยาน้อยเหลือเกิน สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้จะช่วยทำให้ยาที่กินเข้าไปเกิดผลดีกับคุณที่สุด หากเข้าใจวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง
 

รูปแบบยายอดฮิต 10 แบบ

ยา 10 แบบ ที่ใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่

  • ยาเม็ด

ผลิตจากผงอัดขึ้นรูปเป็นเม็ดมีขนาดและสีแตกต่างกันไปตามแต่บริษัทผู้ผลิต ตัวยาในเม็ดจริงมีอยู่ 1 ใน 3 ที่เหลือเป็นสารที่ทำให้ผงยาเกาะตัวกันเป็นเม็ด สารที่ช่วยให้ยาเม็ดแตกตัวละลายในน้ำย่อยของกระเพาะ หรือสารที่เคลือบป้องกันกระเพาะ

  • ยาเม็ดแคปซูล

ยาที่บรรจุในแคปซูลอาจจะเป็นยาผงหรือยาที่ทำเป็นเม็ดเล็กๆ แคปซูลทำจากเจลาติน (gelatin) เมื่อสัมผัสกับน้ำย่อยในกระเพาะ แคปซูลละลายตัวยาจะออกมาทำงานตามหน้าที่ของมัน

  • ยาน้ำ

ที่เรารู้จักดี ได้แก่ ยาน้ำแก้ไอ นอกจากนี้ก็มียาอื่นที่มีทั้งในรูปยาเม็ดและยาน้ำ ส่วนผสมในยาน้ำนอกจากตัวยาแล้วก็มีตัวทำละลาย สารแต่งกลิ่นและสี เรามักจะเห็นยาน้ำกันอยู่เป็นประจำไม่แพ้ยาเม็ด ส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นยาน้ำหรือสารที่เป็นตัวทำละลาย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นเนื้อยา อาจจะมีการปรุงสีและกลิ่นในกรณีที่เป็นยาสำหรับเด็ก

  • ยาหยอด

เป็นรูปแบบหนึ่งของยาน้ำ ไม่จำเป็นต้องแต่งกลิ่นเพราะปกติใช้เป็นยาหยอดหู หยอดตา และหยอดจมูก

  • ขี้ผึ้งและครีม

เป็นรูปแบบหนึ่งของยาที่ใช้ทาถูบริเวณผิวหนัง ขี้ผึ้งแตกต่างจากครีมตรงที่มีลักษณะเหนียวเหนอะ

  • ยาสูดพ่น

ส่วนใหญ่ใช้บรรเทาอาการหวัดและหอบหืด ตัวยาจะถูกพ่นเป็นฝอยเล็กๆเข้าสู่ปอดได้รวดเร็ว

  • ยาเหน็บ

บรรจุไว้ภายในแคปซูลอ่อนขนาดใหญ่ วิธีใช้โดยสอดเข้าทางทวารหนัก ยาสามารถดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดได้โดยตรง ได้ผลรวดเร็วกว่าการกินมาก

  • ยาสอด

คล้ายๆ กับยาเหน็บแต่ใช้สอดผ่านช่องคลอด ตัวยาจะละลายเนื่องจากอุณหภูมิของร่างกาย

  • ยาแผ่น

ลักษณะคล้ายแผ่นพลาสเตอร์ที่มีตัวยาบรรจุอยู่ วิธีใช้โดยการนำไปแปะตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องการรักษา ตัวยาจะซึมเข้าไปในกระแสเลือดผ่านทางผิวหนัง สามารถใช้บรรเทาอาการเมารถ และอาการไม่สบายในระยะที่หมดประจำเดือน

  • ยาฉีด

ยาฉีดเป็นรูปแบบหนึ่งของยาน้ำ เวลาใช้จะต้องฉีดเข้าสู่ร่างกาย คนที่เป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องฉีดอินซูลินอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง จึงควรศึกษาวิธีการฉีดยาด้วยตนเองเอาไว้ด้วย

ยังมีการให้ยาโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งไม่อาจจะได้รับจากเภสัชกร ได้แก่ การฝังยา หรือโดยการผ่าตัดสอดอุปกรณ์เล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนัง และต่อกับอุปกรณ์ภายนอกซึ่งจะฉีดยาเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย หรือการให้ยาใต้ผิวหนังด้วยการผ่าผิวหนังแล้วสอดตัวยาเข้าไป เสร็จแล้วเย็บผิวหนังติดดังเดิม ยาสามารถดูดซึมผ่านเข้ากระแสเลือดได้โดยง่าย เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใต้ผิวหนัง ยาที่หมอสั่งให้อาจจะไม่ใช่ยาเม็ดที่ทุกคนคุ้นเคยเสียทุกครั้ง หากคุณได้รับยาในรูปแบบที่แปลกออกไปหรือที่คุณไม่คุ้นเคย ต้องถามวิธีใช้จากหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยานั้น

ใบสั่งยา

เมื่อหมอวินิจฉัยโรคแล้ว คุณจะได้รับใบสั่งยา ซึ่งเป็นคำสั่งว่าคุณจำเป็นต้องกินยาชนิดไหน ในใบสั่งยา นอกจากจะมีชื่อและที่อยู่ของคุณแล้ว หมอจะเขียนชื่อยา รวมทั้งขนาดของยาด้วย เช่น หากคุณต้องกินยาชนิดนี้ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน หมอจะเขียนจำนวนของยาไว้ 21 เม็ด เป็นต้น เมื่อได้รับใบสั่งยามาแล้ว คนไข้ส่วนใหญ่มักจะอยากทราบว่าหมอสั่งยาอะไรให้บ้าง แต่คงมีคนไข้จำนวนน้อยที่อ่านใบสั่งยาได้เข้าใจ นอกจากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทางหมอและเภสัชเท่านั้น เพราะในใบสั่งยานอกจากหมอจะเขียนชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยแล้ว ยังมีภาษาลาตินรวมอยู่ด้วย โดยใช้เป็นอักษรย่อเขียนใต้ชื่อยา บอกถึงวิธีใช้ยาขนานนั้น และบางครั้งตัวเลขบอกจำนวนยาก็อาจจะเขียนเป็นอักษรโรมันแทน การที่จะอ่านใบสั่งยาได้ จึงจำเป็นต้องทราบความหมายของภาษาลาติน และตัวอักษรโรมันที่ว่านี้ มีหลายคนทีเดียว สงสัยว่าทำไมจะต้องเขียนใบสั่งยาเป็นภาษาลาตินและโรมัน มีเหตุผล 2 ประการ คือ

1. ภาษาลาตินเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ที่ตายแล้ว ความหมายจึงตายตัว ไม่พลิกแพลงเหมือนภาษาอื่น การใช้คำผิดความหมายจึงไม่มี เป็นการป้องกันความผิดพลาด

2. ด้วยเหตุที่ภาษาลาตินเป็นภาษาที่ตายดังกล่าวแล้ว จึงมีผู้ศึกษาน้อย นอกจากผู้ที่ศึกษาเพื่อนำมาใช้เท่านั้น การเขียนภาษาลาตินในใบสั่งยาเพื่อป้องกันมิให้คนไข้นำใบสั่งยาไปรับยาจากผู้ที่ไม่มีความรู้ทางนี้ ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดเช่นเดียวกัน

การใช้อักษรโรมันก็มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน ถึงแม้เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายยาสามารถอ่านใบสั่งยาได้ แต่ปัญหาที่เกิดจากใบสั่งยาก็มีอีกมาก ที่สำคัญที่สุด คือ ลายมือของหมอผู้สั่งยา โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลซึ่งมีคนไข้มากๆ ด้วยความเร่งรีบ หมออาจเขียนย่อหรือหวัดมากไป ทำให้ผู้จ่ายยาเกิดความสงสัยหรือเข้าใจผิดได้ แต่เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายยาจะต้องไม่จ่ายยาไปโดยไม่แน่ใจอย่างเด็ดขาด จะต้องมีการติดต่อสอบถามหมอผู้สั่งให้แน่ใจก่อนทุกครั้ง

เป็นความจริงที่ว่าเภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายยาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จะอ่านใบสั่งยาได้เฉพาะของหมอที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลนั้นเท่านั้น ส่วนใบสั่งยาจากที่อื่นจะอ่านไม่ได้หมด เพราะอ่านลายมือของหมอผู้สั่งไม่ออก และจะติดต่อสอบถามก็ไม่ได้ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยในการที่จะได้รับยาถูกต้องตามที่หมอสั่ง คนไข้ควรนำใบสั่งยาจากแผนกจ่ายยาของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลนั้นๆ หรือตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น เพราะเขาจะไม่จ่ายยาให้ จนกว่าจะแน่ใจว่าอ่านใบสั่งยาได้ถูกต้อง ถ้ามีความสงสัยหรือไม่ชัดเจนในใบสั่งยา เขาจะติดต่อสอบถามหมอผู้สั่งอีกครั้งหนึ่ง

รายละเอียดบางอย่างในการใช้ยา หมออาจไม่ได้เขียนสั่งไว้ในใบสั่งยา แต่เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายยาหรือเภสัชกรจะอธิบายเพิ่มเติมให้กับคนไข้ได้ ฉะนั้น ถ้าคนไข้นำใบสั่งยาไปรับยาจากผู้ที่เพียงแต่อ่านใบสั่งยาได้ แต่ไม่รู้ถึงรายละเอียดต่างๆของยานั้น อาจจะนำยาไปใช้ไม่ตรงจุดประสงค์ของหมอผู้สั่งยา และโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่หายตามต้องการ บางทีอาจทำให้เกิดโรคขึ้นอีกด้วย

คำถาม 5 ข้อที่ควรถามหมอ

การรับยาจากหมอหรือเภสัชกรไม่ใช่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการรับการรักษา มีรายละเอียดหลายอย่างที่คุณควรจะทราบ หมอหรือเภสัชกรจะอธิบายให้คุณเข้าใจได้ ดังนั้น จงอย่าลังเลที่จะถามคำถามเหล่านี้

1. ยานี้ควรใช้เวลาไหน
คุณจำเป็นต้องรู้เนื่องจากว่าผลของยาจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นกับเวลาที่ใช้ด้วย ยาบางชนิดไม่ควรกินก่อนอาหาร เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารได้รับอันตราย หรือเวลาในการฉีดอินซูลินก็มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับคนไข้โรคเบาหวาน

2. จะใช้ยานี้อย่างไร
มีความสำคัญมากที่คุณจะต้องทราบว่าควรจะใช้ยาอย่างไรดี ยาเม็ดบางชนิดถ้ากินร่วมกับนมจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง หรือถ้าใช้ยาหยอดหูควรให้ยาค้างอยู่ในหูนานเท่าไรจึงจะมีผลต่อการรักษา

3. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างใช้ยา
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีผลต่อยาในด้านที่จะไปลดประสิทธิภาพของยา หรือทำให้ยาก่อผลเสียต่อร่างกาย เช่น ยาหลายชนิดไม่สามารถกินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ หรือยาเม็ดบางชนิดจะไม่ก่อผลในการรักษาเลยหากกินหลังอาหาร

4. เมื่อไรควรจะหยุดใช้ยา
หมอมักจะกำหนดปริมาณยาที่คุณจำเป็นต้องใช้ไว้ให้ แต่ก็มีอาการบางอย่างที่อาจจะหายก่อนยาจะหมดตามจำนวนที่หมอสั่งในกรณีที่การใช้ยานั้นก่อให้เกิดผลข้างเคียง ควรสอบถามจากหมอว่าคุณจำเป็นจะต้องใช้ยาต่อไปหรือไม่ และคุณควรรู้ด้วยว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยานั้นมีอาการลักษณะใดที่คุณต้องคอยสังเกตดู และอาการลักษณะใดที่แสดงว่าคุณควรหยุดใช้ยานั้นได้แล้ว

5. ผลข้างเคียงที่เกิดจากยามีอะไรบ้าง
หมออาจจะบอกถึงผลข้างเคียงอันเกิดจากยา ซึ่งบางครั้งอาจมีผลทำให้คุณกังวลใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เคยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้มีมูลเหตุมาจากจิตใจที่กังวลจนเกินเหตุเป็นส่วนประกอบสำคัญ ฉะนั้นหากกังวลมากเกินไป โอกาสที่คุณจะมีสุขภาพแย่ลงก็ยิ่งมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าผลข้างเคียงนั้นมีความสำคัญมาก คุณก็จำเป็นต้องรู้ไว้

คนไข้เรียกร้องได้หรือไม่

โดยปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้มักดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยคุณซึ่งเป็นคนไข้จะรับคำแนะนำจากหมออย่างไม่มีข้อโต้แย้งเสมอ แต่อาจจะเป็นไปได้เช่นกันที่คุณจะร้องขอเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างสำหรับการรักษาจากหมอได้ เช่น คุณไม่ชอบกินยาเม็ด จะขอเป็นยาน้ำได้หรือไม่ และหากเป็นไปได้หมอก็คงจะจัดให้ ซึ่งคงจะทำให้การรักษาของคุณมีความสุขมาก

หน้าที่ของเภสัชกร

เภสัชกรไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายยาและปรุงยาแต่เพียงเท่านั้น เภสัชกรเป็นบุคคลซึ่งคลุกคลีอยู่กับยามากกว่าหมออย่างแน่นอน หลายครั้งหมอยังต้องขอคำแนะนำเรื่องยาจากเภสัชกรด้วย เมื่อรับใบสั่งยามา เภสัชกรมักจะตรวจว่าใบสั่งยานั้นถูกต้องหรือไม่ เสร็จแล้วจึงจัดยาตามรายการที่หมอสั่ง แต่ถ้าคุณเกิดข้อสงสัยในเรื่องยา ลองใช้คำถามที่ถามหมอมาถามเภสัชกรดูอีกครั้ง จนกระทั่งคุณมั่นใจจริงๆ ไม่ควรเกรงใจหรืออาย เพราะหน้าที่ของหมอและเภสัชกรคือการให้คำแนะนำแก่คนไข้อยู่แล้ว

ยากับเด็ก

ไม่ควรลืมว่าเด็กนั้นร่างกายกำลังเจริญเติบโต และยังไม่แข็งแรงดีพอ ปริมาณยาที่ให้กับเด็กต้องน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่อาจจะกังวลเกินไปและให้ยาน้อยจนไม่มีผลต่อการรักษาหรือให้มากเกินไปซึ่งเป็นอันตรายกับเด็ก ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาหมอและเภสัชกรจะเป็นการดีที่สุด ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรให้กินแอสไพริน 

ข้อควรปฏิบัติอื่นๆ

- ปรึกษาหมอโดยเล่าอาการให้หมอทราบให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้จ่ายยาให้อย่างถูกต้อง

- บอกหมอว่าคุณแพ้ยาชนิดใดบ้าง

- ถามเรื่องเวลาที่จะใช้ยา วิธีใช้ยา และผลข้างเคียงของยา

- ถ้าไม่แน่ใจในคำตอบของหมอ ควรถามคำถามเดียวกันนั้นกับเภสัชกรอีกครั้ง

- เก็บยาไว้ในที่ปลอดภัยให้พ้นมือเด็ก และไม่ให้ถูกแสงหรือความชื้นเพราะจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ

มนุษย์คิดค้นยาและพัฒนาเรื่อยมาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีด้านอื่น ถึงยุคปัจจุบันนี้ยามิใช่เป็นเพียงพืชสมุนไพรพื้นบ้านเช่นแต่ก่อนอีกแล้ว แต่เป็นสารเคมีที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนอันซับซ้อน ที่หากมีอาการแพ้ก็อาจทำให้ผู้ใช้มีอาการข้างเคียงตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้น การใช้ยาจึงควรมีความระมัดระวัง รอบคอบ ปรึกษาหมอและเภสัชกรให้เข้าใจก่อนใช้ เพราะถ้าพลาด คุณอาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกครั้งก็ได้

ข้อมูลสื่อ

163-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 163
พฤศจิกายน 2535
บทความพิเศษ
จรัส บุญยธรรมา
กองบรรณาธิการ