• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรค “วูบ”ขณะออกกำลังกายหรือแข่งขันกีฬา

โรค “วูบ”ขณะออกกำลังกายหรือแข่งขันกีฬา

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขโทรศัพท์มาถามผู้เขียนถึงเรื่องโรควูบขณะออกกำลังกายอยู่หรือแข่งขันกีฬาอยู่ว่าเกิดจากอะไร ยกตัวอย่างเช่น เขาค้อหรือแชมป์จักรยานหญิงคนที่ได้เหรียญแรกเมื่อซีเกมส์เชียงใหม่ที่ผ่านมาแล้วนี้ ผู้เขียนจึงต้องค้นคว้าและวิเคราะห์โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวพอจะได้คำตอบดังนี้

1. อายุ คงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดโรควูบโดยไม่รู้ตัว คนเรานั้นเมื่ออายุ 3o ปี อวัยวะทุกอย่างจะเจริญเต็มที่หมดแล้ว หลังจากนั้นไปอวัยวะทุกๆอย่างจะเริ่มเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุ โดยเฉพาะเส้นเลือดแดงจะเริ่มด้วยผนังด้านในหนาขึ้น เนื่องจากมีไขมันมาเกาะทำให้รูตีบลงพร้อมกับเส้นเลือดแดงแข็งตัวขึ้น ความยืดหยุ่นลดลง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เมื่อเส้นเลือดตีบลงจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆลดลง ซึ่งทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมลงตามไปด้วย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ

เมื่อเด็กๆเคยออกกำลังกายได้ขนาดหนึ่งหัวใจจะทนได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นเส้นเลือดตีบลงเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงตาม ฉะนั้นเมื่อออกกำลังกายแรงเท่าเดิมจนถึงวันหนึ่งจะถึงจุดที่เลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอในขณะออกกำลังกาย จึงทำให้เกิดโรควูบได้ ถ้ารุนแรงก็จะถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นคนสูงอายุจะต้องเจียมตัว เคยทำได้ขนาดไหนเมื่อยังหนุ่มสาวอยู่จะทำเท่าเดิมเมื่อแก่ตัวไม่ได้จะเกิดอันตรายดังกล่าว

2. โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้วูบได้ คนที่มีความดันโลหิตสูงนั้นจะต้องมีไขมันเกาะในรูของหลอดเลือดแดงมาแล้วจนรูแคบลงและความยืดหยุ่นสูญเสียไปหรือพูดในด้านตรงข้าม เส้นเลือดแดงจะเปราะแตกได้ง่ายขณะออกกำลังกายถ้ารุนแรงเกินไปเส้นเลือดอาจจะแตกได้โดยเฉพาะในสมองจะทำให้วูบและเป็นอัมพาต ถ้าแตกเส้นใหญ่มากอาจถึงเสียชีวิตได้ วิเคราะห์อีกแบบหนึ่งเมื่อเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบลง จะทำให้เลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลงเรื่อยๆ ตามความตีบของเส้นเลือด

ถ้าออกกำลังกล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าของขณะพัก ฉะนั้นจึงไม่สามารถนำเลือดมาเลี้ยงให้เพียงพอ จะเกิดสภาพกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิตได้ ความจริงคนที่มีความดันโลหิตสูงถ้าได้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถูกต้องจะช่วยรักษาโรคได้ แต่ต้องไม่หนักเกินไป

3. โรคหัวใจ มีหลายชนิดเช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังระหว่างช่องซ้ายขวามีรูรั่ว เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะมาก่อน เป็นต้น บางท่านไม่เคยตรวจร่างกายเลยจึงไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เมื่อออกกำลังกายจึงมีโอกาสหัวใจวายได้ง่ายๆ ทำให้วูบเป็นลม ถ้ามากๆก็ถึงเสียชีวิตได้ ขนาดแชมป์โลกเฮฟวี่เวท “โฮลีฟิล” ยังอยู่ในพวกนี้ด้วย นอกจากนี้จะมีข่าวนักกีฬาที่แข็งแรง ขณะซ้อมวูบเสียชีวิตไปให้เห็นอยู่เป็นประจำ

4. เบาหวาน การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนเป็นเบาหวาน จะช่วยให้การควบคุมเบาหวานได้ง่ายขึ้น หรือบางรายอาจจะควบคุมได้โดยไม่ต้องใช้ยาเลยได้ แต่ในกลุ่มคนที่ต้องฉีดยารักษาเบาหวาน อันตรายมาก เพราะขณะออกกำลังกายยาที่ฉีดจะดูดซึมเข้าเส้นเลือดมากกว่าปกติ ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงมากถึงขั้นวูบเป็นลมได้ วิเคราะห์ในอีกรูปแบบหนึ่งจะสามารถทำให้วูบได้เช่นกันคือ ผู้ที่คุมเบาหวานด้วยยากินได้แล้ว ไปแข่งกีฬาชนิดที่ไม่เคยทำเป็นประจำ และก่อนแข่งขันไม่ได้กินอะไรมาก่อน จะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติได้ เป็นผลให้วูบได้เช่นกัน

5. โรคโลหิตจาง แน่นอนพวกนี้เลือดน้อยอยู่แล้วทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนอยู่ก่อน เนื่องจากเลือดแดงเป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆในร่างกาย ฉะนั้นเมื่อพวกนี้ออกกำลังกาย ทั้งสมอง กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อที่ใช้ออกกำลังต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โอกาสขาดออกซิเจนมีสูงกว่าคนปกติมาก เป็นเหตุให้วูบได้ง่ายขณะออกกำลังกาย

6. โรคอ้วน ความอ้วนนับเป็นโรคได้ เพราะคนอ้วนนั้นเส้นเลือดแดงจะตีบมากกว่าคนธรรมดา ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง จนทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมสภาพได้เร็ว เช่น สมองเสื่อม ไตเสื่อม ตับเสื่อม และกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เป็นต้น ฉะนั้นเวลาออกกำลังกายจึงมีโอกาสวูบได้ง่ายกว่าคนธรรมดา

7. โรคลมบ้าหมู คนที่มีโรคลมบ้าหมูประจำตัวอยู่แล้ว ถ้าขณะออกกำลังกายอยู่เกิดเป็นลมบ้าหมูขึ้นกะทันหันก็จะวูบหมดสติไปได้ทันทีทันใด บางรายไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นลมบ้าหมู เช่นเคยบาดเจ็บทางศีรษะมาก่อน เกิดแผลเป็นในสมอง เมื่อแผลเป็นใหญ่ขึ้นจนถึงจุดหนึ่งกดหรือรัดสมองทำให้เกิดลมบ้าหมูขึ้น ถ้าบังเอิญคนผู้นั้นกำลังออกกำลังอยู่จะทำให้วูบได้ ดังเช่นแชมป์โลกมวยของไทยคนหนึ่งได้ประสบมาแล้ว ทำให้ถูกน็อกโดยไม่ถูกต่อยเลยได้

8. สูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารพิษอยู่มากมาย คงต้องร่ายยาวทีละตัว

  • ทาร์ คือคราบบุหรี่ที่เกาะฟันทำให้ฟันดำ แต่ทาร์นี้เกาะในเยื่อบุภายในของหลอดลมตลอดทางทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ลงไปถึงถุงลมเล็กๆ(ซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนจากอากาศกับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด) แตกทำให้การแลกเปลี่ยนดังกล่าวทำไม่ได้ ถ้าถุงลมแตกมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เมื่อออกกำลังร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ทำไม่ได้เพราะถุงลมแตกจึงทำให้วูบได้ นอกจากนี้ทาร์ยังกระตุ้นให้ปอดกลายเป็นมะเร็งได้ด้วย
  • นิโคติน ทางที่หนึ่งนิโคตินจะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงได้มากซึ่งจะไปเกาะเส้นเลือดแดงให้ตีบให้แข็งเร็วขึ้นกว่าปกติ จนสุดท้ายทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ขณะออกกำลังเป็นปัจจัยเรื่องของโรควูบได้อย่างดี

ทางที่สอง นิโคตินจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งนอร์อะดรีนาลินและอะดรีนาลิน จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ตั้งแต่1o-3o ครั้งต่อนาที ฉะนั้นถ้าผู้สูงอายุคนหนึ่งอายุ 6o ปีจะทนหัวใจเต้นได้เพียง 16o ครั้งต่อนาที สมมติชายผู้นี้ออกกำลังหรือเล่นกีฬาชนิดหนึ่งอยู่โดยปกติชีพจรจะเพิ่มขึ้นเป็น 13o ครั้งต่อนาที ซึ่งยังปลอดภัยสำหรับคนๆนี้ แต่ถ้าชายผู้นี้สูบบุหรี่ก่อนออกกำลังกายจะทำให้ชีพจรเพิ่มเป็น 16o ครั้ง แทนที่จะเป็น 13o ครั้งต่อนาที จึงทำให้ชายผู้นั้นเหนื่อยแทบจะขาดใจตายหรือเกิดเป็นลม “วูบ” ขึ้นมาได้ทันที

  • คาร์บอนมอนอกไซด์ ในควันบุหรี่มีคาร์บอนมอนอกไซด์ผสมอยู่ ก๊าซนี้เป็นก๊าซพิษอาจจะพบได้ในควันรถยนต์ (สีขาว) ด้วยก๊าซนี้จะเข้าไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเส้นเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงหมดสภาพไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ ฉะนั้นคนสูบบุหรี่จัดจะมีผลเหมือนกับคนโลหิตจาง ซึ่งอาจนำไปสู่โรควูบดังได้อธิบายไว้แล้วในเรื่องโลหิตจาง

9. ดื่มเหล้า พวกติดเหล้าจะมีการทำลายของตับ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจ ฉะนั้นพวกนี้คงไม่อยู่ในสภาพจะออกกำลังกายได้ แต่พวกกินเหล้าเป็นครั้งคราวแล้วไปเล่นกีฬาต่อหรือออกกำลัง พวกนี้จะอันตรายเกิด “วูบ” ได้ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดแดงทั่วตัวขยายตัวเป็นเหตุให้สูญเสียความร้อนมากขึ้น อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลงได้ (แต่ผิวหนังจะรู้สึกร้อนผ่าว) ประกอบกับมีการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้นมาก เนื่องจากแอลกอฮอล์และจากการออกกำลังกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากถึงขั้น “วูบ” ได้

นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้ความจำเสื่อมเลอะเลือน ความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวลดลง อารมณ์เปลี่ยนไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

10 อากาศเย็นจัด ถ้าออกกำลังในอากาศเย็น เส้นเลือดจะหดตัว ในขณะที่หัวใจเต้นแรงขึ้น เร็วขึ้น จะทำให้ความดันโลหิตขึ้นได้สูงมากจนถึงขั้นอันตราย อาจถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้อีกประการหนึ่ง ร่างกายคนเราสามารถทนต่อความร้อนได้ดีกว่าความเย็น ถ้าอุณหภูมิในร่างกายลดลงไปถึงจุดหนึ่งจะมีการทำลายของเซลล์ของอวัยวะต่างๆได้ ดังเช่นกรณีมือเท้าเน่าจากหิมะกัด

11. อากาศร้อนจัด ทำให้การออกกำลังกายเสียน้ำเสียเกลือแร่มาก ถึงขั้นวูบได้ นอกจากนั้นถ้าอากาศข้างนอกร้อนจัด ความร้อนที่เกิดภายในร่างกายจากการเผาผลาญในการออกกำลังไม่สามารถจะระบายออกมาได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นได้มาก ถ้าเกิน 42 องศาเซลเซียส ระบบประสาทอาจจะถูกทำลายและหยุดทำงาน ทำให้วูบได้ ถ้าขึ้นสูงกว่านี้สมองอาจจะตายเป็นอัมพาตครึ่งซีกได้ และถ้ายิ่งกว่านั้นจะถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากระบบประสาทจะถูกทำลายแล้ว อวัยวะอื่นก็จะถูกทำลายโดยความร้อนได้ เช่น ตับ ไต กล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือด เป็นต้น

12. มลพิษในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ควันพิษ สารพิษ สามารถทำอันตรายกับคนที่ออกกำลังกายได้ ถ้าปริมาณมากพออาจทำให้วูบได้

13. การติดเชื้อ โดยเฉพาะในระบบหายใจ เช่น เป็นโรคหวัด หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม พวกนี้ทำให้การหายใจลดลง ร่างกายขาดออกซิเจนอยู่แล้วถ้าออกกำลังกายต้องการออกซิเจนมากขึ้นทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน จนถึงขั้น “วูบ” ได้

14. เสคคั่นวินด์ หรือแปลเป็นไทยว่า แรงฮึดสอง จริงๆแล้วพวกเราเข้าใจผิด แรงฮึดสองเกิดขึ้นในระยะแรกของการออกกำลัง กล่าวคือ พอเริ่มออกกำลังกายจะมีการใช้พลังงานชนิดไม่ต้องอาศัยออกซิเจนประมาณ 2-3 นาที ถ้ายังออกกำลังกายต่อไปจะต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ต้องอาศัยออกซิเจนแทน แต่จะมีช่วงระหว่างพลังงาน 2 ระบบนี้

ฉะนั้นในช่วงเวลานั้นเองคนที่ออกกำลังจะรู้สึกเหมือนหมดแรงถึงขั้นเป็นลมได้ แต่ถ้าไม่เป็นลมเมื่อระบบพลังงานที่ใช้ออกซิเจนเริ่มทำงานกลับจะหายเหนื่อยออกกำลังต่อไปได้ ทำให้เกิดสภาพแรงฮึดสองนี้ ลองพิจารณานักมวยของเรา ขณะที่มีการแจกสายสร้อยเป็นเวลานานนั้น นักมวยต่างชาติยืนเต้นชกลมตลอดเวลาทำให้เขาผ่านระยะแรงฮึดสองก่อนทำการชก ถ้านักมวยต่างชาติรู้ถึงจุดนี้จะนำมาใช้ประโยชน์เร่งบุกในปลายยก 1 หรือต้นยก 2 อาจจะน็อกนักมวยไทยได้สบายๆ เพราะนักมวยของเรายังไม่ได้ผ่านระยะช่วงต่อนี้ซึ่งเป็นระยะที่อาจจะวูบได้ง่ายๆอยู่แล้ว นอกจากว่านักมวยของเราฟิตมากเหลือเกิน จนช่วงระหว่างพลังงานสองระบบนี้สั้นมากหรือไม่มีเลยก็จะไม่เสียเปรียบ

15. โรคภูมิแพ้ต่อการออกกำลังกาย บางคนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าแพ้เหงื่อ แพ้สารที่เกิดในร่างกายจากการออกกำลังกาย เมื่อออกกำลังกายไปพักหนึ่งเกิดอาการแพ้ถึงขั้นวูบเป็นลมหรือหอบหืดได้

16. เครื่องแต่งกาย ถ้าไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศ อาจจะทำให้วูบได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในภูมิประเทศที่อากาศร้อน กลับใส่เสื้อวอร์มหนาออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะ เป็นต้น ทำให้ความร้อนในร่างกายที่เกิดจากการออกกำลังกายระบายออกไม่ได้ ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นมากจนถึงอันตรายได้ หรือในมุมกลับอากาศเย็นจัด แต่ใส่เสื้อผ้าไม่เพียงพอไปออกกำลัง จะไม่สามารถป้องกันความเย็นจากภายนอกได้ ทำให้เกิดอันตรายได้ดังข้อ 1o

17. ยา โดยเฉพาะยาโด๊ปบางอย่าง เช่นยาม้า ถ้ายาหมดฤทธิ์ขณะออกกำลังหรือแข่งขันกีฬาจะทำให้หมดแรงทันที เกิดอาการ “วูบ” หรือเพลียจนหลับได้ บางรายอันตรายถึงชีวิต ยาบางอย่างไปกดศูนย์บังคับการปรับอุณหภูมิและความดันโลหิตในร่างกาย ฉะนั้นผลของการออกกำลังกายต่ออุณหภูมิและความดันโลหิตจะถูกกดไว้ ฉะนั้น อาจจะทำให้อุณหภูมิสูงมากเกินไปถึงขั้นอันตรายหรือความดันโลหิตไม่เพิ่ม ในขณะที่ต้องการโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆมากขึ้นขณะออกกำลังกาย เป็นผลทำให้สมองหรือหัวใจขาดเลือด ทำให้ “วูบ” ได้

18. ที่สูง บนพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,ooo เมตร ออกซิเจนในอากาศจะน้อยลงมากถึงขนาดทำให้คนมึนงง เวียนหัว และสติฟั่นเฟือน ถึงขั้นหมดสติได้ ถ้าความสูงน้อยกว่านี้จะมีผลให้การออกกำลังกาย(แบบแอโรบิก) ทำได้น้อยลงตามปริมาณออกซิเจนที่น้อยลง ถ้าผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่นไปพักตากอากาศบนภูเขาเช้าๆออกวิ่งออกกำลังกายอาจจะวูบไปได้โดยง่าย
 

ข้อมูลสื่อ

206-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 206
มิถุนายน 2539
เรื่องน่ารู้
นพ.เสก อักษรานุเคราะห์