• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งิ้ว : ต้นไม้แห่งกามภูมิ

งิ้ว : ต้นไม้แห่งกามภูมิ


หนังสือไตรภูมิกถาหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ไตรภูมิพระร่วงนั้น เชื่อกันว่า นิพนธ์ขึ้นโดยพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัยเมื่อกว่า 600 ปีมาแล้ว เนื้อหาใจความหลักของไตรภูมิกถากล่าวถึงภูมิทั้งสาม (ไตรภูมิ) คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งในแต่ละภูมิดังกล่าวยังประกอบด้วยภูมิย่อยๆ อีกหลายภูมิ กล่าวคือ กามภูมิมี 11 ภูมิย่อย รูปภูมิมี 16 ภูมิย่อย และอรูปภูมิมี 4 ภูมิย่อย

รูปภูมิและอรูปภูมิเป็นที่อยู่ของพรหมทั้งปวง ซึ่งล้วนแต่เสวยสุขอยู่ในฌานสมาบัติขั้นต่างๆ มีอายุยาวนานนับกัลป์ รอเวลาเข้าสู่นิพพานในที่สุด ส่วนกามภูมินั้นเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต ที่ยังข้องเกี่ยวอยู่กับกิเลส ประกอบด้วยทุคติภูมิ (อบายภูมิ) และสุคติภูมิ บรรดาสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน อสุรกาย มนุษย์ และเทวดาทั้งหลายต่างก็อยู่ในกามภูมิด้วยกันทั้งสิ้น ในหนังสือไตรภูมิกถามีคำบรรยายถึงต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในกามภูมิชั้นต่างๆ หลายชนิดด้วยกัน ในบรรดาต้นไม้เหล่านั้นมีอยู่ชนิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้นอยู่ในหลายภูมิ และคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี นั่นคือ ต้นไม้ที่ชาวไทยเรียกว่า ต้นงิ้ว
 

งิ้วในนรกภูมิ

ในนรกภูมิ (เป็นส่วนหนึ่งของอบายภูมิ) มีนรกขุมหนึ่งชื่อโลหสิมพลีนรก หนังสือไตรภูมิกถาบรรยายสภาพโลหสิมพลีนรกว่า “…ฝูงคนอันทำชู้ด้วยเมียท่านก็ดี แลผู้หญิงอันมีผัวแล้วแลทำชู้จากผัวก็ดี คนฝูงนั้นตายไปเกิดในนรกนั้น นรกนั้นมีป่างิ้วป่าหนึ่งหลายต้นนักแล ต้นงิ้วนั้นต้นสูงได้ต้นแลโยชน์ แลหนามงิ้วนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวลุกอยู่ แลหนามงิ้วนั้นยาวได้ 10 นิ้วมือ เป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่ห่อนจะรู้ดับสักคาบแล... ฝูงยมบาลก็เอาหอกดาบหลาวแหลนอันคมเทียรย่อมเหล็กแดงแทงตีนผู้ชาย จำให้ขึ้นไปหาผู้หญิงว่าชู้สูอยู่บนปลายงิ้วโพ้น เร็ว อย่าอยู่ แลฝูงชายนั้นทนเจ็บบ่มิได้ จึงปีนขึ้นไปบนต้นงิ้วนั้น ครั้นว่าปีนขึ้นไปได้ หนามงิ้วนั้นบาดทั่วตนเขาขาดทุกแห่ง แล้วเป็นเปลวไฟไหม้ตนเขา...”

จากหนังสือไตรภูมิกถาตอนนี้ทำให้เกิดคำในสำนวนภาษาไทยขึ้น คือ สำนวน “ปีนต้นงิ้ว” หมายถึง ผู้ที่คบชู้เมื่อตายจะต้องไปปีนต้นงิ้วในนรก ดังปรากฏในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ว่า

“งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม        ดังขวากแซบเสี้ยมแทรกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย         ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง...”


งิ้วดิรัจฉานภูมิ

ในดิรัจฉานภูมิ (อันเป็นภูมิย่อยภูมิหนึ่งในกามภูมิ) ก็ปรากฏข้อความเกี่ยวกับต้นงิ้วด้วยเหมือนกัน ดังคำบรรยายในหนังสือไตรภูมิกถาดังนี้ “แลตีนเขาพระสุเมรุราชนั้น มีสระใหญ่อันหนึ่งชื่อว่า สิมพลีสระ โดยกว้างได้ 500โยชน์ รอบนั้นเทียรย่อมป่าไม้งิ้วเป็นรอบ ปลายไม้งิ้วนั้นสูงเพียงกันดังแสร้งปลูก แลเห็นเขียวงามแลพึงพอใจนักหนา...สระนั้นเป็นที่อยู่แก่ฝูงครุฑทั้งหลายแล...”

จากหนังสือไตรภูมิกถาตอนนี้ เป็นที่มาของความเชื่อว่า ครุฑมีที่อาศัยอยู่บนยอดงิ้วที่สิมพลีสระเชิงเขาพระสุเมรุ ที่ชาวไทยนิยมเรียกที่อยู่ (รัง) ของครุฑนี้ว่า “วิมานฉิมพลี” เพราะเป็นสถานที่ซึ่งพญาครุฑได้ลักพาตัวนางกากีมาสู่สม คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่า คำ “ฉิมพลี” ที่เป็นชื่อวิมานของครุฑนั้นมาจากคำว่า “สิมพลี” ซึ่งแปลว่า ต้นงิ้ว นั่นเอง

สุนทรภู่ทราบความหมายนี้ดี จึงเขียนบรรยายไว้ในนิราศพระประโทน ว่า

“เห็นไรไรไม้งิ้วละลิ่วเมฆ          ดังฉัตรเฉกชื่นชุ่มพุ่มพฤกษา
สูงสันโดษโสดสดจึงครุฑา       เธอแอบอาศัยสถานพิมานงิ้ว
เห็นไม้งามนามไม้อาลัยมิตร     รำคาญคิดเขินขวยระทวยหิว
ฉิมพลีปลีอ่อนเกสรปลิว             มาริ้วริ้วรื่นรื่นชื่นชื่นใจ...”


งิ้วในมนุษย์โลก

สำหรับโลกมนุษย์ที่เราอาศัยอยู่นี้ งิ้วเป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง 25 เมตร ลำต้นตลอดจนกิ่งก้านมีหนามแหลมคม ใบประกอบด้วยใบย่อย 5-7 ใบ เปลือกหนาสีเทา ดอกสีแดงหรือแสดแดง ดอกบานในฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมผลของงิ้วคล้ายผลนุ่น เปลือกสีน้ำตาลยาวราว 15 เซนติเมตร แบ่งเป็น 5 พู ภายในมีปุยละเอียดเช่นเดียวเช่นเดียวกับปุยนุ่น มีเมล็ดสีดำมากมาย ชื่อทางพฤกษศาสตร์ของงิ้ว คือ Bombax malabaricum DC. ภาษาอังกฤษเรียก Silk cotton tree ชาวไทยเรียก งิ้ว งิ้วบ้าน งิ้วปง หรือปองิ้ว

ประโยชน์ด้านหลักของงิ้วตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ก็คือ ปุยที่อยู่ในผล ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “นุ่น” ใช้ยัดเบาะ ฟูก หมอน เพื่อให้อ่อนนุ่ม เช่นเดียวกับที่เราใช้ปุยจากผลของต้นนุ่นในปัจจุบัน

ในหนังสืออักขราภิธานศัพท์ของหมอบรัดเลย์ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2416 คือ เมื่อ 120 ปีมาแล้ว ได้อธิบายคำว่า “งิ้ว” ว่า “เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่ง มีหนามเหมือนต้นง้าว ดอกสีแดง ลูกมันใช้ทำนุ่น มีอยู่ฝ่ายเหนือนั้น...” สำหรับคำว่า “นุ่น” หนังสืออักขราภิธานศัพท์อธิบายว่า “คือลูกไม้งิ้ว ลูกไม้งิ้วที่แก่ข้างในเป็นเยื่อละเอียดคล้ายยวงฝ้าย เขาเรียกว่า นุ่น สำหรับยัดฟูกหมอน อ่อนละมุนดี”

คำอธิบายนี้ทำให้ทราบว่าแต่เดิมคำว่า นุ่น หมายถึง ปุยของผลงิ้วโดยเฉพาะ เนื่องจากในขณะนั้นต้นนุ่น (Ceiba pentandra) ยังไม่มีผู้นำเข้ามาปลูกในเมืองไทย คนไทยจึงรู้จักแต่นุ่นจากต้นงิ้วซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเมืองไทย หลังจากนั้นเมื่อมีผู้นำต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีผลให้ปุยเหมือนนุ่นจากผลงิ้ว ชาวไทยจึงเรียกต้นไม้ชนิดนั้นว่า “ต้นนุ่น” บ้าง “ต้นงิ้ว” บ้าง แต่เนื่องจากต้นไม้ชนิดใหม่นี้ไม่ใช่ต้นงิ้วที่มีอยู่เดิม จึงเรียกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “งิ้วดอกขาว” เนื่องจากมีดอกสีขาวต่างจากงิ้วเดิมที่มีดอกสีแดง

ปัจจุบันชาวไทยภาคกลางเรียกต้นไม้ชนิดใหม่ว่า “ต้นนุ่น” แต่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ต้นงิ้ว” โดยไม่ค่อยมีคำว่า “ดอกขาว” ต่อท้ายอีกแล้ว เนื่องจากมีผู้ปลูกต้นงิ้ว (ดอกขาว) มากขึ้นทุกที ในขณะที่ต้นงิ้วดั้งเดิมที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมีน้อยลงทุกทีเพราะไม่มีคนปลูกเนื่องจากผลเล็ก ให้ปุยน้อย และลำต้นสูง มีหนามแหลมยากแก่การเก็บเกี่ยวผล ดังนั้น คำว่าต้นงิ้วในอนาคตจึงคงใช้เรียกต้นงิ้วดอกขาว ส่วนต้นงิ้วดั้งเดิมคงเรียกจำเพาะลงไปว่าต้นงิ้วดอกแดง เช่นเดียวกับกรณีต้นจามจุรี (ดอกแดง) ที่มาจากต่างประเทศเข้ามาแทนที่ต้นจามจุรี (ดอกเหลือง) ซึ่งเป็นของดั้งเดิมนั่นเอง

ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของงิ้ว (ดอกแดง) นอกจากใช้ปุยจากผลแล้ว เมล็ดนำไปคั้นน้ำมันใช้ทำอาหารและสบู่ เปลือกให้เส้นใยใช้ทำเชือก เนื้อไม้ใช้ทำไม้จิ้มฟัน ไม้ขีดไฟ เสาเข็ม ของเล่น กล่องใส่สินค้า หีบศพ แบบก่อสร้าง เรือ แจว พาย ฯลฯ ในประเทศอินเดีย ชาวฮินดูเชื่อว่า พระพรหมทรงประทับพักผ่อนอยู่ใต้ร่มงิ้วหลังจากทรงสร้างจักรวาลแล้ว ในพิธีแต่งงานของชาวอินเดียบางกลุ่มใช้ไม้งิ้วเป็นที่นั่งของบ่าวสาว

ในด้านสมุนไพรนั้น ชาวไทยใช้รากงิ้วเป็นยาบำรุง เป็นยาทำให้อาเจียน ใบทำเป็นยาทาภายนอก แก้ฟกช้ำ แก้อักเสบ ดอกแห้งใช้รักษาพิษไข้ รักษาริดสีดวง ยางใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง เป็นยาบำรุง ในอินเดียใช้ดอกและผลแก้พิษงูกัด รากใช้รักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แม้ปัจจุบันงิ้วจะลดความสำคัญในด้านประโยชน์ใช้สอยลงไปมาก เนื่องจากมีสิ่งอื่นมาทดแทนได้ดีกว่า เช่น ต้นนุ่น แต่สำหรับประโยชน์ด้านความเชื่อ สังคม และวัฒนธรรม คงไม่มีต้นไม้หรือสิ่งใดมาแทนที่ได้

เมื่อเราอ่านวรรณคดีเรื่องกากี เรื่องไตรภูมิพระร่วง หรือได้ฟังสำนวน “ปีนต้นงิ้ว” เราก็จะหวนนึกถึงระบบศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่มาจากศีล 5 ข้อที่ 3 ให้งดเว้นการประพฤติผิดในกาม ต้นงิ้วในฐานะต้นไม้แห่งกามภูมิจะเตือนใจเราให้นึกถึงผลที่จะตามมาหากเราประพฤติผิดทางกาม ดังเช่นข้อความตอนหนึ่งในหนังสือไตรภูมิกถาเมื่อกล่าวถึงช่วงแห่งความตายว่า “ฝูงสัตว์ทั้งหลายนี้ เมื่อใกล้ขาดใจตายนั้นผิว่าจะได้ไปตกนรก ผู้นั้นเห็นเปลวไฟ แลเห็นไม้งิ้วเหล็ก...”

หากท่านผู้อ่านได้พบเห็นต้นงิ้วอีกเมื่อใด นอกจากจะนึกถึง “วิมานฉิมพลี” อันเป็นสถานที่เสพสุขของพญาครุฑกับนางกากีแล้ว ก็ขอให้นึกถึงโลหสิมพลีนรกอันเป็นสถานที่ซึ่ง พญาครุฑและนางกากีจะต้องลงไปรับผลกรรมนานนับกัลป์นั้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

166-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร