• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย

ทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย

การพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมีสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และเราจะช่วยกันแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

สถานการณ์
จากการศึกษาทางระบาดวิทยาในประเทศตะวันตกพบว่าการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในสหรัฐอเมริกาอัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มอายุ ๑๕-๒๔ ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ๔o ในช่วงเวลา ๑o ปี คือ เพิ่มจาก ๘.๘ คนต่อประชากรแสนคนในปี ๒๕๑๓ เป็น ๑๒.๓ คนต่อประชากรแสนคนในปี ๒๕๒๓ และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับสองรองลงมาจากอุบัติเหตุในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน 

สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาไว้นานแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ อัตราการฆ่าตัวตายสูง อยู่ในช่วงอายุ ๑๕-๒๔ ปี คือ ๑๖.๒ คนต่อประชากรแสนคน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาใหม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในต่างประเทศอัตราการฆ่าตัวตายสูงอยู่ในกลุ่มคนสูงอายุ แต่ประเทศไทยอัตราการฆ่าตัวตายสูงกลับอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น เพราะคนวัยหนุ่มสาวในประเทศไทยมีความเครียดมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวในต่างประเทศ

ทำไมฆ่าตัวตาย
มูลเหตุจูงใจให้เกิดการฆ่าตัวตายนั้น บางคนอาจมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือบางคนอาจเกิดจากหลายๆสาเหตุรวมกันก็ได้ สาเหตุในการพยายามฆ่าตัวตายอาจแบ่งได้ดังนี้คือ 

๑. ความเจ็บป่วยทางกาย เช่น การเจ็บป่วยเรื้อรัง การเจ็บป่วยรุนแรง การเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย ฯลฯ

จากตัวอย่างการศึกษากรณีที่เคยพยายามฆ่าตัวตายเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เด็กที่ป่วยด้วยโรคธรรมดาๆ ที่มาโรงพยาบาล เช่น เป็นหวัด ปวดท้อง หรือไม่ก็มาตรวจหลังได้รับการผ่าตัด พบว่าร้อยละ ๓๘ เคยพยายามฆ่าตัวตายในลักษณะต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงความคิด การขู่ทำร้ายตัวเอง พฤติกรรมที่ส่อว่าไม่อยากมีชีวิต การพยายามฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตายสำเร็จ

๒. โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า
โรคทางจิตเวชเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า จากการศึกษาคนไข้อายุระหว่าง ๑o-๑๕ ปี ที่มารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า เด็กที่มีภาวะซึมเศร้ามีพฤติกรรมฆ่าตัวตายมาในอดีตร้อยละ ๖๑ ส่วนเด็กที่ไม่ซึมเศร้าพบเพียงร้อยละ ๒๑

การศึกษาในวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จพบว่าร้อยละ ๙๕ มีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง และโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สำคัญ  แต่ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือสนใจ คิดว่าเด็กไม่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจริงๆแล้วเด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้เหมือนผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ไม่สังเกตเห็น ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง ในที่สุดเด็กเกิดซึมเศร้ามากเข้าก็เลยฆ่าตัวตาย

เด็กที่เกิดอาการซึมเศร้าจะหงุดหงิด มีอาการท้อแท้สมาธิแย่ลง จะแสดงพฤติกรรมที่ควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น ดื้อ วุ่นวาย ก้าวร้าว ถ้าเป็นมากๆเด็กจะเริ่มแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ เช่น เคยชอบเล่นวิดีโอเกมก็จะเฉย เคยไปหาเพื่อนก็ไม่ไป จะขังตัวเองอยู่ในห้อง สุดท้ายหากไม่ได้รับการรักษาเด็กก็จะฆ่าตัวตาย

๓. บุคลิกภาพและการปรับตัว
ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักมีนิสัยที่แยกตัว เหินห่างกับผู้อื่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงไม่ดี มีความก้าวร้าวสูง ขาดความยับยั้งชั่งใจและควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้  อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ อดทนรออะไรไม่ได้ พอทนไม่ได้ก็จะไปทำร้ายคนอื่น ถ้าทำคนอื่นไม่ได้ก็จะทำร้ายตัวเอง

การศึกษาลักษณะความคิดในวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายพบว่า มักมีความคิดแบบสุดขั้ว ไม่ยืดหยุ่น มีโลกทัศน์ที่แคบ มีความคิดตำหนิตัวเอง ความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ เมื่อเจอปัญหาก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกหมดหวังได้ง่าย ความรู้สึกหมดหวังนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการฆ่าตัวตายสำเร็จ

๔. ปัจจัยทางสังคมและความเครียดในชีวิต
การศึกษาเปรียบเทียบวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายกับวัยรุ่นที่มีปัญหาจิตเวชอื่นๆ พบว่าพวกแรกจะมีความเครียดในชีวิตสูงและดำเนินไปอย่างยาวนานโดยเฉพาะจะมีการสูญเสียหลายครั้ง สูญเสียหน้าทางสังคม สูญเสียสถานะทางสังคม สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เกิดการล้มเหลว เสียหน้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่เสียชีวิต หย่าร้าง หรือแยกทางกัน

คนที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย มักเป็นผู้ที่ขาดการประคับประคองจากผู้อื่นในสังคม มีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวไม่ค่อยดี ไม่มีเพื่อนสนิท ปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงมาก คือความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือญาติพี่น้องไม่ดีทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีคนพึ่งพาได้ เมื่อมีปัญหาจึงเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว

เหตุการณ์ที่จะกระตุ้นให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย มักเป็นปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น ปัญหาพ่อแม่และเพื่อนฝูง ทั้งหมดนี้ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าความสัมพันธ์ต่างๆได้มาถึงจุดสุดท้ายแล้ว เขารู้สึกว่าความสัมพันธ์ในชีวิต ความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่มีความหมาย ไม่มีใครช่วยเขาได้ จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าคนที่มีความเครียดทุกคนแล้วจะฆ่าตัวตาย แต่คนที่ฆ่าตัวตาย คือคนที่เคยมีความตึงเครียดหลายๆอย่าง ในที่สุดพอถึงจุดที่กระตุ้นจุดหนึ่ง มันเหมือนกับสุดทางแล้ว มันทำให้เขาทนไม่ได้ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

๕. ปัจจัยทางพันธุกรรม
การฆ่าตัวตายในครอบครัวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการลอกเลียนแบบ หรือการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของการฆ่าตัวตาย หรือโรคซึมเศร้าได้ คนที่มีความเปราะบางทางพันธุกรรม จะไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อมีความเครียด หรือมีอารมณ์เศร้าก็จะทำร้ายตนเองได้ง่าย

๖. ปัจจัยทางชีวภาพ
ในการเกิดโรคซึมเศร้า บางครั้งก็ไม่ใช่สาเหตุจากพ่อแม่ สภาพครอบครัว มันอาจเป็นความแปรปรวนทางชีวภาพ บางคนดีเรียบร้อยในครอบครัว แต่มีความเปราะบางทางชีวภาพก็เกิดโรคซึมเศร้าขึ้นได้ มันเหมือนกับความเปราะบางทางร่างกาย เช่น เราเป็นหวัดกินยาก็ไม่หายสักที บางคนไม่ต้องกินยาก็หาย บางคนแค่นอนมากๆ หรือดื่มน้ำมากๆก็หาย แต่ละคนจะมีความแข็งแรงไม่เหมือนกัน 

ในทางชีวภาพก็เช่นกัน แต่ละคนจะมีความแข็งแกร่งไม่เหมือนกัน ทางชีวภาพในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทางด้านจิตใจ ชีวภาพของเราอาจเกิดความแปรปรวนขึ้นมาในระบบใดระบบหนึ่งก็ได้ บังเอิญระบบที่แปรปรวนไม่ได้เกิดที่ตับหรือหัวใจ แต่เกิดที่สารสื่อประสาทในสมอง ฉะนั้นคนกลุ่มนี้อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยที่ในบ้านไม่มีปัญหาอะไรเลย  แต่กรณีนี้พบได้ไม่บ่อย
เมื่อไรควรพาลูกมาพบจิตแพทย์

การพบจิตแพทย์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ดังที่เคยมองกันว่าคนที่มาพบจิตแพทย์คือคนบ้า เป็นโรคประสาท แต่ปัจจุบันคนเป็นโรคเครียดกันมากขึ้น บางครั้งจึงต้องพึ่งจิตแพทย์ช่วยแนะนำการคลายเครียดหรือการแก้ปัญหาบางอย่างที่แก้เองไม่ตก ดังนั้นการพาลูกหลานไปพบจิตแพทย์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอีกต่อไป แล้วเมื่อไรคุณควรพาลูกหลานไปพบจิตแพทย์

๑. ถ้าเห็นลูกหลานเริ่มผิดไปจากเดิม เช่น อารมณ์เศร้าลง แยกตัว ร้องไห้ง่าย ควรที่จะพามาปรึกษาแพทย์ได้แล้ว อาจจะพามาปรึกษาในแง่สุขภาพที่ไม่ร่าเริง หงอยเหงา และกินไม่ค่อยได้ นั่นเป็นอาการของซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงมากในการฆ่าตัวตาย

๒. เมื่อใดที่เห็นเด็กเกิดความตึงเครียด เกิดภาวะเครียดอย่างมาก และรู้สึกว่าเขาจะปรับตัวลำบาก ก็น่าจะพาไปรับคำปรึกษาถ้าให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำเองไม่ได้ เช่น วัยรุ่นมีแฟนแล้วเกิดอกหัก เสียอกเสียใจมาก ไม่ยอมกินข้าวเลย ถ้ารู้สึกช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อาจจะพามารับคำปรึกษาจากแพทย์ อาจทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ว่าความสูญเสีย ความผิดหวังที่เขากำลังประสบอยู่รุนแรงมากน้อยเพียงใด ตอนนี้สภาพจิตใจของเขาเป็นอย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่พ่อแม่จะสังเกตได้ว่าเมื่อใดที่เขามีความตึงเครียดมากๆ แล้วช่วยไม่ได้ก็ควรจะพามาพบแพทย์

๓. เมื่อใดในครอบครัวเด็กเคยทำ เคยพูด เคยขู่ หรือแสดงอะไรก็ตามว่าเขาอยากจะฆ่าตัวตาย ถ้ามีอย่างนั้นควรจะให้ความสนใจได้แล้ว ลองพูดคุยกับเขาดู ถ้ายังมีความคิดอย่างนั้นอยู่หรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เขาเกิดอย่างนั้นได้จริงๆ ก็ควรจะลองมาปรึกษาแพทย์ 

ตัวอย่างคนไข้รายหนึ่ง เด็กพูดเปรยๆว่าอยากจะตาย จะตายวิธีไหนดี พ่อแม่คิดว่าลูกพูดสนุก คือพ่อแม่ไม่ได้สนใจคิดว่าคงจะพูดเรียกร้องความสนใจ แล้วในที่สุดลูกก็ทำจริงๆ เมื่อมาพบแพทย์ ลูกกินยาแก้ปวดไป ๕o เม็ด ต้องไปล้างท้องในห้องไอซียู อยู่ในห้องไอซียูเป็นเวลานาน พอออกมาก็ส่งปรึกษาจิตแพทย์พบว่า เด็กเคยกินมาแล้วครั้งหนึ่งแล้วพ่อแม่ก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะว่าตอนนั้นกินแค่ ๔-๕ เม็ดเท่านั้น

พ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร

คนที่อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุดคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงเป็นคนที่มีโอกาสสังเกตเห็นความผิดปกติของเด็กได้

๑. ถ้าสังเกตเห็นว่ามีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมก็ต้องรีบหาทางแก้ไข
๒. ต้องรู้ว่าลูกหลานอยู่ในวัยที่มีความตึงเครียดได้ง่าย เพราะฉะนั้นต้องระวัง
๓. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ในครอบครัวว่าดีพอไหม ถ้าไม่ดีพอก็มาคิดว่าทำอย่างไรให้บ้านน่าอยู่ ครอบครัวมีความสุข

ปัญหาจากสังคมภายนอก เช่น การแข่งขันที่มากเกินไปแล้วเด็กผิดหวัง แต่ถ้าครอบครัวจัดการได้ดี ตัวอย่างเช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนที่สอบเข้าไม่ได้จะฆ่าตัวตาย เฉพาะบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว อย่างมาก ทำให้ครอบครัวผิดหวังอย่างมาก หรือคุณค่าของเขาอยู่ที่การสอบเข้าเท่านั้น เขาก็จะตัดสินใจทำร้ายตัวเอง

ถ้าครอบครัวเลี้ยงดูด้วยความรู้สึกที่ดี ให้เขามีความเข้มแข็ง เผชิญกับความล้มเหลวได้ ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดแล้วเริ่มต้นใหม่  แล้วที่สำคัญทำให้เขารู้ว่ารู้ว่าคุณค่าของเขาไม่ได้อยู่ที่การสอบได้หรือไม่ได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรพ่อแม่รักเขาเสมอ นั่นแหละจะทำให้เขาไม่ตัดสินใจทำร้ายตัวเอง
ปัญหาภายนอกอีกอย่างหนึ่งคือ การเสนอข่าวการฆ่าตัวเองในเด็กบ่อยๆ อาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบ เพราะว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่เลียนแบบ โดยเฉพาะดาราจะมีอิทธิพลมากเวลาเสนอข่าวอยู่ในหน้าหนึ่งออกทุกๆวัน ออกข่าวโทรทัศน์บ้าง บางครั้งเด็กดูแล้วอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำกันอย่างนั้น เมื่อเด็กเกิดปัญหาแล้วหาทางออกไม่ได้ก็เกิดการเลียนแบบ ซึ่งการเสนอข่าวควรมีการระมัดระวัง
ในบางสิ่งพ่อแม่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ไม่คิดว่าจะรุนแรง ฉะนั้นต้องรู้ว่าสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป  มีความเครียดสูง การที่เด็กได้รับความอบอุ่นไม่ค่อยพอ อีกอย่างหนึ่ง การอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อมีปัญหาทำให้เด็กไม่สามารถเข้าหาพ่อแม่ได้ ขัดใจกับพ่อแม่ก็ไม่รู้จะไปหาใคร ถ้าไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีปู่ย่าตายยายคอยปลอบ เด็กก็ตัวคนเดียว เพราะฉะนั้นสังคมในปัจจุบันทำให้คนฆ่าตัวตายได้ง่าย ควรตระหนักและรีบจัดการ

ปัญหาอีกอย่างของครอบครัวเดี่ยวก็คือ เมื่อเด็กหาใครไม่ได้ เด็กก็ไปหาเพื่อน บังเอิญเพื่อนก็มีปัญหาเหมือนกัน ก็เลยชวนกันไปกินยาตายเลย เพราะฉะนั้นอย่าฝากลูกไว้กับเพื่อน อย่าคิดว่าเพื่อนจะตอบคำถามลูกได้ทุกอย่าง ตัวพ่อแม่ต้องเป็นเพื่อนของลูก ทำให้เขารู้ว่าเมื่อมีปัญหามาหาพ่อกับแม่ได้เสมอ

ถ้ามีปัญหาลูกไม่เข้าหาพ่อแม่จะทำอย่างไร
ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะเข้าวัยรุ่น เมื่อเขาเป็นวัยรุ่นเขาจะอยากพูดคุยกับพ่อแม่ลดลง แต่ถึงอย่างไรพ่อแม่ก็ยังเป็นบุคคลสำคัญสำหรับเขา เป็นบุคคลที่เขารู้ว่าถ้าเขามีปัญหา มีความทุกข์เขาจะหาพ่อแม่ได้เสมอ

ถ้าความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดีมาตั้งแต่แรก ลูกมีปัญหาอะไรก็จะไปหาเพื่อน จริงๆแล้วเด็กอยากจะหาพ่อแม่ แม้ว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ติดเพื่อนมากแต่เขาจะรู้ว่าพ่อแม่มีความหมายสำหรับเขา
การที่ลูกมีปัญหาแล้วไม่ปรึกษาพ่อแม่ต้องมาวิเคราะห์ดูตัวของพ่อแม่ว่ามีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับลูก บางทีปฏิสัมพันธ์กับลูกเป็นแบบตำหนิอยู่เรื่อย คอยสั่งสอน คอยจับผิด หรือคาดหวังแล้วลูกทำไม่ได้ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ควรต้องแก้ที่ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น คลายความตึงเครียดลง ให้ลูกรู้สึกว่าเข้าหาพ่อแม่ได้ อย่าตำหนิบ่อยๆ ให้กำลังใจบ้าง กอดบ้าง ถึงแม้ว่าวัยรุ่นดูเหมือนจะไม่อยากให้พ่อแม่กอดแล้ว ไม่อยากให้หอมแก้มแล้ว ก็แอบไปหอมแอบไปกอด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรายังรักเขาอยู่ มีเวลาสนุกกันบ้าง อย่าทำแต่งาน

จริงๆแล้วที่เด็กพยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสภาวะครอบครัวทำให้เด็กไม่มีความสุข ไม่เป็นที่ต้องการ ลักษณะความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้บ่อยจากสภาพสังคม สภาพชีวิตต่างๆในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรเริ่มหันมาวิเคราะห์ตัวเองว่าในชีวิตแต่ละวันได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง ดีที่สุดหมายถึงดีสำหรับลูกในการช่วยประคับประคอง ช่วยให้เขาแกร่งพอที่จะใช้ชีวิตต่อสู้กับความล้มเหลวได้ ไม่ใช่ในแง่ของการให้ทรัพย์สิน ให้วัตถุมาก การเลี้ยงลูกจริงๆคือ การสร้างให้เขาแกร่งตามสมควร ถ้าพ่อแม่สร้างความรู้สึกที่มั่นคง ความผูกพันที่ดี และความรู้สึกให้ลูกว่าเขาเป็นที่รักของครอบครัว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้วเขาสามารถเข้าหาพ่อแม่ได้ กรณีการฆ่าตัวตายก็ไม่เกิดขึ้น

ภูมิคุ้มกันทางร่างกาย หมออาจจะเป็นผู้ฉีดให้ได้ แต่ภูมิคุ้มกันทางจิตใจผู้ที่จะฉีดให้คือพ่อแม่ และคนในครอบครัวที่อยู่กับเด็กนั่นเอง ถ้าเขามีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจดี เขาก็จะสามารถออกมาสู่โลกภายนอกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เรื่องการฆ่าตัวตายก็จะไม่เข้ามาย่างกรายในชีวิตเขา

 

ข้อมูลสื่อ

209-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 209
ตุลาคม 2539
บทความพิเศษ
รศ.พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ