• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตรายจากยาแก้แพ้

อันตรายจากยาแก้แพ้

โรคผิวหนังมีประมาณ ๒oo กว่าชนิด โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อ โรคกรรมพันธุ์ โรคของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆในผิวหนัง เช่น ต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำมันขุมขน หลอดเลือดและเซลล์สี เป็นต้น

โรคติดเชื้อนั้นเกิดจากการได้เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสและเชื้อรา

ส่วนโรคภูมิแพ้จัดเป็นโรคกลุ่มใหญ่และมีอุบัติการณ์สูงที่สุด เพราะจำแนกออกไปได้อีกหลายโรค เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้อากาศ แพ้แดด แพ้สารเคมี แพ้ภูมิต้านทาน

โรคแพ้อากาศของผิวหนังหมายถึง ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศรอบตัว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศร้อนหนาวอย่างรวดเร็ว อากาศที่ชื้นหรือแห้งเกินไป อากาศที่มีฝุ่นละอองมาก รวมทั้งมีละอองจากพืชบางชนิด จากดอกไม้ ใบไม้ หรือขนสัตว์ รวมไปถึงความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนังได้

เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ คำถามที่จะตามมาก็คือ “แพ้อะไร” คำตอบคือ “โรคภูมิแพ้มีทั้งที่รู้สาเหตุและไม่รู้สาเหตุ” โรคที่รู้สาเหตุ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร ซึ่งบอกได้จากการสังเกตและคำบอกเล่าของผู้ป่วยเอง ส่วนอีกพวกสังเกตไม่พบ อาจต้องทำการทดสอบเพื่อหาสาเหตุ และถึงแม้ทราบสาเหตุแล้ว ก็อาจจะเป็นประเภทหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้ควันไฟ ขนสัตว์ ขนพรม เกสรดอกไม้ คนประเภทนี้มักจะแพ้หลายๆอย่างรวมกัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคแพ้ประเภทนี้จึงรักษาให้หายขาดได้ยาก เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสาเหตุได้ นอกจากจะย้ายนิวาสสถานไปอยู่ชายทะเล หรือชายภูเขาตามความเหมาะสมของแต่ละคน บางคนอาการดีขึ้นเมื่อไปต่างประเทศ การจะแก้ปัญหาโดยการย้ายที่อยู่ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ ฉะนั้น เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น สิ่งที่ผู้แพ้ยึดเป็นที่พึ่งก็คือ “ยาแก้แพ้”

ในบ้านเมืองเราการได้ยามาทำได้หลายวิธี เช่น ไปโรงพยาบาล ไปร้านหมอ ไปร้านขายยา เพื่อนให้คนรู้จักให้ชื่อยามา

ยาแก้แพ้ที่รู้จักกันแพร่หลายได้แก่ ยาในกลุ่ม “แอนติฮิสตามีน”  ชื่อทางเคมีว่า “คลอร์เฟนิลามีน” ลักษณะเป็นเม็ดเล็กสีเหลือง หาซื้อได้ทั่วไปและราคาถูก ยาในกลุ่มนี้ยังมีอีกหลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายคลึงกัน ใช้รักษาอาการหวัด คัดจมูก และอาการแพ้อากาศของระบบหายใจ เช่น อาการจาม มีน้ำมูก น้ำตาไหล ส่วนอาการแพ้แพ้ทางผิวหนังที่ใช้ได้ผลคือ ชนิดผื่นลมพิษ สามารถรักษาอาการคันจากผื่นลมพิษ ทำให้ผื่นยุบ และป้องกันไม่ให้ผื่นกำเริบได้ ส่วนโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคันร่วมด้วย ยานี้ไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษาโดยตรงเพียงแต่มีฤทธิ์กดประสาททำให้ง่วง ผ่อนคลายอาการคันลงได้บ้าง เพราะฉะนั้นโรคผิวหนังที่หายได้ด้วยยาทา จึงไม่มีความจำเป็นต้องกินยาแก้แพ้  แก้คันร่วมด้วยเสมอไป แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมใช้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งเกินความจำเป็น

การใช้ยาทุกชนิด ผู้ใช้ต้องคำนึงถึงฤทธิ์แทรกซ้อนของยาด้วย  ฤทธิ์แทรกซ้อนของยาแก้แพ้ชนิดนี้คือ ฤทธิ์กดประสาททำให้ง่วงซึม จึงเป็นอันตรายถ้าได้รับยานี้ขณะขับรถหรือควบคุมเครื่องจักร เพราะความแม่นยำของประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายลดลง ทำให้มีอาการหลับใน ฉะนั้นจึงมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดอุบัติเหตุรถชน เนื่องจากผู้ขับขี่ได้รับยาแก้แพ้ชนิดนี้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ ใจสั่น เวียนหัว อ่อนเพลีย หูอื้อ ตามัว หากได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเกิดเป็นพิษต่อเม็ดเลือด ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง เกิดภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่ำหรือทำให้เป็นโรคซีดเนื่องจากมีการทำลายเม็ดเลือดแดง

ยังมียาแก้แพ้อีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในโรคแพ้ทั้งทางด้านผิวหนังและอาการแพ้ทางระบบหายใจรวมไปถึงหอบหืด ที่รักษาด้วยยาแก้แพ้ชนิดแอนติฮิสตามีนไม่หาย ต้องใช้ยาแก้แพ้ที่แรงขึ้น ได้แก่ ยาประเภทสตีรอยด์ หรือ เพรดนิโซโลน แพทย์นำยานี้มาใช้ในโรคแพ้ เพื่อช่วยรักษาอาการที่รุนแรงให้ทุเลา โดยจะใช้เมื่อจำเป็นและใช้ระยะสั้นเท่านั้น ไม่นิยมใช้นาน เนื่องจากเมื่อใช้ไปนานจะมีฤทธิ์แทรกซ้อนมาก

แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยได้รับยานี้เป็นประจำ อาจได้จากร้านขายยาในรูปของยาชุดแก้แพ้ หรือจากคำแนะนำของเพื่อนผู้ประสงค์ดีที่ไม่รู้จักยานี้อย่างแท้จริง ยานี้แก้อาการภูมิแพ้ได้ผลดี แต่เป็นการรักษาอาการมากกว่าแก้สาเหตุ เมื่อได้ยานี้นานๆ จะมีอาการติดยา คือหยุดยาแล้วโรคกำเริบ ทำให้ต้องกินยาอยู่เรื่อยๆ หยุดไม่ได้ต้องกลับไปกินต่ออีกจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายยิ่งต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ สำหรับผู้ที่มีแผลอยู่แล้ว ทำให้แผลกำเริบขยายใหญ่ขึ้น หรือกลายเป็นแผลลึก ทำให้มีเลือดออกมาก ถึงขั้นต้องผ่าตัดด่วนก็มี ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ กดการสร้างเม็ดเลือดขาว ความต้านทานของร่างกายต่อการติดเชื้อลดลง เกิดโรคติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เช่น ปอดอักเสบ วัณโรคกำเริบ ผิวหนังเกิดเชื้อหนอง เชื้อรา เชื้อยีสต์ เชื้อไวรัส ตามบริเวณต่างๆของร่างกาย มีสิวขึ้นมาเต็มหน้าและตามตัว มีขนขึ้น มีผิวแตกเป็นริ้ว ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ตัวอ้วนบวมหน้ากลมเหมือนพระจันทร์ ตาเป็นต้อ หากใช้ในเด็กที่กำลังเติบโตจะทำให้โตช้า ทั้งนี้เพราะยาไปขัดขวางการทำงานของต่อมหมวกไต ในที่สุดอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ จะเห็นว่ายานี้มีอันตรายมากเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะซื้อกินเอง เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นว่ากินแล้วอาการดีขึ้น ไม่ได้ระวังฤทธิ์แทรกซ้อนดังกล่าว ได้มีผู้ทำการศึกษาพบว่าในยาแผนโบราณไม่ว่าจะเป็นในรูปของยาจีน ยาไทย หรือยาลูกกลอน ส่วนใหญ่มีสตีรอยด์ผสมอยู่ด้วย

โรคผิวหนังหรือโรคแพ้ เช่น หอบหืด เป็นโรคที่เรื้อรังรักษาไม่หายขาด จะเป็นๆหายๆอยู่ตลอด ผู้ป่วยจึงมักลองยาไปเรื่อยๆ จนไปสิ้นสุดที่สตีรอยด์ ซึ่งให้ความประทับใจในตอนเริ่มต้น นานๆไปกลับเป็นอันตรายดังกล่าว แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดสูงและระยะเวลานานในบางโรคเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย เพราะยานี้สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ สำหรับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยจึงไม่คุ้มที่จะเสี่ยงต่อฤทธิ์แทรกซ้อนของยา เปรียบเหมือน “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” จึงขอให้ผู้รู้ทั้งที่เป็นแพทย์และไม่ใช่แพทย์ช่วยกันระวังให้คำแนะนำอย่าให้ผู้ที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเพื่อนฝูงหลงเข้าใจผิดใช้ยานี้อยู่จนเกิดอันตรายจากฤทธิ์แทรกซ้อนดังกล่าว
 

ข้อมูลสื่อ

209-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 209
กันยายน 2539
เรื่องน่ารู้
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์