• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

error เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรไม่ให้วุ่น

เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรไม่ให้วุ่น

 

“...โอ๊ย! นี่พวกเธอรู้มั้ย พ่อเอกลูกชายชั้นนี่แกร้ายขนาดไหน แกเห็นเพื่อนๆเขามีมอเตอร์ไซค์ ก็อยากจะมีกับเขาบ้าง มานั่งอ้อนวอนขอให้ชั้นซื้อให้ ไอ้เรารึก็เป็นห่วงกลัวว่าจะไปคว่ำไปหงายเกิดอุบัติเหตุต้องพิกลพิการเลยไม่ตกลง แกก็ประท้วงด้วยการไม่ยอมไปเรียน ชั้นล่ะกลุ้มใจจริงจริ๊งนะเธอ ไม่รู้จะจัดการกับพ่อตัวดีนี่ยังไง...”

“...ยายแจ๊ดลูกสาวชั้นก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นไงชักจะทำตัวเปรี้ยวใหญ่แล้ว พอถึงวันหยุดล่ะเป็นไปไม่ได้ ต้องแต่งตัวเปรี้ยว นุ่งกระโปรงสั้นจู๋ แล้วแอบนัดหนุ่มๆไปเที่ยว แถมยังมาโกหกเราว่าไปติวเลขบ้านเพื่อน พอชั้นจับได้ก็ทำหน้าจ่อยเชียว...”

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายซึ่งเกี่ยวกับลูกๆที่พ่อแม่มักจะนำมา “ถก” กันในวงสนทนา และประเด็นหลักก็คือ ความไม่เข้าใจในพฤติกรรมของลูกๆ ถึงวันนี้พ่อแม่หลายคนก็ยังหาข้อสรุปให้กับตัวเองไม่ได้ว่า ตนจะรับบทเป็น “แม่มดใจร้าย” หรือ “นางฟ้าที่แสนดี” จึงจะเหมาะเมื่อต้องดูแลลูกวัยรุ่น
บนถนนชีวิตวัยรุ่น
หากเปรียบเส้นทางชีวิตเหมือนถนนสายหนึ่งที่ยาวไกล การเดินทางมาถึงจุดที่เรียกกันว่าช่วง “วัยรุ่น” ก็เหมือนกับคนเดินทางคนหนึ่งได้เดินมาถึงทางแยก ซึ่งผู้เดินเองก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า หนทางข้างหน้าของแต่ละแยกนั้นจะเป็นอย่างไร จะขึ้นเขา ลงเหว หรือพบอุปสรรคมากมายเพียงใด
ณ จุดนี้ถ้าคนเดินทางได้รับความช่วยเหลือจากพรานผู้ชำนาญทาง เขาคงจะไปถึงจุดหมายที่หวังได้อย่างสำเร็จ และนายพรานมือฉกาจคนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง...นั่นคือ คุณๆนั่นเอง
แล้วนายพรานจำเป็นอย่างคุณพร้อมที่จะรับมือกับนักเดินทางเจ้าปัญหาเช่นลูกวัยรุ่นยอดแสบที่บ้านหรือยัง
วัยรุ่นของวันนี้
กรอบความคิดของวัยรุ่นสมัยนี้ดูจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะที่บ้านและที่โรงเรียนดังเช่นเมื่อหลายสิบปีก่อน วัยรุ่นในยุคคอมพิวเตอร์นี้มีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนแหล่งต่างๆมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ชีวิตของพวกเขาจะถูกหล่อหลอมขึ้นมาจาก “วัฒนธรรมสื่อมวลชน” เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแสดงออกทางบุคลิกภาพ วิธีคิด หรือวิถีทางในการดำเนินชีวิต
ในความเป็นวัยรุ่นนั้น ใครหลายคนต่างลงความเห็นว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาความเป็นตัวของตัวเอง ค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งนี้เนื่องจากสภาวะความเป็นเด็กที่พวกเขาเพิ่งก้าวล่วงพ้นมา และกำลังจะนำตัวเองไปสู่วัยหนุ่มสาว (ผู้ใหญ่) มีหลายสิ่งหลายอย่างดูแปลกใหม่สำหรับเขา
ความแปลกใหม่ที่ว่านี้เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เช่น อาการเสียงแหบห้าวในวัยรุ่นชาย หรือการมีระดูในวัยรุ่นหญิง ฯลฯ และการผกผันทางอารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากฮอร์โมนภายในร่างกาย รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่มากระตุ้นเร้า เมื่อสิ่งต่างๆเหล่านี้เข้ามาประกอบกันจึงเป็นแรงผลักดันให้วัยรุ่นแสดงพฤติกรรมหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูเหมือนจะขัดหูขัดตาผู้ใหญ่
อย่างการนุ่งกางเกงยีนเก่าๆขาดๆ หรือใส่กระโปรงสั้นจู๋ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม หรือขี่มอเตอร์ไซค์ชอปเปอร์โฉบไปมา เพราะเชื่อว่าจะดูเท่เป็นที่กรี๊ดกร๊าดของสาวๆ หรือเพื่อสนองความมันสะใจใดๆก็ตาม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีบ่อยครั้งทีเดียวที่พวกผู้ใหญ่ต่างลงความเห็นกันว่าพวกท่านรับไม่ได้
ถ้าท่านใดกำลังเกิดความรู้สึกเช่นนี้กับลูกหลานของท่าน ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองนึกย้อนไปถึงอดีตเมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นวัยรุ่นดูสิว่าท่านเองก็เคยแสดงพฤติกรรมอย่างนี้ (ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละน่า) กับคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายของลูกท่านบ้างหรือเปล่า
คำตอบอยู่ในใจของท่านแล้ว ไม่ต้องตอบออกมาดังๆก็ได้ (อายเด็กมัน)
โลกใบเล็กของวัยรุ่น
โลกของผู้ใหญ่ในสายตาของวัยรุ่นช่างเป็นโลกที่มีแต่ความเครียด สับสน วุ่นวาย เพราะมีแต่งาน…งาน...และงาน จะมีผู้ใหญ่สักกี่คนกันที่จะมีเวลาพักวางจากงานที่กองสุมอยู่ตรงหน้าเพื่อเข้ามาสัมผัสให้ถึงโลกที่สดใสของวัยรุ่นได้
เคยตั้งคำถามให้กับวัยรุ่นว่า เวลา 24 ชั่วโมงที่มีในแต่ละวันนั้น เขาอยากใช้มันให้หมดไปกับใครมากที่สุด ส่วนใหญ่ร้อยละ 8o ตอบว่าอยากให้เวลากับเพื่อนที่รู้ใจ
เมื่อถามต่อไปว่า หากมีปัญหาชีวิตเขามักจะหันไปปรึกษาใคร คำตอบของวัยรุ่นจำนวนมากบอกว่าต้องการปรึกษาเพื่อนอีกนั่นแหละ แต่จะมีเด็กวัยรุ่นหญิงจำนวนหนึ่งที่เพิ่มเติมข้อมูลให้อีกว่า “บางครั้งอาจจะปรึกษาแม่”
คำตอบจากตรงนี้คงพอจะสรุปได้ว่า โลกของวัยรุ่น เพื่อนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
คุณอาจจะเคยเห็นวัยรุ่นบางคนแอบนั่งซุกตัวอยู่คนเดียวตามซอกมุมที่หลบลี้หนีหน้าผู้คน พร้อมๆกับมีอาการซึม เหม่อลอย ดูเผินๆเหมือนกับเขากำลังแบกทุกข์อันหนักอึ้ง ครั้นพอสอบถามกลับได้คำตอบที่ทำให้ผู้ใหญ่บางคนเกือบจะหัวเราะออกมาด้วยเห็นเป็นเรื่องเล็ก เพราะเด็กบอก “ทะเลาะกับเพื่อน”
วัยรุ่นจะเกิดความรู้สึกทุกข์ใจ ไม่สบายใจอย่างมากหากมีปัญหากับเพื่อน เพื่อนไม่เข้าใจ หรือไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน เขาจึงมักจะแสดงออกทางพฤติกรรมทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนฝูง
อย่างหนึ่งที่วัยรุ่นมักเลือกปฏิบัติคือการเลียนแบบศิลปิน ดารา นักร้อง และศิลปินคนนั้นต้องเป็นขวัญใจวัยรุ่นพุ่งแรงในขณะนั้นด้วย โดยมักจะคิดว่าการที่เขาทำตัวได้เหมือนหรือคล้ายกับศิลปินคนนั้นๆเขาก็ย่อมจะได้รับการยอมรับเช่นกัน
พ่อแม่จึงมักจะเห็นลูกชายหรือลูกสาวมีแฟชั่นแบบแปลกๆใหม่ๆออกมาอวดโฉมให้ได้เห็นอยู่เสมอๆ และถ้าพ่อแม่ลองให้เวลาเอาใจใส่ในสิ่งที่ลูกสนใจสักนิด เช่น ดูรายการโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือที่ลูกชอบ หรือสนใจศิลปินคนโปรดของลูก คุณก็จะพบ “ต้นฉบับ” ความเป็นลูกคุณปรากฏอยู่ในนั้นมากมายแทบไม่น่าเชื่อ
แต่แบบอย่างเหล่านั้นก็ใช่จะคงอยู่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา เช่นเมื่อครั้งที่พ่อหนุ่มเจ-เจตริน ผู้มากับอาการเจกำเริบกำลังเฟื่องฟูครองตำแหน่งขวัญใจวัยรุ่นอยู่นั้น วัยรุ่นทุกคนก็พร้อมใจกันใส่เสื้อมีฮู้ด (หมวกที่ติดกับเสื้อ) กันเป็นแถว ครั้นพอถึงยุคนี้ที่เป็นของหนุ่มมอส-ปฏิภาณ วัยรุ่นก็เริ่มมองหาหมวกแก๊ปมาใส่ตามนายมอสเป็นแบบฉบับเดียวกันไปหมด
ข้างฝ่ายพวกวัยรุ่นสาวๆก็ใช่ว่าจะยอมน้อยหน้ากัน พวกเธอต่างลุกขึ้นมาพยายามทำตัวเลียนแบบศิลปินนักร้อง ทั้งทรงผม และเครื่องแต่งกาย แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็คงพอจะทราบกันดีว่า ยุคสมัยนี้ศิลปินนักร้องสาวส่วนมากจะแข่งกันแต่งกายเพื่อเน้นสรีระทางร่างกายมากกว่าจะแข่งกันเสนอแนวทางเพลงในแบบที่สร้างสรรค์พัฒนาสังคม และแต่ละชุดที่คุณเธอแต่งออกมาประกวดประชันขันแข่งกันนั้นก็ดูจะวาบหวามปลุกใจเสือป่า ล่อตะเข้ได้ดีแท้ๆ
นี่แหละคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
ถึงอย่างไรพ่อแม่ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่าการที่ลูกทำอย่างนั้นก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง จากเพื่อน ให้เพื่อนมองว่าตนเองเป็นคนทันสมัย ไม่เชย มีรสนิยมดี สามารถรวมกลุ่มรวมแก๊งกับเพื่อนๆได้
ด้วยเหตุที่วัยรุ่นมักเปลี่ยนบุคลิกของตนเองเสมอๆ ตามแนวทางของแฟชั่นในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีบ่อยครั้งที่พ่อแม่มักจะไม่เข้าใจว่าลูกเราเป็นเด็กที่มีบุคลิกแบบไหนกันแน่ แบบห้าว แบบซึมลึก แบบน่ารักคิขุ หรือแบบหวานซ่อนเปรี้ยว
ขอบอกว่าคุณพ่อคุณแม่จงอย่าได้พยายามค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวในลูกวัยรุ่นของคุณเลย ถึงจะหาเท่าไรก็หาไม่พบ เพราะแม้แต่ตัวของเขาเอง ก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอเช่นกัน
การที่พ่อแม่เข้าใจถึงพื้นฐานความต้องการในจุดนี้ของลูก จะทำให้พ่อแม่สามารถให้อิสระกับลูกได้พอสมควร และเชื่อว่าคุณก็คงรู้ว่าขอบเขตของความพอดีอยู่ตรงไหน หรือวิธีที่ดีกว่านั้นคือพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้ลดลงในเรื่องแฟชั่น โดยให้เขาหันไปเพิ่มจุดเด่นให้กับตนเองในเรื่องการเรียน กีฬา หรือกิจกรรมพิเศษในโรงเรียนจะดีกว่า
บ้านกับสีสันของวัยรุ่น
ความมืดเริ่มโรยตัวปกคลุม เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ทำให้เห็นภาพต่างๆที่ปรากฏต่อสายตาเป็นสีเทา ความเงียบ ความวังเวงของบรรยากาศ ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกหดหู่ คิดถึงสิ่งต่างๆที่เข้ามาผูกพันกับชีวิต คิดถึงเพื่อน คิดถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา
ไม่น่าเชื่อว่ากาลเวลาทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงได้มากมายขนาดนี้ ยังจำภาพความสนุกสนานของกลุ่มเพื่อน ภาพของห้องเรียน และพฤติกรรมอันเหลือหลายของแก๊งจอมซ่าส์ที่สร้างปัญหาจนครูฝ่ายปกครองต้องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นคู่ปรับ
ไม่รู้ว่าตอนนี้พวกเขาจะอยู่ที่ไหนกันบ้าง ทำอะไรกันอยู่ แล้วจะนึกถึงชีวิตเมื่อครั้งนั้นหรือเปล่าหนอ ถ้าเป็นไปได้อยากให้เวลนั้นย้อนกลับมา เวลาของความสนุกสนาน ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องกลุ้มใจกับภาระหนักอย่างตอนนี้ จะมีชีวิตช่วงไหนอีกนะที่จะมีความสุขเท่าชีวิต “วัยรุ่น”
ภาพอดีตในชีวิตวัยรุ่นยังเป็นภาพที่ทำให้หลายคนยิ้ม หัวเราะ ส่ายหน้า (อย่างไม่เข้าใจ) มีเรื่องราวที่หลากหลาย และยังไม่อาจจะมีทฤษฎีใดมากำหนดได้ถึงความเป็นไปในชีวิตในชีวิตของวัยรุ่น
ในบางสิ่งอาจดูเหมือน แต่ในบางอย่างก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ยุคสมัยคงจะเป็นตัวกำหนดในความเหมือนและความแตกต่างนี้ ถ้ามีสิ่งไหนที่จะทำให้พ่อแม่เข้าใจวัยรุ่นได้บ้าง อย่างน้อยก็คงพอทำให้พ่อแม่มองพฤติกรรมของวัยรุ่นได้น่ารักมากขึ้น
เตรียมตัวให้ดี เตรียมใจให้พร้อม
“อ๊อด พรุ่งนี้ไปตลาดกับแม่นะลูก”
“อ๊อด คงไม่ล่ะแม่...อ๊อดขี้เกียจเบียดคน”
ด้วยความที่พ่อแม่เลี้ยงลูกมาแต่เล็กแต่น้อย บางครั้งอาจจะลืมนึกไปว่าเขามีพัฒนาการ เขาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ในภาวะที่เด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงที่เขาเริ่มให้ความสนใจกับตนเอง เริ่มที่จะค้นหาตัวเอง พ่อแม่บางคนที่ไม่ได้คิดในเรื่องนี้อาจจะตกใจที่อยู่ๆลูกซึ่งเคยรบเร้าและตื่นเต้นทุกครั้งที่แม่ชวนไปตลาด กลับไม่อยากไป บางครั้งรู้สึกแปลกใจเมื่อพบว่าลูกอายที่จะต้องไปไหนมาไหนกับพ่อแม่
ผู้เขียนเองยังอดขำไม่ได้สักทีเมื่อนึกถึงภาพคุณยายข้างบ้านแกคว้ากิ่งไม้ไล่ตีลูกชายตอนที่พวกเขาทะเลาะกัน คงไม่ตลกอะไรนักถ้าลูกชายแกยังเป็นเด็กๆซุกซน ทะเลาะชกต่อยกัน แต่นี่ลูกชายแกโตเป็นหนุ่ม มีลูกมีเต้าแล้วด้วยซ้ำไป
ในสายตาของพ่อแม่แล้วลูกยังเป็นเด็กตลอดเวลา ยังคงคิดว่าลูกต้องรับฟังคำสั่งสอน ต้องฟังความคิดความอ่านของพ่อแม่ตลอดเวลา ความขัดแย้งจึงเริ่มเกิดขึ้นแล้วก็อาจจะลุกลามจนเกิดปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย บ้านจึงไม่ใช่วิมานของลูกวัยรุ่นอีกต่อไป
การเตรียมตัวล่วงหน้า เข้าใจธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงของลูก จะช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างวัยระหว่างความคิดหดสั้นเหลือน้อยลง
ยอมได้ก็ยอมอย่างยอมรับ
“พ่อน่ะ ไม่เห็นจะเข้าท่าเลย ทำไอ้โน่นก็ว่า ทำไอ้นี่ก็ด่า ไม่รู้ว่าจะห้ามไปทำไม”
ด้วยความรักและความเป็นห่วงที่มีต่อลูก บางครั้งเรื่องนี้ก็สร้างความไม่เข้าใจกันได้ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น เพราะโดยธรรมชาติและด้วยวัยแล้ว เด็กวัยรุ่นจะชอบลองชอบเลียนแบบและอยากแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง
การที่พ่อแม่ได้เตรียมตัวที่จะรับกับภาระอย่างนี้แล้วจะเข้าใจได้ดีมากขึ้น การยอมในสิ่งที่ไม่เสียหาย ก็จะมีส่วนช่วยทำให้ความตึงเครียดลดน้อยลง
“พ่อ! พ่อว่ากางเกงยีนขาดๆตัวนี้ของหนูใส่แล้วเท่ไหม”
“มันก็ดูดีนะลูก แต่อย่าให้มันขาดจนน่าเกลียดนะ ไม่งั้นถูกหมาฟัดแน่”
การพยายามสร้างเงื่อนไขให้เขารู้จักความพอดีอย่างมีเหตุมีผล และการปรามในเรื่องที่จะเกิดความเสียหายอย่างนุ่มนวล จะทำให้เขายอมพ่อแม่อย่างไม่กดดัน
“นะ! เอกขอมอเตอร์ไซค์ไว้ขี่ไปโรงเรียนนะ เอกรับรองว่าจะไม่ซิ่ง เชื่อมือเอกนะ ไม่มีปัญหาหรอก เอกอยากได้”
“จริงอยู่ ลูกอาจจะมั่นใจในฝีมือ และพ่อเองก็เชื่อว่าลูกจะไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของลูก เป็นปัญหาของพ่อแม่ที่ต้องห่วงใยและกังวลกลัวว่าลูกจะเป็นอันตราย เรื่องนี้พ่อคงยอมลูกไม่ได้หรอก”
ลูกเองเขาก็จะเข้าใจว่าเรื่องไหนที่เขาทำแล้วพ่อแม่ยอม แล้วก็จะเข้าใจว่าเรื่องไหนที่เกินไปกว่าที่จะได้รับการยอมรับ ถ้าหากว่าพ่อแม่มีความยืดหยุ่นกับเขามาตลอด พอมาถึงเรื่องนี้ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมเขาก็จะคิดได้เองว่าคงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ยอมไม่ได้จริงๆ เขาก็จะไม่ดื้อดึงเช่นกัน
ไม่บ่นเอาเท่าไหร่
อาจเป็นเพราะพ่อแม่เห็นลูกเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นแบบอย่างที่สืบต่อกันมาก็สุดจะเดา เพราะคำว่า “บ่น” กับลูกวัยรุ่นมักจะเป็นของคู่กันเสมอ พ่อแม่มักจะเห็นพฤติกรรมของเขาขัดหูขัดตาไปหมด
“นี่ ๆ! แม่บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าถอดถุงเท้ากองไว้ตรงนี้”
“จุ๋ม! วางหูเดี๋ยวนี้ โทร.อะไรนักหนาตั้งนานสองนาน คนอื่นเขาก็ต้องใช้โทรศัพท์เหมือนกันนะ”
“เมื่อวานน่ะเรากะอยู่บ้านเอาใจแม่สักวัน เธอรู้ไหม ตั้งแต่ตื่นนอนจนเกือบเย็น แม่เรานะบ่นได้ไม่ซ้ำเรื่องเลย ดีนะที่หลบออกมาได้ ไม่งั้นประสาทกินตาย ไม่รู้บ่นอะไรมากมาย”
เมื่อถามถึงสาเหตุของการบ่นแล้ว บางครั้งพ่อแม่เองก็ตอบยากว่าบ่นเพราะอะไร ฉะนั้นการพยายามยอมรับในข้อแตกต่าง แล้วก็เหลือจุดบางประการที่คุณยอมรับไม่ได้จริงๆ จะทำให้มีเรื่องต้องบ่นน้อยลง
อย่างเช่น ถ้าวันไหนลูกเกิดลุกขึ้นมาแต่งเนื้อแต่งตัวทำเปรี้ยวบ้างแต่ไม่ถึงกับเปรี้ยวจนเข็ดฟัน พ่อแม่ก็ต้องเห็นใจเขาบ้างว่าตลอดวันธรรมดาเขาต้องแต่งตัวอยู่ในเครื่องแบบนักเรียนตลอดเสาร์-อาทิตย์เขาอยากสวยอยากแต่งตัวน่ารักอวดเพื่อนๆก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย พ่อแม่เองก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าหากว่าเขาค้างบ้านเพื่อน หรือแต่งตัวล่อแหลม จุดนี้คุณจึงจะไม่ยอมรับและถึงจะเริ่มบ่นตลอดจนถึงการห้ามปราม
การบ่นไปทุกเรื่องจะทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของการบ่นลดลง เมื่อถึงคราวที่เป็นเรื่องใหญ่จริงๆแล้ว การว่ากล่าวตักเตือนของพ่อแม่จะไม่ได้ผล ลูกจะไม่เชื่อฟังคุณ เพราะคิดว่าคุณก็บ่นๆไปได้ทุกเรื่องนั่นแหละ!
ให้เวลาที่มีค่าแทนเวลาที่ควบคุม
เรามักจะได้ยินกันเป็นประจำว่า พ่อแม่ไม่มีเวลาให้แก่ลูก ทำให้ลูกวัยรุ่นมีปัญหา แต่ใครบ้างที่ยืนยันได้ว่าการให้เวลากับเขามากๆแล้วจะทำให้ไม่เกิดปัญหา
โดยธรรมชาติแล้วเด็กวัยรุ่นไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่ดูแลเขามาก ยิ่งดูแลเขามากยิ่งทำให้เขารู้สึกอึดอัด หรือบางครั้งการให้วัตถุมากกว่าการให้คุณค่าความอบอุ่นทางด้านจิตใจ ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ความเอาใจใส่ของคุณเป็นผลดีต่อลูกนัก
เวลาที่มีเพียงน้อยนิดที่ใช้กับลูกควรใช้ในทางบวก เช่น การดูโทรทัศน์ร่วมกัน อ่านหนังสือพิมพ์แล้วนำหัวข้อในข่าวมาคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูก ไม่ควรใช้เวลาอันมีค่าของคุณกับลูกไปในทางลบ อย่างเรื่องการคบเพื่อนของลูก คุณเองก็รู้ดีว่าเพื่อนมีความสำคัญกับลูกมาก ทัศนคติที่คุณมองเพื่อนลูกจึงควรเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าทำลายความรู้สึกที่ดีของลูก
“ปะป๊ามาม้า! ว่าจอห์นเพื่อนของลูกเขาน่ารักมั้ย เอ๋ว่าเค้าแมนมากเลย แต่งตัวก็เท่ เล่นกีฬาก็เก่ง”
“จอห์นคนที่มาบ้านเราคราวก่อนเหรอ! แม่ก็เห็นว่าเขาน่ารักเหมือนลูกนะ ถ้าเขาตัดผมให้เรียบร้อยแล้วไม่แขวนต่างหู แม่ว่าเขาจะดูดีมากทีเดียว ลูกว่ามั้ย”
“เอ๋ พ่อว่าวัยอย่างลูกเนี่ยถ้ารู้จักคบเพื่อนหลายๆแบบน่ะ ลูกจะได้เปรียบ เพราะว่ายิ่งมีเพื่อนมาก ลูกจะได้รู้จักคนมากขึ้นไง การคบใครคนใดคนหนึ่งมากไป บางทีก็ทำให้เราเสียโอกาสที่จะเจอเพื่อนดีๆอีกหลายคนนะลูก”
การผันเวลาที่น้อยนิดให้เป็นช่วงเวลาแห่งความเข้าใจและแสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน และยอมรับฟังความคิดเห็น ไม่อ้างความเป็นผู้ผ่านโลกมาก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับการยอมรับ การมีเวลานั่งพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูกในทางสร้างความสัมพันธ์เพียงชั่วโมงเดียว ก็จะมีผลดีกว่าการใช้เวลา 1o ชั่วโมงในการพร่ำบ่น ตำหนิ คาดคั้น หรือควบคุม
ใช้งานก่อน (ให้) ใช้เงิน
“เรก! เสาร์นี้อย่าลืมนะที่เก่าเวลาเดิม”
“เหรอ! เยี่ยมเลย” เรกดีดนิ้วเปาะ ท่าทางลิงโลด สักพักก็ทำท่าเหมือนนึกขึ้นได้ “แต่วันเสาร์เหรอ แย่จังว่ะ เราต้องถางหญ้าสนามหน้าบ้าน สงสัยฟาวล์ว่ะ เสียดายจังเลย” เรกทำหน้าเศร้าบ่นเสียดาย
“วันเสาร์วันหยุดนะโว้ยทำงานอะไร เขาพักผ่อนกัน เดี๋ยวฟ้องกรมแรงงาน อย่างนี้เข้าข่ายใช้แรงงานเด็กแล้ว” เพื่อนคาดคั้น
“ขืนไปกับพวกแกไม่ถางหญ้าให้เสร็จ แกเอ๊ย! อาทิตย์หน้าอย่าว่าแต่เงินเที่ยวเลย เงินกินหนมก็ไม่ได้สักบาทเลยล่ะ”
พ่อแม่บางรายเวลาลูกแบมือขอเงินก็มักจะร่ายยาวว่าให้รู้จักคุณค่าของเงิน ให้รู้จักการประหยัด แต่ในที่สุดก็ควักให้อยู่ดี การทำอย่างนี้บ่อยๆก็ทำให้ลูกเรียนรู้ได้ว่า ทนฟังเสียงบ่นหน่อยเดี๋ยวก็ได้เงิน หรือไม่ก็ทำกระเง้ากระงอดหน่อยเดี๋ยวแม่ก็ต้องให้
การสอนให้ลูกรู้จักการทำงานให้มีผลงานตอบแทนค่าเงินที่เขาได้รับจะทำให้เขาได้เห็นคุณค่าของเงิน เห็นความลำบากของพ่อแม่ในการทำงานหาเงินส่งเขาเรียน อย่างน้อยเขาก็จะได้ภูมิใจที่หาเงินเองได้ ถึงแม้ว่าจะหาได้จากแถวๆบ้านก็ตาม
การพยายามให้สมาชิกในบ้านมีส่วนร่วมในงานของครอบครัวก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกสำนึกว่า เขามีหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือครอบครัวเหมือนกัน ไม่ใช่คอยแต่รับฝ่ายเดียว
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
“ใครแอบหยิบบุหรี่พ่อไป 2 มวน แก่น! ไอ้แก่น เอ็งหยิบบุหรี่พ่อไปใช่ไหม บอกมานะ ไอ้นี่ ตัวเท่าลูกหมาริอ่านสูบบุหรี่”
“กุล นาฬิกาใครในกระเป๋ากระโปรงลูก อย่าบอกนะว่าไปหยิบของใครมา”
เสียงเอ็ดตะโรลั่นบ้านของพ่อแม่ เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมที่เห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่เหมาะสม (โดยเฉพาะกับเด็กๆ) พ่อแม่บางรายถึงกับลงไม้ลงมือกับลูก จะมีใครบ้างที่ลองนึกย้อนกลับมาด่าตัวเองว่า เพราะเราเลี้ยงลูกไม่ดี เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ถึงบางครั้งลูกย้อนเอา ก็ยังหาว่าลำเลิกบุญคุณ
พฤติกรรมบางอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างการนินทาเพื่อนบ้านให้ลูกฟัง หรือถึงขั้นรุนแรง เช่น เล่นการพนัน ทำสิ่งผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมให้ลูกเห็น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมของลูกในเวลาต่อมา เหมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนเอาภาพพฤติกรรมของผู้ปกครองไว้ได้หมด
ในขณะที่พ่อยังดื่มเหล้าสูบบุหรี่ แม่ยังหยิบของที่ทำงานมาใช้ในบ้าน บางทีคุณอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ในความเป็นจริง ลูกๆของคุณก็ได้ซึมซับเอารูปแบบเหล่านั้นไว้ในสมอง ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยที่คุณเองก็ไม่สามารถตำหนิเขาได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะคุณก็รู้อยู่แก่ใจดีว่าคุณเองก็มีพฤติกรรมไม่ดีเหมือนกัน
อาจจะยากไปสักนิดสำหรับทางออกในกรณีที่คุณเองยังใจไม่เข้มแข็งพอ เช่น ต้องเลิกสูบบุหรี่ หรือเลิกดื่มเหล้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ได้ พยายามอย่าให้ลูกเห็นว่าคุณสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าตลอดเวลาที่เขาอยู่กับคุณ จะช่วยทำให้เขาซึมซับพฤติกรรมในเรื่องนี้ได้น้อยลง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือเลิกซะ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของลูกแล้ว สุขภาพคุณก็จะดีตามไปด้วย
นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่ถ้าคุณสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นว่าลูกเรียนรู้ไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเสียงดัง การทะเลาะเบาะแว้ง ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ต่างๆนานาในบ้าน เชื่อแน่ว่าถ้าคุณอยากเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อลูก คุณต้องทำได้ อย่าให้ลูกย้อนถามเอา เพราะคงไม่มีใครที่ไหนอยากเป็น ‘พ่อปูแม่ปู’ แน่ๆ
สีสันของลูกวัยรุ่น เป็นสีสันที่คอยการปรุงแต่งจากพ่อแม่ คุณจะแต่งแต้มสีสันเหล่านั้นให้เป็นสีสดสวยเพื่อความสดใสของสังคม หรือแต่งแต้มให้เป็นสีกระดำกระด่าง อันจะเป็นภาพอันหม่นมัวของบ้านเมือง จิตรกรผู้เป็นพ่อแม่คือผู้สร้างสรรค์ คุณมีพู่กันอยู่ในมือแล้ว...

เวทีทัศนะ

เกื้อ แก้วเกต
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเยาวชน
“เวลาที่พูดถึงเรื่องปัญหาของวัยรุ่น คนที่มีปัญหาที่สุดกลับไม่ใช่วัยรุ่น เราก็รู้ๆกันอยู่ว่าคนที่ยุ่งมีปัญหาวุ่นวาย ทำให้เด็กมีปัญหาคือผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งก็ยากเหมือนกันที่จะให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงอะไร แต่สื่อของเรามีเยอะแยะ จริงๆแล้วการศึกษานอกโรงเรียนน่าจะทำเรื่องนี้มากขึ้น ให้มีการอบรมคนที่มีลูกวัยรุ่น
การพัฒนาเยาวชนนั้นต้องอาศัยทุกส่วน เราจะไปมองจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ บ้านเราคิดว่าสูตรสำเร็จอยู่ที่โรงเรียน เขาคิดว่าเข้าโรงเรียนแล้วเด็กพัฒนาไปได้ แต่ถ้าเรามองลึกในรายละเอียด อยากให้เด็กเราพัฒนาทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม บางทีที่โรงเรียนไม่พอ ต้องอาศัยผู้ปกครองด้วย ถ้าผู้ปกครองฉลาดจะรู้ว่าขณะนั้นเขาขาดอะไรก็ช่วยกันที่ตรงนั้น และควรจะพัฒนาทุกด้าน เช่น
ร่างกาย ตอนนี้ร่างกายลูกเราเป็นอย่างไรบ้าง แข็งแรงหรือเปล่า ถ้าไม่แข็งแรงก็ชวนเขาไปออกกำลังกาย
สติปัญญา นี้พัฒนาเยอะแล้ว แต่เน้นเรื่องความคิดหน่อย คอยแนะให้เขาคิดว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เขาอาจจะริเริ่มสร้างสรรค์อะไรพ่อแม่ก็ต้องเปิดโอกาสให้กับเขาด้วย
จิตใจ จำเป็นต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เน้นเรื่องความรัก เปิดโอกาสให้เขารับผิดชอบ ถ้าอยากให้เขาเป็นคนให้ก็ต้องให้กับเขา อยากให้เขาเป็นคนยุติธรรม ก็ต้องยุติธรรมกับเขา
อารมณ์ เขาเป็นอย่างไร อารมณ์ดีมั้ย เขาเคยหัวเราะบ้างหรือเปล่า หลายคนลืมไปว่าหัวเราะคือพื้นฐานของความสุข เพราะคนมีความสุขจึงจะหัวเราะ ถ้าเด็กไม่รู้จักความสุข เขาก็จะมีปัญหา โตขึ้นจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อย่างไร
สังคม ปัจจุบันโอกาสที่จะทำให้อารมณ์เขาเครียดมีมาก เพราะฉะนั้นต้องมีกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดไว้บ้าง พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าสังคมกับคนอื่นบ้าง เช่น พาเขาไปตามศูนย์เยาวชน หรือถ้าที่โรงเรียนมีกิจกรรม มีชมรมก็ควรจะสนับสนุนเขา เขาจะได้มีอาสแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ การอบรมควรจะเป็นไปในทางบวก ซึ่งวัยรุ่นจะชอบมากกว่าแบบลบ เพราะทางบวกเวลาทำพ่อแม่จะใส่ความรัก ความเออาทรลงไปด้วย แต่บางครั้งเขาก็ต้องเรียนรู้ด้านลบด้วย บางอย่างหากเขาทำลงไปแล้วไม่ถูกต้อง ทำแล้วเราโกรธ เราก็ต้องยอมรับว่าโกรธ โกรธออกมาให้เขาเห็น เขาจะได้เรียนรู้ด้วย”

ตะวัน – กนกทิพย์ สิริวรวิทย์
พ่อแม่สังคมใหม่
(พ่อ) “เขาเรียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง แต่มีความคิดริเริ่มแปลกๆ สนใจเรื่องสังคมรอบข้าง ซึ่งผมก็เห็นว่าไม่เป็นไร เพราะการเรียนไม่ใช่เป็นตัวสรุปของความเป็นคนดีหรือคนเลว ถ้าหากเรายิ่งไปบังคับเขามากๆ เรื่องการเรียน ก็กลัวว่าจะเกิดปัญหาก็เลยต้องปล่อยๆ
คนเราเสียเวลาเรียนตั้ง 2o กว่าปี เพื่อแย่งกันทำมาหากิน เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเน้นเรื่องจิตใจมากกว่า กับลูกถึงแม้เรื่องเรียนเขาไม่ดี แต่เขามีจิตใจดีต่อพ่อแม่ กับสังคม สิ่งแวดล้อมรอบข้างเขา ผมยอมได้ที่ตรงนี้
(แม่) เวลาเพื่อนเขาโทรศัพท์มาเราก็เข้าไปในห้องเขา ไปนั่งเป็นเพื่อนแล้วก็ฟังไปด้วย ทำทีเข้าไปอ่านหนังสือบ้าง แกล้งทำโน่นทำนี่บ้าง
(พ่อ) จะดักฟังก็กลัวเสียมารยาท อายเหมือนกัน แต่เขาก็ไม่รู้สึกเพราะเขาเป็นคนเปิดเผยอยู่แล้ว
คนที่สองเรียนเก่ง แต่พฤติกรรมค่อนข้างซ่อนเร้น อย่างคนโตเคยคุยกับเขาเรื่องเพศสัมพันธ์ เห็นว่าเขาย่างเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว คุยกับคนโต แต่ผลกลับไปตกกับคนที่สอง คือหนังสือญี่ปุ่นวับๆแวมๆ ทะลึ่งตึงตัง จะมีซุกซ่อน ซุกอ่านใต้เตียง คนโตไม่สนใจ เอาแต่เฮฮา เอาแต่มันลูกเดียว จะพูดเรื่องเพศศึกษากับลูก สำหรับผมแล้วเห็นว่ายากเหมือนกัน คือคุยยังไงที่จะให้ลูกฟังแล้วไม่ลามก
(แม่) สำหรับเรื่องแต่งตัวไม่มีปัญหา ลูกแต่งตัวค่อนข้างสุภาพ แต่มีครั้งหนึ่งเขาเรียกร้องจะไว้ผมยาวถึงขั้นที่ต้องผูกเปีย ก็บอกเขาตรงๆว่าอย่างนี้เรารับไม่ได้ เราก็แนะว่าดูอย่างเบิร์ด เพราะเขาชอบเบิร์ด พอพี่เบิร์ดเขาไว้ผมยาวประชาชนไม่ยอมรับ เขาก็เชื่อฟัง ผมก็เริ่มสั้นลงมา
(พ่อ) แต่กว่าจะสั้นเขาเองก็เที่ยวไปปรึกษาคนนั้นคนนี้ว่าเขาไว้ผมยาวจะเป็นอย่างไร แต่ทุกคนก็บอกว่ารับไม่ได้ ดีครับที่ปล่อยให้เขาตัดสินใจเอง ไม่เข้าไปรุกเขามากเกินไปจนเขารู้สึกว่าแอนตี้เขา
พักหลังๆผมทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่ค่อยมีเวลาเจอลูก ก็เลยคิดว่าจังหวะตอนเช้าๆเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด ผมทำอาหารไม่ค่อยเป็น แต่ก็พยายามปรับปรุงตัวเอง ตื่นมาทำอาหารให้ลูกกินเองทุกๆเช้า แล้วมื้อเย็นก็ให้แม่เขาดูแล ในส่วนนี้ลูกเองก็รู้สึกว่าเขาได้ใกล้ชิดกับเรา ครอบครัวก็มีความใกล้ชิดผูกพันยิ่งขึ้น พ่อตอนเช้า แม่ตอนเย็น เราแบ่งหน้าที่กันโดยอัตโนมัติ
การแกล้งลืมงานไปสักระยะหนึ่ง แล้วใส่ใจกับครอบครัว พากันไปเที่ยวสนุกสนาน ครอบครัวก็จะดีขึ้น พอเราเห็นทุกอย่างดีขึ้นแล้วค่อยลุยงานกันใหม่
(แม่) เราพยายามให้ความสนิทสนมกับเขา ช่วงหลังแม้ว่าจะทำงานกลับดึก เขาก็จะคอยแม่กินข้าวเย็นด้วย เราก็จะคุยกับเขา สอบถามปัญหา อย่างเขาบอกว่าอยากเรียนพิเศษ เราก็อนุญาตให้เขาเรียน แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องรับผิดชอบจริงๆ คือไม่ให้เกเร มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาไม่เรียน หนีเรียนไปเราก็เสียใจ เราก็คุยกับเขาว่าเราเสียใจที่รับรู้เรื่องนี้ เขาก็แคร์ความรู้สึกเรา ไม่อยากให้เราเสียใจ เขาก็เลิกทำ ”

ศรวุธ อันเรืองปัญญา
หนุ่มน้อยวัยเฮ้ว
“ไม่ค่อยมีปัญหากับที่บ้าน ถ้ามีก็ทะเลาะกันนิดหน่อย เรื่องไม่เข้าใจกัน เรื่องเขาขี้บ่น บางทีเราก็ไม่เข้าใจเขาด้วย เวลามีปัญหาส่วนใหญ่จะปรึกษาเพื่อน ถ้ามีแฟนก็คุยกับแฟนเสียมากกว่า
เรื่องคบเพื่อนผู้ชายไม่ค่อยมีปัญหา มีแต่เรื่องคบเพื่อนผู้หญิงอย่างที่รู้ๆกัน ตอนแรกที่แฟนโทร.มาพอพ่อรับแล้วรู้พ่อก็มองหน้า แต่พอดีตอนนั้นเพื่อนพ่อก็อยู่ด้วย เขาก็บอกว่า เด็กๆสมัยใหม่ก็มีแฟนกันทั้งนั้นแหละ พ่อก็บอกว่า เฮ้อ! ยอมปล่อยให้คนหนึ่ง พ่อก็ไม่ว่าอะไร นอกจากคุยโทรศัพท์นานก็จะโดนด่า
ส่วนแม่ก็ไม่ค่อยอยากให้คบเพราะกลัวเสียการเรียน ผมก็เลยบอกไปว่า ไม่มีทางหรอก ผมไม่มีทางหลงหัวปักหัวปำหรอก คิดได้ ไม่โง่ ไม่หลงอะไรมากมาย เขาก็เลยเฉย
เรื่องการแต่งตัวก็ไม่ค่อยแต่ง ถ้าอยู่บ้านจะใส่ตามสบาย แต่ในความคิดของผม ถ้าผมเป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กผมก็คงไม่ยอมให้เขาแต่ง ถึงจะเป็นยีนขาดๆ จริง แต่มันแพงนะ มันเปลือง จะแต่งอะไรก็ดูฐานะตัวเราเองด้วย
แต่ผมเป็นคนชอบตามเพื่อน จะเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ตัวเอง เพราะกับเพื่อนรู้สึกเป็นกันเองมากกว่า แต่มีอยู่คำหนึ่งที่พ่อพูดแล้วซึ้งมาก พ่อบอกว่า ‘ลูกเราก็เลี้ยงได้แต่ตัว หัวใจเขาเราเลี้ยงไม่ได้’ ฟังแล้วซึ้งถึงหัวใจเลย เวลาทำอะไรก็จะคิดถึงเขา
ประทับใจแม่ในทุกๆอย่างที่เขาทำให้เรา เขารักเรา เขาด่าเราก็คิดเสียว่าเขาอยากให้เราเป็นคนดีเท่านั้นเอง อย่าไปคิดมาก ผมยังบอกกับเพื่อนผมเลยว่า พ่อด่าแม่ด่าอย่าไปคิดมากจนประชดตัวเอง คิดเสียว่าเขาให้พรเราก็แล้วกัน ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี หัวเราะตลอด
ส่วนพ่อนี้จะเป็นเพื่อนกันมากกว่า แต่จะประทับใจเขามากที่สุดก็ตรงที่เขาบอกว่าจะซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ นี่ยังไม่ออกเลย จะรักเขามากที่สุดตอนที่ออกมอเตอร์ไซค์ให้นั่นแหละ ผมก็บอกเขาอย่างนี้ พ่อบอกว่า ถ้าจะรักตอนนั้นก็อย่ามารักเลย (หัวเราะ) ”

แสงหล้า ธิดา
วัยวุ่น วัยหวาน
“อยู่กับพี่สาว พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด ก็มีเรื่องทะเลาะกันบ้างเป็นธรรมดา ก็มีเรื่องเพื่อนผู้ชายโทร.มาหาที่บ้านพี่เขาก็ว่า ทำไมอยู่โรงเรียนสตรีแล้วยังมีเพื่อนผู้ชาย ก็บอกเขาไปว่าเป็นเพื่อนเก่ากัน
แล้วก็มีเรื่องทำงานบ้าน ส่วนมากก็เป็นเรื่องที่เขาใช้ให้ทำอะไร เราก็บอกเดี๋ยวก่อน แต่เดี๋ยวของเราเราทำนะไม่ใช่ไม่ทำเลย แต่เขาจะด่าขึ้นมาแล้วว่า ทำไมเป็นคนอย่างนี้ ทำตัวให้ดีหน่อยไม่ได้เหรอ ไม่ต้องเดี๋ยวก่อนได้มั้ย
ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องเรียน เขาชอบขู่หนูเรื่อยเลยว่า ถ้าหนูขี้เกียจ สอบตกแม้แต่ตัวเดียวเขาจะไม่ให้เรียนเลย แต่ก็ยังไม่เคยตก แล้วเขาอยากให้หนูเรียนเกี่ยวกับเย็บผ้าหรือเสริมสวย เมื่อก่อนหนูก็ชอบแต่เดี๋ยวนี้ไม่ชอบแล้ว หนูอยากเรียนนิเทศฯ อยากทำงานเกี่ยวกับบันเทิง เขาก็ถามว่า ที่เรียนนิเทศฯ เพราะเรียนตามยุคตามสมัยหรือเปล่า หนูก็ไปคิดดูก็อาจจะใช่นะ แต่หนูชอบอย่างนี้...
มีเรื่องที่เสียใจที่สุดคือตอนนั้นพี่เขาด่าเราแล้วเขาดูถูกเรามากเลย เขาบอกว่า เรานี่ไม่ได้ดีแน่ สู้พี่สาวอีกคนไม่ได้ เราเป็นคนไม่ดี แล้วชีวิตจะไม่ได้ดี ก็ร้องไห้แล้วคิดว่า คอยดูก็แล้วกันเขาว่าเราไม่ได้ดี เราจะทำดีให้เขาเห็นให้ได้
แต่พี่สาวเขาก็เป็นคนดีนะ ที่บ้านจะมีญาติเยอะ พี่เขาก็จะเป็นคนมีน้ำใจกับญาติมาก แล้วก็เป็นคนที่ฉลาดถึงแม้จะเรียนมาน้อยแต่หนูดูว่าเขาเป็นคนเก่ง และก็ฉลาดมาก แล้วก็เป็นห่วงเราด้วย”

ข้อมูลสื่อ

167-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
บทความพิเศษ