• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครื่องดื่มเกลือแร่

เครื่องดื่มเกลือแร่


ทุกปีนักกีฬาที่สถาบันวิจัยโภชนาการที่ผมทำงานอยู่ มักจะติดต่อพวกผมให้สนับสนุนกิจกรรมกีฬา โดยมักขอบริจาคคราวละ 110 บาท เพื่อให้พวกเขาไปซื้อเครื่องดื่มรวมทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่ ซึ่งผมก็ได้มอบให้ไปทุกครั้ง แต่ในปีนี้ผมมีความรู้สึกแปลกใจว่า นักกีฬาของเราจะชนะหรือแพ้จะขึ้นกับเครื่องดื่มประเภทนี้แค่ไหนกัน ประกอบกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ทั้งในโทรทัศน์และสื่อต่างๆ อย่างมากมาย จึงทำให้อยากทราบว่ามันประกอบด้วยอะไรกันแน่

เดือนนี้ผมจึงได้ชวนนักสรีรวิทยาทางการออกกำลังกาย ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันฯ ซึ่งคุณอาภัสราไปช่วยกันช็อปปิ้ง อ่านและวิจารณ์ฉลากเครื่องดื่มเกลือแร่กันอย่างลึกซึ้ง หลังจากที่ได้ลองสำรวจดูผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่ในท้องตลาดแล้วพบว่า มีเพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็ผลิตโดยบริษัทยาที่มีชื่อเสียงเก่าแก่มาแต่ในอดีต จึงคาดว่ากิจการเครื่องดื่มประเภทนี้กำลังขยายตัว แต่คงต้องการการโฆษณาเพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดได้ ทำให้มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่กล้าลงเล่นในเกมนี้

เมื่อมองปร๊าดผ่านไปที่ฉลาก (ดูปีที่ระบุในเครื่องหมาย อย.) ก็พบว่า การขออนุญาตผลิตของเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งกระทำภายหลังอีกยี่ห้อหนึ่งถึง 3 ปี ทั้งที่ยี่ห้อที่ผลิตภายหลังเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกา จึงน่าจะเป็นการยืนยันได้ว่า เริ่มแรกผู้ผลิตอาจยังไม่มั่นใจในตลาดสินค้าประเภทนี้ในประเทศไทยเท่าไรนัก ส่วนที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นการคาดเดาตามรูปการเสียเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้เรามาดูฉลากกันดีกว่า เครื่องดื่มเกลือแร่ถูกจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติอาหารปี พ.ศ.2522 อักษรในแถบทะเบียนอย.ของทั้งสองยี่ห้อระบุว่า “ผดก” อักษร “ผ” แสดงว่าผลิตจากสถานที่ระดับโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศ  ส่วนอักษร “ดก” ย่อมาจาก เครื่องดื่มเกลือแร่

ปกติบรรจุในขวดแก้วขนาด 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยยี่ห้อหนึ่งมีการพ่นสีประทับติดที่ขวดและปิดด้วยฝาจีบ ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่งมีแถบพลาสติกพันอยู่ที่ขวด และปิดด้วยฝาเกลียวชนิดบิดขาด นอกจากนี้ยังมีบรรจุในกระป๋องชนิดเปิดด้วยขนาด 335 ลูกบาศก์เซนติเมตรด้วย เมื่อตรวจสอบดูส่วนประกอบบนขวดของยี่ห้อที่มีการพ่นสีประทับติดที่ขวด ก็ไม่พบรายละเอียดที่แสดงวัน เดือน ปี ที่ผลิต และส่วนประกอบ จึงได้สอบถามไปทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และได้รับคำตอบว่าเป็นการอนุโลมสำหรับเครื่องดื่มทุกชนิดที่บรรจุในภาชนะแบบนี้ เนื่องจากขวดประเภทพ่นสีดังกล่าวมีการใช้หมุนเวียนมานานและมีปริมาณมากมาย ถ้าจะต้องนำมาแก้ไขให้มีส่วนประกอบพิมพ์อยู่ด้วย จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก นอกจากนี้ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงวันเดือนปีที่ผลิต เพราะขวดต้องนำมาล้างใช้ใหม่ จึงเรียนมาเพื่อให้สมาชิกนักอ่านฉลากได้ทราบโดยทั่วกัน

อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโชคดีของเราที่เครื่องดื่มยี่ห้อที่บรรจุในขวดพ่นสีนั้นยังมีการผลิตในรูปกระป๋องด้วย ทำให้ได้ทราบถึงส่วนประกอบของยี่ห้อนี้ ส่วนยี่ห้อที่ขวดพันด้วยพลาสติกนั้นได้มีการแสดงส่วนประกอบไว้บนแถบพลาสติกที่ใช้พันอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาส่วนประกอบของทั้งสองยี่ห้อแล้ว จึงอยากแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ น้ำ น้ำตาล และส่วนประกอบอื่น โดยจะแสดงเป็นรายละเอียดต่อไป

  • น้ำ

น้ำเป็นส่วนประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ทั้งสองยี่ห้อโดยมีปริมาณร้อยละ 92-93 ตามธรรมเนียมฉลากอาหารมักจะไม่ระบุว่าน้ำเป็นส่วนประกอบหนึ่ง เพราะถือว่าทราบกันดีอยู่แล้ว ซึ่งเครื่องดื่มทั้งสองยี่ห้อก็กระทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม “น้ำ” นี่แหละเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเครื่องดื่มชนิดนี้ สาเหตุคือ เมื่อร่างกายสูญเสียเหงื่อไปเนื่องจากการออกกำลังกาย สิ่งที่ร่างกายต้องการทดแทนมากที่สุด คือ น้ำ กล่าวกันว่าถ้านักกีฬามีการสูญเสียน้ำไปเกินกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัว จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพทางการกีฬาและการแข่งขันได้ นอกจากนี้ การสูญเสียน้ำในปริมาณมากยังก่อให้เกิดความเครียดต่อระบบหัวใจ และทางเดินเลือด เนื่องจากปริมาตรของเลือดที่ลดลงแต่ข้นขึ้นนั้นทำให้หัวใจต้องทำหน้าที่หนักขึ้น และอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นด้วย

นักวิทยาศาสตร์การกีฬาหลายท่านเน้นว่า เราป้องกันการสูญเสียน้ำไม่ให้มากเกินไปในระหว่างการเล่นกีฬา โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงก่อนและระหว่างการซ้อมหรือแข่งขัน โดยทั่วไปการที่ค่อยๆทยอยดื่มน้ำในปริมาณสูงถึง 1.0-1.5 ลิตร (4-6 แก้ว) ในช่วงเวลาเตรียมตัวก่อนการแข่งขัน สามารถทำได้โดยไม่มีอันตราย ยกเว้นในนักกีฬาบางคนที่ไม่คุ้นเคยอาจจะต้องค่อยๆ ดื่มทีละน้อย แต่บ่อยขึ้น และอาศัยช่วงเวลาการเตรียมตัวที่นานกว่า อยากจะเน้นว่าอย่าปล่อยให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำมากเกินไปในช่วงการแข่งขัน เพราะจะต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าร่างกายจะสามารถปรับตัวเข้าสู่สมดุลได้

สิ่งที่เราพยายามบรรยายมาเสียยืดยาว ก็เพื่อให้ท่านได้ทราบว่าประโยชน์ต่อสมรรถนะทางการกีฬาที่ท่านได้รับจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ ส่วนใหญ่แล้วมาจาก “น้ำ” ขอย้ำอีกทีว่า “น้ำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถเข้าไปทดแทนในร่างกายยามเสียเหงื่อ”

  • น้ำตาล

เครื่องดื่มเกลือแร่ทั้งสองยี่ห้อมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 7-8 โดยมีการใช้น้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลทราย ซึ่งในฉลากระบุว่าเป็นเดกซ์โทรสและซูโครสตามลำดับ น้ำตาลโมเลกุลเล็กอย่างกลูโคสช่วยให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้เร็ว และทำให้สดชื่นขึ้นในกรณีที่ร่างกายต้องการพลังงาน แต่ถ้าปริมาณน้ำตาลสูงเกินไปก็อาจมีผลให้ความสามารถในการดูดซึมน้ำจากทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายลดลง และเกิดอาการแน่นอึดอัดภายในท้องเนื่องจากเครื่องดื่มจะคงอยู่ในระบบทางเดินอาหารนานขึ้น ตามทฤษฎีแล้วไม่ควรมีปริมาณน้ำตาลเกินกว่าเกินกว่าร้อยละ 5 เพื่อจะได้ไม่เกิดผลข้างเคียงดังกล่าว ดังนั้นในตำราวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงแนะนำว่า ควรผสมเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีในท้องตลาดกับน้ำในอัตราส่วน 1:1 จึงจะได้เครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับนักกีฬา

  • เกลือแร่

เราใช้คำว่าเกลือแร่ แต่คำที่ถูกต้องและเฉพาะเจาะจงในที่นี้ คือ อิเล็กโทรไลต์ ซึ่งหมายความว่า ธาตุที่อยู่ในสถานะมีประจุ ส่วนประกอบตัวนี้เองเป็นตัวที่ให้ชื่อและเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เครื่องดื่มเกลือแร่ทั้งสองยี่ห้อมีการเติมโซเดียมและโพแทสเซียมในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยปริมาณโซเดียมสูงกว่าโพแทสเซียมประมาณ 4-5 เท่า นอกจากนี้บางยี่ห้อยังระบุว่ามีคลอไรด์เป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งอาจได้จากโซเดียมหรือโพแทสเซียมในรูปของเกลือก็ได้

เมื่อได้เห็นส่วนประกอบในส่วนนี้แล้วทำให้นึกถึงสมัยเด็ก เวลาที่ออกกำลังกายกับเพื่อนๆ มักเติมเกลือลงในเครื่องดื่ม เพราะเชื่อว่าสูญเสียเกลือไปกับเหงื่อด้วย เครื่องดื่มเกลือแร่ก็คงเกิดขึ้นเพราะความเชื่อดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตามนักวิชาการสมัยใหม่ระบุว่า การที่เรากินอาหารที่มีเกลือบ้าง โพแทสเซียมบ้าง ก็เพียงพอที่จะสะสมไว้ใช้ในยามออกกำลังกายแล้ว การสูญเสียเกลือแร่ขนาดหนักจนต้องทดแทนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการออกกำลังกายที่หนักมากๆ เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงติดต่อกันเท่านั้น

  • ส่วนประกอบอื่น

ส่วนประกอบอื่นที่เติมลงไปก็เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงลักษณะเครื่องดื่มให้ชวนดื่มหรือเพื่อช่วยในการถนอมอาหารให้เก็บได้นาน ตัวอย่างเช่น ทั้งสองยี่ห้อมีการเติมสีและกลิ่นสังเคราะห์ บางยี่ห้อเติมซิเตรตหรือกรดมะนาวเพื่อให้มีรสเปรี้ยว นอกจากนี้ยังมีการใช้วัตถุกันเสียในทั้งสองยี่ห้อ

สนนราคาของเครื่องดื่มเกลือแร่ทั้ง 2 ชนิดต่างกันพอสมควร โดยยี่ห้อที่แพงกว่ามีราคาสูงกว่าราว 1.7 เท่า ทั้งที่ส่วนประกอบก็ไม่แตกต่างกันมากนัก สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ลักษณะการบรรจุที่สะดวกและแลดูเท่กว่า

ถ้าท่านต้องการ “กำลังใจ” ในการเล่นกีฬาจากเครื่องดื่มประเภทนี้ก็เลือกเอาชนิดที่เหมาะสมตามกำลังทรัพย์ของท่านเอง ข้อดี ข้อเสีย เราก็ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น สำหรับผมและคุณอาภัสราก็ยังเห็นว่า ราคาเครื่องดื่มทั้งสองยี่ห้อนั้นแพงกว่าน้ำผลไม้จางๆ เติมเกลือมากมายนัก แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่าน้ำที่สะอาดและเย็นพอสมควรเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสมสำหรับดื่มก่อนและระหว่างการเล่น หรือซ้อมของนักกีฬา

ข้อมูลสื่อ

168-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536
รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต
อาภัสรา อัครพันธุ์