• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เคล็ดลับในการใช้ยาแก้ไมเกรน

โรคไมเกรนหรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ ลมตะกัง ” นั้น เป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการปวดศีรษะที่พบในคนทั่วไป ประมาณทุก ๆ 10 คน จะมีคนเป็นโรคนี้ 1-2 คน

อาการแสดงที่เด่นชัด ก็คือปวดศีรษะแบบตุบ ๆ ( ตามจังหวะการเต้นของชีพจร ) ที่ขมับข้างเดียวนานครั้งละเป็นชั่วโมง ๆ ถึง 1-2 วัน ก่อนจะปวดหัวมักมีอาการตาพร่าตาลายนำมาก่อนสักพักใหญ่ แล้วจะค่อย ๆ ปวดแรงขึ้น บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่ออาเจียนแล้วก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง ขณะปวดจะคลำได้เส้นเลือดใหญ่พองตัวตรงขมับข้างที่ปวด

คนไข้มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ปีละหลายครั้ง บางคนอาจปวดถี่เดือนละ 1-2 ครั้ง ทุกครั้งมักจะมีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุกำเริบ ถ้าเลี่ยงได้ก็จะทำให้ปวดห่างไปได้เอง ( ดูตาราง )
ตำแหน่งที่ปวดแต่ละครั้งอาจไม่แน่นอน อาจปวดที่ขมับข้างเดิมหรือสลับไปอีกข้าง บางครั้งอาจปวดที่ขมับพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ( ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย )

โรคนี้สามารถถ่ายทอกทางกรรมพันธุ์ มักมีพ่อแม่พี่น้องเป็นร่วมด้วย เกิดในคนวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และจะกำเริบได้บ่อย ๆ จนถึงวัยสูงอายุ ( 55 ปีขึ้นไป )แต่บางคนก็อาจปวดไปจนตลอดชีวิต

แม้ว่าจะเป็นโรคที่ทำให้ปวดน่ารำคาญหรือทรมาน หรือทำให้เสียงานเสียการอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีอันนตรายร้ายแรง และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด การปวดแต่ละครั้งแม้จะไม่ได้กินยา ก็มักจะทุเลาไปได้เอง เมื่อถึงจังหวะของมันเอง บางครั้งเมื่อเริ่มมีอาการใหม่ ๆ หากได้นอนหลับสักครู่ก็อาจทุเลาไปได้

การรักษา
โรคนี้ไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะที่ช่วยได้หายขาดไปได้ มียาที่ใช้บรรเทาอาการปวให้ทุเลาในแต่ละคราว ต่อไปเมื่อถูกสิ่งกระตุ้นก็จะกำเริบอีก ( ดูตามตาราง )
หาดปวดไม่มาก จะปล่อยให้ทุเลาเองหรือนอนหลับสักตื่นโดยไม่กินยาก็ได้
แต่บางคนหากปล่อยไว้จะปวดแรงขึ้น และปวดนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือข้ามวัน ต้องหยุดงาน หยุดเรียน

โดยทั่วไป จึงแนะนำให้คนที่เป็นไมเกรนพกยาแก้ปวด ( พวกพาราเซตามอล ) ติดตัวเป็นประจำ
ทุกครั้งที่เริ่มมีอาการกำเริบ เช่น อาการตาพร่ามัว และเริ่มปวดกรุ่น ๆ ก็ให้รีบกินยาพารา 1-2 เม็ดทันที หากนอนได้ก็ให้นอนหลับสักตื่น หรือจะนั่งพัก ผ่อนลมหายใจเข้า-ออกยาว ๆ ในห้องที่สลัว ไม่มีเสียงดัง และอากาศพอเย็นสบายไม่อบอ้าว ก็มักจะช่วยให้ทุเลาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
 

สิ่งกระตุ้นให้โรคไมเกรนกำเริบ
(ผ่านทางอายตนะ 6)
ตา    : แสงแดด แสงไฟ แสงระยิบระยับ การเพ่งสายตานานๆ
หู      : เสียงดังๆ
จมูก  : กลิ่นฉุนๆ เช่น น้ำมันรถ สารเคมี ควันบุหรี่ สี น้ำหอม
ลิ้น    : อาหารการกิน เช่น แอลกอฮอล์ ผงชูรส ช็อกโกแลต
           ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล ถั่วต่างๆ สารกันบูด
กาย  : อากาศร้อนหรือเย็นจัด อดข้าว อดนอน นอนตื่นสาย ร่างกาย
           เหนื่อยล้า ออกกำลังกายหักโหม ร่างกายเป็นไข้หรือเจ็บปวด
ใจ    : เครียด คิดมาก  อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ



เคล็ดลับอยู่ที่ต้องรีบกินยาแก้ปวดทันทีเมื่อเริ่มมีอาการกรุ่น ๆ หากปล่อยให้มีอาการนานเกิน 30 นาที การใช้ยาอาจจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย ผู้ที่รู้สึกกินยาพาราเซตามอลผล ก็เนื่องเพราะกินช้าเกินไปนั่นเอง

บางคนกลัวว่ากินยาพาราเซตามอลบ่อย ๆ จะมีโทษ ก็เลยไม่ค่อยกล้ากิน
สำหรับอาการไมเกรนแล้ว การกินพาราเซตามอลเพียง 1-2 เม็ด หรืออย่างมากกินซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง เมื่อทุเลาก็หยุดกิน ไม่ได้กินเป็นประจำทุกวัน การใช้ยาขนาดนี้ ก็นับว่าปลอดภัย
โดยทั่วไปห้ามกินยาพาราเซตามอล เกินวันละ 8 เม็ด และห้ามกินติดต่อกันเกิน 5 วัน การใช้ยานี้ในขนาดสูงอาจจะมีพิษต่อตับได้

หากไม่มีพาราเซตามอล อาจใช้ยาแอสไพรินแทนก็ได้ ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ก็ไม่ควรกินแอสไพริน
ส่วนยาคาเฟอร์กอต ( Cafergot ) ที่แพทย์อาจสั่งใช้กับคนไข้ไมเกรนบางคนนั้น ก็เพียงยาที่ใช้บรรเทาอาการ มิใช่ยาที่รักษาโรคให้หายขาด เป็นยาผสมระหว่างกาเฟอีน (caffeine) กับเออร์โกทามึน (ergotamine) มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ เนื่องเพราะอาการปวดเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ขมับพองตัว เมื่อทำให้ตีบ ก็จะช่วยให้อาการทุเลา แต่ห้ามกินเกินวันละ 2 ครั้ง เมื่ออาการทุเลาก็ควรหยุดกิน ห้ามกินเป็นประจำทุกวัน เพราะอาจทำให้หลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกายตีบ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นอันตรายได้

ส่วนกาเฟอีนที่ผสมอยู่ในยาตัวนี้จะมีขนาดสูง บางคนกินแล้วอาจมีอาการใจสั่นหวิว เวียนศีรษะด้วย เป็นลมได้
ดังนั้น ยาชนิดนี้จึงไม่แนะนำให้ใช้กันเอง ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้ตามความจำเป็น

การป้องกัน เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคที่มีการกำเริบได้เลย และบางครั้งทำให้เสียงานเสียการ จึงควรหาทางป้องกันอย่าให้กำเริบบ่อย
เคล็ดลับอยู่ที่ต้องสังเกตด้วยตัวเองว่า มีสิ่งอะไรที่กระตุ้นให้โรคกำเริบบ้าง ( ดูตาราง ) แล้วหาทางหลีกเลี่ยง เช่น อย่าโดนแดดจ้าหรือแสงจ้า อย่าอดนอน อย่าอดข้าว อย่าอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หรือมีกลิ่นแรง ๆ เป็นต้น ส่วนสตรีที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วทำให้ปวดไมเกรนบ่อยก็ควรหยุดกิน และหันไปใช้วิธีอื่นแทน (แพทย์อาจให้ฉีดยาคุมกำเนิดแทนการป้องกันไมเกรนไปในตัว )

ถ้าหากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไม่ได้ และยังปวดอยู่บ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาป้องกีนมิให้กำเริบ โดยต้องกินทุกวันนานเป็นเดือน ๆ

ยาที่นิยมใช้และราคาถูก ได้แก่ ยามีอะมิทริปไทลีน ขนาด 10 มิลลิกรัม กิน 1 เม็ดก่อนนอนทุกคืน ยาชนิดนี้อาจทำให้ง่วงนอน ( แต่เมื่อผ่านไปหลายวัน อาการจะน้อยลง ) ปากคอแห้ง ท้องผูก ใจสั่นได้

ถ้าไม่ได้ผลแพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดฟลูนาริชิน ขนาด 5 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน ยานี้อาจทำให้ง่วงนอนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่น ๆ อีกหลายตัวที่แพทย์จะเลือกใช้ป้องกันอาการไมเกรน ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคน
 

ข้อมูลสื่อ

270-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 270
ตุลาคม 2544
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ