• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดเมื่อยนัยน์ตา

ปวดเมื่อยนัยน์ตา

 

ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงจะเคยมีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตากันมาบ้าง บางทีอยู่เฉยๆก็ปวด แต่จะเป็นมากเวลาใช้สายตา อาการปวดเมื่อยนัยน์ตาในบางคนอาจมีอาการน้อยๆจนเจ้าตัวไม่สนใจ เช่น แค่แสบตา ไม่สบายนัยน์ตา อยากจะหลับตา พอหลับตาอาการก็หายไป ไม่บั่นทอนการทำงานแต่อย่างไร แต่ในบางคนอาการอาจเป็นมากถึงขั้นปวดตา ปวดศีรษะจนทำให้ทำงานไม่ได้เต็มที่
อาการปวดเมื่อยนัยน์ตาเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์ที่สำคัญอันหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอาการที่พบอาจเป็นเพียงแสบตา เคืองตา คล้ายมีผงอยู่ในตา ปวดรอบๆดวงตา บางรายเป็นมากถึงขั้นปวดศีรษะรุนแรง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน อาการที่เกิดขึ้นเป็นมากเวลาใช้สายตาหรือมีงานเร่งจะต้องทำ มักจะเป็นกับคนที่ใช้สายตาในการทำงาน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อาการจะน้อยลงเมื่อได้พักผ่อนหรืองดการใช้สายตา
อาการปวดเมื่อยนัยน์ตาในบางคนอาจเป็นเพียงภาวะปกติที่ทำงานใช้สายตามากเกินไป แต่บางรายก็เป็นอาการที่บ่งถึงการมีโรคบางอย่างภายในดวงตาหรือโรคทางร่างกาย อาการปวดเมื่อยนัยน์ตาอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การมีสายตาผิดปกติ
อันได้แก่ สายตาสั้น ยาว เอียง ตลอดจนสายตาผู้สูงอายุ ในบรรดาผู้ที่มีสายตาผิดปกติทั้งหลาย ผู้ที่มีสายตายาวจะมีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาได้ง่ายกว่า ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะมองไกลหรือใกล้ก็ไม่ชัดต้องเพ่งตลอดเวลา ในคนปกติจะเพ่งต่อเมื่อมองใกล้ ในขณะที่คนสายตาสั้นมองใกล้ๆเห็นชัดอยู่แล้ว เวลามองไกลไม่ชัดจึงต้องใช้วิธีหรี่ตา เอียงหน้า จึงจะทำให้เกิดอาการปวดตา
ภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง มักเกิดในเด็กวัยรุ่น มีข้อสังเกตว่าเด็กวัยรุ่นที่มีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาบ่อยๆ และชอบมองของใกล้ๆ หรือหรี่ตาเวลาจ้องวัตถุ ควรพาไปรับการตรวจวัดสายตาแก้ไขภาวะนั้นๆแล้วอาการเมื่อยตาจะหายไป
พอจะพบเห็นกันอยู่บ้างที่เด็กบางคนเป็นเพียงสายตาสั้นเริ่มมีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาเล็กน้อย นานเข้าปวดศีรษะอย่างรุนแรง จนต้องไปรับการตรวจร่างกายทุกระบบเพื่อหาสาเหตุของการปวดศีรษะ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปมากมาย มาหายเอาตรงการใช้แว่นสายตาเท่านั้น
ในคนสายตาปกติมาตลอด เมื่ออายุย่างเข้า 40 ปี การทำงานของกล้ามเนื้อตาแก้วตาที่ใช้ในการเพ่งดูวัตถุใกล้จะหย่อนสมรรถภาพลง ทำให้มองใกล้ไม่ชัด วิธีสังเกตง่ายๆก็คือ ถ้าท่านมีอายุประมาณ 40 ปี ปวดเมื่อยนัยน์ตาเวลาใช้สายตาให้ทดลองเลื่อนหนังสือให้ห่างออกจากตาเล็กน้อย ถ้ารู้สึกว่าเห็นตัวหนังสือชัดขึ้น สบายตาขึ้นก็น่าจะเป็นภาวะนี้ ควรไปรับการตรวจสายตาประกอบแว่นแล้วอาการเมื่อยนัยน์ตาจะหายไปเอง
นอกจากนี้การใช้แว่นไม่ตรงกับสายตาก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการเมื่อยนัยน์ตา โดยเฉพาะผู้ที่ใส่แว่นสายตาสั้นมากเกินไป คือ ใส่เลนส์แก่เกินความเป็นจริง มีให้พบเห็นกันบ้างที่มีสายตาสั้นใช้แว่นอยู่ 1 ปี รู้สึกมองไม่ค่อยชัดก็ไปวัดแว่นใหม่ โดยการเพิ่มกำลังเลนส์ขึ้นไปเรื่อยๆ จนแก่เกินความเป็นจริง การใส่แว่นสายตาสั้นแก้เกินไปจะทำให้ตาต้องเพ่งตลอดเวลาทำให้ปวดตาได้
2.ความบกพร่องของกล้ามเนื้อกลอกตา
คนเรามีดวงตาสองข้างซึ่งกลอกไปมาเพื่อมองวัตถุตามทิศทางที่ต้องการได้ การทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาของดวงตาทั้งสองข้างจะต้องไปด้วยกัน เรียกว่ามีความสามัคคีกัน
ถ้าตาขวาจะมองไปทางขวาตาซ้ายก็ต้องมองไปทางขวาด้วย ตาซ้ายจะมองตรงกลางหรือมองไปทางซ้ายไม่ได้ หรือถ้าตาขวามองวัตถุตรงหน้า ตาซ้ายก็ต้องมองวัตถุตรงหน้าด้วย
มีคนบางคนเกิดมามีความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา เช่น ตาขวามองตรงกลาง ตาซ้ายกลับมองเข้าในดั้งจมูกที่เรียกว่าตาเขเข้าในหรืออาจเขออกนอกที่เรียกว่าตาเขออกนอก ผู้ที่มีตาเขจะใช้ตาข้างเดียวทำงานคือ ใช้แต่ตาที่ตรงจึงทำให้มีอาการตาล้าง่ายกว่าคนปกติ
ยังมีตาเขอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่าตาเขแบบซ่อนเร้น ซึ่งคนทั่วๆไปจะดูว่าตาตรงดี แพทย์เท่านั้นที่จะตรวจ และบอกท่านได้ว่าท่านมีตาเขซ่อนเร้นหรือไม่ ตาเขซ่อนเร้นจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยนัยน์ตาได้ง่ายเช่นกัน
ยังมีความบกพร่องของกล้ามเนื้อกลอกตาอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถของกล้ามเนื้อกลอกตาที่ทำให้ตามารวมกันที่หัวตาเวลามองใกล้หย่อนสมรรถภาพลง กล่าวคือ ในคนปกติเวลาต้องการมองวัตถุในระยะใกล้ตาทั้ง 2 ข้าง จะมารวมกันที่หัวตาจึงจะมองเห็นภาพใกล้ๆได้ชัดเจน บางรายความสามารถนี้ลดลง เวลาทำงานใกล้มากๆทำให้ปวดตาได้
วิธีการรักษาง่ายๆได้แก่ การฝึกกล้ามเนื้อตาโดยใช้มือข้างที่ถนัดถือปากกายื่นไปข้างหน้าให้สุดแขน โดยให้ปากกาอยู่กึ่งกลางและค่อยๆเลื่อนปากกามายังบริเวณดั้งจมูก ขณะเดียวกันตาจะต้องจ้องมองปลายปากกาตลอด เมื่อปากกาเลื่อนมาใกล้ ถ้าแลเห็นปากกา 2 ด้าม ให้ถอยออกไปที่จุดตั้งต้นใหม่ ควรฝึกคราวละ 20 ครั้ง อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
3. การใช้สายตามากเกินไป ตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่ไม่ดี
การใช้สายตามากเกินไปพบได้บ่อยในผู้ที่มีงานเร่งต้องรีบทำ นักเรียนนักศึกษาเวลาใกล้สอบจะเร่งดูหนังสือโดยไม่พักสายตา ที่ถูกแล้วเวลาอ่านหนังสือควรอ่านประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วพักสายตาโดยการหลับตา หรือมองไปไกลๆ แล้วกลับมาอ่านใหม่
สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตา ได้แก่ การใช้สายตาในที่แสงจ้าเกินไป หรือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ แสงเข้าผิดทิศทาง การอ่านหนังสือในรถยนต์ที่เคลื่อนที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัญหาที่พบอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกับจอภาพ ปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์สื่อสารข้อมูลต่างๆกันมาก คอมพิวเตอร์จะประกอบด้วยจอรับภาพและคีย์บอร์ด ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์อาจจะเกิดอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อได้ และปัญหาทางตาที่อาจพบ ได้แก่ ปวดเมื่อยนัยน์ตา
วิธีลดอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาของผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ควรเริ่มจากรับการตรวจวัดสายตาและแก้ไขสายตาที่ผิดปกติด้วยแว่นตาหรือเลนส์สัมผัส จัดความเข้มของแสงให้พอเหมาะกับงาน
จัดจอภาพและคีย์บอร์ดให้อยู่ในระยะเหมาะสม โดยให้จอภาพห่างจากตา 0.45-0.50 เมตร คีย์บอร์ดควรตั้งสูงประมาณ 0.27-0.75 เมตรเหนือพื้นห้อง ปรับเก้าอี้ให้ตาอยู่สูงจากพื้นห้อง 1.0-1.15 เมตร จอภาพและกระดาษสั่งงานควรอยู่ในระดับเดียวกัน ควรเลือกคีย์บอร์ดที่บาง กระดกขึ้นลงได้ง่าย มีที่รองรับฝ่ามือ ควรจะมีสีเทา และพื้นหน้าจะต้องไม่วาว ทุกๆ 2 ชั่วโมง ที่จ้องจอภาพควรพักประมาณ 15 นาที โดยมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาเฉยๆ ถ้าเป็นไปได้ควรทำงานกับจอภาพวันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง เวลาที่เหลือให้ใช้ทำงานอื่นบ้าง
4. การมีโรคตาบางอย่าง
ผู้ป่วยที่มีโรคตาบางอย่าง เช่น ต้อหินชนิดเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ ประสาทตาอักเสบ ตลอดจนมีการอักเสบของเปลือกตา เยื่อบุตา ในบางคนอาจไม่ทำให้เกิดอาการปวดตามากมาย เป็นเพียงเมื่อยๆนัยน์ตา เจ็บนัยน์ตา ใช้สายตาไม่ทน คล้ายๆเป็นอาการเตือนนำมาก่อน ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาบ่อยๆ จึงควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียด หากพบโรคตาดังกล่าวจะได้รีบทำการรักษา ซึ่งนอกจากจะทำให้อาการปวดเมื่อยนัยน์ตาหายไป แล้วยังเป็นการรักษาป้องกันมิให้สูญเสียสายตาจากโรคดังกล่าวได้
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินเรื้อรังในบางคนอาจมีอาการปวดเมื่อยนัยน์ตานำมา ถ้าผู้ป่วยฝืนทนไปเรื่อยๆ ต้อหินก็จะทำลายประสาทตาไปเรื่อย ตาก็จะมัวลงๆ ตามลำดับ โดยไม่มีทางแก้ไขให้กลับคืน ถ้าตรวจพบแต่แรกๆ และได้รับการรักษาแต่เริ่มแรกตาก็จะไม่มัวลง
5. โรคทางร่างกายบางอย่าง
โรคทางร่างกายบางอย่างเช่น ความดันโลหิตสูง ความดันในสมองสูงจากโรคต่างๆทางสมอง เช่น โรคไซนัสเรื้อรัง ปวดฟัน ปวดศีรษะจากไมเกรน ตลอดจนอาการอดนอน กินอาหารและพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายทั่วไปอ่อนเพลีย ซึ่งจะสะท้อนทำให้สุขภาพตาไม่ดีด้วย ทำให้การทำงานของตาบกพร่องเกิดอาการปวดเมื่อยนัยน์ตาได้
ดังนั้น การทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ด้วยการกินอาหารให้ถูกส่วน ทำงานที่ไม่เครียด มีการพักผ่อนและออกกำลังสม่ำเสมอ ก็จะทำให้อาการปวดเมื่อยนัยน์ตาหายไปได้
โดยสรุป อาการปวดเมื่อยนัยน์ตา แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง แต่ก่อให้เกิดความรำคาญ ทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลง หากได้รับการแก้ไขก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น และวิธีการแก้ไขส่วนใหญ่ทำได้ไม่ยาก

 


 

ข้อมูลสื่อ

181-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
เรื่องน่ารู้
ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต