• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สลิดความหอมที่ขจรขจายและกินได้

...ดอกเอย เจ้าดอกขจร นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนที่ไหนเอย...
ข้อความข้างบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลง “ นกขมิ้น ” ซึ่งเป็นไทยสากลที่มีความไพเราะ มีทำนองไปทางหวานปนเศร้า นับเป็นเพลงที่คนไทยรู้จักกันดีและได้รับความนิยมมากเพลงหนึ่ง สันนิษฐานว่าเพลง“ นกขมิ้น ” นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมแถบภาคกลางของไทย ชื่อ“ นกขมิ้น ” ที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า

เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อนเอย ค่ำแล้วจะนอนที่ตรงไหน...
เพลงกล่อมเด็กที่ชื่อ “ นกขมิ้น ” บทนี้ นับเป็นเพลงกล่อมเด็กที่คนไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางเพลงหนึ่ง มีอิทธิพลมาถึงงานศิลปะยุคหลัง ๆ ต่อมาอีกหลายอย่าง นอกจากเพลงไทยสากลที่ยกมาข้างต้น ยังมีเพลงบทเพลงเพื่อชีวิตชื่อ “ นกสีเหลือง ” ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2514 เปรียบเทียบคนหนุ่มสาวที่ทิ้งเมืองเข้าป่าจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลยุคนั้นว่า เปรียบเทียบเหมือนนกขมิ้นเหลืองอ่อนที่ต้องร่อนเร่ไป ไม่มีที่นอนเป็นหลักแหล่ง เช่นเดียวกับบทกวีบางชิ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน

ในบทเพลงที่ยกมาขึ้นต้นมีชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง คือ ดอกขจร ( อ่านว่า ขะ -จอน ) ซึ่งคนไทยทั่วไปคุ้นเคยกับอีกชื่อหนึ่งมากกว่า นั่นคือชื่อ ดอกสลิด ( อ่านว่า สะ- หลิด ) อาจกล่าวได้ว่าชื่อสลิดเป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกกันทั่วไป แต่ชื่อขจรเป็นชื่อทางการหรือชื่อใช้ในการเขียนเพราถือว่าเป็นคำสุภาพกว่าคำว่าสลิด

สันนิษฐานว่าเหตุที่คนไทยเห็นว่าชื่อดอกสลิดไม่สุภาพก็เพราะไปพ้องกับชื่อปลาชนิดหนึ่ง คือปลาสลิด ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ปลาสลิดที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทยในอดีตคือปลาสลิดบางกำยาน ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลบางกำยานได้ชื่อว่ามีปลาสลิดชุกชุนและมีรสชาติดีที่สุดมาตั้งแต่โบราณ มีชื่อเสียงคู่กับปลาช่อนแม่ลา แม่การ้องของสิงห์บุรี ซึ่งก็ยังคงมีชื่อเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า ปลาช่อนและปลาสลิดเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี และนิยมกินกันมากมาครั้งโบราณยาวนาน จนกระทั่งถูกนำไปใช้เป็นคำเปรียบเทียบกับอวัยวะของคนที่ถือว่าไม่สุภาพ คือปลาช่อนถูกนำไปใช้แทนอวัยวะเพศชาย และปลาสลิดใช้แทนอวัยวะเพศหญิง ทำให้คำว่าช่อนและสลิดกลายเป็นคำไม่สุภาพ จนต้องมีคำอื่นมาใช้เรียกแทน คือปลาช่อนเรียกให้สุภาพว่าปลาหางและปลาสลิดเรียกว่าเรียกว่าปลาใบไม้

เมื่อคำว่าสลิดกลายเป็นคำไม่สุภาพดังกล่าว ทำให้ชื่อดอกไม้สลิดพลอยไม่สุภาพไปด้วย จนต้องเรียกให้สุภาพว่าดอกขจร ซึ่งคำว่า “ขจร” นั้น มีอีกความหมายหนึ่งว่า ฟุ้งไป กระจายไป จึงอาจเปรียบได้กับกลิ่นหอมของดอกไม้ขจรหรือดอกสลิดที่ฟุ้งกระจายออกไปได้ด้วย

คำว่าขจร นอกจากใช้เป็นชื่อดอกสลิดแล้ว ยังมีมีหญ้าชนิดหนึ่งที่คนไทยสมัยนี้รู้จักดีคือหญ้าขจรจบ ซึ่งเป็นหญ้ามาจากต่างประเทศ ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2504 ถึงปี พ.ศ. 2506 เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำกระดาษ เพราะหญ้าขจรปลูกง่าย โตเร็ว ทนทานต่อความแห้งแล้ง ดินเลวเป็นพิษ

มีเรื่องเล่าว่าที่ไม่เป็นหลักฐานยืนยันว่า เหตุที่หญ้าชนิดนี้ได้ชื่อว่าขจรจบก็เพราะผู้ตั้งชื่อต้องการให้เป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะวัชต์ โดยเปลี่ยนเป็นคำสุภาพ ( จากสฤษดิ์-สะหลิด เป็น ขจร-จบ ) คือขจรจบ นั่นเอง

เมื่อหญ้าขจรจบเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน ก็กลายเป็นวัชรพืชที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง ทำให้ชาวไร่เดือดร้อนกันมาก ซึ่งขจรจบแทนที่จะเป็นเกียรติกลับเป็นชื่อที่ถูกเกลียดชัง จีงมีผู้เรียกชื่อหญ้าชนิดนี้เสียใหม่ว่า “ หญ้าคอมมิวนิสต์ ” เป็นการเปรียบเทียบว่าคอมมิวนิสเลวร้ายทำให้เดือดร้อนเหมือนหญ้าชนิดนี้ แต่เมื่อหญ้าขจรจบระบาดไปในประเทศสาธารรัฐประชาธิบไตยประชาชนลาว ชาวลาวศึ่งนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ และเกลียดชังลัทธิจักรวรรดินิยม จึงตั้งชื่อว่า “ หญ้าจักรวรรดินิยม ”

                                                 


สลิด : ความหอมที่ขจรขจายและกินได้

สลิดหรือขจรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Telosma minor Craib. อยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับต้น ( เถา ) ข้าวสารนั่นเอง

สลิด ( ขจร ) เป็นไม้เลื้อยจำพวกเถาไม่มีมือจับเกมือนพวงชมพู แต่ใช้วิธีพาดพันต้นไม้หรือรั้ว ฯลฯ ขึ้นไป เถามีความเหนียวใช้ผูกมัดเป็นเชือกได้

ใบบางผิวเรียบ สีเขียว รูปร่างใบคล้ายใบโพธิ์ แต่ขนาดเล็กกว่า ก้านใบยาว ใบออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้อแต่ละข้อห่างกันยาว 6-10 นิ้ว

ดอกออดเป็นช่อตามข้อ ก้านดอกยาวราว 1 เซนติเมตร กลีบดอกยาวราว 15 เซนติเมตร มีกลีบ 5 กลีบ แต่ละช่อมีดอก 5-20 ดอก ดอกตูมมีสีเขียวครีม เมื่อบานกลีบด้านในเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเข้มขึ้นตามอายุ โคนกลีบด้านในสีเขียวครีม ดอกสลิดมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ส่งกลิ่นหอมตอนเย็นและค่ำ

ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวคล้ายผลนุ่น เมื่อแก่ผลแตกเมล็ดข้างในปลิวไปตามลม เพราะมีเส้นใยติดอยู่ด้วยเป็นวิธีแพร่พันธุ์ไปได้ไกล ๆ

สลิดออกดอกช่วงฤดูฝน อาจออกดอกติดต่อกันได้นานนับเดือน หากต้นสมบูรณ์ นอกจากจะพบสลิดปลูกอยู่ตามสวนและบริเวณบ้านแล้ว ยังพบสลิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าดิษแล้งและป่าละเมาะด้วย เพราะสลิดเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง สลิดจึงปลูกง่าย แข็งแรง ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบแดดจัด จึงใช้ปลูกเลื้อยคลุมนั่งร้าน หรือตามรั้วได้ดี

ดอกสลิด ยอดอ่อน และผลอ่อน ใช้กินเป็นผักได้ ทั้งเป็นผักจิ้ม ผัด หรือแกงต่าง ๆ ปัจจุบันดอกสลิดยังพบว่ามีการขายในตลาดในตลาดผักทั่วไป แสดงว่าคนไทยยังนิยมกินดอกสลิดกันอยู่เช่นในอดีต

นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว แพทย์แผนไทยยะงนำสลิดมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคอีกด้วย ส่วนที่ใช้เป็นยาคือรากและดอก
รากสลิด : มีสรรพคุณทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา ดับพิษ ทำให้รู้รสอาหาร
ดอกสลิด : รสเย็น กลิ่นหอม บำรุงหัวใจ บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงโลหิต แก้เสมหะ

ชื่อเดิมของสลิดที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เรียกกันทั่วไปนั้น ฟังแล้วมักนึกถึงผักชนิดหนึ่ง เช่น เมื่อเอ่ยถึงดอกสลิด ก็จะนึกถึงดอกไม้ที่ใช้เป็นผักปรุงอาหาร ส่วนชื่อขจรนั้นเป็นชื่อที่เกิดภายหลัง เมื่อเอ่ยชื่อนี้ชี้ชวนให้นึกถคงกลิ่นหอมที่ฟุ้งไปตามถนน หรือตามศัพท์ว่าขจรขจายนั่นเอง

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเรียกพืชชนิดนี้ว่าสลิดหรือขจร จะนึกถึงผักหรือกลิ่นหอม ก็คงสรุปรวมกันได้ว่าสลิดหรือขจรเป็นพืชที่ควรปลูกเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง
 

ข้อมูลสื่อ

270-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 270
ตุลาคม 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร