• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารปลอดสารเคมีทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

อาหารปลอดสารเคมีทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า



ชนิดผลไม้

จำนวนตัวอย่างที่วิเคราะห์

พบสารเคมีเกินค่ากำหนด

1.องุ่น

21 ตัวอย่าง

15 ตัวอย่าง

2.ชมพู

13 ตัวอย่าง

1 ตัวอย่าง

3.พุทรา

13 ตัวอย่าง

1 ตัวอย่าง

“คะน้า” ติดอันดับผักสุดอันตราย
กรมวิชาการเกษตร ชี้ผักคะน้าอันตราย เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงมากเป็นอันดับหนึ่ง ผู้บริโภคควรระวัง
แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ระยะนี้มีผู้บริโภคผักสดควรเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนพืชผักของเกษตรกรจะถูกแมลงศัตรูพืชรบกวนมากกว่าฤดูอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้มีการใช้สารเคมีมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกับผักคะน้าพบว่ามีการใช้สารเคมีมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ต้นหอม มะเขือยาว ผักกาดหอม พริก และชะอม ส่วนพืชผักที่พบว่ามีการใช้สารเคมีน้อยได้แก่ ตำลึง ผักกระเฉด ใบปอ สายบัว หัวปลี ผักบุ้งจีน เผือกมัน และบวบ

ในส่วนของชะอมพบว่า มีเกษตรกรบางรายฉีดพ่นยาฆ่าแมลงไม่ใช่เพียงเพื่อป้องกันกำจัดแมลงอย่างเดียว แต่เข้าใจผิดเป็นว่าการใช้สารเคมีเช่นนี้จะช่วยให้ยอดชะอมเขียวสดและกรอบอร่อยกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะสารพิษตกค้างจะมีมากเกินความจำเป็น” แหล่งข่าวกล่าว

ข่าวข้างต้นจะพบเห็นอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำว่า ผักนั้นเป็นอันตราย อาหารประเภทนี้ ประเภทนั้นอันตราย อ่านแล้วก็อาจผ่านๆไปเพราะความเคยชิน จนถ้าไม่หยุดคิดจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ไม่สามารถจะหนีออกจากวังวนอันนี้ไปได้

บางคนอาจกล่าวว่า สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร เป็นการพัฒนาเพื่อให้มนุษย์มีอาหารกินมากขึ้น เพราะจำนวนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้าช่วย
ขณะที่หลายคนให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนี้คนจำนวนหนึ่งบริโภคเกินเลยไป จนเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคอื่นๆตามมา จนต้องออกกำลังในสถานบริการลดน้ำหนัก ลดไขมัน ถ้าบริโภคให้พอเหมาะ อาหารก็เหลือเพียงพอที่จะแบ่งปันให้คนอื่น
บางคนอาจกล่าวว่าก็คนเขามีเงินก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะบริโภคเท่าไรจะไปห้ามได้อย่างไร
ผู้รู้บางท่านก็บอกว่าเพราะคนเอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่เห็นคุณค่าของความเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม เขาจึงบริโภคทรัพยากรอย่างมากมาย และเกษตรกรผู้ผลิตก็ถูกเร่งเพื่อตอบสนองให้ทัน สิ่งที่ช่วยเขาให้ผลิตได้ปริมาณมากก็คือการใช้สารเคมีต่างๆเพื่อเร่งผลผลิต แต่เวลาเดียวกันเขาก็ไม่มีเวลาที่จะมาพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของตนเองและผู้บริโภค สภาพปัญหาจึงมีให้เห็นเช่นข่าวข้างต้น

ถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยน
ภาพข้างล่างนี้จะอธิบายให้เห็นว่า หากเกษตรกรใช้สารเคมีและสารเคมีเหล่านั้นตกค้างอยู่ในผลผลิต ทุกอย่างจะเป็นลูกโซ่ถึงมนุษย์


นอกจากนั้น สารเคมียังทำลายระบบนิเวศวิทยาต่างๆ เช่น แมลงที่ถูกสารเคมีฆ่าตาย นกซึ่งคอยจับแมลงต่างๆกิน เมื่อกินแมลงที่ตายด้วยสารเคมี ก็รับสารเคมีเข้าไปและสะสมมากๆก็ตายเช่นกัน ปัจจุบันเราจึงพบว่า นับวันนกจะหายไปจากท้องทุ่งท้องนา
ส่วนจุลินทรีย์ในดินก็จะถูกสารกำจัดแมลงทำลาย ดินก็ขาดจุลินทรีย์ที่จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
ยิ่งกว่านั้นสารเคมีไม่เพียงแต่ทำลายแมลงที่เป็นศัตรูพืชเท่านั้น ยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืชทั้งเล็กทั้งใหญ่ด้วย

เมื่อใช้สารกำจัดแมลงมากๆ แมลงที่เป็นศัตรูพืชก็ดื้อยา ต้องใช้สารเคมีแรงมากขึ้น ดินที่อุดมสมบูรณ์ก็ยิ่งเสื่อมโทรมลง ปลูกพืชผักไม่ได้ผล ก็ต้องเพิ่มปุ๋ยมากขึ้นไปอีก วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คนกินอาหารก็จะได้รับสารเคมีตกค้างมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยปกติแล้วมนุษย์จะได้รับสารพิษจากสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา จากภาพขวามือ จะเห็นว่าถึงแม้ร่างกายจะมีระบบกรองและทำลายสิ่งแปลกปลอมเป็นพิษที่เข้าสู่ร่างกาย แต่หากร่างกายสะสมสารเคมีหลายต่อหลายชนิดมากเข้าๆ ทุกๆวัน และมากจนเกินกว่าที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งจะรับได้ เราก็จะเกิดโรคร้ายในอวัยวะนั้นๆ และโรคร้ายเหล่านี้ก็เป็นโรคที่ยากแก่การรักษาให้หายได้ในระยะเวลาอันสั้น หรืออาจไม่มีโอกาสรักษาให้หายได้นอกจากประทังชีวิตได้ในระยะเวลาหนึ่ง

มีสารพิษอะไรในอาหาร
กองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผักผลไม้ในท้องตลาด ซึ่งทำการรวบรวมตั้งแต่ปี 2530-2536 พบว่า มีพืชผักที่มีสารเคมีตกค้างในปริมาณเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 16 ชนิด บางชนิดจัดอยู่ในจำพวกสารเคมีอันตราย เช่น ดีดีที เมททิลพาราไทออน เฮบตาคลออัลกริน เป็นต้น

สารพิษที่เกษตรกรใช้ประจำมีดังนี้
1. ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้พืชผัก ผลไม้ เติบโตเร็ว แต่การใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยรวมอย่างรุนแรง เพราะปุ๋ยเคมีจะไปเร่งการใช้อินทรียวัตถุในดิน ซึ่งทำให้พืชเจริญเติบโตเร็วก็จริง แต่จะไม่แข็งแรง ทำให้แมลงมาทำลายได้ง่ายและดินจะแข็งเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ
กลไกจึงเชื่อมโยงไปสู่ความจำเป็นในการใช้สารพิษทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
2. สารพิษทางการเกษตร
สารพิษทางการเกษตรที่ใช้กันมากมี 3 ชนิดคือ สารกำจัดวัชพืช (Herbicides) สารกำจัดแมลง (Insecticides) และสารกำจัดเชื้อรา (Fungicides) ส่วนที่ใช้รองลงมาคือยาเบื่อหนู (Rodenticides) และสารเคมีฆ่าแมลงประเภทรมควัน (Fumigants)
ประเทศในโลกที่สามเป็นตลาดสารพิษที่ใหญ่โตมาก โดยใช้สารพิษทางการเกษตรกว่า 35,000 สูตร ใช้สารประกอบเพื่อผลิตสารพิษดังกล่าวถึงกว่า 15,000 ชนิด
ระหว่างปี 2515-2528 ประเทศในเอเชียนำเข้าสารพิษทางการเกษตรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 261 ประเทศในแอฟริกานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 และประเทศในลาตินอเมริกันนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 มีการคาดว่าในทศวรรษหน้า ปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว
สารพิษทางเกษตรเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดหายนะภัยแก่ประเทศโลกที่สามอย่างร้ายแรง องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ในแต่ละปีผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมในประเทศโลกที่สามจะได้รับพิษจากสารพิษทางการเกษตรประมาณ 25 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 20,000 คน
ผักหลายชนิดนอกจากจะฉีดสารพิษฆ่าแมลงแล้ว ยังมีการนำไปแช่ฟอร์มาลินอีกก่อนจำหน่ายเพื่อให้สดอยู่ได้นาน สังเกตได้จากผักในตลาดสดที่วางจำหน่ายไว้ 3-4 วัน ก็ยังสดอยู่ ไม่เหี่ยวเฉาทั้งๆที่อากาศร้อน

ผักที่อาจมีการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน ได้แก่ ชะอม คะน้า ผักกระเฉด ผักชี ตั้งโอ๋ มะระ บวบ ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ทั้งนี้ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่ตรวจพบในผักชนิดเดียวกันอาจจะแตกต่างกันไป
สำหรับในเนื้อสัตว์ เคยมีรายงานตรวจพบฟอร์มาลดีไฮด์ในปลาทู ปลากระเบน ปลาจวด ปลาตาโต เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู กุ้ง ถึงแม้จะเป็นเนื้อสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่ถ้ามาจากต่างแหล่งกัน พบว่าปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่ตรวจพบจะแตกต่างกัน บางแหล่งอาจไม่พบเลยก็มี

เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมาก จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดท้อง ในปากและคอจะแห้ง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก อาจมีการถ่ายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด มีอาการเพลีย เหงื่อออก ตัวเย็น คอแข็ง
นอกจากผลในระยะสั้นที่มีอาการปรากฏชัดเจนแล้ว ผลในระยะยาวเคยมีรายงานว่าสารฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลิน เป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย
ส่วนอาหารแห้งที่พบว่ามีปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในปริมาณสูงคือ เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูแห้ง ซึ่งเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ จึงไม่พบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

แล้วเราจะทำอย่างไร

ก่อนอื่น เราคงต้องหยุด และมาทำความเข้าใจในธรรมชาติ
โดยปกติแล้ว ธรรมชาติจะดูแลซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่าเกื้อกูลกัน
ในดินจะมีอินทรีย์สารหรืออินทรีย์สารที่สัมพันธ์กันและเป็นแหล่งกำเนิดของจุลชีพจำนวนมาก จุลชีพเหล่านี้สังเคราะห์อาหารและวิตามิน อันทำให้ดินมีโอชะ ต้นไม้เล็กต้นไม้ใหญ่อาศัยโอชะในดิน น้ำ และคลอโรฟิลล์ในใบซึ่งจับพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่สาดมาต้องโลกแล้วงอกงามขึ้นปกคลุมโลกและทำให้พื้นพิภพมีชีวิต

ในดินจะมีจุลชีพต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและเป็นศัตรูพืช ซึ่งจะต่อสู้กำจัดควบคุมกันเอง
บนดินมีแมลงนับล้านๆชนิด และมีแมลงที่เป็นศัตรูพืชไม่ถึงหมื่นชนิด แมลงที่มีประโยชน์กับพืชและแมลงศัตรูพืชจะอยู่รวมกัน ควบคุมซึ่งกันและกัน
เมื่อพืชหรือสัตว์ตาย ก็เน่าผุพังเป็นปุ๋ย หรือเมื่อสัตว์ขับถ่ายออกมาก็เป็นปุ๋ยให้แก่ดิน นอกจากนั้น ต้นไม้ยังปล่อยและคายออกซิเจน จับและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีปริมาณได้ดุลกัน มนุษย์ก็หายใจเอาออกซิเจนและคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
นี่คือสิ่งที่เกื้อกูลกัน
แต่เมื่อมนุษย์ได้ละทิ้งสิ่งที่ธรรมชาติได้สร้างสมมาเป็นเวลาล้านล้านปี
เราใช้ทุกวิถีทางที่จะบังคับกดดันให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามที่เราต้องการ แต่ความต้องการกลับเป็นการทำลายสิ่งอื่นๆ ในธรรมชาติซึ่งดำรงอยู่อย่างสมดุล เมื่อธรรมชาติขาดสมดุลก็มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะทำลายตัวเอง
เพราะเมื่อมนุษย์ใช้สารกำจัดแมลง กำจัดวัชพืช สารเคมีต่างๆ มากเท่าไร สิ่งเหล่านั้นก็จะหวนกลับคืนมาสู่มนุษย์มากเท่านั้น

ทางออกของเรา
ทางออกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ผู้บริโภคทุกท่านต้องหันกลับมาบริโภคอาหารปลอดสารพิษให้มากขึ้น อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตที่จะต้องเปลี่ยนวิถีการผลิตใหม่
ผู้บริโภคต้องบริโภคอย่างบันยะบันยัง เพื่อหยุดผู้ผลิตไม่ให้ใช้สารพิษและสารเคมีต่างๆ

ผู้บริโภคจึงควรเลือกบริโภคดังนี้
1. เลือกบริโภคผักปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นผักที่ไม่นำสารพิษใดๆเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลิต มีหลักการสำคัญในการปลูกคืองดใช้ปุ๋ยเคมี สารพิษฆ่าแมลง สารกำจัดศัตรูพืช สารพิษฆ่าเชื้อราปราศจากการใช้ฟอร์มาลินหลังเก็บเกี่ยว รวมทั้งฮอร์โมนต่างๆทุกชนิดที่เป็นสารเคมี
2. เลือกบริโภคผักพื้นบ้าน ซึ่งมักเป็นผักที่แมลงรบกวนน้อย การเลือกกินผักพื้นบ้าน นอกจากจะได้รสชาติที่แท้จริงของอาหารไทยแล้ว ผักพื้นบ้านยังมีคุณค่าทางโภชนาการและทางสมุนไพรอีกด้วย
ตัวอย่างผักพื้นบ้าน
ดอกแค ยอดมะม่วง ยอดมะขาม ดอกโสน สายบัว ผักติ้ว ผักปลัง ผักหวาน สะเดา หัวปลี กระถิน กระชายอ่อน มะระขี้นก ผักขม เพกา ดอกข่า ขมิ้นชัน สะตอ เป็นต้น
3. ปลูกกินกันเอง หากบริเวณบ้านของท่านมีเนื้อที่พอสมควร ท่านก็สามารถปลูกผักบางชนิดไว้กินเองได้ เช่น ผักกาดขาว คะน้า ผักกาดเขียว
 

                                                       ปลูกผักกินเอง

หากบริเวณบ้านของท่านมีเนื้อที่อันจำกัดท่านก็สามารถปลูกผักบางชนิดไว้กินเองได้ เช่น ผักกาดขาว คะน้า ผักกาดเขียว มะเขือ โดยปลูกใส่กระถางไว้
ขั้นตอนในการปลูกผักใส่กระถางทำได้ ดังนี้
1. อุปกรณ์ : กระถาง หรือภาชนะบรรจุดิน และดินสำเร็จรูป ซึ่งมีขายทั่วไป
2. นำดินไปบรรจุกระถาง หรือภาชนะสำหรับปลูกผัก (อย่าลืมหาเศษกระเบื้องปิดรูกระถางไว้)
3. นำเมล็ดผักที่จะปลูก แช่น้ำไว้ 1 คืน
4. เอาเมล็ดผักที่เตรียมไว้โรยในกระถางดิน กระจายให้ทั่ว แล้วหาฟางหรือเศษใบไม้คลุมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม (แต่อย่ารดโชก)
5. นำกระถางไปตั้งไว้ที่แดดส่องถึง ปล่อยทิ้งไว้จนงอก หมั่นรดน้ำบ่อยๆ
6. เมื่อต้นผักสูงประมาณ 2 นิ้ว ให้ถอนต้นที่ดูไม่ค่อยแข็งแรงทิ้งโดยเหลือต้นผักไว้พอประมาณ
7. เมื่อต้นผักสูงประมาณ 1 คืบ ให้แยกมาใส่กระถางใหม่ กระถางละ 2-3 ต้น
ในการเก็บมากินให้เด็ดเฉพาะใบล่างแล้วเหลือยอดไว้ อย่าถอนทั้งต้น เพราะผักจะแตกใบออกมาให้กินได้เรื่อยๆ
 


อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหาผักข้างต้นได้ ท่านอาจเลือกผักดังนี้
1. ซื้อผักอนามัย คือผักที่ใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ย สารพิษฆ่าแมลงเข้าช่วยในการเพาะปลูก เพื่อให้พืชผักเจริญเติบโตและป้องกันแมลง แล้วมีการควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีและกำหนดระยะเวลาในการเก็บพืชผักเพื่อให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค
ผักอนามัยนั้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำสติ๊กเกอร์สีแดงติดอยู่บนถุงมีข้อความรับรอง
2. เลือกกินผักไม่ซ้ำกัน ผักแต่ละชนิดจะมีวิธีการควบคุมดูแลต่างกัน การใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีปราบศัตรูพืชจึงต่างชนิดกัน ดังนั้นการที่คนเรากินผักชนิดเดิมซ้ำๆกัน โอกาสที่สารเคมีชนิดนั้นๆจะสะสมอยู่ในร่างกายจนถึงขั้นแสดงอาการก็มีมากขึ้น วิธีหลีกเลี่ยงความเป็นพิษได้อย่างหนึ่ง คือ ควรกินผักไม่ซ้ำชนิดกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าผักปลอดสารพิษ
1. สอบถามจากร้านค้า ถึงกลุ่มที่นำผักมาจำหน่าย หรือขั้นตอนการเพาะปลูก
2. สังเกตจากผัก จะมีลักษณะไม่สวยงามมากนัก ใบไม่หนา ลำต้นธรรมดาไม่อวบ ผักที่วางขายแล้วสด ใบงานเกินจริง ตั้งขายเป็นวันไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อ สำหรับผักที่ใบมีรูพรุน ที่เคยคิดว่าปลอดภัย เพราะมีแมลงมากินนั้น ปัจจุบันพบว่า เมื่อแมลงกัดกินผัก มีผู้ผลิตบางรายก็ใช้สารฆ่าแมลงฉีดและนำผักมาขาย
3. ผักพื้นบ้านของไทยที่พ่อค้าแม่ค้านำมาวางขายอย่างละเล็กละน้อย ส่วนใหญ่จะปลูกไว้กินเองที่เมื่อเหลือจึงนำออกมาขาย
 

                                                 ล้างผัก เพื่อลดพิษภัย

หากท่านไม่สามารถหาซื้อผักปลอดสารพิษหรือปลูกผักกินเองได้ ท่านอาจจำเป็นต้องกินผักที่ฉีดสารพิษฆ่าแมลงอยู่ การล้างผักและการปรุงอาหารเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดพิษภัยจากสารเคมีได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
1. การล้างผักโดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ทิ้งไว้นาน 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 90-95
2. การแช่ผักในน้ำผสมน้ำส้มสายชู โดยใช้น้ำส้มสายชูละลายน้ำความเข้มข้น 0.5% (น้ำส้มสายชู อสร. 1 ขวด/น้ำ 4 ลิตร) นำผักที่เด็ดแล้วแช่ไว้นานประมาณ 15 นาที จะสามารถลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ร้อยละ 60-85
3. การล้างโดยให้น้ำไหลผ่าน โดยเด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่ง เปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างนาน 2 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ร้อยละ 54-63 แต่จะใช้น้ำค่อนข้างมาก
4. การแช่ผักในน้ำสะอาด โดยควรล้างผักให้สะอาดจากสิ่งสกปรกด้วยน้ำครั้งหนึ่งก่อน และเด็ดเป็นใบๆ แช่ลงในอ่าง แช่นาน 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ร้อยละ 7-33
5. การลวกผักด้วยน้ำร้อน จะลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 50 ส่วนการต้ม จะลดได้เท่ากับการลวกผัก แต่สารพิษอีกร้อยละ 50 จะยังคงอยู่ในน้ำแกง
6. การปอกเปลือก หรือการลอกใบชั้นนอกออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า
7. การใช้ผงปูนคลอรีนแช่ผักเพื่อฆ่าเชื้อโรคและพยาธิ โดยการละลายผงปูนคลอรีนครึ่งช้อนชา ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-30  ลิตร จะฆ่าเชื้อโรคได้ดีมาก
8. ล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิม ประมาณ 5 เกร็ดต่อน้ำ 4 ลิตร
9. ใช้น้ำปูนใส ครึ่งต่อครึ่งกับน้ำ โดยเตรียมจากน้ำปูนใสอิ่มตัว
10. ใช้น้ำเกลือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร
11. ใช้น้ำซาวข้าวล้าง
 

                                รายชื่อร้านค้า/กลุ่มจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ

● กรีนเนต ซอยพุฒิโพธิ์ ถ.ประชาสงเคราะห์ ห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร.246-7211
● ร้านชมรมพืชผักและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สหกรณ์กรุงเทพฯ สาขาปิ่นเกล้า โทร.424-2848
● ร้านกินอยู่เพื่อสุขภาพ สหกรณ์พัฒนา ชั้น 2 ถ.เสือป่า กรุงเทพฯ โทร.282-8831
● ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน ซ.ทองหล่อ 3 พระโขนง กรุงเทพฯ โทร.391-1771
● โครงการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็ก 1/2 ม.2 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล
● ชมรมพิทักษ์ธรรมชาติ กิ่งอ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ ในกรุงเทพฯ โทร.522-8153
● ร้านอิ่มบุญ 136  ถ.เมืองสมุทร ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่
● กลุ่มอโศกขอนแก่น ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.(034) 23-8115
● ชุมชนปฐมอโศก จ.นครปฐม โทร.(034) 25-8470-1
● ร้านกรีนการ์เด้น 151 ถ.ศรีเวียง บางรัก กรุงเทพฯ โทร.238-1504
● ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม 21 ซ.2 ถ.เณรแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โทร.(035) 52-1883
● ศูนย์อาสาสมัครญี่ปุ่น ซ.พหลโยธิน 56/1 บางเขน กรุงเทพฯ โทร.522-8153
● โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง 403 ซ.7 สวนป่าประชานิเวศน์ ถ.เทศบาลนิมิตใต้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร.589-4243
● ร้านธรรมดา ถ.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร.(053) 27-6901, 27-6269
● ร้านต้นไม้ใบหญ้า 36/6 ซอยประดิพัทธ์ 10 ถ.ประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ โทร.271-1806, 278-1616


 

ข้อมูลสื่อ

181-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ