• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นลมปราณ : ลิ้นบอกโรค

เส้นลมปราณ : ลิ้นบอกโรค


การแพทย์จีนได้อธิบายไว้ว่า อวัยวะต่างๆภายในร่างกายและนอกร่างกายนั้นมีเส้นลมปราณ (จีนเรียกว่า จิงลั่ว) ซึ่งเป็นทางเดินของเลือดและพลัง
เส้นลมปราณนั้นทำหน้าที่เชื่อมโยงอวัยวะภายในต่างๆเข้าด้วยกัน และยังเชื่อมอวัยวะภายในและภายนอกเข้าด้วยกันอีกด้วย เป็นระบบที่เชื่อมโยงติดต่อสัมพันธ์กันทั้งระบบ
ด้วยเหตุนี้ เมื่ออวัยวะภายในผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนถึงอวัยวะภายในอื่นๆ แล้วส่งผลไปยังอวัยวะภายนอกด้วย ทำนองเดียวกัน ความผิดปกติของอวัยวะภายนอกก็จะส่งผลไปยังอวัยวะภายในด้วยเช่นกัน
เรื่องเส้นลมปราณนี้ทางการแพทย์จีนเชื่อว่า เส้นลมปราณที่กล่าวถึงไม่ใช่หลอดเลือด เส้นเอ็น หรือเส้นประสาท แต่เป็นกระบวนการในการทำงานของหลายๆระบบในร่างกายที่มีส่วนเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ไม่ใช่สิ่งที่เราจะจับต้องได้หรือมีรูปร่างจำเพาะ
เส้นลมปราณเป็นกระบวนการของชีวิตของทุกๆชีวิตที่เกิดขึ้นในขณะที่มีชีวิตอยู่ เมื่อสิ่งมีชีวิตตายไปกระบวนการนี้ก็หายไป
ผู้เขียนได้กล่าวนำเรื่องเส้นลมปราณมาพอสมควร หลายท่านคงอยากทราบว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องลิ้นบอกโรคได้อย่างไร
ในชีวิตประจำวันนั้นลิ้นเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลา นับตั้งแต่ช่วยเคลื่อนอาหารให้เข้าไปในลำคอแล้วลงสู่ท้อง และลิ้นยังเป็นอวัยวะที่รับรู้รสต่างๆ ของอาหารอีกด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลิ้นจะทำให้เสียงที่เราพูดออกมาแตกต่างกันไปตามที่เราต้องการ ทำให้สื่อสารกันรู้เรื่อง นี่เป็นประโยชน์ของลิ้นที่เราๆท่านๆเข้าใจกัน
แต่ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของลิ้นที่เราไม่ค่อยสนใจหรือไม่รู้ คือ ลิ้นเป็นอวัยวะที่บ่งบอกโรคได้
เนื่องจากเส้นลมปราณที่มีชื่อว่าเส้นลมปราณ “ขาไท่ยินม้าม” วิ่งไปใต้ลิ้น  ดังนั้นความผิดปกติของม้าม (แพทย์จีนหมายถึงระบบย่อยอาหาร การลำเลียง การดูดซึมอาหาร) ก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นบนลิ้น เข้าทำนองว่าปรากฏการณ์บนลิ้นสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในร่างกาย ด้วยเหตุนี้เวลาแพทย์จีนวินิจฉัยโรคจึงมักให้ผู้ป่วยแลบลิ้นให้ดู เข้าทำนองว่าดูลิ้นเห็นภายใน

การดูลิ้นนั้นเราจะดูได้จาก
1. ตัวลิ้น ต้องดูขนาดของลิ้น เช่น อ้วนใหญ่ หรือผอมเล็ก ฯลฯ
2. สีลิ้น ตัวลิ้นมีสีซีด หรือแดงสด หรือม่วง ฯลฯ
3. ความชุ่มชื้นบนลิ้น ลิ้นมีน้ำชุ่มหรือแห้ง
4. ฝ้าบนลิ้น เช่น ฝ้ายาวบาง (ถือว่าปกติ) หรือฝ้าขาวหนา หรือฝ้าเหลือง หรือไม่มีฝ้า ฯลฯ

ข้อควรรู้ในการดูลิ้น
1. แสงสว่าง ต้องมีแสงสว่างอย่างพอเพียง ต้องเป็นแสงธรรมชาติ
2. อาจมีสารบางอย่างที่ทำให้สีของฝ้าแตกต่างกันไป เช่น น้ำนม น้ำผลไม้บางอย่าง ได้แก่ น้ำกระเจี๊ยบ น้ำส้ม เป็นต้น

ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างลิ้นที่จะพบเห็นกันบ่อยๆ
ลักษณะลิ้นทั้งสองแบบนี้ ในทฤษฎีแพทย์จีนถือว่าเป็นอาการ “กระเพาะอาหาร-ม้าม พร่อง เย็น” ซึ่งจะมีอาการท้องอืด (มีแก๊ส) อาหารไม่ค่อยย่อย เหนื่อยง่าย มักพบในคนที่มีระบบการย่อยไม่ดี เป็นหืด หลอดลมอักเสบ

บุคคลที่ลิ้นแสดงอาการดังภาพนั้น ตามทฤษฎีแพทย์จีนถือว่าไม่ควรกินอาหารหรือผลไม้ที่มีน้ำมากหรือรสขม ที่มีคุณสมบัติ “เย็น” เช่น แตงโม ส้มโอ มะละกอ ส้ม กล้วยหอม และผลไม้ที่ย่อยยาก เช่น ฝรั่งดิบ เนื้อวัว เป็นต้น ตลอดจนของแช่เย็นและน้ำอัดลม
ควรกินอาหารที่มีคุณสมบัติ “ร้อน” เช่น เครื่องเทศ ขิง พริกไทย ใบแมงลัก โหระพา สะระแหน่ เป็นต้น

หมายเหตุ : ข้อความหรืออักษรที่มีเครื่องหมาย “...” หมายถึง คำเฉพาะของทฤษฎีแพทย์จีน ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากภาษาทั่วไป
 

ข้อมูลสื่อ

181-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
วิทิต วัณนาวิบูล