• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพกาผักพื้นบ้านจากป่าและสวนโบราณ

เพกาผักพื้นบ้านจากป่าและสวนโบราณ

ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างกันสองแห่งคือสุโขทัยและกาญจนบุรี แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันหลายประการในพื้นที่ทั้งสองแห่งนั้นก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้พบและประทับใจในการเดินทางครั้งนี้คือต้นไม้ ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านเก่าแก่ของไทยชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป โดยไม่ต้องมีใครปลูกหรือเอาใจใส่ดูแลแต่อย่างใดเลย

ต้นไม้ชนิดนี้คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว หรือแม้จะรู้จักก็คงมีโอกาสกินผักพื้นบ้านจากต้นไม้นี้ไม่ง่ายนัก เพราะส่วนที่นำมาใช้เป็นผักมีเฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น ต้นไม้ชนิดนี้ก็คือเพกานั่นเอง
ที่สุโขทัยผู้เขียนไปเยี่ยมสวนผลไม้โบราณที่ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก ซึ่งอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำยม รวมพื้นที่สวนผลไม้แบบนี้หลายพันไร่ สวนผลไม้โบราณที่คลองกระจงนี้คงทำสืบต่อกันมาหลายชั่วคน อาจจะย้อนไปถึงยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อราว 700 ปีก่อนโน้นก็เป็นได้

ลักษณะของสวนผลไม้โบราณนี้ก็คือปลูกผลไม้พื้นบ้านและพืชที่ใช้ประโยชน์ปะปนกันหลายชนิด จนสภาพแวดล้อมมีความสมดุล ให้ผลผลิตได้สม่ำเสมอและมั่นคง โดยไม่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกเข้ามาช่วยเลย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารพิษฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากระบบสวนผลไม้สมัยใหม่อย่างมากมาย ในสวนผลไม้โบราณที่คลองกระจงมีต้นไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด ทั้งผลไม้ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เครื่องเทศ สมุนไพร ฯลฯ และในสวนโบราณนี้มีต้นเพกาขึ้นปะปนอยู่ทั่วไป
สอบถามจากเจ้าของสวนจึงทราบว่าต้นเพกาเหล่านั้นไม่ต้องมีใครปลูกและดูแลรักษาแต่อย่างใด เพราะเพกาสามารถขยายพันธุ์และเติบโตได้เอง ชาวสวนเพียงแต่เลือกเก็บบางต้นเอาไว้ และตัดต้นที่ไม่ต้องการออกเพราะจะขึ้นเบียดต้นไม้อื่นๆมากเกินไป

ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผู้เขียนไปเยี่ยมสวนโบราณที่คลองกระจงนั้น เพกากำลังมีเมล็ดแก่พอดี จึงพบเมล็ดเพกาตามพื้นดินทั่วไป เนื่องจากเมล็ดเพกามีเยื่อบางๆเป็นปีกอยู่รอบเมล็ดทำให้ลมพัดลอยไปได้ไกลๆ เป็นวิธีแพร่พันธุ์ของเพกาตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพมาก เป็นเหตุผลว่าทำไมชาวสวนจึงไม่ต้องเสียเวลาปลูกเพกา

ที่กาญจนบุรีผู้เขียนไปเยี่ยมพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งผ่านการปลูกพืชไร่มาแล้วหลายปี แต่ปัจจุบันกำลังพยายามฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง งานหลักของที่นี่คือรักษาต้นไม้ทุกชนิดที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ รักษาพื้นดินมิให้ถูกชะล้างจากน้ำฝนและป้องกันไฟป่ามิให้เผาผลาญ ส่วนการปลูกต้นไม้เสริมนั้นเป็นงานลำดับหลังๆ เพราะเชื่อว่าธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตนเองได้ดี หากได้รับการช่วยเหลือบ้างตามสมควร
ในสภาพที่ป่าธรรมชาติกำลังฟื้นตัวอยู่นี้ ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พบขึ้นอยู่มากก็คือ เพกา เพราะเมล็ดลอยมาจากพื้นที่ป่าใกล้เคียง ซึ่งมีต้นเพกาขึ้นอยู่ทั่วไป เพกาจึงเป็นต้นไม้นำร่องที่ดีชนิดหนึ่งสำหรับการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ

เพกา : ผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย
เพกา มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Oroxylum indicum Vent. ทางภาคเหนือเรียก มะลิตไม้ หรือมะลิ้นไม้ ภาคอีสานเรียกลิ้นฟ้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-10 เมตร ใบเป็นชนิดใบรวม มีขนาดใหญ่ ก้านใบยาวกว่า 1  เมตร ดอกออกเป็นกลุ่ม มีสีม่วง ก้านดอกยาวประมาณ 50  เซนติเมตร ฝักแบนกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 45  เซนติเมตร เมล็ดแก่มีเยื่อบางๆเป็นปีกสีขาวคล้ายกระดาษซ้อนกันอยู่ในฝักอย่างเป็นระเบียบมากมาย
คนจีนเรียกเพกาว่า “กระดาษพันใบ” เพราะลักษณะของเมล็ดที่มีปีกสีขาวซ้อนกันอยู่นี้เอง ก้านฝักเพกาชูสูงขึ้นไปในอากาศบนส่วนยอดสุดของลำต้น ฝักแบนใหญ่ห้อยลงมา แลดูคล้ายลิ้นขนาดใหญ่ห้อยอยู่ คงเป็นเพราะภาพอย่างนี้ จึงทำให้ชาวอีสานเรียกเพกาว่า ลิ้นฟ้า
เมื่อฝักเพกาแก่เต็มที่แล้ว เปลือกที่ประกบกันอยู่ก็แห้งและแยกออกจากกัน เมื่อลมพัดมาก็จะพาเมล็ดเพกาที่มีปีกลอยไปได้ไกลๆ

เพกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย โดยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วๆไป
แม้เพกาจะขึ้นอยู่ในหลายประเทศ แต่ดูเหมือนจะมีแต่ชาวไทยเท่านั้นที่นำเพกามากินเป็นผัก ในตำรับสายเยาวภา กล่าวถึงเพกาไว้ว่า เป็นผักที่อยู่ในหมวดดอกฝัก “ฝักเพกา ใช้ต้มหรือเผา ต้องกินสุก” ฝักเพกาที่นำมาใช้เป็นผักนั้น ต้องเป็นฝักอ่อน ซึ่งมีรสขมเล็กน้อย ปัจจุบันยังพบว่ามีชาวบ้านนำมาขายในตลาดสดอยู่บ้างโดยเฉพาะในภาคอีสาน

ประโยชน์ด้านอื่นๆของเพกา
นอกจากใช้เป็นผักแล้ว เพกายังให้ประโยชน์แก่มนุษย์อีกหลายด้าน เช่น เปลือกของลำต้นนำมาใช้ย้อมผ้าฝ้ายให้สีเขียวอ่อน เนื้อไม้สีขาวละเอียดมีความเหนียวเหมาะสำหรับนำมาแกะสลักเป็นตุ๊กตาต่างๆ
อาจารย์ประทีบ สุขโสภา ใช้ไม้เพกาเป็นหลักในการทำตุ๊กตาให้มูลนิธิเด็กนำมาแสดงนิทรรศการเมื่อ 

2-3ปีที่ผ่านมานี้
เมล็ดแก่ที่มีเยื่อบางๆนั้น ชาวบ้านนำมายัดหมอนใช้แทนนุ่นได้ดี เพกาเป็นไม้โตเร็วและแข็งแรง ทนทาน สามารถปลูกเอาไว้ใช้สอยเป็นไม้ฟืน หรือฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับอุดมสมบูรณ์ได้เร็ว ถือเป็นต้นไม้นำร่องชนิดหนึ่ง ประกอบกับมีทรงพุ่มโปร่งและกิ่งก้านสาขาน้อย จึงสามารถปลูกร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นได้ดี
คุณสมบัติประการสำคัญของเพกานอกจากใช้เป็นผักก็คือ คุณสมบัติด้านสมุนไพร แม้แต่ฝักอ่อนของเพกาที่นำมากินเป็นผักก็มีคุณสมบัติทางสมุนไพร คือช่วยขับลมในลำไส้

ในตำราประมวลสรรพคุณยาไทย อธิบายสรรพคุณทางยาของเพกาเอาไว้ดังนี้
เปลือก รสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย เป็นยาสมานดับพิษโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย ใช้ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อักเสบ ฟกช้ำ บวม
ราก บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง
เมล็ดแก่ เป็นยาระบาย ใช้เข้าเครื่องยาจีนหลายชนิด ปัจจุบันชาวสวนผลไม้ที่คลองกระจง เก็บเมล็ดแก่ของเพกาส่งขายเป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการขายฝักอ่อน

ตำราปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของคนไทยโบราณห้ามปลูกเพกาในบริเวณบ้าน เพราะถือว่าฝักเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก อาจนำเรื่องเดือดร้อนเลือดตกยางออกมาสู่เจ้าของบ้านได้ อีกอย่างหนึ่ง ฝักเพกาเป็นชื่อเรียกเหล็กประดับ ยอดพระปรางค์มี 10 กิ่ง (เพราะมีรูปร่างคล้ายฝักเพกา) จึงนับเป็นของสูงไม่คู่ควรนำมาปลูกในบ้าน (เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร) แต่หากนำไปปลูกไว้ตามเรือกสวนไร่นาหรือรั้วบ้านคงจะไม่ถือสากัน


หากผู้อ่านมีพื้นที่ว่างพอปลูกไม้ยืนต้นก็ขอให้นึกถึงเพกา ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยบ้าง เพราะนอกจากจะปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมากแล้ว ยังจะให้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว

 

ข้อมูลสื่อ

181-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 181
พฤษภาคม 2537
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร