• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้ยา

แพ้ยา

คำว่า แพ้ยา ที่ใช้กันตามความหมายของคนโดยทั่วไปนั้นหมายถึง อาการที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งเกิดจากการใช้ยา ยกตัวอย่างเช่น กินยาเข้าไปแล้วเกิดมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น เหงื่อแตก ก็เรียกกันว่าแพ้ยา

ในการใช้ยานั้น แพทย์มุ่งหวังที่จะให้ยากับคนไข้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือรักษาโรคให้หาย แต่ในขณะเดียวกันคนไข้บางคนอาจจะมีอาการแทรกซ้อนซึ่งเป็นผลเสียของการใช้ยา ในทางการแพทย์เรียกอาการดังกล่าวว่า “อาการข้างเคียงของยา”

อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานั้นเป็นอาการที่พบได้เสมอ จากสถิติจะพบว่าในการรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอกนั้น อาจพบอาการข้างเคียงจากยาถึงร้อยละ 20 ส่วนคนไข้ที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาลนั้น มักจะเป็นคนไข้หนัก ใช้ยาหลายตัวซึ่งพบอาการข้างเคียงประมาณร้อยละ 10-20 และอาการข้างเคียงเหล่านี้มักจะเป็นรุนแรงกว่าคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยนอก และในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 1 ซึ่งอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการแพ้ยา
อาการข้างเคียงของยาอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เกิดจากฤทธิ์ของยา และเกิดจากการแพ้ยา
ประเภทแรกเกิดจากฤทธิ์ของยา
ตัวอย่างเช่น ยารักษาความดันเลือดสูง ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดของคนไข้ที่มีความดันเลือดสูงให้เป็นปกติ แต่ถ้าใช้เกิดขนาดความดันเลือดจะต่ำเกินไป มีผลทำให้คนไข้มีอาการข้างเคียงจากความดันเลือดต่ำจากยา เช่น ลุกขึ้นแล้วหน้ามืด ใจสั่น หรือยารักษาโรคเบาหวาน ถ้าใช้เกินขนาดหรือคนไข้เกิดกินอาหารน้อยลง ผลก็คือน้ำตาลในเลือดต่ำ คนไข้ก็จะมีอาการใจเต้น ใจสั่น เหงื่อออก หิว ถ้าเป็นมากอาจจะหมดสติ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วไม่ว่ายาอะไรก็ตาม ถ้าให้ในขนาดที่มากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งนั้น และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็เกิดจากฤทธิ์ของยานั้นๆเอง อาการข้างเคียงที่เกิดจากฤทธิ์ของยาโดยตรงนั้น มักจะเกิดจากการที่คนไข้ได้รับยามากเกินไป บ่อยครั้งที่คนไข้ไม่ได้ดูฉลากยาให้ถี่ถ้วน และมักจะคิดเอาเองว่าจะกินยาเท่านั้นเท่านี้ เช่น ฉลากยาให้กินวันละครั้ง ก็อาจจะกินเพิ่มเป็นวันละ ๓ ครั้ง ซึ่งทำให้ได้รับยาเกินขนาด จนเกิดอาการข้างเคียงขึ้น

นอกเหนือจากนี้ยาที่เกินขนาดอาจจะเกิดจากโรคของคนไข้เอง ตามปกติยาจะถูกขับออกจากร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางตับกับทางไต ดังนั้น การที่คนไข้มีโรคตับหรือโรคไตอยู่ด้วย จะทำให้การกำจัดยานั้นๆลดน้อยลง ผลคือถ้าคนไข้ได้รับยาในขนาดปกติ ก็จะทำให้ยาเกินและมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้
อาการข้างเคียงที่เกิดจากฤทธิ์ของยาที่พบได้บ่อย ได้แก่ ยารักษาความดัน หรือเบาหวานที่ใช้ในขนาดมากเกินไป ยารักษาโรคไขข้อ หรือยาแอสไพรินที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลที่กระเพาะ อาการง่วงซึมจากยาหลายชนิด เช่น ยาแก้หวัดในกลุ่มแอนติฮิสตามีน ยานอนหลับ หรือยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น
ประเภทที่สองเกิดจากการแพ้ยา
อาการข้างเคียงประเภทนี้จึงจะเรียกว่า แพ้ยาจริงๆ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานหรือที่เรียกกันว่าแอนติบอดี (antibody) ทำให้เกิดปฏิกิริยาโดยตรงกับยานั้นๆ จึงมีอาการแพ้เป็นผลที่ตามมา

อาการแพ้ยานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 นิดคือ
ชนิดแรก เป็นอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานชนิดหนึ่งขึ้นมาทำปฏิกิริยากับยาแล้วหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ กรณีที่แพ้ยาเพนิซิลลิน เช่น คนไข้ได้รับการฉีดยาเพนิซิลลิน หลังจากนั้นภายใน 1/2-1 ชั่วโมงจะมีอาการชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดตกจนวัดไม่ได้ หลอดลมบวม หน้าตาบวม อาจมีลมพิษขึ้นตามตัว ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจจะถึงแก่ชีวิตได้
ชนิดที่สอง เกิดจากการที่ภูมิต้านทานของร่างกายถูกกระตุ้นจากยาให้มีการเปลี่ยนแปลงแล้วไปทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง เช่น ยาลดความดันจำพวก methyldopa ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก คนไข้มีอาการโลหิตจาง หรือยาซัลฟา(sulfa) ทำลายเม็ดเลือดขาวจนร่างกายขาดภูมิต้านทานแล้วเกิดอาการติดเชื้อตามมา เป็นต้น
ชนิดที่สาม เป็นการแพ้ยาที่เกิดจากยากับภูมิต้านทานของร่างกายจับตัวกันเป็นตะกอนแล้วไปติดตามอวัยวะต่างๆ เช่น ถ้าไปจับที่หลอดเลือดก็ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดอักเสบ หรือถ้าไปจับที่ไตก็ทำให้เกิดโรคไตอักเสบ เป็นต้น
ชนิดที่สี่ เป็นการแพ้ที่เกิดจากยาไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้หลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ อาการของการแพ้ชนิดนี้ได้แก่ ผื่นแพ้ยา เป็นต้น
ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้กันโดยทั่วไป คือเพนิซิลลินและยาซัลฟา เป็นต้น

ถ้าจะเปรียบเทียบลักษณะอาการข้างเคียงจากยาประเภทที่หนึ่งคือ จากฤทธิ์ของยา และประเภทที่สองคือ จากการแพ้ยานั้น ประเภทที่เกิดจากฤทธิ์ของยาจะพบได้มากกว่าคือร้อยละ 95 อาการจะรุนแรงน้อยกว่า และอัตราการตายน้อยกว่า ส่วนการแพ้ยาแม้พบได้น้อยคือประมาณร้อยละ 5 แต่อาการมักจะรุนแรงกว่า และมีอัตราตายสูงกว่า เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดกับใคร และอย่างไร

มีอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาอีกประเภทหนึ่งซึ่งควรระมัดระวังคือโรคทางพันธุกรรม ที่สำคัญและพบบ่อยในบ้านเราคือ ภาวการณ์ขาดเอนไซม์ G6PD ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้จะทำหน้าที่ป้องกันเม็ดเลือดแดง ถ้ากินยาบางชนิด เช่น ซัลฟา หรือยาอื่นๆ อาจจะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้โลหิตจางและปัสสาวะเป็นสีดำ เป็นต้น

การป้องกัน
การแพ้ยานั้นเป็นอาการที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน ในรายที่เป็นน้อยอาจจะมีอาการแค่รำคาญ แต่ถ้าเป็นมากอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน
ประการแรก คือ การใช้ยาอย่างถูกต้อง
1.ถูกต้องในแง่ความจำเป็นต้องใช้ยานั้นๆ ตัวอย่างเช่น เป็นหวัด ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส พอเริ่มเป็นหลายท่านกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ในคนไข้บางคนอาจแพ้รุนแรง หรือในบางคนที่กินยาปฏิชีวนะเป็นชุดโดยเวียนกันหลายๆตัว ซึ่งเป็นอันตรายมากกว่าเป็นผลดี จากสถิติพบว่าถ้าใช้ยายิ่งมากตัวโอกาสที่จะแพ้ยาก็มากขึ้น ดังนั้นจึงควรจะใช้ยาเท่าที่จำเป็นและน้อยที่สุด
2.การใช้ยาให้ถูกต้องในแง่ของชนิดของยา โรคแต่ละโรคอาจมียาหลายชนิดให้เลือกรักษา คนไข้ก็อาจจะมีโรคอื่นๆอยู่ด้วย การระมัดระวังในการให้ยาในคนไข้แต่ละรายจึงมีความจำเป็น จากสถิติพบว่าเด็กอายุน้อย หรือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีอาการข้างเคียงได้บ่อยกว่าคนปกติ นอกจากนี้ในคนไข้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไต ก็ต้องหลีกเลี่ยงยาบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายหรือลดขนาดของยาลงให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย
นอกจากนี้ยังควรจะต้องระมัดระวังการใช้ยาใหม่ๆ เนื่องจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแพ้ยายังมีน้อย บ่อยครั้งอาจทำให้เกิดการแพ้ยาที่รุนจนถึงกับเสียชีวิตได้
3.การใช้ยาถูกต้องในแง่ขนาดของยา หลายครั้งที่คนไข้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการกินยาให้ถูกขนาด เช่น แพทย์ให้กิน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก็กิน 1 เม็ดวันละ 4 ครั้ง เป็นต้น หรือบางคนปรับยาเอง ลดยาบ้าง เพิ่มยาบ้าง กินวันเว้นวันบ้าง ซึ่งทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาได้
ประการที่สอง คือ ประวัติภูมิแพ้
ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการใช้ยา บ่อยครั้งที่คนไข้แพ้ยาเพนิซิลลินแต่ตนเองไม่ได้สนใจ และไปหาแพทย์คนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถามถึงประวัติการแพ้ยา ถ้าได้รับยาตัวนี้อีกอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ คนไข้ทุกคนควรจะต้องมีประวัติการแพ้ยาของตนเองไว้เสมอ ซึ่งยาบางครั้งเป็นภาษาอังกฤษ จำยาก ก็ต้องขอให้แพทย์เขียนให้ในกระดาษในกระดาษแล้วพกติดตัวตลอดเวลา เวลาไปหาแพทย์คนอื่นๆ ก็ต้องบอกหรือเอารายชื่อให้ดูว่าแพ้ยาอะไรบ้าง แพทย์จะได้สั่งยาได้อย่างเหมาะสม
ประการที่สาม คือ การวินิจฉัยการแพ้ยา
การวินิจฉัยการแพ้ยาให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าถ้าแพ้ยาอะไรแล้วก็ไม่ควรใช้ยานั้นตลอดไป อย่างไรก็ตาม มีคนไข้หลายคนคิดว่าตนเองตนเองแพ้ยา โดยใช้ระยะเวลาเพียงอย่างเดียวเป็นตัวตัดสินเช่น พอกินยาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเกิดปวดศีรษะจากสาเหตุอื่นๆ ก็อาจจะเหมาว่าเกิดจากยาชนิดนั้น ถ้าเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาชนิดนั้นๆ ก็ทำให้เสียประโยชน์ไป
ดังนั้นในการวินิจฉัยอาการแพ้ยาบางครั้งก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ซึ่งมีความรู้โดยตรงเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำ
ประการสุดท้าย คือ การรักษา
เมื่อใดที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะแพ้ยาก็ต้องรีบหยุดยานั้นโดยทันที และควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ยาหากใช้ให้ถูกวิธีก็ย่อมมีประโยชน์มากมาย แต่หากใช้ผิดวิธีก็ย่อมเกิดโทษมหันต์ได้เช่นกัน


 

ข้อมูลสื่อ

183-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 183
กรกฎาคม 2537
เก็บมาฝาก
นพ.สมิง เก่าเจริญ