• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผิวแก่แดด

ผิวแก่แดด

สังขารร่างกายของคนเราย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี จะถึงจุดที่สภาพร่างกายเริ่มเสื่อมลง คำกล่าวที่ว่า “ความเป็นหนุ่มสาวขึ้นอยู่ที่ใจ ส่วนอายุเป็นเพียงตัวเลข” นั้น คงจะหมายถึงหนุ่มสาวในความรู้สึกนึกคิด ไม่ได้หมายถึงสภาพร่างกาย เพราะในความเป็นจริงแล้วสภาพร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อเรามองดูหน้าตาคนที่พบเห็น เราจะสามารถประมาณได้ว่าเขามีอายุสักเท่าไร จะเห็นได้ชัดตามธรรมเนียมไทยที่นิยมเรียกคนที่เพิ่งพบกันครั้งแรกเป็นน้อง พี่ น้า ป้า ลุง ตา หรือยายกันได้ ทั้งนี้โดยการประเมินจากรูปร่างหน้าตาที่เห็น สิ่งสำคัญที่บอกให้รู้ถึงอายุของคนเราคือ “ผิวพรรณ” นั่นเอง

เมื่ออายุมากขึ้น ผิวพรรณจะเปลี่ยนสภาพไปเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก คือ ลักษณะผิวของผู้นั้นซึ่งกำหนดมาตั้งแต่เกิดโดยกรรมพันธุ์ กล่าวคือ พ่อแม่ปู่ย่าตายายผิวพรรณเป็นอย่างไรก็จะถ่ายทอดมาถึงลูกหลาน เช่น ลูกคนผิวขาวก็จะมีผิวขาว ลูกคนผิวดำก็จะมีผิวดำ ทั้งนี้เป็นไปตามพันธุ์และเชื้อชาติ โดยทั่วไปผิวขาวจะเสื่อมสภาพหรือ “แก่” เร็วกว่าผิวดำ เนื่องจากผิวดำมีเม็ดสีป้องกันแดดมากกว่า
ประการที่สอง คือ “แสงแดด” ผู้ที่ถูกแดดอยู่เป็นประจำย่อมจะมีผิวหยาบกร้านและดูแก่กว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้ถูกแดด ยกตัวอย่างผู้ที่มีอาชีพอยู่กลางแดด เช่น ชาวไร่ ชาวนา จะมีผิวแก่เร็วกว่าผู้มีอาชีพทำงานในร่ม เช่นนั่งขายของอยู่ในห้องแอร์เย็นสบายทั้งวัน ฝรั่งเรียกผิวที่เสื่อมเนื่องจากสูงอายุว่า “โฟโต้เอจจิง” (Photo ageing) ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผิวแก่แดด” หมายความว่าผิวแก่เนื่องจากถูกแดดมานานหรือถูกมาหลายแดดคือ ผิวผู้สูงอายุนั่นเอง

⇒ วัยตกกระ
คนส่วนใหญ่ผิวจะเริ่มแปรสภาพไปจากเดิมจนสังเกตเห็นได้ชัดเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ความเปลี่ยนแปลงประการแรกที่แสดงว่าผิวเริ่มแก่แดด ได้แก่ จุดสีน้ำตาลอ่อนเป็นวงเล็กๆ รูปร่างกลม ขอบไม่ชัดเจน ไม่นูนจากผิว และไม่มีอาการใดๆ เมื่อเริ่มขึ้นแล้วก็จะทยอยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บริเวณที่เป็นก่อนได้แก่ หลังมือและแขน ต่อมาเกิดจุดขาวแทรกเข้ามาด้วย ทำให้มองเห็นเป็นจุดด่างดำสลับขาวที่เรียกว่า “ตกกระ” ฉะนั้นคำว่า วัยตกกระจึงเป็นคำที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงวัยสูงอายุ บางคนอาจตกกระทั้งตัว แม้แต่ภายในร่มผ้าที่ไม่ได้ถูกแดดด้วย

สภาพผิวที่แก่แดดจัดจะบางลงและเหี่ยวย่นเนื่องจากขาดน้ำหล่อเลี้ยง เส้นใยคอลลาเจนในผิวแห้งลง ไขมันใต้ผิวฝ่อ ต่อมน้ำมันและต่อมเหงื่อมีขนาดและจำนวนลดลง ทำให้มีเหงื่อน้อยและผิวแห้ง โดยเฉพาะเมื่ออากาศหนาวเย็นผิวจะแห้งมากขึ้นจนแตกและเกิดอาการคัน ส่วนหลอดเลือดใต้ผิวหนังจะเปราะและแตกง่าย เมื่อถูกกระทบกระแทกหรือแม้แต่เกาแรงๆ ก็จะเกิดรอยฟกช้ำเนื่องจากรอยหลอดเลือดแตกอยู่

ผู้ที่อยู่ในวัยนี้อาจสังเกตว่ามีจุดไฝแดงเกิดขึ้นตามร่างกาย ไฝแดงนี้เกิดจากรอยขดของหลอดเลือดฝอยใต้ผิว บางคนเกิดเป็นฝ้าหน้า คอ และแขน ฝ้าที่คอมักเห็นเป็นสีน้ำตาลแดงเป็นริ้วๆ ตามเส้นลายผิวหนัง ผิวที่คอจะฟ้องอายุได้ดียิ่งกว่าผิวที่หน้าซึ่งมักจะถูกปกปิดด้วยเครื่องสำอาง
ส่วนผมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังพบว่ามีรูขุมขนฝ่อหรือมีขนาดเล็กลง ทำให้เกิดผมร่วงและผมบางลง ขนตามตัวจะน้อยลงหรือร่วงไปหมด

สำหรับเล็บมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นเพียงเล็กน้อย เช่น เล็บยาวช้า อาจหนาขรุขระและเปลี่ยนสี โดยเฉพาะเล็บเท้าอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเล็บเป็นเชื้อราจึงไปซื้อยามาทาหรือกิน ทำให้เสียเงินเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

⇒ โรคผิวหนังในวัยสูงอายุ
โรคผิวหนังที่พบเป็นบ่อยในผู้สูงอายุคือ ผิวตกกระชนิดตุ่มดำนูน ผิวขรุขระคล้ายหูด มักขึ้นบริเวณใบหน้า โรคนี้ไม่มีอันตราย นอกจากทำให้ดูไม่สวย ถ้าต้องการกำจัดออกก็สามารถทำได้โดยให้แพทย์ขูดออกด้วยเครื่องไฟฟ้า ซึ่งการขูดใช้เวลาและค่าใช้จ่ายไม่มาก วิธีทำก็ไม่ต้องมีการเย็บแผล และเมื่อหายจะไม่มีรอยแผลเป็น

ความสำคัญของตุ่มหรือหูดที่เกิดขึ้นตามผิวหนังในวัยสูงอายุคือ ต้องดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่มะเร็งผิวหนัง เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดตุ่มเนื้องอกหรือรอยสีผิดสังเกต ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน เช่น เป็นแผลเรื้อรังรักษาโดยวิธีธรรมดา กินยา ทายาแล้วไม่หาย หรือไฝดำที่มีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม
มะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่ร้ายแรงและไม่ลุกลามไปที่อื่น การรักษาใช้วิธีตัดออกก็จะหายขาดได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นชนิดร้ายแรง มะเร็งผิวหนังก็เช่นเดียวกับมะเร็งของอวัยวะอื่นๆภายในร่างกายคือ เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆย่อมหายขาดได้ ผู้ที่อยู่ในอัตราเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ถูกแดดจัดเป็นประจำ
 

    คำแนะนำ 10 ประการในการป้องกันและดูแลรักษาผิวในวัยสูงอายุ

1. หลีกเลี่ยงการตากแดดโดยเฉพาะแดดที่ร้อนจัด ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรป้องกันด้วยการใช้ร่ม ใส่หมวก สวมเสื้อผ้าป้องกัน ส่วนการใช้ครีมหรือโลชั่นกันแดดมีประโยชน์ในแง่กันผิวไหม้และกันฝ้า จะกันผิวแก่ได้น้อย

2. รักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป ไม่ควรอาบหรือแช่น้ำที่อุ่นจัดเพราะจะทำให้ผิวแห้ง

3. สบู่ที่ใช้ควรเป็นชนิดผสมไขมัน ได้แก่ สบู่ก้อนที่มีจำหน่ายทั่วไป ไม่ควรใช้สบู่ยา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

4. ใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณข้อพับ เช่น ขาหนีบ รักแร้ เพื่อป้องกันความอับชื้น อันเป็นบ่อเกิดแห่งเชื้อรา

5. ถ้าผิวแห้งควรใช้ครีมชนิดให้ความชุ่มชื้นนวดผิวหลังอาบน้ำทุกครั้ง

6. ป้องกันการเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เพราะผิวจะฟกช้ำและเป็นแผลง่าย และเมื่อเกิดบาดแผลจะรักษาให้หายยาก

7. เมื่อมีตุ่มเนื้องอกที่ผิวหนังหรือแผลเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์

8. ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพร่างกาย รวมทั้งการตรวจสภาพผิวหนังปีละ 1 ครั้ง

9. บำรุงรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและย่อยง่าย การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น อาหารหมักดอง บุหรี่ เหล้า เป็นต้น

10. ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ

เมื่อผิวเริ่มไม่สดใสเต่งตึงเหมือนวัยรุ่น คนเรามักจะหาวิธีการต่างๆที่จะทำให้ผิวคงสภาพเดิมไว้ให้นานที่สุด ด้วยการเสาะหาเครื่องสำอางที่อ้างสรรพคุณชะลอความชรา หรือยาอายุวัฒนะในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เป็นการเสียเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ ในความเป็นจริงแล้วยังไม่มียาใดหรือวิธีใดที่จะสามารถฝืนสังขารไม่ให้แก่ได้อย่างถาวรเลย

ข้อมูลสื่อ

192-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 192
กรกฎาคม 2538
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์