• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตุ๊กตาขนสัตว์

ตุ๊กตาขนสัตว์


อยากจะหาของเล่นชนิดใหม่ให้ลูกแทนของเล่นเก่าซึ่งลูกเล่นมานาน
ความคิดนี้ถูกต้องที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ได้ติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด
วัย 8  เดือนนี้ลูกมีพัฒนาการของการใช้มือดีขึ้น ลูกเริ่มใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลางจับของเล็กๆได้ นอกจากนี้คุณจะสังเกตพบว่าลูกชอบลูบคลำหรือสัมผัสพรมขนสัตว์ หมอน หรือผิวของวัสดุอื่นใดไม่ว่าจะเรียบหรือหยาบ สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้ถึงระบบสัมผัสหรือความรู้สึกได้อย่างดี

ของเล่นของลูกในช่วงนี้จึงควรเป็นตุ๊กตา ซึ่งประดิษฐ์ด้วยวัสดุต่างชนิดกัน เช่น ผ้าสำลี ผ้าสักหลาด ผ้าต่วนหรือผ้าผิวมัน ผ้าธรรมดา หรือผ้าขนสัตว์ และทำเป็นรูปสัตว์ ซึ่งดูแล้วไม่น่ากลัวสำหรับลูก หรืออาจเป็นตุ๊กตารูปเด็กตัวเล็กๆ ขนาดของตุ๊กตาจะต้องพอดีที่ลูกจะจับยกขึ้นมาได้ เพราะวัยนี้ลูกนั่งได้เองอย่างมั่นคง และลูกยังสามารถเอื้อมมือไปหยิบของเล่นได้โดยตัวไม่ล้ม ไม่ว่าของเล่นจะอยู่ในตำแหน่งใดที่แขนของลูกเอื้อมถึง ลูกใช้มือได้แม่นยำตามใจปรารถนาของลูกอย่างไม่พลาด นั่นหมายถึงสายตามีความสัมพันธ์กับการใช้มือได้อย่างดีเยี่ยม

ประโยชน์ของตุ๊กตาอีกประการคือ ความหนักของตุ๊กตาซึ่งมีมากกว่าของเล่นเดิมเช่นบล็อกไม้หรือพลาสติก ห่วงเขย่ากรุ๊งกริ๊งหรือกุญแจพลาสติก
น้ำหนักของตุ๊กตาที่ลูกจะต้องหยิบยกขึ้นมาเล่นนี้ เปรียบเสมือนกับตุ้มน้ำหนักที่นักกีฬาใช้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดเด็กอ่อนให้ยกตุ้มน้ำหนักตามกฎเกณฑ์ต่างๆได้ เราจึงใช้ของเล่นเพื่อให้ลูกเกิดความเพลิดเพลินร่วมกับการพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย
การที่ลูกเอื้อมมือหยิบตุ๊กตา ทุกส่วนของร่างกายจะต้องทำงาน เช่น สายตามองเห็นตุ๊กตา สมองจะสั่งงานมาที่ร่างกายให้คืบตัวเคลื่อนย้ายไปใกล้กับตุ๊กตา ในวัยนี้การคืบตัวของลูกจะทำได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อถึงตำแหน่งที่ต้องการลูกมักจะลุกขึ้นนั่ง เอื้อมมือออกไปหยิบตุ๊กตา ขณะเอื้อมมือสายตาก็ต้องมีความสัมพันธ์กันดีกับการใช้มือ มือจึงหยิบของได้ไม่พลาด ตุ๊กตามีน้ำหนัก แขนจึงต้องออกแรงยกโดยที่ตัวตัวจะต้องไม่ล้มตามมา นั่นหมายถึงการทรงตัวจะต้องดี กล้ามเนื้อลำตัวแข็งแรง อยู่บนฐานหรือขาที่นั่งอยู่อย่างมั่นคง

หาตุ๊กตาให้ลูกหลายๆขนาด และน้ำหนักแตกต่างกัน วันนี้ลูกยังไม่มีกำลังแขนที่จะยกตุ๊กตาสุนัขตัวนี้ได้ แต่สามารถจับลากมาได้ อีกทั้งสีสดใสชวนมอง เนื้อผ้าก็นิ่มมือ ดูลูกจะชอบเจ้าตัวนี้มาก วันรุ่งขึ้นลูกสามารถดึงตุ๊กตาสุนัขตัวนี้มาวางบนตักตัวเองได้ แสดงว่ากำลังแขนของลูกได้เพิ่มขึ้นแล้ว คุณลองสังเกตให้ดีจะพบว่าวันหนึ่งๆลูกเล่นกับเจ้าสุนัขตัวนี้บ่อย ถ้าจะนับจำนวนครั้งในการหยิบจับ ดึง ลาก อาจรวมกันได้หลายสิบครั้งเปรียบเทียบได้กับนักกีฬาที่ซ้อมหนัก อีกไม่กี่วันเจ้าสุนัขตัวนี้จะต้องถูกลูกยกอุ้มขึ้นมาได้แน่ๆ นักกีฬาตัวน้อยของคุณก็จะมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น
เล่นมากก็เหนื่อย ขอนอนพักดีกว่า

เมื่อลูกนอนหงาย คุณจะพบว่าลูกไม่ค่อยเตะขาเล่น แต่จะงอหรือเหยียดไปพร้อมๆกัน คุณสามารถเพิ่มพัฒนาการของขาได้โดยแขวนลูกบอลห้อยไว้เหนือช่วงล่างของขา เพื่อที่ลูกจะได้งอขายันลูกบอลเล่นขณะนอนดูดนม

ความแข็งแรงของขาที่เพิ่มขึ้นทำให้ลูกอยากจะลุกขึ้นยืน กำลังแขนของลูกก็มีมากแล้ว ลูกมีทักษะดีพอที่จะสร้างสรรค์ตนเอง คุณจึงพบว่าลูกสามารถลุกขึ้นยืนได้โดยยึดเกาะเครื่องเรือน ดึงตัวจากท่านั่งเป็นท่าคุกเข่าแล้วยืนขึ้น แต่ผลเสียจะเกิดขึ้นได้มากจากการยืนในช่วงนี้ เพราะกล้ามเนื้อขาของลูกยังไม่แข็งแรงพอที่จะกระชับข้อต่อต่างๆของขาให้มั่นคงได้ การยืนติดต่อกันเป็นเวลานานจึงทำให้ขาโก่งแอ่นได้ ซึ่งจะเป็นลักษณะที่ติดตัวไปตลอด และเป็นสาเหตุหนึ่งของการปวดข้อ
อันตรายที่จะต้องระวังในขณะลูกยืนคือ ลูกจะปล่อยมือจากการเกาะยึด เพื่อคว้าหรือหยิบจับสิ่งของที่น่าสนใจ ทำให้ลูกล้มนั่งก้นกระแทกลงกับพื้น

การที่ขาแข็งแรงเพิ่มขึ้นในขณะที่แขนแข็งแรงมากแล้ว ลำตัวก็ได้ฝึกหัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงมาแล้ว จึงทำให้ลูกเริ่มใช้ขาร่วมด้วยในขณะคืบตัว เป็นการเริ่มต้นของการหัดคลาน เมื่อเห็นเช่นนี้คุณสามารถช่วยลูกได้ โดยวิธีการดังนี้คือ

ในขณะที่ลูกอยู่ในท่าที่กำลังใช้แขนเพื่อคืบตัวเอง ลำตัวยกขึ้นเล็กน้อย ขาเริ่มงอยันพื้น คุณจะต้องอยู่ด้านปลายเท้าของลูก มือทั้ง 2 จับที่ข้อเท้าแต่ละข้างของลูก ช่วยลูกงอขาทีละข้างโดยให้เข่าเป็นจุดยันพื้น ในระยะแรก ลูกยังใช้แขน 2 ข้าง ยันพื้นพร้อมๆกันเพื่อคืบ ต่อมาลูกจะเริ่มก้าวแขนทีละข้างเพื่อยันพื้น คุณจะต้องช่วยก้าวขาด้านตรงกันข้ามกับแขนเสมอ เพื่อความสมดุลเป็นธรรมชาติของการเคลื่อนไหวในการคลานหรือเดิน
การที่ลูกคลานได้ก็มีเรื่องที่น่าห่วง เพราะลูกอาจไปไขว่คว้าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่เป็นอันตรายต่อลูก เช่น ปลั๊กไฟ เศษพลาสติก ยางรัดของ เศษขยะ ฯลฯ แล้วเอาเข้าปาก คุณก็จะต้องเป็นแม่บ้านที่รอบคอบอย่างยิ่ง แต่ลูกยังฉลาดพอที่จะรับฟังคำเตือนของคุณพ่อคุณแม่ เพราะลูกจะหยุดทันทีเมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกว่า “อย่า!”

ลูกน่ารักเสมอ ลูกจะไม่ปล่อยให้คุณเป็นฝ่ายพูดคนเดียว ลูกเริ่มทำเสียงโต้ตอบได้ เมื่อมีคนพูดด้วยลูกเปล่ง 2 พยางค์ได้แล้ว อีกไม่ช้าคุณก็จะมีเพื่อนคุยที่ช่างซักช่างถามแน่ๆ ซึ่งสังคมของลูกก็คงไม่ใช่สังคมเฉพาะพ่อแม่ลูก แต่จะต้องมีบุคคลอื่นๆอีกแน่นอน ลูกก็พัฒนาได้เช่นกัน
ในวัยนี้ลูกเริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับคนแปลกหน้า ความกลัวคนแปลกหน้าเริ่มลดลงแล้ว

ลูกเริ่มสัมผัสกับสังคม ลูกต้องการผู้นำสู่สังคม คุณพ่อคุณแม่คือบุคคลที่พร้อมที่สุดที่จะทำหน้าที่นี้เพื่อลูก

 

ข้อมูลสื่อ

192-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 192
เมษายน 2538
สุมนา ตัณฑเศรษฐี