• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ของที่ลูกเคยเล่นยังมีประโยชน์

ของที่ลูกเคยเล่นยังมีประโยชน์



การเพิ่มทักษะและพัฒนาการของลูกไม่ใช่เรื่องของการสิ้นเปลืองที่จะต้องไปซื้อหาของเล่นชนิดใหม่เสมอไป ของที่ลูกเคยเล่นยังมีประโยชน์ถ้ารู้วิธีการเล่น
ของเล่นสำหรับลูกวัย 7 เดือนยังคงเป็นบล็อกไม้หรือพลาสติกรูปทรงต่างๆ ห่วงเขย่ากรุ๋งกริ๋ง หรือกุญแจพลาสติกที่ลูกเคยเล่น ของเหล่านี้ทุกชิ้นมีน้ำหนักเบา พอเหมาะกับขนาดและกำลังมือของลูกที่จะหยิบยกขึ้นมา
คุณเคยฝึกหัดให้ลูกหยิบจับของเล่นดังกล่าวมาแล้ว ลูกจึงใช้มือแต่ละข้างหยิบจับได้เก่งขึ้น และที่ก้าวหน้ายิ่งกว่านี้คือ ลูกสามารถส่งถ่ายของเล่นจากมือข้างหนึ่งไปยังมืออีกข้างหนึ่งได้เมื่อลูกต้องการหยิบของเล่นชิ้นใหม่ที่คุณยื่นส่งให้
ลูกจะสนุกมากกับการหยิบ-ส่งของเล่น คุณสามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาลูกได้ เล่นกับลูกในขณะลูกนอนหงายหรือนั่งในรถเข็น
วัย 7 เดือนนี้ลูกสามารถนั่งตัวตรงหลังตรงมากขึ้น แต่ยังคงใช้แขนยังพื้นด้านหน้าไว้ บางครั้งสามารถปล่อยมือที่ยันแล้วนั่งเองได้ในระยะเวลาสั้นๆ

วิธีการฝึกหัดเพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาการของลูกในวัยนี้คือ
ในระยะแรกให้ลูกนั่งบนพื้นที่แข็งและเรียบ เช่น พื้นบ้านที่เป็นไม้ จะทำให้ทรงตัวได้ง่ายกว่านั่งบนเบาะนิ่ม และคุณจะต้องนั่งอยู่ทางด้านหลังของลูก พร้อมที่จะป้องกันลูกไม่ให้ล้ม
วางของเล่นบนพื้นใกล้ๆมือของลูก ลูกจะพยายามยกแขนข้างหนึ่งขึ้นมาหยิบของเล่น น้ำหนักตัวจะถูกถ่ายไปลงยังแขนข้างที่ยันพื้นไว้ ฝึกหัดให้ลูกได้มีโอกาสใช้แขนทั้ง 2 ข้างสลับกัน เมื่อลูกทำได้คล่องขึ้น ลูกจะยกของเล่นขึ้นมาได้สูง ถ้าคุณแบมือขอของเล่นจากลูก ลูกจะส่งให้คุณและลูกก็จะรับของเล่นกลับคืนในทันทีที่คุณส่งคืนให้ คุณจะพบว่าลูกสนุก คุณต้องพยายามส่งของเล่นให้ลูกในทิศทางต่างๆกัน เพื่อที่ลูกจะต้องเอื้อมมือหยิบ เป็นการฝึกหัดการทรงตัวเช่นที่เคยฝึกหัดมาแล้ว เมื่อการทรงตัวดีลูกจะสามารถยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นจากพื้นและนั่งด้วยตนเองได้

ในขณะที่การทรงตัวยังไม่ค่อยดี การนั่งนานก็ทำให้เกิดการเมื่อยล้า ลูกรู้วิธีการช่วยตัวเอง ลูกจะเปลี่ยนจากท่านั่งกลับเป็นนอนคว่ำได้ด้วยความสามารถของแขน ซึ่งแขนของลูกแข็งแรงมากแล้ว
เมื่อลูกนอนคว่ำคุณจึงพบว่าลูกคืบตัวเองไปได้ ดังนั้นคุณวางของเล่นล่อไว้ได้เลยว่าจะให้ลูกคว่ำแล้วคืบตัวไปหยิบของเล่นในตำแหน่งใด

การคว่ำแล้วคืบตัวบ่อยๆจะทำให้แขนแข็งแรงมาก เพราะแขนต้องลากตัวทั้งตัวให้ตามมา ถ้าแขนแข็งแรงมากลูกจะคืบตัวได้คล่อง ของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ เช่น ตุ๊กตาไขลานหรือลูกบอลสีสดใสที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ลูกจะเอาเข้าปากอม เหมาะที่จะให้ลูกไล่ตามไขว่คว้า

ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกหัดให้แขนแข็งแรงคือ ลูกจะยันตัวลุกขึ้นนั่งได้อย่างคล่องแคล่ว นั่นหมายถึงคุณจะต้องสำรวจวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นในบริเวณที่คุณคิดว่าลูกจะต้องไปสำรวจ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อลูก
โปรดอย่าจำกัดสถานที่ให้ลูกอยู่แต่ในเปลหรือคอกกั้น ลูกต้องการหาประสบการณ์เพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

คุณจะสังเกตได้ว่าพัฒนาการของขาจะช้ากว่าแขน แต่คุณก็จะต้องช่วยพัฒนาขาไปพร้อมๆกับการพัฒนาแขน เช่น ในขณะที่ลูกนอนหงาย ลูกมักงอหรือเหยียดขาทั้ง 2 ข้างพร้อมๆกันในช่วงวัย 7 เดือนนี้ คุณใช้มือทั้ง 2 ข้างจับยึดเท้าทั้ง 2 ของลูกเอาไว้ รั้งไม่ให้ลูกงอขา หรือดันเท้าของลูกไว้ไม่ให้ลูกเหยียดขา การฝืนไม่ให้ลูกงอหรือเหยียดขาอย่างสะดวกจะสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อขาของลูก แต่ลูกจะรู้สึกไม่สนุก คุณจึงควรรั้งหรือดันแต่เพียงเบาๆ หรือเอาลูกบอลพลาสติกสีสดใสใบโตๆยกมาใส่ไว้ที่เท้าให้ลูกยันเล่นได้อย่างสนุก

อีกวิธีการหนึ่งคือ คุณจับใต้รักแร้ทั้ง 2 ข้างของลูก เพื่อพยุงน้ำหนักตัวให้ลูกยืน ลูกจะสปริงตัวงอและเหยียดขา นับว่าท่านี้มีประโยชน์มากในการเพิ่มความแข็งแรงของขา จึงควรทำบ่อยๆ แต่คุณแม่จะต้องรู้สึกเมื่อยและเหนื่อยมากจากการที่ต้องคอยพยุงไม่ให้ลูกลงน้ำหนักตัวเต็มที่และรับแรงสปริงกระโดดของลูก เมื่อรู้สึกว่าลูกควรจะเมื่อยแล้ว ต้องให้ลูกนั่งแทนที่จะจับให้ลูกยืนนิ่งๆ และควรอุ้มลูกไปเดินเล่นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศหรือให้ลูกได้ใช้สายตาในการเรียนรู้สิ่งอื่นๆอีก

สายตาของลูกพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จาก ลูกมองเห็นเงาตัวเองในกระจกเงา ลูกจะเอามือไปตบกระจกบริเวณเงาของลูกเอง แล้วลูกก็จะคุย ซึ่งเสียงที่เปล่งออกมาจะเป็นเสียงสระ เช่น อา โอ อู เป็นต้น
ลูกคุ้นเคยอยู่กับสิ่งที่มองเห็นอยู่เป็นประจำ ถ้าคุณแม่อุ้มไปพบคนแปลกหน้า ลูกจะแสดงอาการกลัวออกมา โดยลูกจะทำตัวงอ กดตัวเองแนบแน่นกับตัวของคุณแม่ และถ้าคนแปลกหน้าอุ้มลูกออกไปจากอกของคุณแม่ ลูกอาจจะร้องไห้
พวกเราบางครั้งอาจนึกสนุกที่ได้ทำเช่นนี้ แล้วพยายามทำซ้ำๆกันเพราะชอบใจที่เห็นเด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าว แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับสุขภาพจิตของเด็ก ถึงแม้พฤติกรรมนี้จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ก้าวหน้าของสมอง ความรู้สึกนึกคิดซึ่งสัมพันธ์กับการสั่งงานมายังส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ก็ไม่ควรจะมีการจู่โจมให้ลูกปะทะกับคนแปลกหน้าเช่นนั้น

เมื่อคุณแม่ต้องพบคนแปลกหน้าสำหรับลูก คุณแม่ควรโอบกอดลูกไว้ในขณะสนทนากับแขก อย่าบังคับให้ลูกต้องประชันหน้าเพื่อทักทายแขกในทันที คุณควรปล่อยลูกตามสบาย ลูกอาจค่อยๆแอบมองแขก นานเข้าลูกก็จะปล่อยตัวตามสบายแล้วหันหน้ามามองแขก แขกเองก็จะต้องทำเป็นไม่สนใจเด็กในระหว่างที่คุยกับคุณแม่ แขกอาจยื่นของเล่นให้เด็ก ถ้าเด็กไม่รับ แขกควรวางของเล่นไว้ใกล้ๆเด็ก สักครู่เด็กก็จะเอื้อมมือมาหยิบของเล่นไปเอง ค่อยๆสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก แล้วคุณก็จะไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับเด็กอีกต่อไป

รักเด็ก ร่วมใจกันพัฒนาเด็ก แม้เด็กนั้นจะไม่ใช่ลูกของคุณ

 

ข้อมูลสื่อ

191-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 191
มีนาคม 2538
สุมนา ตัณฑเศรษฐี