• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะตูม : ไม้มงคลและทรงคุณค่า

มะตูม : ไม้มงคลและทรงคุณค่า

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมอันเป็นหน่วยงานที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกอยู่ ได้จัดงานแนะนำองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่คือ มูลนิธิข้าวขวัญ และได้เชิญผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้สนับสนุนการทำงานของศูนย์ฯ ตลอดจนกัลยาณมิตร ฯลฯ มาร่วมงาน โดยจัดให้มีการกินอาหารร่วมกันด้วย
เนื่องจากถือว่างานนี้เป็นงานมงคลที่สำคัญ จึงปรึกษากับผู้รู้ในท้องถิ่นถึงอาหารตำรับพิเศษที่ใช้กินเฉพาะงานมงคลที่สำคัญๆเท่านั้น ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าให้ทำ “แกงบวน” เพราะเป็นแกงเก่าแก่ที่จะแกงเฉพาะในงานมงคลใหญ่ๆ บางท้องถิ่นเท่านั้น,

คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยกินแกงบวน หรือไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย ผู้ที่เคยได้ยินชื่อหรือเคยกินก็คงมีไม่กี่คนที่ทราบว่า ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้แกงบวนเป็นแกงพิเศษ ซึ่งใช้ในงานมงคลที่สำคัญเท่านั้นคืออะไร ผู้เขียนเองก็เพิ่งทราบจากการจัดงานครั้งนี้เองว่า แกงบวนเป็นแกงพิเศษก็เพราะประกอบด้วยใบไม้อันเป็นมงคลยิ่งอย่างหนึ่ง นั่นคือใบมะตูม



มะตูม : ไม้มงคลจากศาสนาพราหมณ์

ชาวฮินดูถือว่ามะตูมเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระอิศวร เวลาบูชาพระอิศวรจะต้องใช้ใบมะตูมเสมอ ความเชื่อดังกล่าวนี้คงถ่ายทอดมาสู่ชาวไทยในอดีต จึงถือว่ามะตูมเป็นไม้มงคลไปด้วย ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมและความเชื่อหลายประการของชาวไทย ปัจจุบันก็ยังถือว่ามะตูมเป็นไม้มงคลที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ดังเช่นการนำมาทำแกงบวน เป็นต้น

มะตูมเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 10 เมตร ตามลำต้นและกิ่งมีหนามขนาดใหญ่ แข็ง ตรง ใบเป็นชนิดใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ รูปไข่ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลมีหลายขนาด เปลือกแข็ง ลักษณะผลมีหลายอย่างขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เนื้อในผลเมื่อแก่จัดมีสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแสด เปลือกผลมีสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล เมล็ดมะตูมมีสีขาวอยู่ในยางใสเหนียวข้น มะตูมเป็นพืชในวงษ์เดียวกับส้ม คือ Rutaceae มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Aegle marmelos Corr. ชาวไทยภาคเหนือเรียก มะปิน ชาวไทยภาคใต้เรียก ตูมหรือตุ่มตัง
มะตูมมีหลายสายพันธุ์ เช่น มะตูมธรรมดามีผลกลม มะตูมไข่มีผลรูปรีคล้ายไข่ไก่ และมะตูมนิ่มมีเปลือกผลบางจนใช้มือบีบให้ยุบลงไปได้

ถิ่นกำเนิดเดิมของมะตูมสันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศอินเดีย แล้วแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเนปาล ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ประโยชน์ด้านต่างๆของมะตูม
มะตูมอาจนับเป็นผักพื้นบ้านของชาวไทยได้ชนิดหนึ่ง เพราะชาวไทยนำใบมะตูมอ่อนมาประกอบอาหาร เช่น ใช้จิ้มน้ำพริก ปลาร้า หรือกะปิคั่ว นอกจากนั้นยังใช้ทำแกงบวนอย่างที่เล่ามาข้างต้น โดยเอาใบมะตูมอ่อนมาตำคั้นน้ำผสมเป็นน้ำแกงบวน ทำให้น้ำแกงมีสีเขียว และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื่องจากถือว่าใบมะตูมเป็นมงคล จึงทำให้แกงบวนเป็นแกงที่ใช้ในงานพิธีมงคลใหญ่ๆของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ใบมะตูมถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล จึงใช้ในพิธีมงคลต่างๆ เช่น ประพรมน้ำมนต์ และใช้ทัดหูตามพิธีของพราหมณ์ เช่น ในพิธีมงคลสมรสพระราชทานทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทัดหูด้วยใบมะตูมที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งข้าราชการที่กราบถวายบังคมลาไปรับราชการหรือศึกษาต่อต่างประเทศ ก็จะได้รับพระราชทานใบมะตูมเช่นเดียวกัน
ยางมะตูมที่ได้จากผลหรือจากเปลือกลำต้นนำมาใช้เป็นกาวติดกระดาษได้
ยางในผลและเปลือกมะตูมนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าฝ้าย และผ้าไหมจะให้สีเหลือง
เนื้อไม้มะตูมใช้ทำครัวเรือนได้ดี นอกจากนี้ยังใช้ทำเกวียนได้ด้วย
ดอกมะตูมมีน้ำมันหอม บางแห่งสกัดน้ำมันหอมจากดอกมะตูมไปใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง
ผลมะตูมอ่อนนำมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้ง นำมาปิ้งหรือคั่วให้เหลือง มีกลิ่นหอม ใช้ชงเป็นน้ำมะตูม นิยมดื่มเป็นน้ำผลไม้ ให้ทั้งรสอร่อยและคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย คือช่วยบำรุงธาตุและแก้ท้องเสียได้ดี
ผลมะตูมดิบที่แก่เต็มที่นำมาปอกเปลือก ฝานเนื้อเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้ชงน้ำดื่มแทนกาแฟได้ มีรสหอมชวนดื่ม และไม่มีสารกาเฟอีน
เนื้อมะตูมสุกที่แยกเมล็ดและยางออกแล้ว ใช้กินเป็นผลไม้ได้ มีรสหวาน กลิ่นหอม หรือนำมาต้มกับน้ำตาล เป็นน้ำมะตูม(สุก) ใช้ดื่มแก้ร้อนใน
ผลมะตูมแก่ปอกเปลือกนำเนื้อไปเชื่อมน้ำตาล เป็นมะตูมเชื่อม มีกลิ่นหอม และรสซ่าเฉพาะตัว หากทำแห้งจะเก็บไว้ได้นาน

คุณสมบัติทางสมุนไพรของมะตูมมีหลายประการ เช่น
ผลอ่อน
ปรุงเป็นยาธาตุ แก้ธาตุพิการ โรคเกี่ยวกับกระเพาะ แก้บิด
ผลสุก เป็นยาช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบาย แก้ธาตุไฟอ่อน
เปลือก แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ใบสด คั้นเอาน้ำกินแก้หวัด หลอดลมอักเสบ ตาบวม
ราก แก้พิษฝี พิษไข้ รักษาน้ำดี
เนื่องจากมะตูมเป็นไม้มงคลที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ตำราปลูกต้นไม้ในบ้านของชาวไทยโบราณจึงกำหนดให้ปลูกมะตูมเอาไว้ในบริเวณบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้อยู่อาศัย โดยกำหนดให้ปลูกทางทิศหรดี(ตะวันตกเฉียงใต้)ของตัวบ้าน แต่อีกตำราหนึ่งกำหนดให้ปลูกทางทิศอุดร(เหนือ) ซึ่งผู้อ่านอาจเลือกทิศได้ตามความเหมาะสม,

หากผู้อ่านท่านใดมีบริเวณบ้านพอสำหรับปลูกต้นไม้ได้บ้าง ก็ขอแนะนำให้หามะตูมมาปลูกเอาไว้เป็นสิริมงคลสักต้น

 

ข้อมูลสื่อ

186-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 186
ตุลาคม 2537
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร