• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กุ่ม : ผักพื้นบ้านที่มีเป็นกลุ่ม

กุ่ม : ผักพื้นบ้านที่มีเป็นกลุ่ม


จ้ำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น
พายเรือแอ่นๆ กระทั่งต้นกุ่ม...

บทเพลงที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นเพลงที่เด็กไทยภาคกลางสมัยก่อนใช้ร้องประกอบการละเล่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “จ้ำจี้” ชื่อเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปราะ” ซึ่งเป็นเพลงประกอบการเล่นจ้ำจี้นั้นยังมีเพลงอื่นๆอีกเช่น เพลง “จ้ำจี้มะเขือพวง” เป็นต้น

ในบทเพลงที่ยกมาข้างต้นนี้ หากสังเกตถึงเหตุการณ์ที่บรรยายในเพลงท่อนหลัง จะเห็นว่ามีชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ “ต้นกุ่ม” ผู้อ่านบางท่านคงนึกสงสัยว่า ทำไมพายเรือแอ่นๆ จึงไป(กระทบ)กระทั่งต้นกุ่มได้ แต่ผู้อ่านที่เคยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำคลองในภาคกลางคงไม่สงสัย เพราะต้นกุ่มมักพบขึ้นอยู่ทั่วไปตามริมฝั่งในฤดูที่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง(อย่างเช่นเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีนี้)

หากพายเรือในแม่น้ำลำคลองแล้วพายไม่ตรงทาง(พายเรือแอ่นๆ)จะไป(กระทบ)กระทั่งต้นกุ่มได้โดยง่าย แต่ต้นกุ่มที่ขึ้นอยู่ตามแม่น้ำลำคลองนี้ หากเรียกชื่อให้ถูกต้องจริงๆแล้วจะต้องเรียกว่ากุ่มน้ำ เพราะยังมีต้นกุ่มชนิดอื่นๆที่ไม่ชอบขึ้นในที่ลุ่มอีก ดังนั้นชื่อ “กุ่ม” ที่ชาวไทยใช้เรียกต้นไม้ จึงครอบคลุมถึงต้นไม้หลายชนิดที่มีความคล้ายคลึงกันจนชาวไทยจัดเข้าไว้ใน “กลุ่ม” เดียวกันนั่นเอง

รู้จักกับ “กลุ่ม” ของชาวกุ่ม
ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมดบรัดเลย์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2416 มีคำเกี่ยวกับกุ่มอยู่หลายคำ เช่น
กุ่ม : ต้นไม้อย่างหนึ่ง ดอกและใบกินได้ เปลือกใช้ทำยาได้
กุ่มน้ำ : ต้นกุ่มอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ ใบยาวๆ ดอกกินได้
กุ่มบก : ต้นกุ่มอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่บนบก ตามป่าดอน ใบกลมๆ ลูกสุกกินได้


กล่าวในทางพฤกษศาสตร์แล้ว ต้นกุ่มของชาวไทยเป็นต้นไม้หลายชนิดอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุล(Genus) Crateva ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 5 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กุ่มน้ำ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ชนิด และกุ่มบกมีอยู่ประมาณ 2 ชนิด ทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบกมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน ถือเอาลักษณะนิสัยชอบอยู่ริมน้ำหรือที่ดอนเป็นตัวแบ่ง โดยมีตัวแทนกุ่มน้ำและกุ่มบกที่รู้จักกันดีเป็นหลัก คือ

กุ่มน้ำ ถือเอาต้นไม้ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Crateva nuvrvala Ham. เป็นต้นไม้ขนาดกลางสูง 5-10 เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบรวม มี 3 ใบย่อย บนก้านใบเดียวกัน ใบย่อยแต่ละใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ใต้ท้องใบสีขาวนวล ออกใบอ่อนพร้อมออกดอกในฤดูร้อน ดอกสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เกสรสีม่วง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มักออกดอกพร้อมกันทั้งต้น ดอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ผลรูปไข่ สีเทา เปลือกเรียบแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีเมล็ดมาก ชอบขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ที่ราบลุ่ม

กุ่มบก มักหมายถึงต้นไม้ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Crateva erythrocarpa Gagnep. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 3-5 เมตร มีใบย่อย 3 ใบ เช่นเดียวกับกุ่มน้ำ แต่ใบย่อยรูปร่างค่อนข้างกลมมน คือส่วนกว้าง 3-4 เซนติเมตร และยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบไม่เรียวแหลมเหมือนกุ่มน้ำ ขนาดดอกและผลใกล้เคียงกุ่มน้ำ แต่ผลค่อนข้างกลม และเมื่อผลสุก รสหวาน นกชอบกิน (คนก็กินได้) ชอบขึ้นตามที่ดอน และในป่าผลัดใบ

ทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบกถือว่าเป็นผักพื้นบ้านเก่าแก่ที่ชาวไทยคุ้นเคยมาแต่โบราณกาล เช่นในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ กล่าวถึงศัพท์เกี่ยวกับการใช้กุ่มเป็นผักของคนไทยสมัยปี 2416 เอาไว้ตอนหนึ่งว่า
กุ่มดอง : ใบกุ่มอ่อนๆ เก็บเอามาแช่น้ำใส่เกลือบ้าง ใส่น้ำซาวข้าวบ้าง กินเปรี้ยวๆ เค็มๆ
จะเห็นว่าส่วนของกุ่มที่นิยมนำมากินเป็นผักคือ ยอดอ่อน และนิยมนำมาดองเสียก่อน ความจริงส่วนยอดอ่อนและช่อดอกสามารถนำมาเป็นผักได้ โดยผ่านการดองอย่างเดียวกัน ไม่นิยมนำมากินดิบ หรือประกอบอาหารด้วยวิธีการอื่น (เช่น ต้ม แกง ลวก เผา ฯลฯ) แต่ในบรรดาผักดองสำหรับจิ้มน้ำพริกด้วยกันแล้ว กุ่มดองนับว่าเป็นผักดองยอดนิยมอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งปัจจุบันหากินได้ยากพอสมควร เพราะมีเฉพาะบางท้องถิ่น และในฤดูที่กุ่มมีดอก(พร้อมกับยอดอ่อน)เท่านั้น ในกรุงเทพฯ เคยเห็นมีขายที่ตลาดท่าช้าง รวมทั้งผักดองอื่นๆที่หายาก (เช่นผักหนาม) ตามฤดูกาล

ประโยชน์ด้านอื่นๆของกุ่ม
นอกจากใช้เป็นผักแล้ว ชาวไทยรู้จักนำกุ่มมาทำยาสมุนไพรใช้รักษาโรคได้หลายโรคด้วยกัน ทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบก เช่น
กุ่มทั้งห้า(ต้น ใบ ดอก ผล ราก) : รสเผ็ดร้อน แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ขับเหงื่อ แก้สะอึก บำรุงธาตุ ทำลายน้ำหนองอันเป็นก้อน
รากกุ่มน้ำ : แช่น้ำเป็นยาธาตุ
รากกุ่มบก : แก้มานกระษัยอันเกิดแต่กองลม
เปลือกกุ่มน้ำ : ต้มเป็นยาตัดลมในลำไส้ แก้กองลม แก้กระษัย แก้ริดสีดวง
เปลือกกุ่มบก : ขับลม แก้นิ่ว แก้บวม บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
ใบกุ่มน้ำ : ขับเหงื่อ แก้สะอึก ขับผายลม แก้ลมขึ้นเบื้องสูง
ใบกุ่มบก : ขับลม ฆ่าพยาธิ แก้กลาก-เกลื้อน แก้ตะมอย
แก่นกุ่มน้ำ : แก้นิ่ว
แก่นกุ่มบก : แก้ริดสีดวง

กุ่มเป็นต้นไม้ประเภทไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว ทรงพุ่ม ใบและดอกงดงามพอที่จะปลูกเป็นไม้ประดับได้ โดยเฉพาะกุ่มน้ำบางชนิดที่บางท้องถิ่นเรียกว่า ต้นอำเภอ (ชื่อพฤษศาสตร์ Crateva macrocarpa) มีดอกโตกว่ากุ่มน้ำธรรมดาเท่าตัว และช่อโตแน่น น่าปลูกเป็นไม้ประดับมาก และมีคุณสมบัติต่างๆ เช่นเดียวกับกุ่มน้ำชนิดอื่น

ในตำราปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของชาวไทยถือว่ากุ่มเป็นต้นไม้มงคล กำหนดให้ปลูกทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) ของตัวบ้าน จะเป็นสิริมงคลต่อผู้อาศัยในบ้านเรือน

เดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ระดับน้ำในภาคกลางของไทยสูงมากในรอบ 10 ปี ชาวไทยน่าจะหาโอกาสเดินทางไปตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองกันบ้าง เชื่อว่าคงได้พบต้นกุ่มยืนต้นตามริมฝั่งให้ชื่นใจเป็นแน่


ข้อมูลสื่อ

187-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 187
พฤศจิกายน 2537
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร