• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิก : ผักพื้นบ้านดอกงามจากป่าหิมพานต์

จิก : ผักพื้นบ้านดอกงามจากป่าหิมพานต์

ลิงลมเอย มาอมข้าวพอง
เด็กน้อยทั้งสอง มาทัดดอกจิก

 

บทเพลงที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นเพลงร้องประกอบของเด็กภาคกลางในอดีต ชื่อเพลง “ลิงลม” ใช้ร้องประกอบการเล่นที่เรียกว่า “ลิงลม” เช่นเดียวกัน การที่เลือกเนื้อเพลงตอนนี้มา ก็เพราะมีข้อความบรรยายถึงเด็กสองคนนำดอกจิกมาทัด (หู)

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่าน(โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่)เมื่อเห็นชื่อ “ดอกจิก” ก็จะนึกถึงไพ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ไพ่ป๊อก” เพราะไพ่ป๊อกนั้นมีลวดลายหลักอยู่ 4 ชนิด คือ โพดำ โพแดง ข้าวหลามตัด และดอกจิก ซึ่งในพจนานุกรมไทยฉบับมหาวิทยาลัยของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ให้คำอธิบายว่า “ดอกจิก(น.) ลายที่มีลักษณะรูปโค้งสามโค้งบรรจบกันอย่างลายหน้าไพ่ป๊อกชนิดหนึ่งมีสามแฉกใบมน”
แต่ในสมัยที่เพลง “ลิงลม” เกิดขึ้น และนิยมร้องเล่นกันนั้น คำว่า “ดอกจิก” มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ดังเห็นได้จากหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ฉบับปี พ.ศ. 2416 ให้ความหมายว่า “ดอกจิก : เป็นชื่อดอกแห่งต้นจิกนั้น ดอกเป็นพวงห้อยย้อยดูงาม” เมื่อทราบความหมายของดอกจิกในเพลง “ลิงลม” ก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมเด็กทั้งสองจึงนำดอกจิกมาทัด(หู) เพราะนอกจากความงดงามของดอกที่เป็นพวงสะดวกแก่การนำมาทัดหูแล้ว จิกยังเป็นต้นไม้พื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในภาคกลาง(สมัยก่อน)อีกด้วย

จิก : ความหลากหลายในสายสกุลเดียวกัน
จิกเป็นชื่อภาษาไทยของกลุ่มไม้ยืนต้นหลายชนิด(มีมากกว่า 10 ชนิด) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสกุลเดียวกันคือสกุล (Genus) Barringtonia จิกที่ชาวไทยรู้จักคุ้นเคยมากเป็นพิเศษมี 2-3 ชนิด เช่น จิกนา (Barringtonia acutangula Gaertn.) จิกบ้านหรือจิกสวน (Barringtonia racemosa Roxb.) และจิกน้ำ (Barringtonia edaphoearpa Gagnep.) ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จึงจะขอยกตัวอย่างมาในที่นี้เพียงชนิดเดียวคือ จิกสวน ซึ่งชาวไทยนิยมนำใบอ่อนมาใช้เป็นผักจิ้มอย่างหนึ่ง



จิกบ้านหรือจิกสวนเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง โตเต็มที่สูงไม่เกิน 15 เมตร ทรงพุ่มงดงาม ใบคล้ายชมพู่สาแหรก รูปไข่ มีขนใต้ใบ ขนาดใบกว้าง 10-12 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม เส้นใบเป็นสีชมพู ใบสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดสีชมพูแดง ดอกเป็นพวง ช่อยาว กลีบดอกสีขาว เกสรสีแดง เมื่อออกดอกเต็มต้นห้อยย้อยเป็นพวง งดงามมาก ลักษณะช่อดอกคล้ายแปรงล้างขวด จึงมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Bottle Brush Oak ชอบขึ้นในที่ลุ่มหรือชื้นแฉะ เช่น ตามริมฝั่งน้ำหรือคูคลอง ตามร่องสวน เป็นต้น

จิกสวน (และจิกอื่นๆ) มีถิ่นกำเนิดในในประเทศไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเกาะชวาของอินโดนีเซีย หลายประเทศนิยมนำมาปลูกและกินใบอ่อนเป็นผักสดเช่นเดียวกับชาวไทย
ในประเทศไทยเรียกจิกในชื่ออื่นๆด้วย เช่น ภาคอีสานเรียกว่ากระโดนทุ่ง หรือกระโดนน้ำ ซึ่งอาจทำให้สับสนกับต้นกระโดน ซึ่งเป็นต้นไม้ต่างสกุล แต่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และใบอ่อนนำมาใช้เป็นผักสดเช่นเดียวกับใบจิก

ประโยชน์จากจิก
ใบอ่อนของจิกหลายชนิด โดยเฉพาะจิกสวน นำมากินเป็นผักสด มีรสชาติดีเฉพาะตัว (ค่อนข้างฝาดเล็กน้อย) นิยมกินกันไม่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น แต่ชาติอื่นๆก็นิยมกินเช่นเดียวกัน
ดอกจิก(ของต้นจิก ไม่ใช่ในไพ่ป๊อก) มีความงดงามเป็นที่นิยมในหลายท้องถิ่น นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ในประเทศไทยนิยมปลูกตามวัดวาอาราม เพราะนอกจากทรงพุ่มและดอกงดงามแล้ว (โดยเฉพาะจิกนา)
 
จิกยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอีกด้วย กล่าวคือในพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิแล้ว ทรงย้ายไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก 7 วัน ชื่อในภาษาบาลีของต้นจิกคือ มุจลินท์(หรือมุจจลินท์) ในระหว่างนั้นมีฝนตกพรำและลมหนาวพัดตลอดเวลา พญานาคตนหนึ่งชื่อ พระยามุจลินท์นาคราชจึงแผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนและลมหนาวตลอดทั้ง 7 วันใต้ต้นจิกนั้น
นี่คือมูลเหตุของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และพระพุทธรูปปางนาคปรกนี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันของผู้ที่เกิดวันเสาร์
ในบางคัมภีร์กล่าวว่า ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่แห่งหนึ่งชื่อสระมุจลินท์ มีต้นจิกขึ้นอยู่ตามขอบสระนี้เป็นจำนวนมาก หากถือตามความเชื่อนี้ ต้นจิกมีต้นกำเนิดมาจากป่าหิมพานต์เลยทีเดียว

เนื้อไม้จิกเป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาวแกมแดง เหนียว ใช้ก่อสร้างในร่มได้ดี หรือใช้ทำเครื่องใช้ เครื่องเรือน ทำเรือ ทำเกวียน ทำครก สาก พาย เป็นต้น
เปลือกของดอกจิกหลายชนิดใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ โดยเฉพาะจิกเล (B.asiatica kurz.) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Poison Fish Tree เพราะชาวประมงนิยมใช้เบื่อปลากันแพร่หลายทั่วไปหลายชนชาติ

ประโยชน์ด้านสมุนไพรของจิก
ชาวไทยรู้จักนำส่วนต่างๆ ของจิกมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆได้มากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในตำราประมวลสรรพคุณยาไทยและตำราสรรพคุณสมุนไพรได้กล่าวถึงสรรพคุณทางยาของจิกเอาไว้หลายประการ เช่น
ใบ รสฝาด สมานบาดแผล ชัก ธาตุแก้อุจจาระพิการ แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด
ต้น แก้ปวดศีรษะ เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะพิการ
เนื้อไม้ ขับระดูขาว
ราก เป็นยาระบาย
เมล็ด แก้เยื่อตาอักเสบ แก้อาเจียน แก้ไอ แก้แน่น แก้ไข้ตัวร้อน เป็นต้น

ในตำราปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของชาวไทยไม่มีกล่าวถึงจิกเอาไว้ หมายความว่า ไม่มีข้อห้ามและไม่ถือเป็นไม้มงคลพิเศษกว่าต้นไม้ทั่วไป แต่หากผู้อ่านท่านใดมีพื้นที่บ้านมากพอก็น่าหาจิกชนิดมดชนิดหนึ่ง(หรือหลายชนิด)มาปลูกเอาไว้บ้าง เพราะนอกจากประโยชน์ด้านปัจจัยสี่แล้ว ดอกของจิกก็นับเป็นดอกไม้ที่งดงามน่าชมมาก

จำได้ว่าเมื่อตอนผู้เขียนยังเด็กอยู่นั้น ถูกผู้ใหญ่ห้ามมิให้มองดอกจิก และขู่ว่าหากมองจะทำให้เป็นโรคตาแดง(เหมือนสีดอกจิก) แต่ผู้เขียนก็อดมองครั้งละนานๆไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าดอกจิกนั้นงดงามจริงๆ แต่ก็ไม่เป็นโรคตาแดงแต่อย่างใด
สาเหตุที่ผู้ใหญ่ห้ามเช่นนั้นคงเพราะกลัวละอองเกสรของดอกจิกจะร่วงปลิวเข้าตา ทำให้ตาอักเสบและแดงได้นั่นเอง

หากผู้อ่านต้องการปลูกต้นจิกเป็นไม้ประดับ ก็อาจเลือกจิกบางชนิดที่มีดอกงดงามเป็นพิเศษ เช่น จิกนา เป็นต้น หากผู้อ่านเป็นพุทธศาสนิกชนก็อาจปลูกต้นจิก(มุจลินท์)เอาไว้เป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันได้อีกด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เกิดวันเสาร์(ชาวพุทธ)น่าจะถือว่าจิก(มุจลินท์)เป็นต้นไม้ประจำวันเกิดเลยทีเดียว

ข้อมูลสื่อ

188-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 188
ธันวาคม 2537
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร