• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาที่อาจทำให้เกิดความดันเลือดสูง

"คุณหมอคะ อยากให้คุณหมอช่วยตรวจเช็กความดันให้หน่อยได้ไหมคะ ”

หญิงสาววัยไม่ถึง 30 ปี เมื่อหลายวันก่อนไปหาหมอที่คลินิกใกล้บ้าน ถูกตรวจพบว่ามีความดันสูง จึงมาที่โรงพยาบาลเพื่อเช็กให้แน่ครั้งอีกครั้ง

คราวนี้หมอตรวจความดันตัวบน 150 และตัวล่าง 100 มิลลิเมตรปรอท ยืนยันว่ามีความดันสูงจริง ( ปกติความดันตัวบนจะมีค่าต่ำกว่า 90 )
คุณหมอรู้สึกประหลาดใจมาก เนื่องเพราะโรคความดันเลือดสูงมักจะพบในคนที่มีอายุมากกว่า 30-40 ปีขึ้นไป
“ เมื่อคืนนอนหลับดีหรือไม่ หรือมีเรื่องคิดวิตกกังวลอะไรหรือไม่ ” คุณหมอพยายามถามไล่หาสาเหตุการที่นอนไม่พอ หรือมีความเครียด อาจทำให้เกิดความดันสูงได้
คำตอบก็คือ “ นอนหลับดี และไม่มีเรื่องคิดวิตกอะไรค่ะ ”
“ ระยะนี้กินยาอะไรอยู่หรือไม่ ” คุณหมอถามต่อ
“ ดิฉันไม่ได้กินยาอะไร ” หญิงสาวตอบ สักครู่คล้ายจะนึกอะไรออก จึงพูดต่อว่า “ อ้อ...จะว่าไม่ได้กินอะไรเลยก็คงไม่ถูก ดิฉันกินยาคุมกำเนิดคืนละเม็ดอยู่ประจำมา 3-4 เดือนแล้ว คุณหมอว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าคะ ”
“ อาจจะเกี่ยวข้องกันก็ได้ จึงอยากให้ลองหยุดกินยาคุมกำเนิดดูก่อน ”
“ อีก 1-2 สัปดาห์มาวัดความดันดูใหม่ ถ้าความดันลงดีก็เพราะยาคุม แต่ถ้าไม่ลงก็ต้องตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ต่อไป ”


ผลปรากฎว่า หลังหยุดยาได้ 2 สัปดาห์ ความดันของหญิงสาววัดได้ ตัวบน 120 และตัวล่าง 80 ซึ่งมาสู่ระดับปกติ คุณหมอจึงแนะนำให้หญิงสาวหันไปคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นแทนยาเม็ดคุมกำเนิด
โรคความดันเลือดสูงก็หายดังปลิดทิ้ง

ตัวอย่างข้างต้น เป็นอุทาหรณ์หนึ่งของโรคของโรคความดันเลือดสูง อันเกิดจากยาเป็นเหตุ
ความจริงแล้ว กว่า 90 ใน 100 คน ที่มีความดันเลือดสูง มักจะตรวจไม่พบสาเหตุที่แก้ไขได้ เรียกว่า “ ความดันเลือดสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ” ( มักมีส่วนเกี่ยวข้องกรรมพันธุ์ )

มีไม่ถึง 10 คนใน 100 คนที่อาจมีสาเหตุจากการเป็นโรคไต โรคต่อมไร้ท่อ ความผิดปกติของหลอดเลือดแดง รวมทั้งเกิดจากยา

คนไข้ที่เป็นความดันเลือดสูงจากโรคต่าง ๆ ถ้าไม่สามารถรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุได้ ความดันสูงก็จะหายได้
ส่วนกลุ่มที่มีความดันสูงจากยา ถ้าหยุดยา ความดันสูงก็จะหายได้ กลุ่มนี้มักมีสาเหตุจากการกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากยาชนิดอื่น ๆ ( ดูตาราง )

 

ยาที่อาจทำให้ความดันเลือดสูง
- ยาเม็ดคุมกำเนิด
- ยาสเตียรอยด์ (อาจอยู่ในรูปของยาชุด ยาลูกกลอน)
- ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ใช้แก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ)
- ยาขยายหลอดลม (รักษาอาการหืดหอบ)
- ยาแก้คัดจมูก (มักผสมอยู่ในยาเม็ดแก้หวัดคัดจมูก)
- ยาลดความอ้วน (กลุ่มแอมเฟตามีน)

ในแง่ปฎิบัติ ถ้าพบว่ามีความดันเลือดสูง จำเป็นต้องสืบหาสาเหตุดูก่อน ถ้าสงสัยว่าเกิดจากยา ก็ลองหยุดยาดู หากไม่ได้ผลก็ต้องค้นหาสาเหตุอื่น ๆ ต่อไป และถ้าไม่ทราบสาเหตุ ก็ต้องปฏิบัติตัว ( เช่น ออกกำลังกาย ลดอาหารเค็มและสารโซเดียม ถ้าอ้วนให้ลดน้ำหนัก ฯลฯ ) และอาจต้องกินยาลดความดันตลอดไป
 

ข้อมูลสื่อ

271-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 271
พฤศจิกายน 2544
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ