• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำดื่มและเกลือแร่

น้ำดื่มและเกลือแร่

 

ความทรงจำที่เคยช่วยผู้ใหญ่ที่บ้านรองน้ำฝนไว้ใช้บริโภคยังไม่จางหายไปสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันพบว่าน้ำฝนจากฟากฟ้ากรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และบางพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ดื่มเสียแล้ว เพราะปนเปื้อนฝุ่นละออง และสารพิษ ที่มองไม่เห็นในอากาศอีกด้วย โดยเฉพาะหมอกควันที่มาจากอุตสาหกรรมและจากการจราจร

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำดื่มบรรจุขวดกันมากขึ้น และธุรกิจ การผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังที่เห็นจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนับสิบๆยี่ห้อ  น้ำดื่มที่เคยเป็นของฟรีของคนไทยมาแต่โบราณกำลังจะหมดไป ปู่ย่าตาทวดก็คงต้องสะดุ้งตัวลอย  เมื่อรู้ว่าน้ำดื่มปัจจุบันกำลังจะมีราคาแพงกว่าน้ำมันรถเสียแล้ว  เดือนนี้ก็เลยอยากจะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดและผลิตภัณฑ์อื่น  คือ  น้ำแร่ เพื่อให้ได้รู้จักกระบวนการผลิตและการเลือกซื้อ

ชนิดตามมาตรฐาน
หน่วยงานฝรั่งที่ชื่อ สมาคมน้ำบรรจุขวดนานาชาติ (International Bottled Water Association) ได้ให้คำจำกัดความสำหรับน้ำบรรจุขวดไว้อย่างเข้าใจง่าย ดังนี้

ก. น้ำดื่ม(Drinking water) หมายถึง น้ำที่ผลิตจากแหล่งที่มีคุณภาพดี(ผ่านการรับรองแล้ว) และอาจผ่านกระบวนการที่ทำให้มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ผลิตต้องพยายามให้ผ่านขั้นตอนน้อยที่สุด เพื่อให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดในแง่ต่างๆ

ข. น้ำธรรมชาติ(Natural water) หมายถึง น้ำใต้ดิน ซึ่งรวมถึงน้ำพุ(Spring) น้ำแร่(Mineral) น้ำบ่อ(Well) และน้ำพุที่เจาะขึ้นมาจากแหล่งน้ำใต้ดิน(Artesian well) แต่ไม่รวมถึงแหล่งน้ำสาธารณะหรือน้ำประปา
นอกจากนี้การผลิตน้ำธรรมชาติห้ามไม่ให้ใช้กระบวนการอื่น นอกจากการกรองเศษฝุ่นละอองและการฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ในการจำหน่ายอาจใช้ชื่อว่า Natural water, Spring water หรือ Well water ก็ได้ขึ้นกับแหล่งที่มา

ค. น้ำเพียวริไฟด์(Purified water) หมายถึงน้ำที่ผลิตโดยกระบวนการกลั่น หรือการแยกเอาเกลือแร่ที่ปนอยู่ออก หรือการกรองเอาเกลือแร่ออก(Reverse osmosis)


น้ำทั้ง 3 ชนิด มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยน้ำดื่มมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในท้องตลาดบ้านเรา ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาหารปี พ.ศ. 2522 กำหนดให้เป็นอาหารควบคุมเฉพาะประเภทน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และมีอักษรย่อว่า “ด” (เหมือนกับสำหรับเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท)
ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ตามกฎหมายถือว่าเป็นน้ำแร่ ซึ่งจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะและมีอักษรย่อว่า “นร.”

ผลิตภัณฑ์น้ำเพียวริไฟด์ พบมีจำหน่ายในบ้านเราอย่างน้อย 1 ยี่ห้อ อย่างไรก็ตามมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ยังไม่มีในบ้านเรา จึงใช้มาตรฐานของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และใช้อักษรย่อว่า “ด” เช่นกัน


กระบวนการผลิต
น้ำทั้ง 3 ชนิด ผลิตมาจากแหล่งน้ำและกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน จึงมีผลให้ต้นทุนการผลิต และองค์ประกอบในน้ำมีความแตกต่างกันด้วย ดังจะกล่าวต่อไป

ก. น้ำดื่ม เป็นน้ำที่มาจากแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี โดยอาจเป็นน้ำบาดาลหรือน้ำประปา ซึ่งผ่านการกรองชั้นถ่าน เพื่อดูดกลิ่น และผ่านสารเรซินซึ่งช่วยลดความกระด้างของน้ำลง โดยการจับเกลือแร่ที่มีประจุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม หลังจากนั้นก็ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนในน้ำโดยการผ่านแสงอัลตราไวโอเลตหรือก๊าซโอโซน

ข. น้ำธรรมชาติ หรือน้ำแร่ โดยทั่วไปการผลิตน้ำแร่ไม่มีกระบวนการอื่นใด นอกจากการฆ่าเชื้อตามวิธีเดียวกับน้ำดื่ม น้ำแร่จึงมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำจากแหล่งกำเนิดมาก
ในต่างประเทศมักมีการอนุรักษ์บริเวณโดยรอบจุดที่ผลิตน้ำแร่เป็นอาณาเขตหลายตารางกิโลเมตร มิให้มีกิจกรรมอื่นๆที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสิ่งใดลงในแหล่งน้ำ ทำให้สูญเสียความเป็นธรรมชาติและอาจเกิดอันตรายอีกด้วย ก็เลยอยากให้ลองสังเกตโรงงานที่ผลิตน้ำแร่ในประเทศไทยว่าอยู่ห่างไกลจากชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรมเพียงไร

การที่น้ำแร่มีคุณสมบัติแตกต่างกันตามแหล่งน้ำธรรมชาติจึงได้มีการกำหนดคุณสมบัติในแง่ของความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์นี้ไว้มากมายโดยเฉพาะปริมาณของสารปนเปื้อนต่างๆ ปัจจัยที่นิยมกำหนดบนฉลาก คือ ค่าปริมาณเกลือแร่ หรือในมาตรฐานไทย เรียกว่า ปริมาณของแข็งละลาย ซึ่งมีค่าแตกต่างกันอย่างชัดเจนตามแหล่งน้ำที่ใช้ บางยี่ห้ออาจมีเพียง 100 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่บางยี่ห้ออาจสูงถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ความแตกต่างกันนี้อาจมีผลต่อสุขภาพของบุคคลบางกลุ่มได้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้กำหนดคำเตือนบนฉลากสำหรับน้ำแร่ไว้ ดังนี้

1. “เด็กและหญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน” เพราะทั้งสองกลุ่มมีระบบย่อยอาหารไม่ดีเท่าคนทั่วไป

2. “อาจมีฤทธิ์เป็นยาระบาย” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณซัลเฟต(ยกเว้นแคลเซียมซัลเฟต)มากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

3. “มีสภาพเป็นด่าง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณไบคาร์บอเนตมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

4. “มีสภาพเป็นกรด” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อิสระมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

5. “มีสภาพเป็นเกลือ” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณโซเดียมคลอไรด์มากกว่า 1,000  มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

6. “มีธาตุเหล็กสูง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณเหล็กมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

7. “มีธาตุไอโอดีนสูง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณไอโอดีนมากกว่า 1 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

8. “อาจมีผลให้ปัสสาวะมากกว่าปกติ” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณของแข็งละลายมากกว่า 1,000
มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร หรือปริมาณไบคาร์บอเนตมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ 1 ลิตร
น้ำแร่บางชนิดจำหน่ายในรูปที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คล้ายโซดา ซึ่งก๊าซดังกล่าวอาจมาจากแหล่งน้ำเอง จึงเรียกผลิตภัณฑ์ว่า Naturally carbonated mineral water หรือ Naturally sparkling mineral water หรืออาจมาจากการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไป ซึ่งเรียกว่า Carbonated natural mineral water หรือ Sparkling natural mineral water

ค. น้ำเพียวริไฟด์ที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรม มีหลายวิธี อาจผลิตโดยการกลั่น หรืออาจผลิตโดยการแยกเกลือแร่ออกโดยใช้กระแสไฟฟ้าหรือไฮเปอร์ฟิลเตอร์ ซึ่งหลังจากกรองเพื่อดูดกลิ่นด้วยถ่านแล้ว ก็กรองผ่านวัสดุที่มีขนาดรูเล็กลงเรื่อยๆ จนขนาดสุดท้ายคือ 0.0006 ไมครอน (1 ไมครอน คือ 1 ในล้านส่วนของความยาว 1 เมตร) ขนาดดังกล่าวเล็กกว่าอะตอมของแร่ธาตุหลายชนิด ทำให้แร่ธาตุเหล่านั้นถูกกรองออกจากน้ำ น้ำเพียวริไฟด์ไม่ว่าจะได้มาจากวิธีการใดก็มีความบริสุทธิ์อย่างมาก
ความแตกต่างของน้ำแต่ละชนิด


น้ำที่มีคุณสมบัติได้ตามมาตรฐานน้ำดื่มก็ถือว่าดีพอแล้ว อันที่จริงน้ำประปาในบางพื้นที่และน้ำฝนในหลายๆพื้นที่ก็มีคุณสมบัติดังกล่าว น้ำประปาที่ผลิตจากแหล่งน้ำที่ดีและผลิตอย่างได้มาตรฐานผ่านท่อได้มาตรฐาน ไม่มีการรั่วซึม และผู้บริโภคยอมรับกลิ่นคลอรีนในน้ำได้ ก็ถือว่าเหมาะสมกับการบริโภค
เมื่อเปรียบเทียบน้ำทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว น้ำเพียวริไฟด์ถือว่าบริสุทธิ์ที่สุด เพราะแทบไม่เหลือความกระด้างอยู่เลย แต่ร่างกายคนเราไม่จำเป็นต้องได้รับน้ำที่มีความบริสุทธิ์ขนาดนี้
ส่วนน้ำดื่มที่ผลิตจากแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี และใช้อุปกรณ์การกรองที่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ย่อมทำให้น้ำที่มีคุณภาพดีและเหมาะสำหรับการบริโภค


น้ำแร่แตกต่างจากน้ำทั้งสองชนิดที่กล่าวมา เพราะมีจุดเด่นอยู่ที่ความเป็นธรรมชาติ เกลือแร่ที่อยู่ในน้ำแร่บางชนิดก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามนักโภชนาการมักระบุว่าอาหารที่ดีก็เป็นแหล่งของเกลือแร่ที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องได้รับจากน้ำแร่ซึ่งมีราคาแพงกว่าน้ำชนิดอื่นถึง 2 เท่า
ความคิดเห็นในแง่ของชนิดน้ำก็ได้บอกไปตามข้อเท็จจริง ส่วนการตัดสินใจเลือกก็คงแล้วแต่ความเชื่อ ความศรัทธา และกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคลนั่นแหละ


ปัญหาใหญ่สำหรับผู้บริโภคในบ้านเราขณะนี้ คือการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากมีมากมายหลายยี่ห้อ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จึงเชื่อว่าหน่วยงานของรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมได้อย่างทั่วถึง ผู้บริโภคคงต้องอาศัยการสังเกตโรงงาน และบริษัทผู้ผลิตว่ามีชื่อเสียงที่ยอมรับได้มั้ย คุณภาพของการบรรจุไม่มีการรั่วซึม และความสะอาดของบรรจุภัณฑ์หีบห่อ
อยากจะแนะนำให้ใช้ชนิดของภาชนะบรรจุเป็นอีกปัจจัยในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดด้วย ภาชนะที่นิยมใช้มี 4 ชนิด ขวดแก้ว ขวดพลาสติกใสชนิดแข็ง ขวดพลาสติกใสชนิดกรอบ และขวดพลาสติกขาวขุ่น


ภาชนะบรรจุ 3 ชนิดแรกโดยเฉพาะขวดแก้วมักไม่ทำให้เกิดกลิ่นในน้ำเมื่อเก็บไว้นาน หรือมีการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น ร้อนและตากแดด ซึ่งแตกต่างจากชนิดสุดท้ายซึ่งมักมีกลิ่นพลาสติกปนอยู่ในน้ำ กลิ่นพลาสติกอาจไม่มีปริมาณสูงพอที่จะเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ แต่ก็ทำให้น้ำสูญเสียคุณสมบัติที่ควรจะเป็น


นอกจากนี้การใช้ขวดแก้วและขวดพลาสติกชนิดหนา ก็ยังสามารถนำมาใช้บรรจุใหม่ได้อีก อันจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ด้วย



 

ข้อมูลสื่อ

187-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 187
พฤศจิกายน 2537