• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อใดที่ไม่ควรออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอจะซาบซึ้งในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี บางคนบอกว่าการออกกำลังกายเหมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง เพราะถ้าประพฤติปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรหรือเป็นนิสัยแล้ว หากไม่ได้ออกกำลังกายสักวันจะรู้สึกไม่ค่อยสดชื่นเท่าที่ควร ซึ่งเป็นความจริง (เพราะร่างกายไม่ได้หลั่งสารสุข ‘เอนเดอร์ฟินส์’ ออกมา)

อย่างไรก็ตาม แม้การออกกำลังกายจะมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายมากมายนานัปการ แต่ก็มีหลายกรณีที่เราควรระมัดระวัง หรืองดออกกำลังชั่วคราว ในภาวะใดภาวะหนึ่งต่อไปนี้คือ
1. เจ็บป่วยไม่สบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไข้หรือมีอาการอักเสบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
2. หลังจากฟื้นไข้ใหม่ ๆ ที่ร่างกายอ่อนเพลียอยู่ หากออกกำลังกายในช่วงนี้ จะทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนเพลียและหายช้า
3. หลังจากกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ เพราจะทำให้เลือดในระบบไหลเวียนถูกแบ่งไปใช้ในการย่อยอาหาร เพราะฉะนั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนที่ออกกำลังกายก็จะลดลง ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ และเป็นตะคริวได้ง่าย
4. ช่วงอากาศร้อนและอบอ้าวมาก เพราะร่างกายจะสูญเสียเหงื่อและน้ำมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือเป็นลมหมดสติได้ (สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแกร่งจริงอย่างนักกีฬา)

อาการที่บ่งบอกว่าควรหยุดออกกำลังกาย
ในบางกรณีที่ร่างกายอาจอ่อนแอลงไปชั่วคราว เช่น ภายหลังอาการท้องเสีย อดนอน การออกกำลังกายที่เคยทำอยู่ตามปกติอาจจะกลายเป็นหนักเกินไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีอาการดังกล่าวต่อไปนี้ แม้เพียงอาการเดียวหรือหลายอาการ ควรจะหยุดออกกำลังกายทันที นั่นคือ
1. รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ
2. มีอาการใจเต้นผิดปกติ
3. อาการหายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่วถึง
4. อาการเวียนศีรษะ
5. อาการคลื่นไส้
6. อาการหน้ามืด
7. ชีพจรเต้นเร็วกว่า 140 ครั้งต่อนาที (ในผู้สูงอายุ) หรือ 160 ครั้งต่อนาที (สำหรับหนุ่มสาว)

จำไว้ว่าหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ต้องหยุดออกกำลังกายทันที และนั่งพักหรือนอนพักจนหายเหนื่อย และไม่ควรออกกำลังต่อไปอีกจนกว่าจะได้ไปพบแพทย์ หรือจนกว่าร่างกายจะมีสภาพแข็งแรงตามปกติ

 

ข้อมูลสื่อ

271-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 271
พฤศจิกายน 2544
ออกกำลังกาย
ธารดาว ทองแก้ว