การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการความสุขสบาย ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย และถ้ายิ่งไม่ตายเลยได้ หลายคนก็คงจะดีใจไม่น้อย มนุษย์จึงพยายามคิดค้นหาวิธีที่จะฝืนกฎธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยให้มวลมนุษยชาติมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้วงการแพทย์สมัยใหม่ได้ประกาศความสำเร็จอย่างหนึ่งของพวกเขาออกมา นั่นคือ เทคนิคการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซึ่งสามารถเปลี่ยนอวัยวะจากคนๆ หนึ่งไปให้กับอีกคนหนึ่งได้สำเร็จอย่างงดงาม ยกตัวอย่างเช่น โรคไตวายเรื้อรัง ถ้าเป็นเมื่อก่อนนั้นคนไข้คนนี้คงต้องเสียชีวิต แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือไตเทียมซึ่งทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่ได้ถึงแม้ไตจะไม่ทำงานก็ตาม และยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมีโอกาสเปลี่ยนไตที่สมบูรณ์แทนไตที่เสียไปแล้วได้
การผ่าตัดเปลี่ยนไตในปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคไตพิการหรือไตไม่ทำงานได้ผลจริง ทำให้คนไข้สามารถมีชีวิตยืนยาวได้อีกนาน ในระยะไม่กี่ปีมานี้หมอไทยตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ สามารถทำการผ่าตัดให้คนไข้ได้เป็นจำนวนหลายร้อยรายแล้ว ด้วยการผ่าตัดไตจากคนปกติออกมาเสียข้างหนึ่ง โดยที่คนที่บริจาคก็สามารถมีชีวิตปกติ โดยมีไตเพียงข้างเดียวได้ หรือไม่ก็นำไตมาจากผู้ประสบอุบัติเหตุแล้วมาเปลี่ยนถ่ายให้กับคนไข้ที่รออยู่
ที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนไตเท่านั้น อวัยวะอีกหลายอย่างก็สามารถเปลี่ยนได้ เช่น กระจกตา ปอด กระดูก ผิวหนัง ไขกระดูก ฯลฯ วิทยาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่วงการแพทย์ภูมิใจเป็นหนักหนาที่พวกเขาสามารถทำการเปลี่ยนถ่ายได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนอวัยวะบางอย่าง เช่น ไขกระดูก ก็สามารถดูดออกมาจากผู้ที่มีชีวิตโดยผู้ที่ถูกดูดไขกระดูกออกไปร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลียเล็กน้อย หรือใช้การตัดอวัยวะส่วนที่เป็นกระดูกออกมา โดยที่ผู้ให้รู้สึกเป็นปกติทุกประการก็สามารถทำได้ หรือกรณีที่ตับสูญเสียหน้าที่ไปเนื่องจากดื่มเหล้ามากก็สามารถนำเนื้อเยื่อมาปลูกถ่ายอย่างได้ผลดีเพราะสามารถผลิตอินซูลินขึ้นมาได้อีก
การแพทย์สมัยใหม่ในบ้านเราได้พัฒนามาจากซีกโลกตะวันตก ซึ่งของไทยเราก็รับเข้ามาอย่างชนิดที่เรียกว่าเลียนแบบกันมาเลย มีโรงพยาบาลสมัยใหม่ผุดขึ้นอย่างมากมาย เครื่องมืออันทันสมัยราคาแพงถูกซื้อหาและนำเข้ามากันอย่างขนานใหญ่โดยไม่คำนึงถึงว่าวงการแพทย์ของตะวันตกกำลังเดินเข้าสู่จุดอับหาทางออกไม่พบ ด้วยเทคนิคการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้ก่อปัญหาขึ้นมาแล้วชนิดที่ว่าคาดคิดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมานี้เอง เวลาประมาณ 15.45 นาฬิกา โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับหน้าที่ดูแลร่างเล็กๆ ของเด็กหญิงแรกเกิดคนหนึ่ง ชื่อของเธอ คือ เทเรซา แอนน์ แคมโป เพอสัน ซึ่งกำลังจะหยุดหายใจลง เด็กน้อยมีชีวิตทรมานมากว่า 10 วันแล้ว เพราะตั้งแต่แรกเกิดเด็กน้อยผู้นี้มีสมองไม่ปกติซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยที่พ่อแม่ของเธอไม่รู้ตัวมาก่อนเลย จนกระทั่งตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน หลังจากผ่านการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์จึงรู้ว่าลูกต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอนถ้าถือกำเนิดขึ้นมา
บิดาของหนูน้อยมีอาชีพก่อสร้าง ส่วนมารดามีอาชีพเป็นพนักงานบริการ ทั้งคู่เมื่อทราบข่าวก็รู้สึกเศร้าเสียใจมาก อย่างไรก็ตามพวกเขาได้ยื่นขอต่อศาลว่า อย่างไรเสียหนูน้อยที่น่าสงสารคนนี้คงต้องเสียชีวิตแน่นอน พวกเขาจึงขอบริจาคอวัยวะอัน ได้แก่ ไต ปอด ตับ และหัวใจของลูกให้กับเด็กคนอื่นที่กำลังรอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอยู่
เรื่องราวเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาในโลกเลยด้วยซ้ำ และหลังจากที่ได้นำเรื่องยื่นขอต่อศาล เรื่องราวก็ได้กระจายออกไปทั่วทางสื่อมวลชน สาธารณชนที่ได้รับฟังข่าวนี้ให้ความสนใจกันมาก ได้มีการนำปัญหานี้ขึ้นมาถกเถียงกันในแง่ของศีลธรรมและจริยธรรม แพทย์หลายท่านเห็นด้วยกับการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของครอบครัวนี้ ขณะเดียวกันมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงได้แบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
ข้างฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าสมองของหนูน้อยเทเรซาไม่มี ดังนั้นหนูน้อยจึงไม่ใช่คนที่สมบูรณ์ การนำอวัยวะออกจากอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่คนไม่น่าจะผิดกฎหมาย แต่ฝ่ายคัดค้านแย้งว่า การนำอวัยวะออกจากร่างกายขณะที่เธอยังมีลมหายใจอยู่ เป็นการฆาตกรรมหรือเป็นการฆ่าเพื่อเอาประโยชน์จากอวัยวะนั้น หลังจากผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ ศาลของรัฐฟลอริดาไม่อนุญาตตามคำขอ โดยขอให้หนูน้อยสิ้นลมไปเองอย่างช้าๆ หลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้ว อวัยวะของหนูน้อยนั้นก็ไม่สามารถนำไปใช้เปลี่ยนถ่ายให้กับเด็กคนอื่นได้
นั่นเป็นกรณีหนึ่ง เรื่องราวของความขัดแย้งทำนองนี้ได้เกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 ประชาชนนับหมื่นคนได้ก่อการประท้วงขึ้นที่หน้าศาลรัฐวอชิงตันสนับสนุนการทำแท้งโดยเสรี ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ว่าจะปล่อยให้เสรีดีหรือไม่ ปัญหาไม่ได้มีอยู่เพียงแต่ว่าจะให้หรือไม่ให้นั้น เพราะมีข่าวออกมาว่าวงการแพทย์สมัยใหม่สามารถนำเซลล์ของตัวอ่อนทารกอายุประมาณ 3 เดือน (หลังจากที่ไข่ได้รับการผสมแล้ว) นำไปปลูกถ่ายให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ตับอ่อน สมอง ซึ่งช่วยรักษาโรคทางสมอง และโรคเบาหวานได้ผล
โครงการวิจัยยังคงดำเนินการค้นคว้าต่อไปจนกระทั่งทางรัฐบาลของอเมริกาต้องออกกฎหมายให้ระงับการทดลองทุกประเภทที่เกี่ยวกับการนำเซลล์ตัวอ่อนมาปลูกถ่ายใช้ประโยชน์ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดธุรกิจการค้าขายทารกในครรภ์ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าปล่อยให้มีการทำแท้งโดยเสรี ก็จะเร่งให้เกิดมีการทำแท้งมากขึ้นเพื่อนำทารกในครรภ์ที่ได้ไปแลกเงิน
นางเทย์เดย์ อาศัยอยู่ในรัฐอลาบามา สหรัฐเมริกา อายุ 65 ปี เป็นผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายโดยใช้เนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์ที่ได้มาจากการทำแท้ง ทำให้เธอหายจากโรคทางสมองถึงร้อยละ 80 เธอกล่าวว่า “คนที่ต่อต้านโดยอ้างศีลธรรมและจริยธรรม ลองให้พวกเขาเป็นโรคทางสมองแบบที่ฉันเป็นเพียง 1 เดือน รับรองว่าพวกเขาจะต้องเปลี่ยนใจมาสนับสนุนแน่” นั่นเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตามมันคงเป็นภาพที่โหดร้ายจนเกินไปที่เด็กที่กำลังเกิดมา ไม่ว่าเขาจะมีร่างกายสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม ถูกกะเกณฑ์ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่าจะมีประโยชน์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต ดวงตา หรือแม้แต่สมองก็ตาม
เมื่อไม่กี่วันมานี้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้เสนอข่าวว่า แพทย์ชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบยาชนิดหนึ่ง คือ FK 506 ยานี้ได้มีการผลิตออกขายแล้วที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เป็นยาที่เมื่อฉีดให้กับผู้รับการปลูกถ่าย ร่างกายจะไม่ปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่รับเข้าไป ช่วยให้การปลูกถ่ายอวัยวะง่ายขึ้นกว่าเก่ามาก นับเป็นความก้าวหน้าที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง หันมาว่ากันต่อถึงปัญหาการทำแท้งและการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ดูเผินๆอาจจะไม่มีความเกี่ยวพันกันเลย แต่อันที่จริงแล้วมีความต่อเนื่องกันอย่างลึกซึ้ง การพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะขึ้นมานั้น เกิดจากความประสงค์ที่ดีเพื่อต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ต้องมาทนทุกข์ลำบากกับการสูญเสียและเสื่อมสภาพของอวัยวะสำคัญนั้นๆ แต่บางครั้งการนำชีวิตหนึ่งไปพยุงให้กับอีกชีวิตหนึ่ง ถึงแม้ว่าชีวิตแรกเกิดนั้นจะต้องดับลงไปอย่างแน่นอนแล้วก็ตาม มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วหรือ...
ย้อนกลับมาที่พ่อแม่ของหนูเทเรซาซึ่งเชื่อว่าการร้องขอต่อศาลเพื่อบริจาคอวัยวะให้มีประโยชน์ต่อลูกคนอื่นนั้นเป็นการเสียสละ เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสม แต่ถ้ามองในแง่ของจริยธรรมและคุณธรรม คนทั่วไปอาจจะยังยอมรับไม่ได้ กรณีดังกล่าวถึงแม้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม แต่ในอนาคตถ้าเรายังพัฒนาการแพทย์ตามตะวันตกตลอดไป โดยลืมมองสภาพของสังคมไทย เชื่อว่าต้องพบปัญหานี้แน่ ส่วนปัญหาอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ข้อสำคัญประเทศของเราไม่ได้ร่ำรวยเหมือนกับพวกเขา จึงขอฝากให้ผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายในเรื่องนี้โปรดทบทวนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจกระทำการใดๆ อันจะส่งผลสืบเนื่องในระยะยาวต่อไป
ข้อมูลจาก U.S.News & World Report, April 13, 1992.
- อ่าน 5,324 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้