• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาลโตนด : ตัวแทนความหวานและความสูง

ตาลโตนด : ตัวแทนความหวานและความสูง


      วัดเอยวัดโบสถ์         มีต้นโตนดอยู่เจ็ดต้น
เจ้าขุนทองไปปล้น        ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา
คดข้าวออกใส่ห่อ           จะถ่อเรือออกไปหา
เขาก็เล่าลือมา                ว่าเจ้าขุนทองตายแล้ว
เหลือแต่กระดูกแก้ว         เมียรักจะไปปลง
ขุนศรีจะถือฉัตร                ยกกระบัตรถือธง
ถือท้ายเรือหงส์               ปลงศพเจ้าพ่อนา


เพลงกล่อมเด็กบทนี้คัดมาจากหนังสือ “บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับสอบ” ของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งรวบรวมบทกลอนกล่อมเด็กในเขตมณฑลกรุงเทพฯ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2463 แต่มีผู้สันนิษฐานว่า บทกลอนกล่อมเด็กบทนี้คงเป็นของเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นตำนานกล่าวถึงวีรกรรมของชายชื่อ “ขุนทอง” ซึ่งออกไปปล้นค่ายทหารพม่าจนตัวตาย และได้รับการปลงศพอย่างสมเกียรติจากทางการ

กลอนบทนี้เคยมีผู้นำมาใช้ยกย่องสรรเสริญ “วีรชน” ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 17-20 พฤษภาคม 2535 ขึ้น ก็สมควรนำบทเพลงกล่อมเด็กบทนี้ขึ้นมาใช้ยกย่องสรรเสริญผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้อีก เพราะความตายของเขาเหล่านั้นมีคุณค่าและจะกลายเป็นตำนานเล่าขานสืบไปในอนาคตเช่นเดียวกับเรื่องของ “เจ้าขุนทอง” ในบทเพลงกล่อมเด็กบทนี้มีชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ “ต้นโตนด” ฉบับนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักกับต้นตาลโตนดในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยเท่าที่หน้ากระดาษจะอำนวย

หัวนอนปลายเท้าของตาลโตนด

ตาลโตนดมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Palmyra Palm มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Borassus flabellifer Linn. มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา ต่อมาได้ขยายพื้นที่ปลูกจนถึงอินเดียตอนใต้ และมาถึงประเทศไทยภายหลังจากนั้น

ท่านพุทธทาสภิกขุได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือ “แนวสังเขปโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” ว่า “ต้นตาลจะมีทุกแห่งที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดีย มีผู้เชื่อว่าชาวอินเดียที่เข้ามานั่นเองได้นำเอาพืชพันธุ์ต้นตาลติดมาด้วย และปลูกจนเป็นไม้สำคัญทั่วไปในประเทศไทย” จากข้อสันนิษฐานนี้เมื่อนำไปพิจารณาดูก็น่าจะมีมูลความจริงมาก เพราะแหล่งที่มีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่มากเป็นพิเศษมาตั้งแต่อดีตล้วนแล้วแต่เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีการติดต่อกับอินเดียมาก่อนทั้งสิ้น เช่น เมืองเพชรบุรี สุพรรณบุรี (อู่ทอง) ชัยนาท (สวรรค์บุรี) นครปฐม (นครชัยศรี) สงขลา นครศรีธรรมราช ไชยา ฯลฯ เป็นต้น และจังหวัดที่มีต้นตาลมากเป็นพิเศษจนเป็นที่กล่าวขานกันในอดีตก็คือสุพรรณบุรีและเพชรบุรี

คำว่า “ตาล” เป็นภาษาฮินดี แสดงว่า ชาวไทยเรียกชื่อตาลตามอย่างชาวอินเดีย สำหรับในประเทศไทยนั้นเรียกตาลโตนดหลายชื่อ เช่น ตาลโตนด ตาลใหญ่ ตาลนา ปลีตาล (เชียงใหม่) ตะโหนด (ใต้) เป็นต้น ตาลโตนดเป็นไม้วงศ์ปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าว แต่ตาลโตนดมีความแข็งแรงทนทานและอายุยืนยาวกว่ามะพร้าวมาก

ตาลโตนดขึ้นได้บนดินทุกชนิด ทนทั้งความแห้งแล้งและน้ำท่วม มีรากลึกมากจึงไม่พบว่า ตาลโตนดถูกพายุพัดจนถอนรากถอนโคนเลย รากของตาลโตนดไม่แผ่ออกทางด้านข้าง จึงสามารถปลูกร่วมกับพืชอื่นได้ดี เช่น ตาลโตนดที่ขึ้นอยู่ในนาข้าวก็ไม่ทำให้ผลผลิตของข้าวลดลง ดังจะเห็นจากนาในเขตอำเภอสะทิงพระและสิงหนครในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่หนาแน่นมาก ก็ยังคงทำนาได้ผลดี ในขณะเดียวกันต้นตาลโตนดยังช่วยป้องกันลมพายุและเป็นที่อยู่อาศัยของนกและค้างคาว ซึ่งช่วยควบคุมแมลงและให้ปุ๋ยแก่นาข้าวอีกด้วย

ประโยชน์ของตาลโตนด

ตาลโตนดเป็นพืชสารพัดประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทุกส่วนของตาลโตนดล้วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น อย่างแรกที่รู้กันดีที่สุด คือ ตาลโตนดเป็นพืชให้น้ำหวานที่เรียกตามชื่อว่า “น้ำตาล” นั่นเอง น่าสังเกตว่าคนไทยเรียก “น้ำตาล” ไม่เฉพาะน้ำหวานที่ได้จากต้นตาลโตนดเท่านั้น หากแต่ใช้เรียกน้ำหวานจากพืชอื่นๆด้วย ไม่ว่าจากอ้อย จากมะพร้าวก็ตาม แสดงว่าแต่เดิมคนไทยรู้จักน้ำตาลจากต้นตาลโตนดก่อนพืชชนิดอื่น หรืออีกอย่างคือน้ำตาลโตนดเป็นน้ำตาลที่คนไทยนิยมมากที่สุด

น้ำตาลโตนดได้จากช่อดอกของตาลตาลโตนด หรือที่เรียกว่า “งวงตาล” ช่อดอกนี้มี ๒ ชนิด คือ ตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งใช้ทำน้ำตาลได้ทั้งสองชนิด ประโยชน์จากตาลโตนดที่ชาวไทยรู้จักดี ก็คือ

ผลของตาลโตนดนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง ผลตาลอ่อน นำมาแกง เมล็ดในอ่อน (ลอนตาล) ใช้เป็นผลไม้หรือทำขนม เช่น ลอนตาลลอยแก้ว

เมล็ดแก่ นำมาแกะให้งอกแล้วผ่าจะได้จาวตาล นิยมนำมาเชื่อมน้ำตาล ผลตาลสุก ใช้เนื้อทำขนมตาลได้อร่อยมาก เพราะมีกลิ่นพิเศษ

ใบตาลอ่อน นำมาจักสานได้เช่นเดียวกับใบลาน เช่น ทำตะกร้า หมวก เสื่อ กระเป๋า พัด ฯลฯ เส้นใยแข็งบริเวณโคนใบใช้ทำแปรง ไม้กวาด เชือก เส้นใยจากผลแก่ก็ใช้ทำเชือกได้

ลำต้นตาลโตนด ลักษณะกลมตรง อาจยาวถึง 40 เมตร แข็งแรงทนทานมาก นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ส่วนโคนต้นนำมาขุดใช้เป็นเรือเรียกเรืออีโปง ลำต้นตัดขุดไส้กลางออกใช้ทำท่อน้ำ สะพาน กลอง เสา เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ไม้เท้า เก้าอี้ โต๊ะ ด้ามร่ม ไม้ตีพริก (สาก) กรอบรูป ฯลฯ

ใบแก่ ใช้ทำพัดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ตาลปัตร” พระภิกษุในศรีลังกาและพม่ายังใช้ประกอบพิธีกรรมอยู่ ใบแก่ยังใช้มุงหลังคาบ้านได้ดี นิยมกันมากในอินเดีย และก้านใบที่เรียกว่า “ทางตาล” นำมาทำเก้าอี้และโต๊ะได้

ในด้านสมุนไพร ชาวไทยใช้งวงตาล (ช่อดอก) กินแก้ตาลขโมยในเด็ก แก้พิษตานซาง ขับพยาธิ

น้ำคั้นจากก้านใบสดย่างไฟแก้ท้องร่วง แก้ปากเปื่อย ส่วนรากเป็นยาชูกำลัง ขับเลือด แก้พิษตานซาง

แม้ต้นตาลโตนดจะมีประโยชน์ต่อชาวไทยมากมาย แต่คนไทยกลับไม่นิยมปลูกต้นตาลโตนด ซึ่งเหตุผลข้อสำคัญคงเป็นเพราะต้นตาลโตนดโตช้า กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลากว่าสิบปี ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีสมัยก่อนชาวสุพรรณนิยมปลูกต้นตาลโตนดเมื่อเกิดบุตรชายในครอบครัว มีผู้วิเคราะห์ว่าจุดประสงค์หลัก คือ เมื่อบุตรชายมีอายุครบบวช (20 ปี) ต้นตาลโตนดนั้นก็โตพอทำน้ำตาลได้แล้ว ซึ่งน้ำตาลโตนดนิยมนำมาทำน้ำตาลเลี้ยงแขกในงานบวชที่มักมีงานฉลองกันข้ามวันข้ามคืน

คนไทยมักนำต้นตาลโตนดไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสูง แม้ต้นตาลโตนดจะไม่ใช่ต้นไม้ที่สูงที่สุดของไทย แต่เนื่องจากลำต้นตาลโตนดไม่มีกิ่งก้านสาขา และมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับความสูง จึงทำให้มองเห็นว่าต้นตาลโตนดสูงมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังนำไปเปรียบเทียบกับ “ของสูง” คือ ของมีค่าที่อยู่สูงส่งได้มายาก คือ ความหวานที่อยู่บนยอดตาล ผู้ที่อยากลิ้มรสหวานต้องปีนป่ายไปถึงยอด ซึ่งยากลำบากและเสี่ยงต่ออันตรายจากการพลัดตกลงมาด้วย

ข้อมูลสื่อ

159-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 159
กรกฎาคม 2535
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร