• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กไทยได้รับยาปฏิชีวนะเกิน

เด็กไทยได้รับยาปฏิชีวนะเกิน

ปัจจุบันเด็กไทยเวลาไม่สบายนิดหน่อยหรือเป็นหวัด พ่อแม่มักจะพาไปหาหมอ หรือซื้อยากินเองโดยดูจากยาเก่า หรือใช้ยาเก่า ฯลฯ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เด็กได้รับยาไม่เหมาะสม ได้รับยาเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ

จากการศึกษาในโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครพบว่า กุมารแพทย์และแพทย์ฝึกหัด สั่งยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นให้เด็กที่เป็นหวัดกินถึงร้อยละ 78 และจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กในภูมิภาคได้รับยาที่ไม่เหมาะสมเพียงร้อยละ 34 นอกจากนี้เด็กที่เข้ารับการรักษาตามคลินิกเอกชนก็มีแนวโน้มจะได้รับยาปฏิชีวนะเกือบร้อยละ 100

ในอีกโรงพยาบาลหนึ่งพบว่าเด็กที่หมอสั่งยาปฏิชีวนะให้กิน พ่อแม่กลับให้กินไม่ถูกต้องถึงร้อยละ 90 เช่น ละลายยาโดยใช้น้ำอุ่น กินยาขนาดน้อยไปหรือมากไป บางรายกินซ้ำๆ เข้าไป โดยคิดว่าจะทำให้หายเร็ว เป็นต้น

โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นร้อยชนิด ซึ่งยังไม่มียาใดฆ่าเชื้อหวัดได้ ยาปฏิชีวนะฆ่าเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น  และจะใช้ก็ต่อเมื่อเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น หูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบบางราย การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อโรคธรรมดาๆ ที่อาศัยอยู่ในร่างกายคนดื้อต่อยาได้ ทำให้ต้องใช้ยาสูงขึ้นเรื่อยๆ  ขณะนี้เชื้อโรคปอดบวมในเด็กดื้อต่อยาพื้นฐานสูงถึงร้อยละ 10-30 

ในปีหนึ่งๆ เราต้องสูญเสียมูลค่าของยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นประมาณ 500 ล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์ได้ประมาณค่าความสูญเสียของยาอื่นๆ รวมกับค่าเสียเวลาในการประกอบอาชีพของพ่อแม่ไว้เกือบ 8,000 ล้านบาท 

หากเด็กเป็นหวัดควรให้กินยาน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ถ้าเด็กมีไข้สูงให้เช็ดตัวและอาจให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ถ้าเด็กไอให้จิบน้ำอุ่นบ่อยๆ หรือให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือให้ยาแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก

             

                    **************************************************************

พ.ญ.ประมวญ สุนากร
ที่ปรึกษาโครงการควบคุมกลุ่มโรคหวัดและปอดบวม องค์การยูนิเซฟและกระทรวงสาธารณสุข

 

ข้อมูลสื่อ

210-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 210
ตุลาคม 2539
เรื่องน่ารู้
พญ.ประมวญ สุนากร