• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อย่างเข้าวัยสูงอายุ ถึงเวลาเกษียณอายุ

เมื่อย่างเข้าวัยสูงอายุ ถึงเวลาเกษียณอายุ

นิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ขอต้อนรับผู้เกษียณอายุงานประจำปี 2539 ทุกท่าน จากข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม จากรัฐวิสาหกิจ และจากบริษัทห้างร้านทั้งที่เป็นบริษัทธรรมดาและบริษัทมหาชนทั่วประเทศ

ผู้เกษียณอายุงานในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นอายุที่บรรดาประเทศส่วนใหญ่ในโลกยอมรับกัน จะเรียกว่าเป็นสากลนิยมก็ได้ แต่ก็ยังมีบางประเทศที่แตกต่างกันบ้างนิดหน่อย เอาเถอะครับจะเกษียณอายุงานกันที่ 55-60 หรือ 70  ปีก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จะกล่าวถึงในโอกาสนี้ก็คือ ทุกท่านที่มีอายุตั้งแต่ 60  ปีขึ้นไป นั้น ถือกันว่าท่านเป็น “ผู้สูงอายุ” หรือจะเรียกให้น่าฟังความรู้สึกที่ดีกว่าก็ต้องว่าท่านเป็น “ผู้อาวุโส” แล้ว

ฉะนั้น ท่านที่เกษียณอายุงานในปีนี้ตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ฯลฯ ก็หมายความว่าบัดนี้ท่านได้ก้าวล่วงเข้ามาในแวววงสังคมของผู้สูงอายุแล้ว โดยมีฐานะเป็นรุ่นล่าสุดของสังคมนี้เป็นเวลา 1 ช่วงปี พอปีหน้าเวลาเดียวกันก็จะมีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ท่านในฐานะรุ่นล่าสุด และจะเป็นเช่นนี้ต่อๆไป ในทุกๆปี

เนื่องจากการเกษียณอายุงานเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ล่วงหน้าเป็นการแน่นอน จึงช่วยให้ผู้ที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์นี้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจวางแผนชีวิตไว้เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกขั้นหนึ่งของชีวิต

ส่วนหนึ่งก็คงจะรับงานที่มีผู้มาทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาบ้าง ประธานบ้าง กรรมการบ้าง สอนหนังสือตามสถาบันการศึกษาบ้าง หรือให้ทำงานลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของท่าน

ส่วนหนึ่งก็อาจเริ่มกิจการเอง อาจจะเป็นงานเล็กๆไปจนถึงงานใหญ่ๆ ที่ต้องลงทุนมาก ต้องเข้าร่วมหุ้นร่วมทุนกันกับญาติสนิทมิตรสหาย เป็นลูกจ้างเขามานาน ตอนนี้ขอเป็นนายทุนและเป็นนายของตัวเองสักที

บางท่านไม่อยากเสี่ยงมาก แต่ก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ แต่จะหวังรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเงินออกม ก็ให้ผลจิ๊บจ๊อยเหลือเกินจากเงินที่อุตสาห์เก็บหอมรอมริบมาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องมีรายได้เพิ่ม อย่ากระนั้นเลย ไปลองเช่าแท็กซี่ขับดีกว่า

บางท่านก็อุทิศตนเพื่องานสังคม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อพี่น้องร่วมชาติ  โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินใดๆ ทำด้วยใจรัก เสียสละ

และก็คงจะมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เตรียมตัวเตรียมใจพักผ่อนกันเต็มที่ หลังจากที่ตรากตรำกับงานมา 30-40 ปี ผู้ที่ชอบเที่ยวชอบทัศนาจรก็คงจะหาโปรแกรมที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ แล้วก็เดินทางไปหาความรู้ความบันเทิง เปิดหูเปิดตากันให้เต็มที่ ถ้าไม่มีอุปสรรคในเรื่องค่าใช้จ่าย

ผู้ที่ชอบทำอาหาร รักงานบ้าน ก็คงจะสมใจและสะใจกันคราวนี้ คงจะเข้าครัวกันวันละหลายเที่ยว บ้านช่องที่เคยรกรุงรังก็คงจะสะอาดเรียบร้อยขึ้น ผู้ที่รักเด็กและพอดีมีหลานๆก็คงจะได้อยู่กับหลานมากขึ้น แทนที่จะอยู่กับเพื่อนร่วมงานอย่างที่เคย

อีกหลายท่านก็คงสรุปให้ตัวเองว่า บัดนี้เราก็ล่วงเข้ามาถึงบั้นปลายของชีวิตแล้ว ได้ใช้ชีวิตช่วงนี้มาตั้ง  30-40 ปี เป็นช่วงชีวิตที่ยาวนานที่สุด ฉะนั้นในช่วงปัจฉิมวัยที่เหลืออยู่นี้ เราควรที่จะต้องสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเสียที  ต้องหมั่นเข้าวัดบำเพ็ญบุญสร้างกุศล ขยันพบพระสงฆ์องค์เจ้าเพื่อฟังเทศน์เสวนาธรรมกับท่านให้จิตใจผ่องแผ้วแจ่มใส (แต่ไม่ต้องให้ถึงศิลปะอาชา)  เตรียมจิตใจให้พร้อมที่จะเดินทางต่อไปยังปรภพ ไม่ต้องเครียด กังวล อดทน วุ่นวาย เหมือนตอนทำงานประกอบอาชีพ ถึงตอนนี้สวรรค์ต้องอยู่ในอกและในใจเป็นแน่แท้

ในที่สุดยังมีอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนมากเสียด้วย ที่ยังหาคำตอบหรือข้อสรุปไม่ได้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านก็คงจะปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ โดยไร้จุดหมาย จะอยู่แบบอย่างไรก็ได้สุดแต่วาสนา โชคชะตาจะพาไป ขอเพียงแต่ให้มีกินมีใช้ไปวันๆก็พอ แล้วก็อยู่อย่างซังกะตาย ว้าเหว่ หงอยเหงา ซึมเศร้า ขลุกอยู่แต่ในบ้านจะไปไหนนอกบ้านทีก็เข็ดขยาด เอือมระอากับสภาพจราจรที่โหดมันแต่ฮาไม่ออกได้แต่กรอกหน้า

ผมยกตัวอย่างที่เป็นจริงมาพอสมควร ทั้งๆที่ยังมีอีกมากมายหลายรูปแบบที่ไม่อาจยกมาจาระไนให้หมดในเนื้อที่อันจำกัด ที่ยกมาเท่านี้ก็เพื่อเป็นทางนำมาสู่ข้อสรุป 2 ประการ ที่ผมอยากจะตั้งชื่อให้ว่า “ทวิสัจจภาพ” ของผู้สูงอายุคือ

1. ท่านไดมาถึงภาวะหรือจุดเสื่อมโทรมครั้งสำคัญ ท่านจะประสบกับความแปรปรวนรวนเรทางร่างกายและจิตใจ เช่น

1.1  อาการอ่อนเพลีย ทั้งๆที่ไม่ได้ทำงานหนักหรือออกแรงทำอะไร
1.2 เสียงที่พูดหรือเปล่งออกมาไม่สดใส ไม่กังวานเหมือนเคย (ยกเว้นผู้ที่กล่องเสียงไม่ดี เสียงแหบแห้ง มาก่อนอายุ 60 ปีแล้ว)
1.3 ลักษณะของการเดินจะเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะกล้ามเนื้อจะเกร็งมากขึ้น
1.4 ความจำเสื่อม จำอะไรได้ไม่นาน ลืมเร็ว แต่กลับจำเรื่องในอดีตได้แม่น
1.5 จะหลับน้อยลง และหลับง่ายตื่นเร็ว บางคนหลับได้แค่วันละ 3-4 ชั่วโมง
1.6 มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจขัดหรือหายใจไม่ออก เป็นลม ฯลฯ1.7 อารมณ์หวั่นไหวง่าย เช่น ขี้ระแวงมากขึ้น ใจน้อย น้อยใจบ่อยขึ้น หดหู่ใจง่ายขึ้น เมื่อประสบเรื่องที่ชวนสงสารเวทนา

นี่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงโรคภัยไข้เจ็บที่สำคัญๆ ที่เกิดกับคนวัยนี้อีกตั้งหลายโรค เช่น เบาหวาน หัวใจ ไต ปอด กระดูก สมอง ฯลฯ

อย่างไรก็ดี อาการที่ให้ผลทางลบดังกล่าวเกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบกันมากบ้างน้อยบ้างตามสภาพร่างกาย – จิตใจ และอายุของแต่ละคน ต้องถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ท่านไม่ต้องไปกังวล หนักอกหนักใจ น้อยเนื้อต่ำใจ ตีโพตีพาย ให้เสียสุขภาพจิตซ้ำเติมเข้าไปอีก ขอเพียงให้ท่านเอาใส่ระแวดระวังตัวของท่าน ไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจ พยายามหาโอกาสใกล้หมอเข้าไว้ หรือพยายามทำใจให้สบาย

2. ขณะเดียวกันท่านก็มาถึงภาวะที่สากลยอมรับกันว่า “ผู้สูงอายุที่เปี่ยมด้วยความรู้มากด้วยประสบการณ์” ท่านคือ “ทรัพยากรอันล้ำค่า” หรือ “หาค่ามิได้ของประเทศชาติ” ท่านคือห้องสมุดเคลื่อนที่ (mobile Library) ที่สามรถนำไปใช้ทุกหนแห่งทั้งแก่ตัวท่านเองและแก่ชนรุ่นหลัง ขอท่านจงภูมิใจเถิด ถ้าไม่แน่จริงก็ผ่านมาถึงจุดนี้ไม่ได้หรอก

เพราะเหตุนี้เอง เราจึงมีวันสำคัญสำหรับผู้มีอายุ 60 ปี ที่เรียกตามภาษาจีนว่า “แซยิด” คนไทยเราพูดกันว่าโอกาสอายุครบ 5 รอบ ลูกหลานเหลนโหลน (ถ้ามีครบ) รวมทั้งญาติสนิทมิตรสหายจะมาร่วมกันแสดงความชื่นชมยินดีถือว่าท่านมีบุญ

และจากนี้ไปท่านจะมีเวลาพักผ่อนเต็มที่ สุขภาพอนามัยของท่านจะดีขึ้น อายุจะยืนยาว อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกๆหลานๆไปชั่วกาลนาน สมดังคำละตินที่ใช้ในโอกาสอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือว่า Ad Multos Annos (อ่านว่า อั๊ด มุลตอส อันนอส) แปลว่า ขอให้ท่านมีอายุยืนนาน (Ad=To Multos=Many Annos=years)

ผมยังมีเรื่องที่จะพูดเกี่ยวกับผู้สูงอายุอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ดูจะถูกมองข้าม ละเลย ทอดทิ้งจากทั้งภาครัฐ และเอกชน “อย่างน่าน้อยใจ” (ประสาคนแก่) ถ้าเป็นสถานภาพของหนุ่มสาว คงจะต้องใช้คำว่า “อย่างน่าเจ็บใจ” 

แม้ว่าสหประชาชาติเคยกำหนดปีของผู้สูงอายุขึ้นเมื่อพ.ศ.2525 ซึ่งปีนั้นตรงกับโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ผลที่ได้จากโอกาสนั้นของผู้สูงอายุในประเทศไทยก็คือรัฐบาลกำหนดให้วันสงกรานต์คือ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันกตัญญูกตเวทีและเป็นวันสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ให้บุตรหลานและเยาวชนได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้สูงอายุ
สหประชาชาติเองก็ได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุขึ้นในปีนั้น เรียกว่า World Assembly on Aying โดยมีหัวข้อสำคัญในด้านสุขภาพ สวัสดิการการครองชีพ และพัฒนาสังคมในด้านเกี่ยวกับแรงงานผู้สูงอายุ

จากปีนั้นถึงปีนี้ 2525-2539 เป็นเวลาถึง 14 ปีแล้ว มีอะไรที่เอื้ออำนวยผู้สูงอายุของประเทศไทยจนเห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมบ้าง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลายได้โปรดให้ข้อมูล ความคิดเห็น ไปบ้าง ถ้าให้ผมคิดเองเขียนเองอยู่ข้างเดียวแบบ One Way Communication ก็คงจะล้าสมัยและคับแคบเอามากๆ เพราะปัจจุบันที่จริงมีมานานนับสิบๆปีแล้วที่มีการพยายามให้สื่อมวลชนไม่ว่าประเภทใด รวมทั้งการเรียนการสอนให้ออกมาในรูปของ Two ways Communication กันทั้งนั้น ผลที่เกิดขึ้นจะได้สมบูรณ์แบบ เป็นการสร้างเจตนารมณ์ประชาธิปไตยแก่ประชาชนอีกวิธีหนึ่ง
 

 

ข้อมูลสื่อ

210-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 210
ตุลาคม 2539
บทความพิเศษ
สามมิติ