• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ปวดข้อกระดูก

ดิฉันขอเรียนขอเรียนถามคุณหมอเกี่ยวกับยาแก้ปวดข้อกระดูก
1. ยาแก้ปวดข้อกระดูกมีผลข้างเคียงทำให้กระดูกผุหรือเปล่า
2. ถ้าในตัวยานั้นมีผลข้างเคียงที่รุนแรงเกินไป้ราควรทำย่างไร
3. เราจะใช้ยาอื่นได้ไหม เช่น พวกยาสมุนไพร
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
ปทุมรัตน์ วิเชียรสาร / นครราชสีมา


ก่อนอื่นต้องขอบอกกล่าวว่าอาการปวดข้อกระดูกนั้นมีสาเหตุต่าง ๆ
ที่พบบ่อยในคนสูงอายุ ก็คือ ข้อเข่าจากภาวะข้อเสื่อม ซึ่งมักเป็นเรื้อรัง และไม่มียารักษาจำเพาะ มีเพียงยาบรรเทาอาการปวด อาการอักเสบของข้อกระดูก

นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุอื่น เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ (มีอาการปวดข้อตามนิ้วมือนิ้วเท้าทุกข้อพร้อมกัน 2 ข้าง พบมากในหญิงอายุ 20-45 ปี) โรคเอสแอลอี (มีอาการปวดข้อแบบโรคปวดข้อรูมาตอยด์ร่วมกับมีไข้เรื้อรัง ผมร่วง มีฝ้าแดงขึ้นที่โหนกแก้ม 2 ข้าง) โรคเกาด์ (มีอาการปวดข้อและบวมที่ข้อนิ้วมือหัวแม่โป้งเท้าหรือข้อเท้าอย่างรุนแรง จนเดินกะเผลก พบมากในผู้ชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป) เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดข้อกระดูกจึงจำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ไม่ควรซื้อยามากินเองอย่างพร่ำเพรื่อ

สำหรับคำถามที่ถามมา ขอตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
1. ยาแก้ปวดข้อกระดูกมักเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบของข้อ
กลุ่มยาที่นิยมใช้แก้ปวดข้อกระดูก ได้แก่ กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไอโบโพรเฟน (ibuprofen), อินโดเมทาซิน (indomethacin), นาโพรเซน (naproxen), ไพร็อกซิแคม (piroxicam), เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่สำคัญคือโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร (อาเจียนเป็นเลือดสด หรือถ่ายอุจจาระดำ) หรือกระเพาะเป็นแผลทะลุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้เป็นประจำในคนสูงอายุที่นิยมกินแก้โรคปวดเข่า นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังอาจทำให้ความดันเลือดสูงได้อีกด้วย

กลุ่มยาอีกประเภทหนึ่งที่นิยมผสมอยู่ในยาชุดแก้ปวดข้อกระดูกก็คือ กลุ่มยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน, เดกซาเมทาโซน) ยานี้ออกฤทธิ์แก้ปวดข้อได้ชะงัด แต่ต้องกินประจำจนเกิดผลข้างเคียง เช่น กระดูกผุ เบาหวาน ความดันเลือดสูง อ้วนฉุ ต่อมลูกหมากไตฝ่อ ความต้านทานโรคต่ำ (ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย) บางครั้งอาจรุนแรงถึงตายได้

2. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ถ้าเป็นโรคปวดเข้าจากภาวะข้อเสื่อม ก็ควรลดน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า พับเข่า การเดินขึ้น-ลงบันได การยืนนานหรือเดินนาน ๆ ทำการบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าให้แข็งแรง ข้อที่ปวดให้ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ หรือใช้ยาทานวด ส่วนยากินก็ให้ใช้เพียงยาพาราเซตามอลบรรเทาปวดเป็นครั้งคราว ยานี้ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัย

3. ยาสมุนไพรยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าใช้แก้ปวดข้อกระดูกได้ผล และข้อควรระวังอย่างยิ่งก็คือ ยาลูกกลอน ที่คิดว่าทำมาจากสมุนไพรนั้น มักจะมีการแอบเอายาสตีรอยด์ผสม ซึ่งจะสังเกตว่ากินได้ผลชะงัด แต่ต้องกินประจำ จนมีอาการน้ำหนักขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งในที่สุดจะเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา ดังกล่าวข้างต้น
 

ข้อมูลสื่อ

272-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 272
ธันวาคม 2544
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ