คงจะรู้จักชื่อกันดีนะครับ เพราะว่ามีรายงานข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ทั้งทางด้านหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ แต่ในรายละเอียดของโรคนี้บางอาจจะยังไม่ทราบ เพียงแต่รู้ว่าน่าจะเกี่ยวกับหนู
โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่พบมากแถบบ้านเราชนิดหนึ่ง ในทางการแพทย์เรียกว่า Leptospirosis ครับ หรือเรียกง่าย ๆ เป็นที่รู้กันสั้น ๆ ว่า Lepto (อ่านว่าเล็ฟโต) โรคนี้มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาหรือเกษตรกรค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและยังเป็นอันตรายถึงตายได้ด้วย
เกิดจากอะไร
ตัวต้นเหตุคือเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งชื่อรวม ๆ ว่า Leptospira เป็นโรคประเภทที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ชนิดหนึ่ง มีสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะนำโรคนี้ได้ ส่วนใหญ่ก็อยู่รอบ ๆ ตัวนั่นแหละ ได้แก่ สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมา แมว วัว ควาย โดยเฉพาะอย่างยื่งตัวสำคัญที่พบบ่อยที่สุดคือ หนูนั่นเอง นี่แหละคงเป็นที่มาของชื่อโรคฉี่หนูนั่นเอง นอกจากนี้ อาจพบในนกหรือปลาบางชนิดได้ แต่น้อยมากครับ
เชื้อโรคพวกนี้เมื่อเข้าไปในสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู มันจะไปอาศัยอยู่ในไตของหนู ขยายจำนวนและพร้อมที่จะเล็ดลอดออกมากับปัสสวะได้ตลอดเวลา เมื่อคนที่เคราะห์ร้ายไปสัมผัสเข้าก็ทำให้เกิดโรคได้
ติดต่อกันได้ไหม
โรคนี้โอกาสติดต่อจากคนสู่คนมีน้อยมากครับ คนที่เป็นโรคนี้จึงสามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องรังเกียจนะครับ แค่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ง่ายมาก เพียงจากฉี่หนูที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ที่แย่ที่สุดคือเชื้อโรคนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน พร้อมที่จะติดต่อมาสู่ผู้ได้รับการสัมผัสทุกเมื่อ
ใครมีโอกาสได้รับเชื้อบ้าง
ทุกคนที่สัมผัสน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ พบว่า ชาวไร่ ชาวนา หรือเกษตรกรมีโอกาสสูงมากที่จะสัมผัสน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ เนื่องจากมีแหล่งน้ำมากมาย ใครจะไปรู้ว่าน้ำที่ไหนบ้างที่มีเชื้อโรคอยู่ คงยากที่จะหลีกเลี่ยง ผิดกับคนในเมืองที่มีโอกาสน้อย อีกพวกหนึ่งที่ระยะหลังพบมากขึ้น คือกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทลุยน้ำ ล่องแก่ง เป็นต้น
เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอย่างไร
เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำเข้าสู่ร่างกายทางสัมผัสครับ โดยเชื้อโรคจะเข้าทางแผลถลอกตามผิวหนัง หรือโดยการกลืนน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป เชื้อโรคจะกระจายไปเจริญเติบโตในกระแสเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญ เช่น หลอดเลือด ตับ ไต ปอด และกล้ามเนื้อ
ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไร
หลังจากได้รับเชื้อ 1-2 สัปดาห์ก็จะเริ่มมีอาการ พอจะแบ่งได้ 3 กลุ่มครับ คือ กลุ่มแรก ไม่มีอาการใด ๆ เลย กลุ่มที่ 2 มีอาการไม่รุนแรง กลุ่มที่ 3 มีอาการรุนแรง ในกลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ ไม่ต้องพูดถึงครับ ถือว่าโชคดีมาก กลุ่มนี้มีจำนวนอยู่ประมาณร้อยละ 15-40 ส่วนกลุ่มอาการไม่รุนแรงพบมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มอาการรุนแรงพบน้อยประมาณร้อยละ 10 แต่อันตรายกลับตายได้ครับ กลุ่มสุดท้ายนี้แหละที่น่ากลัวที่สุด
กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง
อาการคล้ายคนเป็นไข้หวัดใหญ่ครับ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อ อาการสำคัญของโรคนี้คือปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง หลัง หรือหน้าท้อง บางคนอาจจะมีเจ็บคอ เป็นผื่นหรือไอร่วมด้วย อาการต่าง ๆ จะหายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นบางรายจะมีอาการไข้ขื้นมาใหม่อีก 2 -3 วัน เนื่องจากปฎิกิริยาของภูมิคุ้มกันของร่างกาย
กลุ่มที่มีอาการรุนแรง
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำให้โรคฉี่หนูเป็นโรคน่ากลัวโรคหนึ่ง ทำให้เสียชีวิตได้โดยง่ายหากไม่ได้รับการดูแลเพียงพอ อาการสำคัญคือ ตัวเหลือง ตาเหลืองครับ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ ไตวาย มีเลือดออกตามร่างกาย เช่น เลือดกำเดา ไอเป็นเลือดหรือจ้ำเลือดตามตัว เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการของการหายใจล้มเหลว หรือมีอาการหัวใจล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเหล่านี้ทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด
ควรจะทำอย่างไร เมื่อสงสัยว่าติดเชื้อโรคฉี่หนู
เนื่องจากเราไม่มีทางรู้เลยครับว่าน้ำที่สัมผัสมีเชื้อหรือไม่ และชีวิตของเกษตรกรก็คงหลีดเลี่ยงที่จะสัมผัสแหล่งน้ำอยู่ทุก ๆ วัน เห็นทีจะยาก คงต้องใช้วิธีสังเกตอาการครับ
ลองอ่านเรื่องอาการของโรคอีกครั้ง อาการสำคัญคือปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่อง หลัง หรือหน้าท้อง ร่วมกับมีไข้ สงสัยไว้ก่อนเลยครับว่าอาจจะได้รับเชื้อโรคฉี่หนู ถึงตอนนี้ อาจจะไปพบแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหรือให้การรักษา
ในกรณีที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเลยครับ แสดงว่าอาจจะเป็นชนิดที่รุนแรง ซึ่งทำให้ถึงตายได้ ขอย้ำว่าไม่ควรรักษาตัวเองเด็ดขาด เนื่องจากโรคฉี่หนูชนิดรุนแรงนี้ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เท่านั้น
ขอย้ำนะครับว่าหากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง รีบไปพบแพทย์เลยครับ อาการแบบนี้ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นโรคฉี่หนู ก็มักจะเป็นโรคที่ต้องพบแพทย์เพื่อให้การรักษาทั้งนั้นครับ
จะป้องกันได้อย่างไร
เป็นเรื่องยากจริง ๆ ครับ การห้ามไม่ให้คนไปสัมผัสแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ในวิถีเกษตรกรยากมาก การใช้รองเท้ากันน้ำก็พอจะช่วยได้ระดับหนึ่ง การกำจัดพาหะของโรค เช่น หนู ให้ลดจำนวนลง ก็จะช่วยได้มาก การติดตามข่าวสารของทางการเป็นระยะ ๆ ก็คงจะพอทราบว่าที่ใดมีการระบาดโรคนี้อยู่บ้าง ในขณะที่มีการระบาดของโรคฉี่หนู ก็คงต้องเพิ่มการระมัดระวังเป็นพิเศษ
กินยาป้องกันดีไหม
ยากินป้องกันก็มีการใช้กันครับ ส่วนใหญ่มักใช้ในหมู่นักท่องเที่ยวหรือนักสำรวจที่มีภารกิจที่ต้องลุยน้ำไปในแหล่งชุกชุมของโรคเป็นครั้งคราว ในกรณีของชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร การกินยาป้องกันแบบนี้คงต้องพิจารณาความเหมาะสมหลาย ๆ ด้าน โดยคำนึงถึงความเสี่ยง สภาพชุมชน การดื้อยาของเชื้อโรค และผลทางเศรษฐกิจครับ
ยาที่ใช้ในการป้องกันที่ใช้ได้คือ ยาดอกซีไซคลีน (Doxycyclin) กินสัปดาห์ละ 200 มิลลิกรัม ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพ้นภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อแล้วค่อยหยุดกินยา
เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคฉี่หนู เราควรหลีกเลี่ยงจากแหล่งสกปรก บริเวณที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และควรปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ดังนี้
1. ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรค
2. หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ลุยน้ำหรือแช่น้ำในขณะที่มีน้ำท่วมขัง ถ้าหากจำเป็น ต้องพยายามไม่ให้น้ำเข้าตา จมูก หรือปาก
3. กำจัดขยะ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อาศัยของหนู
4. สำหรับผู้ที่มีอาชีพต้องแช่น้ำนานๆ หรือต้องเหยียบย่ำพื้นดินแฉะอยู่เสมอ ควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อ เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรค
5. เมื่อพบเห็นหนูบริเวณบ้านเรือน หรือตามไร่ นา สวน ต้องรีบกำจัด
6. ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้หนูถ่ายปัสสาวะรดอาหาร
7. อาหารที่ค้างมื้อ เมื่อจะนำมากินในมื้อต่อไป จะต้องนำมาอุ่นให้เดือดเสียก่อน เพื่อให้เชื้อโรคที่อาจปะปนอยู่ในอาหารถูกทำลายโดยความร้อน
8. ถ้ามีบาดแผลหรือรอยถลอก ควรปิดปลาสเตอร์ก่อนลงน้ำ
9. นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี
10. ควรปิดฝาโอ่งน้ำหรือภาชนะบรรจุน้ำ เพื่อป้องกันหนูมาถ่ายปัสสาวะลงไปในน้ำ
11. ภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร ควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรค
12. ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร
- อ่าน 22,797 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้