• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะม่วง : ไม้ผลยอดนิยมของคนไทย

มะม่วง : ไม้ผลยอดนิยมของคนไทย

 

* หมากม่วงพวงพรวนย้อย              พิมเสนห้อยสอยมากิน
สุกห่ามตามใจถวิล                         เอาตะกร้อซอเกี่ยวลง ฯ
* หมากม่วงพวงห่ามย้อย                ยามเห็น
พรวนพิมเสนเหลืองเป็น                  ปากกร้อ
หมอนทองม่วงมันเย็น                     เดิรสู่
สอยแส่พลางหัวหร้อ                       หล่นกลุ่มชิงกัน ฯ

                                                                                  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ (กุ้ง)

บทนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงข้างบนนี้คัดมาจากนิราศธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง” ทรงนิพนธ์เอาไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2280 คือ ประมาณ 255 ปีมาแล้ว บทนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงที่ยกมานี้กล่าวถึงผลไม้ยอดนิยมตลอดกาลชนิดหนึ่งของคนไทย นั่นคือ “หมากม่วง” หรือ “มะม่วง” สิ่งที่น่าสังเกตในกาพย์ห่อโคลงบทนี้ คือ ปรากฏชื่อพันธุ์ของมะม่วงที่รู้จัก และยังคงปลูกอยู่ในปัจจุบันนี้ 2 พันธุ์ คือ พิมเสน และหมอนทอง อาจถือได้ว่าเป็นการบันทึกชื่อพันธุ์มะม่วงเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการปลูกมะม่วงในประวัติศาสตร์ไทยคือศิลาจารึกหลักที่ 1 ในสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งมีอายุกว่า 700 ปีมาแล้ว ในศิลาจารึกหลักดังกล่าวมีข้อความเกี่ยวกับมะม่วงอยู่หลายครั้ง เช่นตอนหนึ่งว่า “หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” จะเห็นได้ว่า มีหลักฐานชัดเจนถึงการปลูกมะม่วงของคนไทยสืบเนื่องมาโดยไม่ขาดตอนมากว่า 700 ปี และในปัจจุบันคนไทยยิ่งเพิ่มความนิยมปลูกมะม่วงมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า หากบ้านใดมีพื้นที่ว่างบ้างเพียงเล็กน้อย ก็จะเลือกปลูกมะม่วงมากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ทั้งนี้เพราะมะม่วงมีคุณสมบัติหลายประการรวมอยู่ในต้นไม้ชนิดเดียว ซึ่งยากจะหาได้ในต้นไม้ชนิดอื่น

พื้นเพและหัวนอนปลายเท้าของมะม่วง

มะม่วง (mango) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Mangifera indica Linn. มีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศอินเดีย เชื่อกันว่ามนุษย์ในบริเวณนั้นนำมะม่วงมาเพาะปลูกนานกว่า 4 พันปีแล้ว มะม่วงจึงเป็นพืชชนิดเก่าแก่ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาก โดยเฉพาะด้านความเชื่อและศาสนา มะม่วงที่นิยมปลูกกันทั่วไปนั้นมีชื่อในภาษาไทยว่า มะม่วง มะม่วงบ้าน หรือมะม่วงสวน ซึ่งแตกต่างจากมะม่วงอีกจำพวกหนึ่งที่เรียกรวมๆ ว่า “มะม่วงป่า” ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น มะม่วงกะล่อน

มะม่วงป่าเป็นพืชพื้นเมืองของไทย เป็นต้นไม้สำคัญกลุ่มหนึ่งของป่าแดงหรือป่าเต็งรัง (ป่าแพะ ป่าโคก) ซึ่งเป็นป่าในที่ดอน ดินตื้น ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แห้งแล้งกว่าป่าชนิดอื่น มีต้นไม้ขึ้นอยู่ไม่มากชนิดเท่าป่าประเภทอื่น ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าแดงจึงเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงทนทาน ปรับตัวได้ดี แม้มะม่วงบ้านจะไม่ใช่พืชดั้งเดิมของไทย แต่ก็มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับมะม่วงป่าอันเป็นพืชดั้งเดิม จึงปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี สามารถปลูกได้ในทุกภาค ตั้งแต่เหนือสุดจนใต้สุด

มะม่วงเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่อาจสูงถึง 20 เมตร ทรงพุ่มกว้างรูปโดมหรือครึ่งวงกลม มีใบแน่นทึบสีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงออกไปทางสีม่วง เปลือกสีเทาเข้มขรุขระ และแตกเป็นริ้วเมื่อมีอายุมากขึ้น ปกติมะม่วงออกดอกปีละครั้งช่วงฤดูแล้ง อากาศเย็น แต่มีมะม่วงบางพันธุ์สามารถออกดอกได้ตลอดปี โดยทยอยออกเป็นช่วงๆ เรียกว่า มะม่วงทวาย เช่น มะม่วงสามฤดู มะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย เป็นต้น

คำว่า “ทะวาย” เดิมเรียกว่า “ต่อวาย” หมายถึง เมื่อหมดฤดูออกผล (วาย) แล้ว ก็มีดอกออกผลต่อได้อีก จึงเรียกพันธุ์ไม้เหล่านี้ว่า “ต่อวาย” ซึ่งนอกจากมะม่วงแล้ว ยังมีทุเรียน ขนุน เงาะ ฯลฯ หากออกดอกผลนอกฤดูก็เรียกว่า “ต่อวาย” หรือ “ทะวาย” ทั้งสิ้น

มะม่วงจัดอยู่ในจำพวกไม้ผลที่สำคัญยิ่งของไทยมานานแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพืชที่จัดอยู่ในจำพวกต้องเสียอาการใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 7 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมากและพลู ในปี พ.ศ. 2431 ชาวสวนผู้ปลูกมะม่วงถูกเก็บค่าอากรใหญ่จากมะม่วง (ที่ออกผลแล้ว) ต้นละเฟื้อง ซึ่งแพงเป็นที่สองรองจากทุเรียนเท่านั้น

คุณประโยชน์ของมะม่วง

ประโยชน์ด้านหลักที่มนุษย์ได้รับจากมะม่วง ก็คือ ด้านอาหาร ผลมะม่วงได้รับการยกย่องในประเทศอินเดีย อันเป็นถิ่นกำเนิดว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ผลมะม่วงสามารถนำมากินได้ตั้งแต่ยังอ่อน ที่ชาวไทยเรียกว่ามะม่วง “ขบเผาะ” นั่นเอง เมื่อผลแก่มะม่วงจะมีทั้งรสเปรี้ยวหรือหวาน เนื่องจากมะม่วงมีมากมายหลายพันธุ์ จึงมีความแตกต่างในด้านรูปร่าง ขนาด รสชาติ กลิ่น สี ฯลฯ ของผล ทำให้เลือกนำมาบริโภคได้ตามความต้องการได้มากกว่าผลไม้ชนิดอื่น เช่น ผลมะม่วงดิบรสเปรี้ยวอาจนำมาจิ้มพริกกับเกลือ หรือนำไปใช้ตำน้ำพริกแทนมะนาว นำไปใช้ยำเป็นกับข้าว ผลมะม่วงดิบรสมันหรือหวานใช้กินเช่นเดียวกับผลสุกที่มีรสหวาน นำไปทำขนมต่างๆ หรือแปรรูป เช่น มะม่วงกวน แยมมะม่วง มะม่วงดอง น้ำมะม่วง ฯลฯ นอกจากผลแล้ว ใบอ่อนและช่อดอกของมะม่วงยังนำมากินเป็นผักได้อย่างหนึ่งด้วย

มะม่วงมีสรรพคุณทางสมุนไพรมากมาย ในประเทศอินเดียนำใบมะม่วงมาตากแห้งป่นเป็นผง ใช้รักษาโรคท้องร่วงและเบาหวาน ใบมะม่วงสดใช้เคี่ยวรักษาโรคเหงือก เนื้อในเมล็ดมะม่วงใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม น้ำคั้นจากเมล็ดมะม่วงใช้แก้เลือดกำเดาไหล เป็นต้น

ตำราสรรพคุณยาไทย กล่าวถึง สรรพคุณด้านสมุนไพรของมะม่วงเอาไว้หลายประการ เช่น ผลสุกใช้บำรุงกำลัง เป็นยาระบายอ่อนๆ และขับปัสสาวะ เปลือกผลดิบเป็นยาคุมธาตุ ดอก เปลือก เนื้อในเมล็ดใช้แก้ท้องร่วง บิด อาเจียน ใบแห้งเผาเอาควันสูดใช้รักษาโรคเกี่ยวกับหลอดลม ยางจากผลและต้นผสมกับน้ำส้มหรือน้ำมันทาแก้คันแก้โรคผิวหนัง เป็นต้น

ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่า มะม่วงถูกมนุษย์นำมาเพาะปลูกนานกว่า 4 พันปีแล้ว ทำให้มนุษย์มีความผูกพันกับมะม่วงมาก ชาวฮินดูเชื่อว่ามะม่วงกำเนิดมาจากภูเขาไกลาส อันเป็นที่ประทับของพระอิศวร ยิ่งกว่านั้นบางคัมภีร์ยังกล่าวว่า มะม่วงเป็นภาคหนึ่งของพระพรหม ชาวฮินดูจึงนับถือมะม่วงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งในพิธีกรรมต่างๆ ที่เป็นมงคลต้องใช้มะม่วงเป็นส่วนประกอบด้วยเสมอ

ไม่เฉพาะชาวฮินดูเท่านั้นที่ถือว่ามะม่วงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวพุทธก็เช่นเดียวกัน คงเป็นเพราะพุทธศาสนาก็มีกำเนิดในอินเดียด้วยนั่นเอง ตัวอย่างเรื่องราวของมะม่วงที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเรื่องหนึ่งก็คือ ชาวพุทธเชื่อว่า พระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ที่ต้นมะม่วง ซึ่งเรียกว่า คัณฑามพพฤกษ์ ณ เมืองสาวัตถี เนื่องจากยมกปาฏิหาริย์เป็นสุดยอดปาฏิหาริย์ซึ่งทำได้เฉพาะพระพุทธองค์เท่านั้น และทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงนับเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ ที่พุทธศาสนามีต่อหมู่เดียรถีย์ (พวกไม่มีศาสนา) และลัทธิอื่นๆในยุคนั้น ชาวพุทธจึงนับถือมะม่วงว่าเป็นต้นไม้พิเศษที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์เช่นเดียวกับต้นไม้บางชนิด เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นสาละ เป็นต้น

ในตำราปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของคนไทยตั้งแต่โบราณ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย กำหนดให้ปลูกมะม่วงในทิศใต้ของบ้าน มะม่วงกับคนไทยนั้นมีความผูกพันที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรมานานกว่า 700 ปี และความผูกพันนี้ยังคงเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างรูปแบบความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อมะม่วง ซึ่งแสดงออกในรูปกวีนิพนธ์ของรัตนกวีท่านหนึ่งของไทยเมื่อ 250 ปีก่อนโน้น คือ พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ

* หมากม่วงดิบห่ามฝาน           ใส่ในจานพานตบะรอง
นั่งล้อมห้อมเนืองนอง                 จิ้มน้ำปลางาปิกิน ฯ
* หมากม่วงดิบห่ามให้              ปอกฝาน
งาปิน้ำปลาจาน                         จุ่มจิ้ม
นั่งล้อมห้อมกินกราน                  กินอยู่
เข็ดฟันผันหน้ายิ้ม                      อิ่มเอื้อน ราถอย ฯ

ข้อมูลสื่อ

162-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร