• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พัฒนาการของเด็กอายุ 3-4 เดือน

พัฒนาการของเด็กอายุ 3-4 เดือน

ผ้าปูที่นอนของเล่นสุดโปรดของลูก
การเลี้ยงลูกสมัยใหม่จะนิยมให้ลูกนอนคว่ำตั้งแต่แรกเกิด ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ศีรษะได้รูปสวย แต่คุณตาคุณยายจะไม่ยอมเพราะกลัวเด็กหายใจไม่ออก
ถ้าลองมาสังเกตให้ดีในขณะที่เด็กนอนคว่ำ ส่วนของกระดูกซี่โครงด้านหลังจะมีการเคลื่อนไหวพองและแฟบ ตามจังหวะการหายใจเข้าและออก เนื่องจากข้อต่อกระดูกซี่โครงของเด็กยังอ่อนอยู่ จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ แต่ถ้าให้ผู้สูงอายุที่ไม่เคยนอนคว่ำนานๆมานอนคว่ำ จะพบว่ารู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก ซี่โครงส่วนหลังไม่มีการขยับเคลื่อนไหวเหมือนของเด็ก เพราะข้อต่อกระดูกซี่โครงมีการยึดแข็งแล้ว
การหายใจตามปกติจะใช้กะบังลมทำให้หน้าท้องพองและแฟบ เมื่อหน้าท้องถูกนอนคว่ำทับ ขยับไม่คล่อง จึงรู้สึกหายใจไม่ออก และอึดอัดมาก


ประโยชน์ของการนอนคว่ำ

ประการแรก คือ เด็กจะไม่เกิดการผวา ซึ่งมักพบได้บ่อยในขณะเด็กนอนหงาย
ประการที่สอง คือ กล้ามเนื้อคอจะแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กจะสามารถยกศีรษะได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ให้นอนคว่ำ เพื่อไม้ให้จมูกกดกับที่นอนตามสัญชาตญาณการดำรงชีวิตของเด็กปกติ เมื่ออายุได้ 3 เดือน เด็กจะชันคอได้ดี
พัฒนาการขั้นต่อไปคือ เด็กจะพยายามยกอกขึ้นจากพื้น โดยการแอ่นหลังและยันน้ำหนักตัวไปที่แขนทั้ง 2 ข้าง
เมื่อศีรษะถูกยันให้ลอยสูงจากพื้น สิ่งที่สายตาประสบยังคงเป็นผ้าปูที่นอน เมื่อเอามือเคลื่อนไหวไปมาบนผ้าปูที่นอน จะเกิดเสียงแกรกกราก มันเป็นเสียงใหม่ที่น่าสนใจ ประกอบกับมือสามารถเคลื่อนไหวตามใจปรารถนาได้บ้างแล้ว ก็ยิ่งเคลื่อนมือทำให้เกิดเสียงมากขึ้น ผ้าปูที่นอนจะเริ่มย่นเล็กน้อย การเล่นดูเหมือนจะทำให้เพลิดเพลินยิ่งขึ้น ผ้าปูที่นอนจึงจัดเป็นของเล่นสุดโปรดของลูกในวัย 3-4 เดือนนี้
ประโยชน์ที่ได้จากการเล่นผ้าปูที่นอนคือ กล้ามเนื้อคอ หลัง และแขนจะแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น

ของเล่นหรือจะสู้ผ้าปูที่นอนได้
ในระยะที่เด็กยังลงน้ำหนักที่แขนแต่ละข้างได้ไม่เต็มที่ การเอาของเล่นมาวางให้เล่นแทนผ้าปูที่นอน จึงไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะเมื่อแขนและคอของเด็กเกิดการเมื่อยล้า ศีรษะก็จะตกวางบนพื้น และอาจกระแทกกับของเล่นเป็นอันตรายได้ นอกจากนั้นในขณะเล่นถ้ามือปัดของเล่นออกไปไกลเกินกว่าที่มือจะตามไปปัดเล่นได้ เด็กจะเลิกสนใจของเล่น หันมาสนใจผ้าปูที่นอนแทน

ผ้าปูที่นอนที่จะให้ลูกเล่นจะต้องไม่ตึงเกินไป ควรให้หย่อนเล็กน้อยพอดีที่มือจะสามารถเคลื่อนไปได้โดยไม่สะดุด การปูผ้าปูที่นอนให้หย่อนมาก หรือวางผ้าอ้อม ผ้าห่ม หรือผ้าขนหนูให้เล่นจะเป็นอันตรายต่อเด็กเมื่อเด็กเกิดอาการเมื่อยล้าและนอนหลับโดยยังมีผ้าวางปิดอยู่ชิดจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก
การบริหารกล้ามเนื้อคอ หลัง และแขนด้วยวิธีการเล่นผ้าปูที่นอนจะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวแข็งแรงขึ้น เมื่อจับลูกให้นั่งจะพบว่าสามารถตั้งคอได้ตรง หลังแข็งแรงขึ้น และเอื้อมมือยกแขนได้ไกลขึ้น

พลิกตัวเล่น
โลกของลูกกว้างขึ้น เมื่อลูกสามารถเงยหน้าพ้นจากผ้าปูที่นอนออกมาได้ ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุ 4 เดือน ประกอบกับการพัฒนาของสายตาดีขึ้น ทำให้สามารถมองได้ในมุมกว้าง ถึง 180 องศา สามารถหันศีรษะและตัวตามเสียงได้
สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการขั้นต่อไปของลูก

คุณอาจจะแปลกใจว่า ก่อนที่คุณจะไปรับโทรศัพท์ที่ดังขึ้น คุณกำลังเขี่ยผ้าปูที่นอนเล่นกับลูกในขณะที่ลูกยังนอนคว่ำอยู่ แต่เมื่อคุณกลับมาหาลูก ลูกกำลังนอนหงายเล่นมือตัวเองอยู่อย่างเพลิดเพลิน
คุณตื่นเต้นยินดีเมื่อลูกสามารถพลิกตัวเองได้ ลูกทำอย่างไรจึงพลิกตัวได้ คุณอยากทราบ แต่ลูกคุณเองก็ยังไม่ทราบว่าเขาพลิกตัวเองมาได้อย่างไรในครั้งแรก
การพลิกตัวเองได้ของลูกเกิดจากการที่ลูกคุณสนใจเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้น และตัวคุณแม่เองก็เดินไปในทิศทางของเสียงโทรศัพท์ ลูกจึงพยายามหันตามไป ทำให้ใบหน้าหมุนแหงนไปทางด้านข้างและหลัง หลังก็จะบิดและแอ่นตามจนกระทั่งตัวหล่นพลิกเป็นท่านอนหงาย


เมื่อคุณทราบหลักการเช่นนี้แล้ว คุณก็สามารถฝึกหัดลูกให้นอนหงายได้ เช่น เขย่าของเล่นกรุ้งกริ้งตามสายตาของลูก เพื่อให้ลูกหันตามและพลิกตัวนอนหงายตามวิธีการข้างต้น
ในขณะฝึกหัดลูกให้นอนหงาย คุณจะสังเกตพบว่าลูกจะพยายามเหยียดแขนข้างเดียวกับที่หน้าหันไป ขาข้างเดียวกันนี้ก็พยายามยันพื้นที่นอน เมื่อทำบ่อยๆ ในการพลิกทั้งข้างซ้ายและขวา ลูกของคุณจะมีร่างกายที่แข็งแรง สามารถพลิกตัวนอนหงายจากการนอนคว่ำได้ตามที่เขาอยากจะพลิก

กรุ้งกริ้งยังมีประโยชน์

การเปลี่ยนอิริยาบถ โดยการอุ้มให้ลูกนั่ง ยังให้ประโยชน์ในการฝึกกำลังของกล้ามเนื้อคอ แขน และลำตัว ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้คือ

⇒ อุ้มลูกนั่งบนตัก หันหลังเข้าหาคุณแม่ ให้หลังของลูกห่างจากอกคุณแม่ประมาณ 1 ฝ่ามือ

⇒ สั่นกรุ้งกริ้ง หรือทำเสียงจากปากของคุณแม่ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากลูก ในตำแหน่งต่างๆกัน เช่น ด้านข้าง ด้านหน้า ด้านล่าง ด้านบนเหนือศีรษะ เพื่อฝึกให้ลูกหันหน้าไปในทิศทางต่างๆ เป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกความสัมพันธ์ของการรับฟังเสียงด้วย

⇒ กรุ้งกริ้งที่ใช้สั่นนี้ ถ้าเอามาใกล้มือของลูก ลูกจะพยายามยกมือขึ้นมาแตะ แต่ยังไม่สามารถจับของเล่นได้ เมื่อมือของลูกแตะถูกของเล่น คุณค่อยๆเคลื่อนของเล่นให้ห่างออกไป ลูกก็จะโน้มตัวตามของเล่น การโน้มตัวนี้จะต้องใช้กล้ามเนื้อหลัง หรือลำตัวในการทำงาน จึงเป็นการฝึกหัดเพื่อให้เกิดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวได้ ถ้าคุณเคลื่อนของเล่นไปในทิศทางต่างๆกัน การทรงตัวของลูกจะดีขึ้น
ดังกล่าวแล้วว่าลูกยังไม่สามารถจับของเล่นได้ แต่ถ้าเอาของเล่นใส่มือ ลูกจะสามารถเอาของเล่นเข้าปากได้ ของเล่นในระยะ 3-4 เดือนนี้ จึงต้องระวังเช่นเดียวกับระยะ 1-3 เดือน คือชิ้นไม่เล็กที่จะหลุดเข้าคอ ไม่มีคม และไม่เป็นอันตรายต่อการกิน

การเล่นของลูกในระยะนี้ คุณจะรู้สึกสนุกสนานไปด้วย เพราะลูกจะส่งเสียงดัง มีอาการตื่นเต้นเมื่อเห็นของที่ถูกใจ โดยเฉพาะเมื่อเห็นอาหาร และลูกจะยิ้มทักทายคุณแม่ทันทีที่มองเห็น รอยยิ้มของคุณแม่ย่อมเป็นสิ่งที่ลูกปรารถนา เพื่อความอบอุ่นแห่งจิตใจลูก


 

ข้อมูลสื่อ

188-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 188
ธันวาคม 2537
สุมนา ตัณฑเศรษฐี