ตำราแพทย์แผนจีนกล่าวถึงดวงตาไว้หลายประการ ดังนี้
“ดวงตาเป็นประตูของตัน และดวงตามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในจั้งฝู่”
“จิงซี่ พลังของสารจิงของอวัยวะภายใน (สารจิง คือ สารที่หล่อเลี้ยงกลไกการทำงานของร่างกาย ได้มาแต่กำเนิด อาหาร และอากาศที่แปรเปลี่ยนไป ซึ่งสารที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของชีวิต) ล้วนไหลมาบรรจบกันที่ดวงตา”
ทางวิชาโหงวเฮ้งได้กล่าวถึงดวงตาไว้ว่า
“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจและจิตวิญญาณ”
“ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นกระจกที่ส่องสะท้อนให้ความมีอยู่ของสรรพสิ่งในโลก ดวงตาก็คือดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ของร่างกายที่สะท้อนให้เห็นสภาพกำดำรงอยู่ของร่างกาย ดวงตาข้างซ้ายเป็นตัวแทนแห่งดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของพ่อ ตาข้างขวาเป็นตัวแทนแห่งดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของแม่”
“นัยน์ตาเป็นเครื่องวัดความฉลาด ไหวพริบ และประสาทแห่งความรู้สึกของคนได้อย่างแท้จริง เพราะสามารถอ่านอุปนิสัย อารมณ์ และความรู้สึกของคนได้จากนัยน์ตาเป็นจุดแรก”
ทฤษฏีการประยุกต์เกี่ยวกับสุขภาพ
1. เส้นลมปราณและความผิดปกติของเส้นลมปราณ
เส้นลมปราณทั้งหมดล้วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับดวงตา ดังนั้นความผิดปกติของเส้นลมปราณและ
อวัยวะภายในจึงสามารถสะท้อนและปรากฏให้เห็นบนดวงตา จึงสามารถพยากรณ์โรคจากดวงตาได้
2. ดวงตากับทฤษฎี 5 จักร หรือจักระ :
ทฤษฎี 5 จักรของดวงตาได้แบ่งพื้นที่ของดวงตาเป็น 5 วงรอบ ดวงตาตามธาตุทั้ง 5 หรืออวัยวะตันทั้ง 5 ของร่างกาย
จักรเนื้อเกี่ยวโยงกับม้าม อยู่บริเวณวงนอกสุด ได้แก่ บริเวณเปลือกตาบนและล่าง
จักรเลือดเกี่ยวโยงกับหัวใจ อยู่บริเวณมุมหางตาและหัวตาทั้ง 2 ข้าง
จักรพลังเกี่ยวโยงกับปอด อยู่บริเวณ ตาขาวรอบตาดำ
จักรลมเกี่ยวโยงกับตับ อยู่บริเวณตาดำ หรือม่านตา
จักรน้ำเกี่ยวโยงกับไต อยู่บริเวณรูม่านตา รูตรงกลางตาดำเป็นวงในสุด
3. การแบ่งพื้นที่รอบตาขาว ตาดำ ออกเป็น 13 พื้นที่ (ดูตามภาพ)
การตรวจโรค-พยากรณ์โรคจากดวงตา
1. ดูประกายราศี ความมีชีวิตชีวาของดวงตา
การมองเห็นชัดเจน ขอบตาดำตาขาวแบ่งกันชัดเจน มีประกายแสงซ่อนอยู่ภายใน มีน้ำตาหรือน้ำหล่อเลี้ยงตาคลอเบ้าเล็กน้อย (ตาไม่แห้งผาก) เรียกว่าตามีชีวิตชีวา มีราศี ถ้ากำลังป่วยเป็นโรค โรคก็สามารถรักษาให้หายได้ เพราะพลังชีวิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ตรงกันข้าม ถ้าการมองเห็นพร่ามัวตาขาวสกปรก (ไม่ขาวสะอาด) ขอบตาดำตาขาวสีแบ่งไม่ชัดเจน ดวงตาขุ่นมัวไม่มีประกาย ไม่มีน้ำตาหรือน้ำหล่อเลี้ยงตา (ดวงตาแห้งผาก) เรียกว่าตาที่ไร้ชีวิตชีวา ขาดราศี ถ้ากำลังป่วยเป็นโรค ก็จะรักษาให้หายยาก เพราะพลังชีวิตอ่อนแอ
2. ดูสีของดวงตา
ตาแดงก่ำ แสดงว่ามีความร้อนแกร่ง หรือมีการอักเสบ ถ้าพบบริเวณตาขาวแดง มักเกิดจากไฟปอด เช่น โรคตาแดงชนิดระบาด ถ้าพบบริเวณหางตา หัวตา มักเกิดจากไฟหัวใจขึ้นสู่เบื้องบน หรือลำไส้เล็กร้อนแกร่ง
อาการแสดงออกคือ ปลายลิ้นแดงจัด ลิ้นมีแผลอักเสบหรือเน่าเปื่อยปวดแสบ ถ้าไฟหัวใจมากจะลงสู่ลำไส้เล็ก ทำให้มีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ (ความร้อนของลำไส้เล็กส่งผ่านไปที่กระเพาะปัสสาวะ) ทำให้ปัสสาวะเข้มแสบขัดหรือปัสสาวะเป็นเลือด พบในโรคการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ
ถ้าตาแดงก่ำและบวมทั้งดดวงตา แสดงว่า เป็นลมร้อนของเส้นตับหรือไฟตับขึ้นสู่เบื้องบน ซึ่งมีอาการปวดหนักศีรษะ เวียนศีรษะ หงุดหงิดโกรธง่าย หูไม่ได้ยิน หน้าแดง ตาแดง ปากขม คอแห้ง ปวดแน่นชายโครง
ถ้าเปลือกตาแดงและอักเสบ แสดงว่า มีความร้อนสะสมที่ม้าม กระเพาะอาหาร ซึ่งมักมีพื้นฐานจากการบริโภคอาหารผิดหลัก เช่น กินอาหารมัน นม เนย ช็อกโกแลต หรือคุณสมบัติร้อนมากเกินไป กินอาหารก่อนนอน อาหารไม่ย่อย สะสมเป็นความร้อน ความชื้น
ตาขาวบริเวณหางตาและหัวตามีสีซีดเกินไป ไม่มีเส้นเลือด หรือเลือดมาเลี้ยงน้อย แสดงว่าโลหิตจางหรือขาดเลือดและพลัง
ตาขาวมีสีเหลือง แสดงว่าเป็นภาวะดีซ่าน เป็นเพราะภาวะร้อนชื้นของระบบตับและน้ำดี ทำให้น้ำดีไหลสู่ภายนอกถุงน้ำดี กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
บริเวณหนังตาบนและล่างมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
• มีสีดำคล้ำแต่มีประกาย แสดงว่ามีเสมหะของเหลวตกค้างในร่างกาย
• มีสีเขียวออกม่วง แสดงว่า พลังตับอุดกั้น มีความหงุดหงิดในอารมณ์ โมโหง่าย
• มีสีดำ ผิวสีหมองคล้ำ ไม่มีประกาย แสดงว่าไตพร่อง
3. ดูลักษณะสภาพส่วนต่าง ๆ ของดวงตา
บริเวณหนังตา มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
• บวมและกดเจ็บ มักเกิดจากปัจจัยภายนอกแกร่ง เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ
• บวมแต่ไม่เจ็บ มักเกิดจากบวมน้ำ ถ้าเป็นทั้งตาบน ตาล่าง อาการบวมค่อย ๆ เป็น และกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง แสดงว่าระบบม้ามพร่อง ไม่สามารถลำเลียงน้ำและความชื้นในระบบได้
• ถ้าขอบตาล่างบวมน้ำ แสดงว่าระบบม้ามไตพร่อง พบในคนสูงอายุ หรือคนที่ไตทำหน้าที่ไม่ดี
บริเวณตุ่มก้อนของเปลือกตาด้านใน มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
• ก้อนเล็กสีแดงและแข็ง แสดงว่าร้อนแทรกความชื้นร่วมกับการอุดกั้นของเลือดและพลัง
• ก้อนสีแดงคล้ายไข่วางเรียงเป็นปุ่ม ๆ คันมาก แสดงว่า มีลมร้อนชื้น ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นก้อน (คล้ายริดสีดวงตา)
• ก้อนสีเหลืองขาวคล้ายก้อนหิน แสดงว่า สารน้ำถูกเผา ทำให้เสมหะชื้นตกค้างรวมตัวกัน
• ตาบุ๋มเข้าข้างใน แสดงว่า มีการเสียน้ำ เช่น ท้องเสียหรืออาเจียนในกรณีเฉียบพลัน ถ้าเป็นเรื้อรัง แสดงว่า สารน้ำและเลือดพร่องไม่หล่อเลี้ยงที่ตา จิงชี่ของอวัยวะภายในพร่อง ระบบของร่างกายเสื่อมทรุด
ลักษณะตาโปนออกนอก มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
• คอโต ใจสั่น กินมาก ผอม นึกถึงภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
• ถ้าคอโต เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ใจสั่น ริมฝีปากเขียว บ่งบอกว่า มีน้ำท่วมปอด
• ถ้าคอโตเฉพาะที่โดยไม่ปรากฎอาการ ให้ระวังก้อนเนื้องอกนสมอง
• ตาดำโต มีประกาย แสดงว่า เลือดของตับดี เกี่ยวข้องกับเอ็น การเคลื่อนไหว สุขภาพ จิตใจ ความรู้ สติปัญญา ประจำเดือนดี
• ตาดำเล็กสีน้ำตาล ห่อเหี่ยว แสดงว่า เลือดตับไม่พอ จิตอารมณ์ถูกกระทบ มีปัญหาประจำเดือน เป็นคนปล่อยเนื้อปล่อยตัว สำส่อนทางเพศ (เสียเลือดของตับ)
• กลางตาดำ (เลนส์แก้วตา) ขุ่นมัว ได้แก่ ต้อกระจก มักเกิดจากความพร่อง โดยเฉพาะยินของ ตับ-ไตพร่อง ไฟหัวใจขึ้นสู่เบื้องบน
4. การเคลื่อนไหวที่ดวงตา
ข้อสังเกตการเคลื่อนไหวบริเวณเปลือกตาที่สัมพันธ์กับภาวะโรคต่าง ๆ มีดังนี้
• เปลือกตาบนตก ลืมตาไม่ขึ้น มักเกิดจากพลังของม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง หรือลมกระทบเส้นลมปราณ พบในพวกกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาต
• กล้ามเนื้อและผิวหนังเปลือกตากระตุก มักเกิดจากเลือดพร่องทำให้เกิดลม
• หนังตากระพริบ มักเกิดจากสารยินและสารน้ำในร่างกายไม่พอ ถ้าพบในเด็กเล็ก มักเป็นในระยะแรกของการขาดสารอาหาร
• กลัวแสง น้ำตาไหล มักเกิดจากการอักเสบ การติดเชื้อ หรือการกระทบจากปัจจัยภายนอก
• กลัวแสง ปิดตาเล็กน้อย มักเกิดจากเสมหะร้อนภายใน
• ตาเหลือกขึ้นบน หรือตาเข พบมาแต่กำเนิด หรือกรณีชัก (ลมตับภายในแปรปรวน หรืออาการโรครุนแรง)
• นอนหลับตาไม่สนิท เกี่ยวข้องกับม้ามพร่อง พลังหยางบริสุทธิ์ไม่ไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อตาขาดอาหารหล่อเลี้ยง ทำให้ขาดการควบคุมการเปิด-ปิดหนังตา
5. ดูการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่รอบตาขาว
ปกติตาขาวของคนเราจะมีแขนงเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ทั้งแนวตรง แนวขวางตัดกัน ตาขาวชั้นนอกจะมีประกายแสงสามารถมองทะลุผิวได้ ตาขาวส่วนที่อยู่ลึกลงไปมีลักษณะเหนียว มีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ปรากฏให้เห็นเพียงราง ๆ ไม่ชัดเจน ในเด็กเล็กที่ไม่มีโรค ตาขาวจะดูสะอาดหมดจด มองแทบไม่เห็นการแตกสาขาของเส้นเลือดฝอย ถ้ามีการเกิดโรคไม่ว่าจากภายนอกสู่อวัยวะภายใน หรือจากอวัยวะภายใน ล้วนสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นและตรวจสอบความผิดปกติได้
- อ่าน 11,524 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้