• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหาเรื่องเครื่องสำอาง

ปัญหาเรื่องเครื่องสำอาง

พิษภัยจากเครื่องสำอางเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงอยู่เสมอทั้งบทความทางการแพทย์สำหรับประชาชน นิตยสารและทางวิทยุกระจายเสียง ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้สนใจถามถึง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจนต้องมาปรึกษาแพทย์ “หมอชาวบ้าน” ฉบับนี้จึงนำปัญหาเกี่ยวกับเครื่องสำอางมาเสนอให้ทราบ
ผิวชนิดไหนที่จะเกิดการแพ้เครื่องสำอางได้ง่าย และเครื่องสำอางชนิดไหนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย

ลักษณะของผิวแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 3 ชนิด คือผิวแห้ง ผิวมัน และผิวไม่เสมอ คือมีทั้งแห้งทั้งมัน ส่วนผิวชนิดไหนจะเกิดการแพ้ได้ง่ายกว่ากัน คำตอบคือทุกชนิดมีโอกาสจะแพ้หรือเกิดปัญหาจากการใช้เครื่องสำอางได้เท่าๆกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพอเหมาะพอสมของเครื่องสำอางกับผิว คือจะต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องสำอางให้เหมาะกับผิว

ยกตัวอย่าง คนผิวมันมีสิวแล้วไปเลือกใช้ครีมล้างหน้าหรือรองพื้นที่เป็นมัน เครื่องใช้ไม่เข้ากับผิวก็จะยิ่งทำให้หน้ามันมากขึ้น เกิดการอุดตันของต่อมน้ำมันทำให้สิวกำเริบเป็นมากขึ้น หรือคนผิวแห้งไปใช้น้ำยาประเภทล้างไขมัน เช่น น้ำยาเช็ดหน้าที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือใช้สบู่ล้างหน้าบ่อยๆก็ย่อมจะทำให้หน้ายิ่งแห้ง น้ำมันหล่อเลี้ยงที่มีอยู่น้อยถูกทำลายไปหมด เกิดหน้าตึงลอกเป็นขุย อาจตึงมากถึงขนาดยิ้มไม่ออก คือยิ้มแล้วผิวหน้าจะปริก็เป็นได้

จะเห็นว่าผิวแต่ละคนไม่เหมือนกัน เครื่องสำอางที่คนหนึ่งใช้แล้วดูสวยขึ้น อีกคนนำไปใช้อาจได้ผลไม่เหมือนกัน สรุปว่าการจะเลือกใช้เครื่องสำอางให้ได้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับเลือกชนิดที่เหมาะสมกับผิวของแต่ละคน

ส่วนปัญหาทางด้านเครื่องสำอางว่าชนิดไหนดีกว่ากันหรือชนิดไหนทำให้แพ้ได้บ่อยๆ เครื่องสำอางก็เหมือนของใช้ทั่วไปที่ย่อมมีคุณภาพต่างกัน เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานผลิตจากบริษัทที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยบนรากฐานของความก้าวหน้าทางวิชาการ มีการทดสอบและนำสารเคมีที่ปราศจากอันตรายมาใช้ก็จะได้ผลิตผลที่ดีและปลอดภัยกว่าชนิดที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนประกอบของเครื่องสำอางจะประกอบด้วยตัวออกฤทธิ์ เช่น ครีมลอกฝ้า สารที่มีฤทธิ์ลอกฝ้าก็คือตัวออกฤทธิ์ อีกส่วนหนึ่งก็คือสารพื้นฐานหรือที่เรียกว่าตัวกระสาย อาจอยู่ในรูปครีม ขี้ผึ้ง วุ้น หรือน้ำยา นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ น้ำหอมเป็นตัวแต่งกลิ่น หรือเป็นตัวดับกลิ่น สารเคมีที่ผสมอยู่ ตัวแต่งสี สารกันบูด กันเชื้อรา ส่วนประกอบดังกล่าวอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ทั้งสิ้น เครื่องสำอางที่คุณภาพดีไม่ควรจะสารที่ทำให้เกิดการแพ้ผสมอยู่ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรมีในจำนวนจำกัด

ส่วนเครื่องสำอางที่พบว่าทำให้เกิดการแพ้บ่อย ได้แก่ ยาย้อมผม น้ำยาดัดผม น้ำหอม ครีมกันแดด คือสารที่เป็นส่วนผสมสำคัญ ของใช้เหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ขึ้นที่ผิวหนัง

สารที่จัดเป็นเครื่องสำอางมิใช่มีแต่เฉพาะเครื่องแต่งหน้าเพื่อความสวยงาม แต่รวมไปถึงเครื่องใช้ประจำวันทั้งหญิงและชายที่ทำให้เกิดความสะอาด ความหอม ความมีเสน่ห์ต่อผู้ที่พบเห็น ซึ่งรวมตั้งแต่ สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก น้ำหอม ครีมโกนหนวด โลชั่นหลังโกนหนวด ครีมหรือโลชั่นกันเหงื่อ และระงับกลิ่นตัว น้ำยาดัดผม น้ำยาย้อมผม แชมพูสระผม สีเคลือบเล็บ น้ำยาล้างสีเคลือบเล็บ สารเหล่านี้ทำให้เกิดการแพ้ได้ทั้งสิ้น แต่พบไม่บ่อยเท่ากับกลุ่มที่กล่าวไปแล้ว

การแพ้เครื่องสำอางมีอาการอย่างไร 

การแพ้มีแพ้มาก แพ้น้อย และแพ้แบบเฉียบพลัน คือ หลังจากใช้ 3-4 ชั่วโมง ก็มีอาการทันที หรือแบบเรื้อรังคือ ค่อยๆเป็นทีละน้อยจนมากขึ้นทุกที กลไกการแพ้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ

1. อาการระคายเคือง เนื่องจากของที่ใช้มีความเป็นกรดหรือเป็นด่าง หรือผสมสารที่มีฤทธิ์ลอกผิวแรงไปเมื่อนำมาใช้เกิดการกัดผิวจนแห้งลอกตึง แดง หรือถ้าเป็นเครื่องใช้กับผมก็จะกัดผมให้แตก ผมแดง ผมหัก เป็นต้น สารประกอบนี้ใช้กับใครก็จะเกิดการแพ้ขึ้นทุกคน จะเป็นมากน้อยแล้วแต่ใช้มากใช้น้อย หรือใช้บ่อยแค่ไหน และลักษณะผิวของแต่ละคน 

2. เป็นการแพ้แบบร่างกายสร้างภูมิแพ้ต่อสารเคมีที่เป็นส่วนผสม ทั้งนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละคน ผิวบางคนมีความไวต่อการแพ้ชนิดนี้ สารที่คนอื่นใช้ไม่แพ้ เช่น คน ๑oo คน ใช้ไม่มีอาการแพ้ แต่มีคนแพ้อยู่เพียงคนเดียว  การแพ้ชนิดนี้พบไม่บ่อย ปัญหาอยู่ที่ผิวของผู้นั้นเอง เมื่อรู้สาเหตุต้องหลีกเลี่ยงไปใช้ของที่ไม่มีสารที่แพ้ผสมอยู่ เช่นสารกันแสง น้ำหอม หรือยากันบูดบางชนิด บริเวณที่แพ้จะเกิดผื่นแดงเป็นจ้ำๆ และคัน ถ้าเป็นชนิดเฉียบพลันอาจมีการบวม ผื่นพุพอง น้ำเหลืองไหล

3. เป็นคุณสมบัติของเครื่องสำอางที่ออกฤทธิ์ต่อผิว เช่น ฮอร์โมนใช้แล้วทำให้เกิดสิว ครีมลอกฝ้าใช้แล้วหน้าด่างขาว หรือด่างดำ หรือประเภทสมุนไพรใช้แล้วทำให้ผิวเกิดความไวต่อแสงเมื่อถูกแดด เกิดอาการแพ้แสง หน้าแดงหรือดำ หรือสารผสมยาเคลือบสีเล็บ ทำให้เล็บเหลือง เปราะและแตก หรือเล็บร่อนไม่ติดกับผิว

เมื่อเกิดการแพ้มีวิธีทดสอบหาสาเหตุหรือไม่

เมื่อเกิดการแพ้เครื่องสำอางผู้ใช้มักรู้ตัวเอง เพราะเกิดอาการคันและมีผื่นขึ้นมาหลังจากการใช้ส่วนของที่ใช้มานาน เพิ่งมาเกิดการแพ้ทีหลังก็อาจเป็นได้ ไม่จำเป็นต้องแพ้ตั้งแต่เริ่มใช้ใหม่ๆ เมื่อสงสัยว่าตัวไหนเป็นสาเหตุก็ควรหยุดใช้ ถ้าอาการแพ้หายไปหลังจากหยุดใช้ก็แสดงว่าตัวนั้นเป็นสาเหตุแน่ แต่ถ้าใช้อยู่หลายชนิด ไม่รู้แน่ว่าตัวไหน  ก็ควรหยุดใช้ทั้งหมด แล้วเริ่มใช้ใหม่ทีละอย่าง พอเกิดอาการขึ้นเมื่อเริ่มใช้ตัวไหนก็พอจะบอกได้

ถ้าจะให้แน่นอนและเพื่อประโยชน์ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางคราวต่อไปก็คือ ทำการทดสอบผิวหนังที่เรียกว่าแพทเทส โดยแพทย์จะเอาสารเคมีหลายชนิดที่อยู่ในเครื่องสำอางทดสอบบนผิว ถ้าเกิดอาการผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ทดสอบก็แสดงว่าแพ้สารนั้น เมื่อเลือกซื้อครั้งใหม่ก็จะต้องเลี่ยงไม่เลือกชนิดที่มีสารที่แพ้ผสมอยู่ ผู้ใช้อาจทำการทดสอบผิวของตัวเอง โดยใช้เครื่องสำอางตัวอย่าง เช่น ครีมกำจัดสิวทาบริเวณแขนใกล้ข้อพับศอก ถ้ามีผื่นแดงคันเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงก็แสดงว่าแพ้

ผิวที่แพ้เครื่องสำอางมีรอยดำด่างเหลืออยู่ จะมีโอกาสรักษาหายได้หรือไม่

เมื่อเกิดอาการแพ้เครื่องสำอางขนาดน้อยๆ มีอาการคัน แห้ง ตึง เมื่อหยุดใช้อาการที่แพ้ก็จะหายไปภายใน 3-4 วัน แต่ถ้าเป็นมากถึงขนาดมีผื่นแดงลอก จะต้องทาครีมแก้ผิวอักเสบ ถ้าเป็นมากขนาดบวมพุพอง มีน้ำเหลืองไหล  ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ จัดยากิน เพื่อให้ผื่นหายไปโดยเร็ว  สำหรับการแพ้ชนิดเป็นสิว ใช้การรักษาเช่นเดียวกับการรักษาสิวทั่วไป ส่วนรอยจุดด่างขาวและดำที่เกิดจากการลอกฝ้า มีโอกาสหายได้ ยกเว้นในรายที่เป็นมาก บางจุดอาจเป็นถาวรไปเลยก็ได้ ข้อสำคัญเมื่อเกิดอาการแพ้แล้วควรรับการรักษาที่ถูกต้อง บางคนรักษาตัวเองโดยใช้ยาที่มีอยู่  ที่เคยทาโรคอื่นหาย หรือรักษาโดยเพื่อนแนะนำ เช่น ให้ลองใช้กระเทียม หรือว่านหางจระเข้มาทา ซึ่งอาจทำให้เป็นหนักขึ้น หรือแพ้ยาที่ใช้ซ้ำไปอีก

แพ้เครื่องสำอางหลายชนิด อยากทราบว่าจะใช้เครื่องสำอางสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ได้หรือไม่

กรณีแพ้เครื่องสำอางหลายชนิด อาจเกิดจากสารเคมีตัวหนึ่งตัวใดที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอาง ซึ่งถ้าแม้จะเปลี่ยนยี่ห้อแล้ว ก็อาจแพ้อีก ถ้าชนิดที่เปลี่ยนใหม่มีส่วนผสมเช่นเดียวกัน หรือมีตัวที่แพ้ผสมอยู่ด้วย เครื่องสำอางชนิดแพ้น้อยเขาจะไม่ผสมสารที่แพ้ง่าย เช่นน้ำหอม ยากันบูด หรือน้ำมันบางชนิด โอกาสที่ผิวจะแพ้จึงน้อยกว่าเครื่องสำอางธรรมดา อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ที่มีผิวแพ้สารเคมีบางอย่างซึ่งผสมอยู่ในเครื่องใช้ชนิดแพ้น้อยก็ย่อมจะเกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเครื่องสำอางชนิดแพ้น้อย จะไม่ทำให้เกิดการแพ้อย่างสิ้นเชิง

 

ข้อมูลสื่อ

210-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 210
ตุลาคม 2539
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์