“พลับพลึงกำลังช่อใหม่ ปลูกเอาไว้อยู่ในแดงดง
รูปหล่อเชิญออกมาโค้ง รำวง รำวง สาละวัน...”
ที่ยกมาขึ้นต้นข้างบนนี้ เป็นท่อนแรกของเพลงดังในอดีต ชื่อเพลง “สาละวันรำวง” เพลงนี้มีอายุกว่า 30 ปีแล้ว ขับร้องครั้งแรกโดยไวพจน์ เพชรสุพรรณ สมัยยังเป็นหนุ่ม คนไทยสมัยโน้นแทบทุกคนร้องเพลงนี้ได้ เพราะนอกจากเนื้อเพลง-ทำนองนี้จะสรุกสนานเช่นเดียวกับเพลงรำวงอื่น ๆ แล้วท่ารำวงสำหรับเพลงนี้ก็ยังพิเศษไม่เหมือนใครอีกด้วย คือในเนื้อร้องจะกำหนดให้มีท่ารำแบบแปลก ๆ เช่น “สาละวัน ถอยหลัง....สาละวัน เตี้ยลง....” เป็นต้น ปัจจุบัน คำว่า “สาละวันเตี้ยลง” กลายเป็นสำนวนในภาษาไทยที่ใช้กันทั่วไป หมายถึง การตกต่ำลง หรือเลื่อนลงของกิจกรรมหรือผลงานเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต
เช่น เศรษฐกิจไทยในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน อยู่ในยุค “โชติช่วงชัชวาล แต่พอถึงช่วงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กลายเป็นยุค “สาละวันเตี้ยลง” มาถึงปัจจุบัน เป็นต้น
เนื้อเพลงที่ยกมา นอกจากมีชื่อสาละวัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเมือง (แขวง) ในประเทศลาวแล้ว ยังมีชื่อต้นพลับพลึง (ที่) กำลัง (ออก) ช่อ (ดอก) ใหม่อีกด้วย ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นเมืองสาละวันเช่นเดียวกับผู้เขียน และอีกหลายท่านยังไม่เคยเห็นช่อดอกพลับพลึงมาก่อน หรือเคยเห็นในรูปภาพแต่ไม่เคยเห็นช่อดอกจริง ยิ่งกว่านั้นบางท่านยังไม่เคยเห็นหรือรู้จักต้นพลับพลึงเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่พลับพลึงเป็นพืชดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่งที่คนไทยในอดีตรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี
พลับพลึง : จากชายฝั่งสู่สวน
พลับพลึงเป็นพืชล้มลุกอายุยาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crinum asiaticum Linn. อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae เช่นเดียวกับซ่อนกลิ่น จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น มีหัวคล้ายหอมหัวใหญ่ ลำต้นมีกาบใบหุ้มเป็นชั้น ๆ คล้ายต้นกล้วย ใบแผ่ออกไปโดยรอบ มีช่อดอกออกมาจากกลางลำต้น เป็นต้น ต่างกันที่ขนาดของพลับพลึงซึ่งใหญ่กว่าซ่อนกลิ่นมาก
ลำต้นของพลับพลึงเมื่อโตเต็มที่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12-15 เซนติเมตร สูงราว 90-120 เซนติเมตร กาบใบที่ประกอบเป็นลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ มีสีขาว ใบเป็นรูปหอก ปลายแหลม กว้าง 10-12 เซนติเมตร ยาว 60-90 เซนติเมตร ใบสีเขียว ผิวเรียบ ขอบใบเรียบ ใบหนาและอวบน้ำ กาบใบห่อหุ้มเป็นลำต้น
ดอกเป็นช่อใหญ่ ก้านดอกชูขึ้นมาจากตรงกลางลำต้น ยาวประมาณ 90 เซนติเมตร มีดอกช่อละประมาณ 15-40 ดอก กลีบดอกสีขาวแคบเรียวยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกละ 6 กลีบ เมื่อบานเต็มที่กลีบดอกโค้งเข้าหาก้านดอก เกสรตัวผู้มี 6 ก้าน ชูสูงขึ้นมาจากดอก ปลายเกสรเป็นสีแดง ดอกพลับพลึงมีกลิ่นหอม ทยอยออกดอกได้เรื่อย ๆ
พลับพลึงต่างจากซ่อนกลิ่น ซึ่งมีดอกเรียงรายไปตามก้านดอก แต่พลับพลึงมีดอกรวมกันอยู่เป็นช่อคล้ายดอกลิลลี่ จึงได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Crinum Lily หรือ Cape Lily ถิ่นกำเนิดของพลับพลึงอยู่ในทวีปเอเชีย ดังเห็นได้จากชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นชื่อชนิด (Species) คือ asiaticum มีผู้รู้กล่าวว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพลับพลึงอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะโปลินีเซีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยกับพลับพลึงเป็นอย่างดีมานาน
ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล ฉบับ พ.ศ. 2416 เมื่อ 129 ปีมาแล้ว บรรยายถึงพลับพลึงเอาไว้ว่า “พลับพลึง : คือเป็นต้นหญ้าใหญ่อย่างหนึ่ง ต้นเป็นกาบชั้น ๆ คล้ายต้นกล้วย” จะเห็นได้ว่าคนไทยสมัยนั้นมองพลับพลึงเป็นหญ้าชนิดหนึ่งที่คล้ายต้นกล้วย คงเพราะพบขึ้นอยู่ทั่วไปนั่นเอง
ความคุ้นเคยที่คนไทยพบเห็นต้นพลับพลึงอยู่เสมอ จึงนำมาเปรียบกับข้าวที่ออกรวงจวนจะแก่จัดว่าเป็น “ระยะพลับพลึง” คือใบยังเขียวอยู่ เมล็ดข้าวเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีครีม ยังไม่เป็นสีเหลือง ชาวนานิยม เกี่ยวข้าวระยะพลับพลึงนี้ เพราะเมื่อตากแห้งแล้วจะได้เมล็ดข้าวที่สวย นำไปสีจะไม่หักป่นมากเหมือนเกี่ยวระยะเมล็ดข้าวแก่เต็มที่ ซึ่งเหมาะสำหรับเก็บเอาไว้ทำพันธุ์มากกว่า ชาวไทยภาคกลางเรียกพลับพลึงว่า พลับพลึง ส่วนชาวเหนือเรียกว่า ลิลัว ภาษาอังกฤษเรียก Crinum Lily หรือ Cape Lily โดยเห็นว่ามีช่อดอกคล้ายลิลลี่นั่นเอง
ประโยชน์ของพลับพลึง
ในอดีตชาวไทยใช้ประโยชน์จากพลับพลึงในด้านรักษาโรคเป็นหลัก ตำราสรรพคุณสมุนไพร กล่าวว่า ใบ : รสเอียน ประคบแก้เคล็ดยอก ขัดแพลง และถอนพิษได้ดี ต้มกินมากทำให้อาเจียนเป็นเสมหะ
หมอพื้นบ้านนิยมนำใบพลับพลึงมาลนไฟให้ตายนึ่ง แล้วพันตามอวัยวะที่เคล็ดยอกและบวม หรือหักแพลง ถอนพิษได้ดี แถบสุพรรณบุรีใช้ใบลนไฟ รักษาโรคไส้เลื่อนด้วย
ส่วนกาบใบที่ประกอบเป็นลำต้น มีสีขาวอวบหนา นิยมนำมาทำกระทงใส่ธูปเทียนลอยในวันลอยกระทง ในยุคก่อนโฟมจะเข้ามาแทนที่ ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่เลิกใช้โฟมลอยกระทงกันแล้ว น่าจะหันมาฟื้นฟูกระทงกาบพลับพลึงขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้มีผู้ปลูกต้นพลับพลึงกันมากขึ้นเช่นแต่ก่อน
พลับพลึงเป็นพืชที่ปลูกง่ายมากชนิดหนึ่ง มีความแข็งแรงทนทานต่อดินฟ้าอากาศเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง ขอเพียงมีความชุ่มชื้นบ้างเท่านั้นก็พอ การขยายพันธุ์ก็ทำได้ง่าย โดยการแยกหน่อหรือหัวใต้ดิน พลับพลึงขึ้นในที่ร่มเงาหรือมีแสงรำไรได้ดี
นอกจากมีกลิ่นหอมแล้ว ดอกพลับพลึงซึ่งมีช่อใหญ่ ก้านช่อยาว ยังเหมาะนำไปจัดแจกัน กระเช้าดอกไม้ หรือมอบให้เป็นช่อเดี่ยว ๆ เช่นเดียวกับดอกลิลลี่ที่นิยมกัน
คุณค่าของดอกพลับพลึงนั้นยังคงมีอยู่อย่างเดิมจากอดีตสู่ปัจจุบัน สิ่งที่ขาด ก็คือสายตาของคนไทยที่มืดมัวลงกว่าแต่ก่อน จนมองไม่เห็นคุณค่าและความงามของพลับพลึงตามความเป็นจริง เพราะมีมายาคติเป็นม่านบังตาอยู่นั่นเอง
- อ่าน 26,109 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้