• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักษาฝีลำมะลอกด้วยสมุนไพร

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 ผู้เขียนเกิดเป็นโรคที่หายากมาครั้งหนึ่ง อันที่จริง ผู้เขียนเคยได้ยินชื่อโรคนี้มาตั้งแต่สมัยที่วิชาเวชกรรมแผนไทยแล้ว สมัยที่เรียนนั้นเรียกว่า “ แผนโบราณ ”
ผู้ได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใกล้ชิดว่าญาติผู้ใหญ่ของเขาเสียชีวิตเพราะโรคนี้ที่เกิดขึ้นบริเวณราวข้างคือเอว และยังเคยเห็นหญิงผู้หนึ่งมีนิ้วชี้หงิก เมื่อซักถามดูได้ความว่าเคยเป็นฝีลำมะลอกที่จมูกเล็บ เมื่อหายแล้วปรากฏว่านิ้วหงิก เหยียดไม่ได้

ฝีลำมะลอก มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันหลายชื่อ ได้แก่ คนไทยเรียกรวม ๆ ว่า ฝีลำมะลอก หรือฝีมตะมอย ไม่ว่าจะเกิดที่ใด

คนทางภาคใต้ เรียก ฝีตะมอย
คนจีน เรียก แซจั๊ว แซแปลว่า เกิด จั๊วแปลว่า งู
หรือคนจีนที่เรียกตามตำแหน่งว่าที่เกิดโรค เช่น
- ไจ๋ก๊ะปี เกิดที่จมูกเล็บ
- พ่วงเอียวจั๊ว เกิดที่เอว
- อั๋วจั๋ว เกิดที่คอ


พูดถึงการรักษาฝีลำมะลอกของคนจีน จะมีที่มาที่ไปเป็นลักษณะเฉพาะของแพทย์แผนจีน ดังมีคำภาษาจีนอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกอาการของโรคฝีลำมะลอก คือ บ่เบี้ยเจ๋าตั๊ก แปลว่า งูพิษสารพัดพันธุ์ เกิดที่ใดก็ได้

อนึ่ง คนจีนถือว่าจั๊วแพ้จิ๊ว หมายถึง งูแพ้เหล้า เพราะถ้างูโดนเกล้าเมือกตามลำตัวจะละลายหลุดไป ทำให้งูเลื้อยต่อไปไม่ได้ ดังนั้นยารักษาโรคแซจั๊ว จึงต้องมีเหล้าเป็นส่วนประกอบ
ประมาณวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 ผู้เขียนเริ่มมีอาการเจ็บที่จมูกเล็บนิ้วกลางมือซ้าย อาการเพิ่มขึ้นทุกวันจนถึงวันที่ 11 มีนาคม เห็นตุ่มสีเลือดแดงจัดเกิดขึ้นตรงจมูกเล็บบริเวณที่เจ็บ ขนาดของตุ่มกลมโปน บริเวณรอบตุ่มแดงเป็นรอยบุ๋ม รอบรอยบุ๋มเป็นวงขาว เมื่อดูลักษณะโดยรอบจะคล้ายคลึงตางู

คืนวันนั้นตุ่มแดงงอกออกมาเป็นปลายแหลมงอ มองดูลักษณะคล้ายหางงูหางกระดิ่ง จึงใช้เล็บจิกดึงหางออก แต่แปลกที่ไม่มีเลือดไหลออกมา ทั้ง ๆ ที่ตุ่มดังกล่าวเป็นสีแดงเหมือนมีเลือดคั่ง

วันต่อมาผู้เขียนบังเอิญไปพบคนจีนสูงอายุผู้หนึ่ง ท่านบอกลักษณะแบบนี้เป็น แซจั๊ว ท่านเอากรรไกรตัดส่วนที่ยื่นออกมาเป็นปลายแหลมงอคล้ายหางงูซึ่งงอกขึ้นมาใหม่หลังจากที่ผู้เขียนดึงออกไปแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนั้นนิ้วกลางทั้งนิ้วบวมแดงจัด ไข้ขึ้นสูง ใบหน้าร้อนแดง แสบนัยน์ตา ผิวของนิ้วเป็นมัน

คนจีนสูงอายุท่านนั้นไปหาใบว่านมหากาฬมาตำใส่พิมเสน 2-3 เกล็ด เติมเหล้า ห่อยาด้วยผ้าพันแผล นำมาพันนิ้วตรงบริเวณตุ่มดังกล่าว แล้วห่ออีกชั้นด้วยถุงพลาสติกเล็ก ๆ ผูกด้วยด้ายให้พออยู่

ผู้เขียนรู้สึกว่า 4 ชั่วโมงหลังจากพอกยาบริเวณนิ้วที่เป็น ทำให้อาการไข้ลดลง นิ้วสีแดงเริ่มกลับเป็นสีเนื้อปกติ ตุ่มแดงที่ดูคล้ายหางงูสีแดงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ

ผู้เขียนยังทำการพอกยาทั้งกลางวันและเวลานอนกลางคืน
วันต่อมายังคงมีไข้อยู่ ยังร้อนที่ปลายนิ้ว ยังเจ็บที่บริเวณตุ่มที่ดูคล้ายตางูแต่กลายเป็นสีดำและมีขนาดเล็กลงแล้ว แต่ยังมีส่วนหางที่คล้ายหางงูยื่นโผล่ออกมาอีก

วันต่อมาหลังจากตัดส่วนหางที่คล้ายหางงูออกและพอกยาแล้วปรากฏว่าในตอนเย็น ตุ่มที่ดูคล้ายตางูหายไปเหลือเป็นจุดแดงเล็ก ๆ เหมือนยุงกัด แต่ยังมีอาการมึนอยู่มาก วันต่อมายังมีอาการง่วงและมึนอยู่ จุดสีแดงกลายเป็นสีน้ำตาล

วันต่อมาวันที่ 10 นับตั้งแต่วันเริ่มเจ็บ ที่ปลายนิ้วนั้นแผลหายสนิทแล้ว บริเวณนิ้วยังบวมแดงอยู่บ้างแต่ไม่เจ็บแล้ว ถึอได้ว่าการรักษาสิ้นสุดลง

คนจีนรักษาโรคแซจั๊วด้วยใบว่านมหากาฬ ใบเทียนบ้านหรือเทียนกิ่ง หรือจะใช้มูลห่านก็ได้ เพราะชาวจีนเชื่อว่างูกลัวห่าน แต่ดูจะน่าหวาดเสียวมากไปหน่อยนะครับ

คนไทยใช้ใบว่านมหากาฬ ใบพญายอ ใบตำลึง เห็ดกระถินพิมาน ใบน้ำเต้า หรือใบไม้ที่มีสรรพคุณเป็นยาเย็นรักษาฝีลำมะลอกกัน

เท่าที่ผู้เขียนทราบ ไม่มียาแผนปัจจุบันรักษาโรคนี้ได้ แต่ถ้าไปโรงพยาบาลเอกชน ถ้าวินิจฉัยโรคผิดคงได้ยาปฏิชีวนะมากิน หรือถ้าวินิจฉัยโรคถูกก็จะได้ยาไซโคลเวียร์ หรือเพนไซโคลเวียร์ หรือแฟมไซโคลเวียร์ หรือแกนไซคลอเวียร์ แต่ราคาแพงมหาศาลและยังไม่มีการยืนยันว่ารักษาได้ แม้แต่โรคเริมหรืองูสวัด ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าและรักษาง่ายกว่าฝีมะลอก
 

ข้อมูลสื่อ

274-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 274
กุมภาพันธ์ 2545
เรื่องน่ารู้
พิสิฐ วงศ์วัฒนะ