• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักษาโรคเบาหวาน แบบวิธีธรรมชาติ

“คุณหมอคะ หลายคืนมานี้ ทำไมตอนดึก ๆ ดิฉันใจหวิว ใจสั่น และรู้สึกตัว ต้องรีบกินน้ำอัดลมหรือของหวานๆ ทุกคืนเลย...”

คุณหมอจำได้ว่า หญิงสาววัน 40 ปีเศษรายนี้ เคยตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระยะแรกเริ่ม และได้แนะนำคนไข้ว่า

“เบาหวานในระยะแรกเริ่มแบบนี้ ยังไม่จำเป็นต้องรีบให้ยา อยากให้ลดน้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม ไอศกรีม ขนมหวาน รวมทั้งผลไม้หวานดูก่อน แล้วมาตรวจเลือดดูใหม่อีกครั้ง ระดับน้ำตาลในเลือดอาจลดลงสู่ระดับปกติได้”

จากประสบการณ์ของคุณหมอพบว่า มีคนไข้เบาหวานรายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ (ระหว่าง 80-120 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) โดยการควบคุมอาหารอย่างจริง ๆ จัง ๆ เช่น งดน้ำอัดลมและขนมหวานที่เคยกินประจำ ใช้น้ำตาลเทียมใส่กาแฟและอาหารแทนน้ำตาลทราย เป็นต้น

“เห็นเพื่อนบ้านที่เป็นเบาหวานบอกว่าต้องกินยาเบาหวานตลอดชีวิตจึงจะปลอดภัย ไม่ทราบว่าถ้าจะขอยาไปกินเลยจะดีไหมคะ” คนไข้ถาม

“หมออยากให้คุณรักษาโรคเบาหวานแบบวิธีธรรมชาติ คือควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งจะปลอดภัยและยุ่งยากน้อยกว่าการกินยาเบาหวาน เนื่องเพราะยาเบาหวานจะออกฤทธิ์ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เมื่อกินยานี้จะต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำตาลลดลงมากเกินไปจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการใจหวิว ใจสั่น หิวข้าว เหงื่อออก ตัวเย็น บางครั้งอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

“เมื่อเริ่มให้ยาเบาหวาน คนไข้จะต้องรักษาดุลยภาพ 3 สิ่ง ได้แก่ อาหารที่กิน การออกแรงกาย และขนาดของยาเบาหวานที่ใช้ให้พอเหมาะ กล่าวคือ ถ้ากินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งของหวาน น้ำตาลในเลือดจะสูง แต่ถ้ากินน้อยน้ำตาลในเลือดจะต่ำ ถ้ามีการออกแรงกายมาก เช่น ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬามาก ๆ น้ำตาลในเลือดจะต่ำ แต่ถ้าอยู่เฉย ๆไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย น้ำตาลในเลือดจะสูง ส่วนยาถ้าใช้ขนาดน้อย น้ำตาลก็จะสูง แต่ถ้าใช้ขนาดมาก น้ำตาลก็จะต่ำ

โดยปกติหมอจะให้ยากินในขนาดคงที่ เช่น วันละครึ่งเม็ด หรือ๑ เม็ดทุกวัน ดังนั้นจะต้องปรับเรื่องอาหาร และการออกกำลังกายให้พอเหมาะ ถ้าปรับน้อยไปน้ำตาลในเลือดจะสูงเกิน ซึ่งในระยะสั้นยังไม่มีอันตรายอะไร เราสามารถค่อย ๆ ปรับดุลยภาพ 3 สิ่ง จนอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ในภายหลัง

“อันตรายที่จะเกิดขึ้นหลังจากเริ่มกินยาเบาหวาน อยู่ที่การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากการกินอาหารน้อยเกิน หรือกินผิดเวลาหรือมีการใช้แรงกายหักโหมเกินไป ดังนั้นจะต้องอาหารในปริมาณพอ ๆ กันทุกวัน ไม่ใช่วันไหนรู้สึกอร่อยก็กินมาก วันไหนเบื่ออาหารก็กินน้อย

“นอกจากนี้จะต้องกินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ และห้ามเผลอนอนหลับตอนใกล้มื้ออาหาร ทำให้ไม่ได้กินมื้อนั้น ๆ จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้"

คุณหมอจำได้ว่าคราวนั้นได้ใช้เวลาอธิบายเสียยืดยาว ทั้งนี้เพื่อให้คนไข้ตระหนักถึงวิธีการรักษาเบาหวานอย่างปลอดภัย และหลังจากนั้นคนไข้ได้กลับมาตรวจเลือดช้ำอยู่ 2-3 ครั้ง พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆ ลดลงจนใกล้สู่ระดับปกติ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมมาคราวนี้คนไข้จึงมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตอนดึกๆ ได้

คนไข้เล่าให้ฟังว่า “เพื่อนบ้านที่เป็นเบาหวาน แนะนำให้ดิฉันลองกินยาเบาหวานของเขาดู ดิฉันเลยกินวันละเม็ด ตอนหลังอาหารเย็นทุกวัน ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับอาการใจหวิวใจสั่นตอนดึกที่ฉันเป็นมาหลายวันนี้หรือไม่คะ”

                                                   

“หมอคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะยาเบาหวานจะออกฤทธิ์เต็มที่หลังกินยาประมาณ 10 กว่าชั่วโมง ถ้ากินตอนเย็นก็จะออกฤทธิ์เต็มที่ตอนดึก ถ้ากินตอนเช้าก็จะออกฤทธิ์เต็มที่ตอนบ่าย อาการใจหวิวใจสั่นรู้สึกหิว กินของหวานแล้วดีขึ้น ลักษณะอย่างนี้เป็นอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ”

“แล้วทำไมดิฉันจึงเกิดภาวะดังกล่าวได้ล่ะคะ” คนไข้ถาม

คุณหมอตอบว่า “ก็เนื่องเพราะก่อนหน้านี้คุณได้ควบคุมอาหารจะระดับน้ำตาลในเลือดลดลงใกล้สู่ระดับปกติแล้ว เมื่อคุณกินยาเบาหวาน ซึ่งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ก็ยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำมากเกินไป จนเกิดอาการดังกล่าว นี่ยังนับว่าโชคดีที่คุณรู้สึกตัว สะดุ้งตื่นขึ้นมาหาของหวานกินแก้ได้ทัน ถ้าเผลอหลับต่ออาจจะถึงขั้นหมดสติจนปลุกไม่ตื่น ถ้ามีคนมาพบและพามาโงพยาบาลทันก็อาจช่วยให้ฟื้นสติได้ แต่ถ้าไม่มีคนเห็น ปล่อยให้หมดสติหลายๆ ชั่วโมง ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้”

“ถ้าเช่นนั้นดิฉันควรจะปฏิบัติอย่างไรดีล่ะคะ”


“ก็ควรจะงดกินยาเบาหวานตั้งแต่วันนี้ไปเลย แต่ขอให้ควบคุมอาหารให้ดีๆ อีก 2 สัปดาห์ค่อยมาตรวจเลือดอีกครั้ง เมื่อทราบผลระดับน้ำตาลในเลือด ค่อยมาคิดหาหาทางรักษาให้เหมาะสมต่อไป” คุณหมอสรุปทิ้งท้าย

ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ที่ใช้ยาเบาหวานอยู่ประจำ
- ใช้ยาในขนาดที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดยาเอง (ยกเว้นได้รับการสอนอย่างถูกวิธี และมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง)
- กินอาหารในปริมาณพอๆ กัน ทุกวัน
- กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ ห้ามผิดเวลา
- ห้ามเผลอเข้านอนตอนใกล้อาหารมื้ออาหาร เช่น ตอนใกล้เที่ยง
- ห้ามออกกำลังกายหักโหมเกินไป ควรค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายขึ้นทีละน้อย
- ควรพกน้ำตาล ลูกอม หรือของหวานเวลาไปไหนมาไหน ใช้กินทันทีที่มีอาการสงสัยว่าอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น มีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น เป็นต้น ถ้ากินแล้วอาการหายเป็นปลิดทิ้ง ก็ไม่ต้องรีบไปหาหมอ แต่ควรแจ้งให้หมอทราบเมื่อไปพบหมอตามนัดคราวในคราวต่อไป แต่ถ้ากินของหวานแล้วอาการไม่ทุเลาหรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ควรรีบไปหาหมอทันที
 

ข้อมูลสื่อ

274-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 274
กุมภาพันธ์ 2545
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ