• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ของเล่นกระจายเต็มห้อง

ของเล่นกระจายเต็มห้อง
 

ถึงเวลาแล้วที่คุณจะซื้อของเล่นหลายๆชนิดให้ลูกของคุณหรือลูกของเพื่อนซึ่งมีวัย 4-5 เดือนได้แล้ว ร้านขายของเล่นเด็กมีของเล่นที่ล่อตาล่อใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่มากมาย มีสีสันชวนมอง น่าจับต้องทั้งสิ้น


คุณจะซื้อของเล่นอะไรดี
ให้เวลาสักนิด คิดถึงพัฒนาการของลูก ของเล่นที่คุณเลือกจะไม่ถูกลูกเมิน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มทักษะและพัฒนาการของลูกได้อย่างดีเยี่ยม
คุณสังเกตได้ว่า เมื่อลูกนอนหงาย ลูกจะยกเท้าขึ้นมากำเล่นอย่างสนุกสนาน ของเล่นจึงควรมีขนาดเท่าที่มือของลูกจะกำได้
ของเล่นสำหรับลูกวัย 4-5 เดือนจึงอาจเป็นบล็อกพลาสติกหรือไม้ ซึ่งออกแบบเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หลายเหลี่ยม ลูกกลม รูปดาว เป็นต้น หรืออาจเป็นห่วงพลาสติกหลายๆขนาด ห่วงบางชนิดมีน้ำอยู่ภายใน หรือห่วงพลาสติกแบนหลายๆชิ้นคล้องกันเมื่อเขย่าจะเกิดเสียงดัง หรือกุญแจพลาสติกแบบต่างๆ หรือตุ๊กตายางรูปคนหรือสัตว์ตัวเล็กๆ บีบแล้วมีเสียงดัง ฯลฯ


ได้ของเล่นมาแล้วก็ต้องรู้วิธีที่จะให้ลูกเล่น
ตั้งแต่วัย 4 เดือนมาแล้วที่ลูกสามารถพลิกตัวจากท่านอนคว่ำเป็นนอนหงายได้ ถ้าคุณฝึกให้ลูกบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของลำตัว แขน และขาแข็งแรงอย่างรวดเร็ว
โดยปกติแล้วเด็กจะพลิกตัวนอนหงายได้ก่อนที่จะพลิกตัวนอนคว่ำ
การเปลี่ยนท่าทางจากนอนหงายเป็นนอนคว่ำทำได้โดยการเอื้อมแขนผ่านลำตัว พร้อมกับพลิกไหล่ สะโพก และขาตามมา เมื่อทุกส่วนผ่านกลางลำตัวมาได้ ก็จะสามารถคว่ำตัวเป็นท่านอนคว่ำได้
ง่ายมากที่คุณจะฝึกหัดลูก


วิธีการคือ ในขณะที่ลูกกำลังนอนหงาย คุณถือของเล่น 1 ชิ้น แล้วถือของเล่นล่อทางซีกซ้ายหรือขวาเหนือระดับใบหน้าประมาณ 1 ช่วงแขนของลูก ระยะห่างพอดีที่ลูกจะเอื้อมมือจับของเล่นได้ คุณอาจทำเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากลูกด้วยปากของคุณเอง การบีบหรือเขย่าของเล่น
ในช่วงวัยนี้ลูกจะจับจุดกำเนิดของเสียงด้านข้างและล่างของลำตัวได้ โดยลูกจะหันหน้าไปมองจุดกำเนิดของเสียง
เมื่อลูกหันหน้ามามอง นั่นหมายถึงกล้ามเนื้อคอของลูกจะทำงานเพื่อให้หน้าหันมากล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการบิดหน้าจะทำให้กล้ามเนื้อลำตัวบิดตาม
ความต้องการของลูกคืออยากได้ของเล่นมาอยู่ในครอบครอง สมองจะสั่งงานมาที่มือเพื่อให้มือเอื้อมหยิบของได้


ถ้าคุณต้องการให้ลูกใช้มือขวา คุณจะต้องถือของเล่นให้อยู่ทางซีกซ้ายของหน้าลูก เมื่อลูกหันหน้ามามองและเอื้อมมือมาใกล้ของเล่น คุณจะต้องค่อยๆเคลื่อนของเล่นลงมาหาพื้นในรัศมีประมาณ 1 ช่วงแขนของลูก ของเล่นจะต้องไม่เคลื่อนเร็วจนกระทั่งหลุดจากสายตาของลูก มิฉะนั้นลูกอาจเลิกสนใจ เพราะสายตาของลูกในระยะนี้มองจับเฉพาะสิ่งของที่อยู่บริเวณตรงกลางหน้าเท่านั้น ในขณะเดียวกันคุณจะต้องใช้มืออีกข้างหนุ่งของคุณช่วยพยุงขาข้าวขวาของลูกให้พลิกตัวตะแคงตามการเอื้อมของแขน ลูกของคุณก็จะสามารถพลิกตัวนอนคว่ำได้


เมื่อลูกได้เรียนรู้ทิศทางการเคลื่อนไหวของแขน ขา และลำตัว คุณก็แทบจะไม่ต้องพยุงขาของลูกอีก ลูกสามารถพลิกตัวนอนคว่ำได้เอง
การเล่นเกมทุกชนิด ไม่ว่าคุณหรือใครก็ตามย่อมต้องการเป็นผู้ชนะบ้าง คุณจึงควรให้ลูกได้เป็นผู้ชนะบ้างเช่นกัน คือยอมให้ลูกเอื้อมมือจับของเล่นได้ แล้วคุณก็ให้กำลังใจโดยการหัวเราะชอบใจ ปรบมือชมเชย เป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากกระทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ลูกของคุณก็สนุก ยิ้มชอบใจส่งเสียงดังเอิ๊กอ๊าก


โลกของลูกกว้างขวางและน่าสนุกขึ้น เมื่อลูกสามารถพลิกตัวคว่ำและหงายได้เอง นั่นหมายถึงแขน ขา และลำตัวแข็งแรงขึ้น ตัดปัญหาการปล่อยให้ใบหน้าตกกระแทกของเล่น แต่ของเล่นนั้นจะถูกลูกพาไปทิ้งเกลื่อนทั่วห้อง ปล่อยให้ห้องเป็นเช่นนั้นไปก่อนในขณะลูกเล่น เพราะจะเพิ่มพัฒนาการและทักษะในการเคลื่อนย้ายลำตัวและหยิบจับสิ่งของในตำแหน่งต่างๆกัน ความสัมพันธ์ของสายตากับร่างกายก็จะดีขึ้น
เปล คอกกั้น ย่อมไม่เหมาะกับลูกเพราะคับแคบและของเล่นอาจหล่นลงพื้นข้างล่างนอกเปลและคอกกั้น ทำให้ลูกร้องไห้ที่ของเล่นหลุดหายไปจากมือ เช่นเดียวกับเมื่อมีใครมาแย่งของเล่นไป
เตียงนอนของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเห็นว่ากว้างก็อาจเกิดอันตรายถ้าลูกกลิ้งตกลงมา ลูกยังไม่เข้าใจถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองได้
วิธีที่ปลอดภัยคือ ปล่อยลูกเป็นอิสระอยู่บนพื้นในขณะที่ลูกตื่นและต้องการเล่น ลูกเองก็แสดงอาการพอใจเมื่ออยู่บนพื้นกว้าง


อย่างไรก็ตาม ลูกยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เล่น สิ่งที่เอื้อมถึงหรือสัมผัสได้ ลูกจะต้องคว้าจับทันที ลูกสามารถมองเห็นวัตถุชิ้นเล็กๆตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7มิลลิเมตรได้แล้ว ดังนั้นคุณจึงควรสำรวจไม่ให้มีวัตถุมีคม หรือชิ้นเล็กเกินไป
รูปลั๊กไฟมีอันตรายต่อเด็กอย่างมาก เด็กทุกคนชอบเอานิ้วไปแหย่ เด็กไม่ทราบว่ารูนั้นคืออะไร แต่ชอบเอานิ้วไปแหย่รูทุกชนิด คุณจึงควรเลื่อนเฟอร์นิเจอร์หนักๆมาปิดรูปลั๊กไฟ หรือหาจุกครอบเฉพาะของปลั๊กไฟมาปิดไว้
สายตาของลูกพัฒนาดีขึ้น ระยะนี้ลูกสามารถมองหน้าตัวเองในกระจก เมื่อคุณอุ้มลูกไปมองกระจก ลูกจะทำท่าไขว่คว้าไปที่เงาของตนเอง คุณสามารถพาลูกไปเล่นหน้ากระจกได้บ่อยๆ
เมื่อครบ 5 เดือนลูกจะแสดงให้เห็นถึงการรับรู้ทางสายตาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โยงใยไปถึงความจำในประสบการณ์ที่ผ่านมา เช่น ลูกเริ่มอายคนแปลกหน้า ร้องไห้เมื่อถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว หรืออยู่ในสถานที่แปลกๆ เป็นต้น


เสน่ห์ดึงดูดใจของลูกในระยะนี้คือ เมื่อลูกหัวเราะดวงตาของลูกจะสุกเป็นประกาย บันทึกไว้ในใจของคุณเพื่อเป็นแรงใจในการช่วยพัฒนาลูกต่อไป

ข้อมูลสื่อ

189-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 189
มกราคม 2538
สุมนา ตัณฑเศรษฐี