• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้สูงอายุป่วยบ่อย ต้องกินยาตลอดไปหรือไม่?

ผมมีปัญหาเกี่ยวกับคุณย่าของผม จะขอเรียนปรึกษา ดังนี้ครับ

คุณย่าอายุ 84 ปี กินอาหารเจมาเป็นเวลา 24 ปีแล้ว ท่านมีอาการเวียนศรีษะอยู่บ่อย ๆ ปัจจุบันคุณย่าเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพ ฯ ตามประวัติแจ้งว่าคุณย่าเป็นโรค ดังนี้
1. ความดันเลือดสูง
2. โรคหัวใจ
3. ไขมันอุดตันในหลอดเลือดที่หัวใจ และหลอดเลือดที่สมอง

ตอนนี้คุณย่ามียาที่ต้องกินเป็นประจำ คือ
1. Cardil 120 mg
กินเวลา เช้า-เย็น ครั้งละ ครึ่งเม็ด
2. Hydergine
กินเวลา เช้า-เย็น ครั้งละ 1 เม็ด
3. Ticlid กินตอนเช้าวันละ 1 เม็ด

คุณย่าท่านกินยาพวกนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว เพราะคุณหมอที่เคยตรวจรักษาคุณย่าบอกว่าต้องกินยาพวกนี้ตลอดไป ในระยะหลังนี้ก็เลยไม่ได้ไปหาหมอ เพราะหมอไม่ได้นัด ก็เลยซื้อยาทั้ง 3 ชนิดนี้กินเอง

ไม่ทราบว่าคุณย่าต้องกินยาพวกนี้ไปถึงเมื่อไหร่ หรือว่าต้องไปพบคุณหมอคนเก่าอีกครั้ง และควรจะไปพบคุณหมอเมื่อไหร่
สุทธิศักดิ์ / กรุงเทพ ฯ


โรคและอาการที่คุณย่าเป็นอยู่นี้ เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องเพราะสภาพเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดง จะเกิดการแข็งตัวและตีบตันในแทบทุกส่วนของร่างกาย

ถ้าอุดตันในหลอดเลือดหัวใจก็กลายเป็นโรคหัวใจ
ถ้าอุดตันในหลอดเลือดสมอง ก็มักจะเกิดอาการวิงเวียน ความจำเสื่อม บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
ถ้าอุดตันในหลอดเลือดตา ก็ทำให้ตามัว ตาบอด
ถ้าอุดตันในหลอดเลือดไต ก็ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม ไตวาย
ถ้าอุดตันในหลอดเลือดเท้า ก็ทำให้เป็นตะคริวง่าย และปวดน่องเวลาเดินมากๆ
ถ้าอุดตันในหลอดเลือดอวัยวะเพศในชาย ก็กลายเป็นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ดังที่เรียกว่า “นกเขาไม่ขัน”)

ในคนทั่วไป แม้จะไม่มีโรคอะไรและไม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด) เมื่ออายุมาก (ผู้ชายมากกว่า 45 ปีขึ้นไป หญิงมากกว่า 55 ปีขึ้นไป) หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมและแข็งตัว

แต่ถ้ามีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง (ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้มักจะเป็นโดยไม่รู้ตัว เนื่องเพราะไม่มีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัด จำเป็นต้องตรวจเช็คร่างกาย จึงจะตรวจพบในระยะแรกเริ่ม) หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด หรือรูปร่างอ้วน (โรคอ้วน) ก็จะเร่งให้หลอดเลือดแข็งเร็วกว่าวัยอันควร

ดังนั้น จึงต้องควบคุมโรคและลดละปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ถ้าเป็นความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ก็ต้องติดต่อรักษากับแพทย์เป็นประจำ หากควบคุมได้ดี จนลงมาสู่ระดับปกติเช่นคนทั่วไป ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งและอุดตัน รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

สำหรับคุณย่า ถึงแม้อายุมากแล้วก็ควรติดตามรักษากับแพทย์เป็นประจำ เพื่อความสะดวกควรไปรักษากับแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้าน มีความเป็นกันเอง และยินดีให้คำแนะนำ และการช่วยเหลือต่าง ๆ

ยาที่ให้ Cardil จะเป็นยาที่ช่วยลดความดันเลือด และขยายหลอดเลือดหัวใจ ส่วน Ticlid เป็นยาที่ป้องกันมิให้เลือดอุดตัน แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย

ส่วน Hydergine เชื่อว่าเป็นยาที่ช่วยให้อาการทางสมอง (เช่น เวียนศีรษะ) ดีขึ้น
การใช้ยาเหล่านี้ จำเป็นต้องให้แพทย์ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าควบคุมโรคได้ดี และไม่มีผลแทรกซ้อนจากยา (โรคยาทำ)

สรุป ก็คือ ควรไปพบแพทย์ และกินยาเป็นประจำ ซึ่งอาจจะนัดทุก 1-3 เดือน ตามที่แพทย์จะเห็นสมควร

 

ข้อมูลสื่อ

276-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 276
เมษายน 2545
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ