• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคมะเร็งในเด็ก โรคร้ายที่หายขาดได้

ไม่ได้มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความร้ายกาจของโรคมะเร็ง

จากข้อมูลของหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในภาคเด็ก ภาควิชาเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า เด็กๆ ในประเทศไทยราว 1,000 – 2,000 คนต่อปี จะต้องเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่เขายังสะกดคำว่าโรคไม่เป็นด้วยซ้ำ

โรคมะเร็งในเด็กประมาณร้อยละ 30 จะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือที่รู้จักกันในชื่อลิวคีเมีย โดยส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน รองลงมาคือมะเร็งสมองร้อยละ 20 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้อยละ 15 และมะเร็งต่อมหมวกไต ร้อยละ 10 รวมไปถึงมะเร็งอื่น ๆ ที่อาจพบได้ประปราย คือมะเร็งที่ไต กระดูก ตับ ลูกนัยน์ตา และอื่น ๆ

อาการส่อเค้าของลิวคีเมีย
อาการที่เข้าข่ายของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ให้ลองสังเกต ผู้ป่วยมักมีอาการซีด มีไข้ และเลือดออกง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดออกตามใต้ผิวหนัง ดูตามแขนขาจะเห็นเป็นจ้ำเลือด นอกจากนี้เด็กจะมีตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่ไขกระดูก ตามปกติไขกระดูกจะเป็นแหล่งกำเนิดเซลล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

                                                    

ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกจะเต็มไปด้วยเซลล์มะเร็ง ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ตามที่ควรจะเป็นผลก็คือเม็ดเลือดแดงจะมีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซีดเซียว เกล็ดเลือดต่ำ และเลือดก็ออกง่าย ยิ่งถ้าเม็ดเลือดขาวต่ำจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามอาการซีดหรือมีจุดเลือดตามตัวก็ใช่ว่าจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกรายไป อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การขาดธาตุเหล็ก โรคทาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมไม่เกี่ยวกับลิวคีเมียแต่อย่างใด

สังเกตมะเร็งชนิดอื่น
ถ้าเป็นเนื้องอกในสมอง ก้อนเนื้องอกจะกดเบียดเนื้อสมอง ความดันในกะโหลกศีรษะสูง ทำให้ผู้ป่วยปวดหัวจนร้าวระบม ส่วนมากจะปวดตอนเช้าร่วมกับอาการอาเจียน และยังมีอาการแขนขาอ่อนแรง ซึม หรืออาจชักด้วย ซึ่งถ้าไม่ไปรักษาก็ถึงขั้นหมดสติ และเสียชีวิตได้ ในผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ อาจพบว่าเด็กมีหัวโตกว่าปกติ รวมถึงกระหม่อมโป่งตึง แต่เด็กที่ปวดหัวทุกคนก็ใช่ว่าจะเป็นโรคเนื้องอกในสมองเสมอไป

ส่วนมะเร็งในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ต่อมหมวกไต คนไข้จะมีการปรากฏก้อนโต ๆ ที่คลำพบได้บริเวณช่องท้อง ซึ่งผู้ปกครองจะสังเกตได้เวลาอาบน้ำให้เด็ก ๆ หรืออย่างมะเร็งกล้ามเนื้อลายและกระดูกก็จะพบก้อนตามแขนขา ส่วนมะเร็งจอภาพของลูกนัยน์ตาจะพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ โดยจะสังเกตอาการเริ่มแรกได้จากสีขาว ๆ ที่ปรากฎในรูม่านตาพร้อมกับการที่เด็กอาจจะมีอาการตาเขร่วมด้วย

มะเร็งในเด็กหายขาดได้
สาเหตุของมะเร็งในเด็กยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ต่างจากมะเร็งในผู้ใหญ่ที่สามารถระบุสาเหตุคร่าว ๆ ได้ สาเหตุจากกรรมพันธุ์ก็มีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้น แต่แม้ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ มะเร็งในเด็กก็ยังดีกว่ามะเร็งในผู้ใหญ่ เพราะสามารถรักษาให้หายได้ง่าย โดยร้อยละ 70 ของเด็กที่เป็นมะเร็ง มีโอกาสที่จะหายขาด โดยโรคร้ายจะไม่กลับมารุกรานซ้ำอีก

วิธีรักษา
วิธีการรักษามะเร็งในเด็กไม่ต่างจากผู้ใหญ่ สำหรับมะเร็งที่เป็นก้อนรักษาโดยการผ่าตัด ประกอบกับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งในเด็กทุกรายจำเป็นต้องได้รับ อีกวิธีหนึ่งคือการฉายแสง โดยเครื่องฉายแสงสามารถยิงรังสีตรงไปที่ตัวก้อนเนื้องอกโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะข้างเคียง

สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องใช้การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง โดยอาจร่วมกับการฉายแสง เพื่อทำลายไขกระดูกของคนไข้ แล้วนำเซลล์ตัวอ่อนจากบริเวณกระดูกสะโพกด้านหลังของผู้ให้ไขกระดูก มาให้ผู้ป่วยทางหลอดเลือด เซลล์เหล่านั้นจะเข้าไปในไขกระดูก และสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ตามปกติ

ผู้ที่จะให้ไขกระดูกได้ต้องมีเอชแอลเอ (HLA) ตรงกันกับผู้ป่วย อันดับแรกจะดูจากพี่น้องท้องเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสร้อยละ 25 ที่จะมีเอชแอลเอ (HLA) ตรงกัน ส่วนในคนทั่วไปที่ไม่ใช่พี่น้องคลานตามกันมา อาจมีเพียง 1 ใน 50,000 – 100,000 คนเท่านั้น

การรักษาโดยทั่วไปใช้ระยะเวลาราว 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็ง โดยมีค่าใช้จ่ายในวงเงินประมาณ 1-3 แสนบาทต่อรายเป็นอย่างน้อย เรื่องค่าใช้จ่ายจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่จะตัดสินว่ามะเร็งในเด็กแต่ละรายจะรักษาได้มากน้อยแค่ไหน

หมายเหตุ : สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อขอบริจาคสมทบกองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ ฯ โทรศัพท์ 1 – 2201 – 1495, 0 – 2201 – 1453

 

ข้อมูลสื่อ

276-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 276
เมษายน 2545
บทความพิเศษ