• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พะยอม ความหอมแห่งพงไพร จากใต้จรดเหนือ

ในบรรดาดอกไม้หอมที่อยู่ในฐานะ “พิเศษ” ตามความรู้สึกของผู้เขียนนั้น พะยอมนับเป็นชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะเป็นความประทับใจในช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ฝันแน่นอยู่ในความทรงจำอันประกอบด้วยบรรยากาศและเหตุการณ์ต่าง ๆ มารวมกันอย่างพอดี แม้เวลาจะผ่านมากว่าสามสิบปีก็ยังระลึกถึงได้อย่างชัดเจน

ผู้เขียนไม่เคยรู้จักต้นพะยอมมาก่อนเลย จนกระทั่งมีโอกาสไปศึกษาและพักอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงปี พ.ศ. 2508 - 2511 พื้นที่หลายพันไร่ของมหาวิทยาลัยในขณะนั้นยังรกร้างว่างปล่าเป็นส่วนใหญ่ มีต้นไม้ท้องถิ่นขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ ถนนหลักสายเดียวที่มีภายในบริเวณมหาวิทยาลัยคือจากมอดินแดงมายังบ้านสีฐาน อันเป็นที่ลุ่ม มีหนองน้ำอยู่สองข้างทางติดประตูทางเข้าจากถนนสายขอนแก่น-เลย

เย็นวันหนึ่งในเดือนธันวาคมอันเงียบเหงาและเหน็บหนาว ผู้เขียนขี่จักรยานไปตามลำพัง เมื่อผ่านบริเวณบ้านสีฐาน มีสายลมอ่อนพัดมาจากดงไม้ข้างทาง หาเอากลิ่นหอมสดชื่นอบอวลไปทั้งบริเวณ เป็นกลิ่นหอมที่ผู้เขียนไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต หลังจากนั้นอีกไม่นาน ผู้เขียนจึงทราบว่าเป็นกลิ่นที่มาจากต้นดงพะยอมที่กำลังออกดอกสะพรั่งข้างทาง ตั้งแต่นั้นกลิ่นและภาพของต้นพะยอมก็อยู่ในความทรงจำตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

                                    

พะยอม : ราชินีแห่งพงไพร
พะยอมเป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea roxburghii G.Don (S.floribwnda kurz.) อยู่ในวงศ์ Dipterocar-paceae) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นตรง มีกิ่งเป็นชั้น ๆ ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนเกลี้ยง เปลือกหุ้มลำต้นสีน้ำตาลหรือเทา เป็นสะเก็ดหนา แตกเป็นร่องตามยาว

ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน กว้าง 7 - 9 เซนติเมตร ยาว 8 - 15 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งสั้น ๆ ขอบใบหยักเป็นคลื่น ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน หลังใบมีเส้นใบนูนชัดเจน มักผลัดใบในฤดูร้อน

ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อ กลิ่นหอมแรง ช่อยาวราว 30 เซนติเมตร ดอกกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร โดยประมาณ กลีบดอก 5 กลีบ บิดเวียนตามเข็มนาฬิกา เกสรตัวผู้สีเหลือง 15 อัน ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม - มีนาคม

ผลเป็นรูปกระสวยปลายแหลมทีปีก 5 ปีก (สั้น 2 ปีก ยาว 3 ปีก) ช่วยให้ปลิวตามลมไปได้ไกล ๆ

แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของพะยอมอยู่ในทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศ พบมากในป่าเบญจพรรณแล้ง แต่ในป่าพรุที่มีน้ำแช่ขังก็ยังพบพะยอมขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ในบริเวณสำนักงานโครงการพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตจังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

พะยอมเป็นชื่อเรียกทั่วไปในบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือเรียกพะยอมดง เชียงใหม่เรียกกะยอม ภาคอีสานเรียกขะยอม ภาคใต้เรียกยอม น่านเรียกยางหยวก ฯลฯ

ประโยชน์ของพะยอม
ในทางสมุนไพร แพทย์แผนไทยนำพะยอมมาใช้หลายส่วน เช่น
เปลือก- รสฝาด ใช้สมานลำไส้ แก้ท้องเดิน

การใช้เปลือกพะยอมทำยาคงเป็นที่แพร่หลายมานาน ดังปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปลัดเล พ.ศ. 2416 ว่า “พะยอม : เป็นชื่อต้นไม้ป่าอย่างหนึ่งมีดอกหอม เปลือกมันรสฝาด ทำยาได้บ้าง”

ดอก : ผสมยาแก้ไข ยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ นอกจากใช้ทำยาแล้ว ดอกพะยอมยังใช้เป็นอาหารจำพวกผักได้ด้วย นิยมใช้ดอกอ่อน (ตูม) เช่น ยำ หรือผัดกับไข่

เปลือกพะยอม มีรสฝาดเพราะมีสารแทนนิน (tannin) มาก บางแห่งใช้เคี้ยวแทนหมาก ใช้ใส่กระบอกน้ำตาลที่รองจากงวงตาลหรือมะพร้าวแทนสารกัดบูด

ชันที่ได้จากต้นพะยอมใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือได้

เนื้อไม้พะยอมเหนียวแข็งแรงคล้ายไม้ตะเคียน เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาล ใช้ก่อสร้างบ้าน เช่น เสา พื้น ฝา รอด ตง ขื่อ ฯลฯ ไม้หมอนรองรถไฟ ซี่ล้อเกวียน เรือ คกกระเดื่อง กระเบื้องไม้ เป็นต้น

พะยอมชอบกลางแจ้ง เป็นต้นไม้แข็งแรงทนทานปรับตัวได้ดี เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงาตามบ้านเรือน หรืออาคารต่าง ๆ เพราะทรงพุ่มงดงามอายุยืนยาว ช่วงออกดอกจะออกพร้อมกันทั้งต้น เป็นช่องามสะพรั่งส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ

เป็นต้นไม้ดั้งเดิมของไทยแท้ที่น่าปลูกอย่างยิ่งอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีคุณสมบัติทั้งรูปก็งาม นามก็เพราะ และจูบหอมไปพร้อมๆ กัน คนไทยสมัยก่อนจึงนิยมนำไปตั้งชื่อลูกสาวกันมาก รวมทั้งเพลงไทยก็มักมีวลี
“แม่ดอกพะยอมหอมกรุ่น” อยู่ด้วยเสมอ

 

ข้อมูลสื่อ

276-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 276
เมษายน 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร