เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง (5)
ประสบการณ์จากการฟอกเลือด
"เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง"ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทยอยลงเป็นตอนๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ และญาติ รวมถึงผู้อ่านที่สนใจว่าเมื่อมีอาการผิดปกติใดๆ
เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ก็ควรจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง และอย่ามองข้ามอาการผิดปกติใดๆ
ที่เกิดขึ้น ในฉบับนี้เป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง "เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง"
การฟอกเลือด หรือการล้างไต คือความหมายอย่างเดียวกันที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 อย่างคือ
1.การล้างด้วยน้ำยาทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis,CAPD) ผู้ป่วยสามารถทำ เองได้ที่บ้าน หลังจากได้รับการฝึกสอนอย่างดีแล้ว
2.การฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต (hemodialysis) หรือเรียกว่าไตเทียม ผู้ป่วยต้องมาทำที่โรงพยาบาล หรือที่ศูนย์ไตเทียมเท่านั้น
จากประสบการณ์ของฉันเองตลอดระยะเวลา 2 ปี ในช่วงปี พ.ศ.2537-2539 ที่ต้องเข้าเครื่องไตเทียม
เมื่อร่างกายเริ่มปรับสภาพการฟอกเลือดได้แล้ว คือ ประมาณ 1 เดือน จะรู้แล้วว่าจะกินอย่างไร ดื่มน้ำเท่าไร ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร จึงจะไม่เหนื่อยเกินไป
เริ่มจากตื่นนอนตอน 7 โมงเช้า กินอาหารเช้า มีข้าวสวยประมาณครึ่งถ้วย ผัดผักจืดๆ ใส่น้ำมันน้อยๆ ขนมปังก็ได้ กาแฟก็ได้ พออิ่มแล้วกินยาตามที่หมอให้มากับน้ำนิดหน่อย เวลาว่างอ่านหนังสือเล่นๆ นอนพักในที่โล่งๆ จะได้หายใจสะดวก ไม่พยายามอยู่ในที่ร้อน เพราะจะทำให้หิวน้ำและเหนื่อยง่าย
ตอนเที่ยงอาจเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ จะกินแต่เส้น กินผัก น้ำก๋วยเตี๋ยว 2-3 คำพอไม่ให้ติดคอ ขนมที่กินได้ คือ วุ้นธรรมดา จะกินแต่ขนมไทยๆ เช่น ลอดช่อง ทองหยอด ฝอยทอง ต้องจำใส่ใจเลยว่า อาหารหวานหรือคาวจะต้องรสไม่จัด เพราะอาหารรสจัดจะทำให้หิวน้ำมากขึ้น เช่นเดียวกับอาหารทอด จะพยายามไม่กิน อาหารที่มีความมันจากน้ำมัน กะทิ หรือแม้แต่อาหารแห้งๆ เช่น ถั่วอบ คุกกี้ จะทำให้หิวน้ำมากเช่นกัน มัวแต่คิดว่าจะกินอย่างไหนได้ อย่างไหนไม่ได้ จะพานให้ป่วยเป็นโรคประสาทไปอีก เลยเอาอย่างนี้ดีกว่า อยากจะกินอะไรก็กิน แต่ขอให้รู้จักพอ ให้กินแต่น้อย แต่กินได้บ่อยๆ เช่น ชอบเฉาก๊วย เพราะเย็นชื่นใจดี จะเอาไปแช่เย็นสักหน่อย ไม่ต้องใส่น้ำแข็งเพิ่มแล้ว กินครึ่งถ้วยพอ วันพรุ่งนี้จะกินได้อีก
ช่วงที่ฟอกเลือดใหม่ๆ เคยถามหมอว่า จะต้องอดอาหารอะไรบ้าง และกินได้แค่ไหน หมอตอบว่าให้กินได้ทุกอย่าง แต่ให้กินเค็มน้อยที่สุด เอ๊ะ! ชักงงไม่เห็นเหมือนคนอื่นบอกเลย พอฟอกเลือดนานอีกหน่อยเลยได้คำตอบให้กับตัวเองว่า การฟอกเลือดทำให้ร่างกายสดชื่นได้เกือบเหมือนคนปกติ สิ่งที่แตกต่างคือ ไม่ค่อยอยากกินอาหาร เพลีย เหนื่อย ไม่มีแรง ถ้าเราไม่กินอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายแล้ว เราจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ การจำกัดอาหารมากเกินไปอาจทำให้เราเบื่ออาหารได้เหมือนกัน เพราะอันนี่กินไม่ได้ อันโน่นก็ไม่ได้ ยังมีผลทางจิตประสาทอีก ทำให้คิดมาก ระแวงและกลัวการกินอาหาร อยากดื่มแต่น้ำอย่างเดียวยิ่งจะเป็นผลเสียกับร่างกายและจิตใจ เลยมาทำตามที่หมอบอก คืออยากกินอะไรก็กิน เค็มน้อย งดผลไม้สุกทุกชนิด หัดรู้จักกินพอแก้อยาก ช่วยได้มากทีเดียว ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารมากนัก ใจสบายขึ้น ไม่เครียด ความวิตกกังวลน้อย นอนหลับได้ดีขึ้น ความอยากดื่มน้ำก็ลดลงด้วย ตอนหิวน้ำจัดๆ จะหัดกลั้วปากด้วยน้ำธรรมดาหลายๆ ครั้ง ต้องบ้วนทิ้งทุกครั้งด้วย จะช่วยลดอาการหิวน้ำได้ หรืออาจจะใช้มะม่วงดิบ หรือมันแกว ฝานบางๆ แช่เย็นๆ มาอมเล่นก็ดีเหมือนกัน แตงโมจะกินเฉพาะตอนก่อนที่จะไปล้างไตในตอนเช้าเพราะมีน้ำเยอะมาก ผลไม้ที่กินแล้วอึดอัดคือ กล้วยหอม ส้ม มะละกอและทุเรียน ถึงแม้จะกินอาหารแบบไม่ต้องกังวลใจก็จะกินได้นิดเดียวเท่านั้นแหละ การกินอาหารได้จะช่วยให้ร่างกายไม่ทรุดโทรมมาก ช่วยให้มีกำลังพอที่จะทำงานในชีวิตประจำวันได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องให้ผู้อื่นมาดูแลอยู่ตลอดเวลา
ในชั่วโมงแรกของการฟอกเลือดจะรู้สึกปกติ แต่พอเริ่มเข้าชั่วโมงที่สาม เริ่มคอแห้ง บางครั้งหนาวก็ต้องห่มผ้า มีตะคริวขึ้นที่ขา น่องและนิ้วเท้า บางทีก็ที่แขนเป็น ระยะๆ พยาบาลจะคอยบีบนวดคลายให้ จะพยายามให้ครบ 3 ชั่วโมงเพื่อฟอกเลือดให้สะอาดอย่างมีคุณภาพ แต่พอฟอกเลือดเสร็จแล้วจะหายเป็นปกติ
สำหรับตัวผู้เขียนเอง รักษาตัวเองได้อย่างดี ทำตัวเองให้ปกติจนดูไม่ออกว่าเพิ่งได้รับการฟอกเลือดมา
การฟอกเลือดแต่ละครั้ง จะเป็นช่วงเช้า สาย บ่ายหรือเย็นก็ได้ เพราะทางโรงพยาบาลจะมีบริการตามช่วงเวลาที่นัดหมายไว้ ตามแต่คนไข้สะดวก ขอให้มาฟอกเลือดตามกำหนดวัน เวลาที่ต้องมาฟอกเลือด เพื่อไม่ให้ของเสียในร่างกายมีมาก จนอาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกได้
เมื่อฟอกเลือดเสร็จใหม่ๆ อาจมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ พอดมยาดมสักนิดจะรู้สึกดีขึ้น ถ้าหิวก็หาอะไรกินได้ โดยมากจะอมลูกอมเย็นๆ ก็พอ เพราะว่าจะช่วยเรื่องคอแห้งด้วย เสียงจะแหบไปทั้งวันเลย วันรุ่งขึ้นจึงจะดีขึ้นเสียงเป็นปกติ
ไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือวันพุธและวันเสาร์ เพราะฉะนั้นจะมีช่วงเวลาห่างของการฟอกเลือด 2 วัน และ 3 วัน ในช่วงห่าง 2 วันจะดื่มน้ำได้มากหน่อย ถ้าช่วงห่าง 3 วัน ก็จะต้องคอยระวัง อย่าดื่มน้ำเกินกำหนดไว้ คือดื่มได้ 1 ลิตรต่อวัน ไม่ว่าเราจะกินอะไรก็ตามต้องพยายามฝึกตนเองไว้ในกรอบที่กำหนด เพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และรอรับการปลูกถ่ายไตในสภาพที่ร่างกายยังสมบูรณ์ดีอยู่
ในวันที่ฟอกเลือดเสร็จแล้ว พอกลับบ้านจะนอนพัก กินอาหารที่ตัวเองชอบได้หนึ่งมื้อ เพื่อเป็นกำลังใจ
ส่วนยาที่ต้องกินประจำ คือ ยาลดความดัน (Adalate, Minipress ) ยาบำรุงกระดูก (calcium) ยาบำรุงเลือด (FBC, Fe) ขนาดของยาขึ้นอยู่กับอาการของร่างกาย อาจจะมียาเสริมบางครั้ง เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 เป็นต้น
จริงๆ แล้วเรื่องอาหารควบคุมได้ไม่ยากเลย ขอให้เข้าใจเพียงว่าอะไรกินได้ ก็จะปรับสภาพได้ไม่ยากเลย ให้กินเพื่ออยู่ในแต่ละวันให้เหมาะสม ถ้ากินมากเกินไปไม่ว่า จะเป็นอาหารหรือผลไม้ ก็จะทำให้ของเสียคั่งค้างมากเกินที่ร่างกายจะทนได้จนกว่าจะถึงวันฟอกเลือด
พยายามหาหนังสือเกี่ยวกับการกินอาหารของผู้ป่วยฟอกเลือด ซึ่งก็มีน้อยมาก จึงต้องอาศัยอ่านจากฉลากของอาหารชนิดนั้นๆ ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง สิ่งแรกที่จะดูคือ โพแทสเซียม โซเดียม เป็นหลักสำคัญ จะต้องหาอาหารที่มีปริมาณเกลือของพวกนี้ให้น้อยที่สุด ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายนี้ จะไม่อยากกินอาหารเลย หงุดหงิด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ดังนั้น อาหารที่กิน ควรจะเป็นอาหารที่มี ประโยชน์ และเลือกกินให้ถูกต้องด้วยก็จะดีกับสภาพของร่างกาย ถั่วชนิดต่างๆ ก็เป็นอีกอย่างที่กินแล้วอึดอัด พอเปลี่ยนมากินเมล็ดทานตะวันแล้วจะรู้สึกดีกว่าเมล็ดธัญพืชอื่นๆ เช่น ลูกเดือย เมล็ดบัว งาขาว งาดำ ก็มีประโยชน์
อาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว กินได้ ไม่จำกัด ปาท่องโก๋เป็นอาหารที่ไม่ควรกินเลย เพราะมีส่วนผสมของผงฟูเยอะมาก ผงชูรส ซุปก้อนต่างๆ ก็ควรจะระวัง ไม่ควรกินเลย การออกกำลังทำได้ เช่น การเดิน การทำงานบ้านที่ไม่ต้องออกแรงเยอะ แต่เมื่อไหร่ที่รู้สึกเหนื่อยควรจะหยุดทันที ควรนอนพักในที่อากาศถ่ายเทสะดวก หางานอดิเรกเบาๆ ทำ เช่น วาดรูป อ่านหนังสือ จะช่วยให้คลาย ความเครียดได้ ส่วนงานประจำไม่ควรจะหักโหม
สำหรับรายที่มีอาการไม่แข็งแรงหรือผู้สูงอายุ ควรมีคนคอยช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากดูแลในเรื่องของ อาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน ยังต้องดูแลจิตใจร่วมไปด้วย การพูดคุย ให้กำลังใจ ไม่ดุด่า ที่สำคัญต้องให้พวกเขาเข้าใจสถานภาพและอาการของโรคที่ต้องเผชิญ พวกเขาจะได้ไม่กลัวและมีกำลังใจที่จะสู้ การให้ผู้ป่วยสวดมนต์ ทำสมาธิเท่าที่ทำได้ จะช่วยให้ใจสงบได้มากทีเดียว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องดูแลและระวังเป็นพิเศษในช่วงของการล้างไต คือระวังไม่ให้แขนที่ทำเส้นฟอกเลือด กระทบกระแทกกับของแข็ง เพราะจะเจ็บมาก เส้นอาจ จะบอบช้ำ เสียหาย เกิดอาการบวมอย่างมาก จนไม่สามารถจะใช้ในการฟอกเลือดครั้งต่อไปได้ ต้องไม่ใส่เครื่องประดับไปทับเส้นด้วย ที่ปลอดภัยที่สุด คือไม่ใส่อะไรเลยในแขนข้างนั้น และห้ามใช้แขนข้างนี้หนุนต่างหมอน เพราะจะทำให้เลือดไม่เดินและปวดไปทั้งแขนได้
ห้ามเกาบริเวณรอยผ่าตัดที่เย็บไว้ที่ข้อมือของแขนข้างที่ฟอกเลือดด้วย เพราะอาจจะทำให้บริเวณนั้นอักเสบอย่างรุนแรง หลอดเลือดอาจฉีกขาดออกจากกันได้ ในกรณีที่เการุนแรงมาก ต้องหมั่นตรวจบริเวณนี้ ว่าจะต้องรู้สึกถึงการไหลของเลือด โดยการเอานิ้วสัมผัสเบาๆ จะรู้สึกว่ามีอะไรฟู่ๆ อยู่ภายใต้ผิวหนังบริเวณด้านในของ ข้อมือ เมื่อใดสัมผัสบริเวณนี้แล้วไม่รู้สึกฟู่ๆ ให้รีบมาพบหมอทันที เพราะหลอดเลือดที่ต่อไว้อาจจะตีบตัน เนื่อง จากมีเศษเนื้อเยื่อขนาดจิ๋ว มาอุดตันท่อหลอดเลือดไว้ ถ้าหลอดเลือดบริเวณนี้ตัน จะต้องแก้ไขโดยทำเส้นฟอกเลือดใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะแก้ไขอย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุด
นอกจากนี้ยังห้ามวัดความดัน ห้ามเจาะ เลือด หรือให้น้ำเกลือที่แขนข้างนี้ด้วย ผู้ป่วยล้างไตยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดูแลครอบครัวได้ ทำงานได้ ไม่มีขีดจำกัดของคุณภาพชีวิต เพียงแต่จะต้องรู้จักรักษาสุขภาพให้ดีกว่าแต่ก่อนที่ผ่านมาเท่านั้นเอง
ปัจจุบันได้รับบริจาคไตของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง การปลูกถ่ายไตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใดๆ กระบวนการตรวจสอบทางการแพทย์ หมอเป็นผู้วินิจฉัยทั้งหมด เพียงแต่ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมตามที่หมอแนะนำ และต้องไปพบหมอทุกๆ 2 เดือน เพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะ การปรับยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ต้องขอขอบคุณหมอที่บอกแนวทางการดำเนินชีวิต ความเอาใจใส่ของทุกคนในครอบครัว และผู้บริจาคไตให้ ถึงแม้จะไม่มีโอกาสตอบแทนบุญคุณของเขา แต่อยากจะให้เขารู้ว่าสำนึกในบุญคุณของเขาตลอดไป
- อ่าน 29,230 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้