• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยอบ้าน : ผักยืนต้นใบโต

ยอบ้าน : ผักยืนต้นใบโต


หากย้อนอดีตไปสัก 40 ปี ช่วงที่ผู้เขียนเริ่มจำความได้ คนไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้นไม่ต้องซื้อผักจากตลาดเลย รวมทั้งไม่ต้องเสียเวลาปลูกอีกด้วย เพราะผักต่างๆ เก็บเอาจากพืชที่ขึ้นเองในท้องถิ่นตามฤดูกาล แต่อย่างไรก็ยังมีต้นไม้คนไทย (สมัยก่อน) ตั้งใจปลูกขึ้นซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้อเนกประสงค์ทั้งสิ้น ในตอนนี้จะกล่าวถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยเคยนิยมปลูกเอาไว้บริเวณบ้านเรือน เพื่อใช้เป็นผักและประโยชน์ด้านอื่นๆ โดยที่ต้นไม้ชนิดนี้ค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปแม้ในปัจจุบัน ต้นไม้ชนิดนี้คือ ยอ หรือยอบ้าน

หลากความหมายในคำว่า “ยอ”

ภาษาไทยแท้นั้นเป็นคำโดดคำว่า “ยอ” นับเป็นคำไทยแท้ได้คำหนึ่ง แต่คำนี้มีความหมายหลายอย่างด้วยกัน ความหมายแรกที่เรากำลังกล่าวถึง คือ เป็นชื่อต้นไม้ (ยอบ้านและยอป่า) ความหมายที่สองเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ความหมายที่สามเป็นกริยา แปลว่า ยก หรือพูดชมเชย ความหมายที่สี่ แปลว่า หยุด หรือชะลอ จากความหมายว่า “ยกขึ้น ยกย่องสรรเสริญ ฯลฯ” นี้เอง ทำให้ชาวไทยในอดีตนิยมปลูกต้นยอเอาไว้ในบริเวณบ้าน (จีงเรียกว่า ยอบ้าน) เพราะถือเคล็ดว่าจะทำให้เจ้าของบ้านมีผู้มายกย่องสรรเสริญและฐานะก็จะสูงขึ้นด้วย ในคัมภีร์ทักษาปกรณ์อันเป็นตำราปลูกต้นไม้ในบ้านตามชื่อวรรคอักษรของดวงดาวประจำภูมิ ก็กำหนดให้ปลูกต้นยอเอาไว้ในบริเวณบ้านทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ของบริเวณบ้าน เพื่อมงคล

หัวนอนปลายเท้าของยอบ้าน

“ยอบ้าน” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ Morincla citrifolia Linn ภาคเหนือเรียกว่า มะดาเสือ ยอบ้านเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงประมาณ 6 เมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 4 เมตร ใบเป็นรูปไข่หนา สีเขียวเข้ม กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ผิวใบไม่เรียบ แต่เป็นหยัก คลื่นไม่เป็นระเบียบ (โดยเฉพาะยอบ้านในประเทศไทยใบมีหยักคลื่นมาก) ดอกขนาดเล็กมี 5 กลีบ สีขาว ผลขนาดไข่เป็ด มีตาเป็นปุ่มรอบผล ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลสุกมีเมล็ดขนาดลึกสีน้ำตาลมากมาย

สันนิษฐานว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของยอบ้านอยู่แถบหมู่เกาะโปลินีเซียน ฟิจิ ตองกา ตาฮิติ ฯลฯ ในตามมหาสมุทรแปซิฟิก มีผู้นำมาปลูกตามประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียนานแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีชายฝั่งทะเล เช่น อินโดนีเชีย ฟิลิปปิน มาเลเชีย เวียดนาม ไทย ศรีลังกา ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยยังคงปลูกยอบ้านมานานหลายร้อยปีแล้ว เพราะในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416 คือ เมื่อ 120 ปีมาแล้ว ก็กล่าวถึงยอบ้านและยอป่าเอาไว้อย่างชัดเจน

น่าสังเกตว่า ในต่างประเทศที่มีการปลูกยอบ้าน มักกล่าวถึงการนำยอบ้านมาใช้ประโยชน์ด้านเป็นสีย้อมผ้าและใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเท่านั้น หรืออย่างมากก็กล่าวถึงการนำผลยอบ้านที่สุกแล้วมากินเป็นผลไม้ ไม่มีกล่าวถึงการนำมาประกอบอาหารเป็นผักเลย คงมีแต่ชาวไทยเท่านั้นที่ใช้ยอบ้านเป็นผักและรู้จักยอบ้านในฐานะผักมากกว่าเป็นสีย้อมผ้าหรือสมุนไพร

ตำรับอาหารจากยอบ้าน

ส่วนของยอบ้านที่ชาวไทยนำมาใช้เป็นผัก ก็คือ ใบอ่อน ซึ่งมีรสขมเล็กน้อย รวมทั้งมีกลิ่นเฉพาะตัว ทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นกับกลิ่นรสของใบยอจะกินได้ยาก (คล้ายกับสะเดาหรือชะอม) แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคย (และชอบ) แล้ว กลิ่นและรสดังกล่าวจะเป็นสิ่งพิเศษที่ไม่มีผักอื่นมาใช้แทนได้เหมือน โดยเฉพาะห่อหมกใบยอที่หลายคนคุ้นเคย และแกงอ่อมปลาดุกใบยอ หากใครเคยได้ลองชิม นับว่าเป็นอาหารที่อร่อยแปลกได้ไม่ซ้ำแบบใครเลยเชียว

ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของยอบ้าน

นอกจากใช้เป็นผักแล้ว ยอบ้านยังมีประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านอื่นๆ อีก เช่น การใช้เป็นสีย้อมผ้าและเป็นสมุนไพรรักษาโรคบางชนิด ส่วนของยอบ้านที่นิยมนำมาทำสีย้อมผ้า คือ ส่วนราก รองลงมา คือเปลือก ทั้งสองส่วนควรนำมาจากต้นยอบ้านที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป สารที่ทำให้สีจากเปลือกและราก คือ Morindone ซึ่งจะให้สีแดง ชมพู หรือน้ำตาลอ่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสารประกอบที่นำมาผสม

ยอบ้านมีสรรพคุณด้านสมุนไพรใช้รักษาโรคได้มากมาย ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้ยอบ้านเป็นยารักษาโรค คือ ไม่ปรากฏอาการข้างเคียงเหมือนสมุนไพรบางชนิด การใช้ยอบ้านเป็นสมุนไพรจึงง่ายและปลอดภัย รวมทั้งอาจใช้เป็นอาหารประจำได้อีกด้วย (เช่น ใบและผล) เพื่อเป็นการป้องกันและได้คุณค่าทางอาหารไปพร้อมๆ กัน

ผลของยอบ้านมีสรรพคุณรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเฟ้อ จุกเสียด ท้องผูก เป็นลมวิงเวียน ประจำเดือนขาดหาย เป็นแผลในปากและเหงือก พยาธิในลำไส้ เบื่ออาหาร ฯลฯ

ใบยอบ้านใช้รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องผูก ปวดข้อ เบื่ออาหาร ปวดหัว น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง ไอ โลหิตจาง เหา ฯลฯ

รากใช้เป็นยาระบายและแก้ไข้เช่นเดียวกับเปลือก

แม้ยอบ้านจะกินได้อย่างปลอดภัย แต่สำหรับสตรีมีครรภ์ควรระวังการกินผลยอ เพราะมีฤทธิ์ขับประจำเดือน อาจทำให้แท้งได้ สำหรับใบยอนั้นควรกินเป็นประจำเพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงบำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร และป้องกันท้องผูกด้วย

ข้อมูลสื่อ

172-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร