• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเคาะปอด เทคนิคขับเสมหะแบบประหยัด

การเคาะปอด เทคนิคขับเสมหะแบบประหยัด
 

บางครั้งเราเดินเข้าไปในกลุ่มคน เราจะได้ยินเสียงไอ เสียงนั้นกลั้วไปด้วยเสมหะในคอ แล้วตามด้วยการขากเอาเสมหะทิ้ง บางครั้งก็เงียบเสียงไปเลย
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมเกิดภาวะนี้ได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนที่เป็นไข้หวัดกันได้ง่าย หรือในหมู่คนที่สูบบุหรี่
เสมหะเกิดขึ้นได้อย่างไร เสมหะมีคุณประโยชน์หรือโทษ
เราจะขจัดเสมหะได้อย่างไร ถ้าเราไม่บ้วนทิ้งเสมหะจะไปอยู่ที่ไหน

สาเหตุ
เสมหะเกิดจากการระคายเคืองหรืออักเสบของทางเดินหายใจและปอด ทำให้เยื่อบุผิวภายในของทางเดินหายใจและปอดผลิตน้ำคัดหลั่ง มีลักษณะเหลวใส ถ้าสั่งออกมาได้ทางจมูกเราก็มักเรียกว่าน้ำมูก ถ้าออกผ่านทางปากก็มักเรียกว่าเสมหะ
น้ำมูกที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงจมูกจะกระตุ้นปลายประสาทที่อยู่ในโพรงจมูก ทำให้เกิดการจาม
ส่วนเสมหะที่เกิดในคอ หลอดลม และถุงลมนั้น ถ้ามีการไหลมายังหลอดลมใหญ่ก็จะกระตุ้นปลายประสาทให้มีการไอ
การจามและไอนี้เป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจและปอด เพื่อให้อากาศที่หายใจผ่านเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้อย่างสะดวก ก๊าซออกซิเจนจะซึมผ่านผนังถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปใช้เลี้ยงทั่วร่างกายและสมอง

คุณประโยชน์หรือโทษ
อาจกล่าวได้ว่า เสมหะไม่ได้ให้คุณประโยชน์อะไร นอกจากเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่ามีอะไรผิดปกติในทางเดินหายใจได้บ้าง ถ้ามีเสมหะในโพรงจมูกก็ทำให้เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก ถ้าเสมหะในโพรงจมูกไหลลงมาที่คอก็จะเกิดการไอ ไอทุกครั้งที่ขยับปากพูด หรือพูดไปไอไปน่ารำคาญทั้งตัวเองและคู่สนทนา ถ้าเสมหะมีอยู่ในปอด พอล้มตัวลงนอนก็จะไอ หรือดึกๆก็จะตื่นขึ้นมาไอสักพักใหญ่จึงจะหายไอและนอนหลับได้
เสมหะถ้าขังอยู่ในปอดก็จะทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงผนังถุงลมและมีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ ร่างกายและสมองจะมีภาวะออกซิเจนต่ำและคาร์บอนไดออกไซด์สูง เกิดอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืด ตัวเขียว และถ้าเสมหะขังอยู่นานผนังถุงลมจะเสื่อมสภาพ
นอกจากนั้นเสมหะถือว่าเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรค ถ้าเสมหะมีการติดเชื้อก็จะเปลี่ยนจากของเหลวใสเป็นข้นขุ่นสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีไข้ได้

การขจัดเสมหะ
ดังได้กล่าวแล้วว่าเสมหะมีแต่โทษ จึงควรขจัดทิ้งโดยเร็ว อย่าปล่อยไว้นาน การขจัดเสมหะง่ายๆ คือการไอให้เสมหะออก
แต่เสมหะที่อยู่ในส่วนลึกของปอดจะขจัดออกมาได้ยากมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการพิเศษทางกายภาพบำบัดช่วย โดยการจัดท่านั่งหรือนอนให้ทรวงอกหรือปอดเอียงในมุมที่พอดี ให้เสมหะในถุงลมตามตำแหน่งต่างๆในปอดได้ไหลระบายออกมายังหลอดลมใหญ่ แล้วไอเอาเสมหะออกทิ้ง
ถ้าร่างกายได้รับน้ำน้อย เสมหะจะเหนียวข้น และจะไม่สามารถไหลระบายออกมาได้ จากการจัดท่าทางดังกล่าว จำเป็นต้องใช้เทคนิคอื่นร่วม เช่น การใช้อุ้งมือเคาะที่ทรวงอก หรือทำการสั่นทรวงอกหรือปอดด้วยมือหรือเครื่องที่ให้แรงสั่นสะเทือนที่พอเหมาะ เสมหะก็จะไหลลงมายังหลอดลมใหญ่ไปกระตุ้นให้เกิดการไอ
การไอก็จะต้องไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขจัดเอาเสมหะออกจากหลอดลมให้ได้มากที่สุด
วิธีการไออย่างมีประสิทธิภาพคือ คุณต้องหายใจเข้าทางจมูกให้มากที่สุด เพื่อให้ลมหายใจเข้าไปอยู่หลังเสมหะ สังเกตได้จากทรวงอกจะขยายโดยที่ไหล่ไม่ยก และคอไม่ยืด กลั้นหายใจไว้สักครู่แล้วไอให้แรงพอสมควร ซึ่งต้องคำนึงถึงว่าลมที่อยู่หลังเสมหะจะกระแทกเสมหะให้ขึ้นมาตามหลอดลม ไม่ใช่ไอเบาๆ เหมือนการไออย่างสุภาพเมื่ออยู่ในสังคม
การหายใจเข้า-ออกลึกๆติดต่อกันชุดละ 5-7 ครั้ง ก็จะเป็นการทำให้ถุงลมขยายและแฟบสลับกัน โดยไม่เป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด แต่มีผลดีคือทำให้ถุงลมที่มีเสมหะเกาะยึดอยู่ มีการพองและแฟบสลับกัน เสมหะจะล่อนตัวจากถุงลมได้ ซึ่งง่ายต่อการระบายสู่หลอดลมใหญ่
ถ้าไม่บ้วนเสมหะทิ้ง เสมหะจะถูกกลืนเข้ากระเพาะอาหารในเด็กเล็กที่กระเพาะอาหารยังเล็กอยู่ เมื่อมีเสมหะเต็มกระเพาะอาหาร จะทำให้เด็กเบื่ออาหาร เมื่อให้อาหาร เด็กจะกินเข้าไปได้เล็กน้อยแล้วจะอาเจียนเอาเสมหะออกมามาก
เสมหะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าเสมหะมากควรขจัดออกให้ได้วันละ 3 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ตอนกลางวัน และก่อนนอนตอนกลางคืน การจัดท่าทาง เคาะหรือสั่นปอดควรทำก่อนกินอาหาร น้ำ นม หรือของขบเคี้ยวอื่นๆ หรือภายหลังกินไปแล้ว 2 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะเกิดการไอ และสำลักเอาเศษอาหารเข้าหลอดลมอุดตันทางเดินหายใจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

วิธีการช่วยตนเองในการขจัดเสมหะ
จัดท่าทางของตนเองให้อยู่ในท่าต่างๆดังกล่าวข้างล่างนี้ และระหว่างที่อยู่ในท่าทางต่างๆจะต้องสูดลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ 5-7 ครั้ง แล้วพยายามไอเอาเสมหะออก หรืออาจให้ญาติช่วยเคาะปอดให้ซึ่งควรจะต้องได้รับการฝึกหัดมาอย่างถูกต้องจากนักกายภาพบำบัด

ท่าที่ ๑ นอนคุกเข่า ก้นโด่ง วางศีรษะพักบนหลังมือซึ่งคว่ำทับกันไว้ หรือใช้หมอนหนุนศีรษะขนาดใหญ่วางซ้อนใต้ช่วงก้น ให้ศีรษะต่ำ ทรวงอกเอนลง 45 องศา โดยอยู่ในท่านอนคว่ำ เมื่อไอเอาเสมหะออกจากท่านี้หมดแล้ว ให้เปลี่ยนมาเป็นนอนตะแคง ทำวิธีการเดิมเพื่อขจัดเสมหะแล้วเปลี่ยนเป็นนอนหงาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ท่าที่ ๒ นำหมอนมาหนุนใต้สะโพกให้ศีรษะต่ำ ทรวงอกเอนลง 30 องศา แล้วอยู่ในท่านอนตะแคงร่วมกับเอนหลัง 45 องศา
ท่าที่ 3 นอนคว่ำราบไม่ต้องใช้หมอนหนุนก้น
ท่าที่ 4 นอนหงายราบชันเข่าไม่ต้องใช้หมอนหนุนก้นเช่นเดียวกัน

 

 

 

ท่าที่ 5 นอนตะแคงราบทับข้างซ้ายในขณะเอนหน้า 45 องศา
ท่าที่ 6 นอนตะแคงทับข้างขวาในขณะเอนหน้า 45 องศา และใช้หมอนหนุนให้ทรวงอกเอนขึ้นสูง

30  องศา
ท่าที่ ๗ นั่งเอนตัวมาข้างหน้า หรือหลังเล็กน้อย
หลักสำคัญในการจัดท่าทางคือ คุณจะต้องไม่เกร็ง มีความรู้สึกผ่อนคลายการเกร็งโดยการหนุนหรือรองรับศีรษะ ลำตัว แขน ขา อย่างพอเหมาะ การเกร็งของร่างกายจะทำให้กล้ามเนื้อทรวงอกเกร็งตัว ทรวงอกและปอดขยายได้น้อย การระบายเสมหะจึงไม่สะดวก
แต่ถ้าเสมหะยังไม่ออกมา แสดงว่าเสมหะเหนียวมาก จะต้องเคาะปอดช่วยให้เสมหะสั่นสะเทือนและล่อนออกจากถุงลมโดยให้นอนตามท่าดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง แล้วทำการเคาะปอด การเคาะจะต้องทำมือเป็นกระพุ้ง (ภาพที่ 8) เวลาเคาะจึงจะเกิดการสั่นสะเทือนและไม่เจ็บ เคาะไปที่ทรวงอกตามตำแหน่งต่างๆดังแสดงในภาพ 1-7

                                      

การเคาะควรเคาะในระดับไม่เกิน 1 ฝ่ามือต่ำจากรักแร้ มิเช่นนั้นจะเคาะไปที่ตับและไต ฯลฯ ทำให้เป็นอันตรายได้ และไม่เคาะที่เต้านม กระดูกกลางอก กระดูกไหปลาร้า สะบัก และกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้
สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่เคาะปอดรุนแรงจนเกินไป จนช้ำในหรือไอออกมาเป็นเลือด เมื่อไรที่มีการไอออกมาเป็นเลือดจะต้องหยุดทำการเคาะปอดและไปพบแพทย์ในทันที
เสมหะที่ขังอยู่ในปอดเป็นจำนวนมากจะไม่สามารถขจัดออกได้ด้วยยา วิธีที่ดีที่สุดคือการให้กายภาพบำบัดทรวงอก ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติ และทุกคนสามารถทำได้หากได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีเสมหะในปอด
1. ดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นวันละหลายๆแก้ว
2. งดน้ำหรืออาหารที่เย็น
3. สวมเสื้อผ้าให้หนาเพื่อให้เกิดความอบอุ่นต่อปอด ในเด็กที่ต้องนั่งเล่นบนพื้นจะต้องสวมกางเกงขายาว และถุงเท้าด้วยเพื่อไม่ให้ขาและเท้าเย็น
4. ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าที่หนาปูรองนอนเพื่อป้องกันมิให้เย็นบริเวณหลัง และห่มผ้าปิดหน้าอกให้มิดชิด
5. ไม่เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้ลมเย็นจี้มาที่ทรวงอก ควรใช้เพื่อระบายอากาศเท่านั้น
6. อาบน้ำที่ไม่เย็นในห้องน้ำที่ปิดมิดชิด แต่งตัวให้อบอุ่นก่อนออกมานอกห้อง
7มายเหตุ ท่าทางในการเคาะปอดทั้งหมดสามารถนำไปใช้ได้ถ้าไม่มีข้อห้ามต่างๆดังต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม จะต้องนำผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาก่อนเสมอ

ข้อห้ามในการเคาะปอดคือ
1. ไอมีเสมหะปนเลือด
2. โรคหัวใจ หรือหลอดเลือดโป่งพอง
3. กระดูกซี่โครงหัก
4. วัณโรคปอดระยะเฉียบพลัน
5. ถุงหนองในเนื้อปอดในตำแหน่งใกล้เยื่อหุ้มปอด
6. หนองหรือของเหลวในเยื่อหุ้มปอด

ขอขอบคุณผู้แสดงแบบ
ด.ญ.ขวัญชนก ตัณฑเศรษฐี
คุณกอแก้ว สุขกาย

ข้อมูลสื่อ

184-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 184
สิงหาคม 2537
บทความพิเศษ
สุมนา ตัณฑเศรษฐี